ขนำน้อยหอยใหญ่ กินหอย นอนขนำ

ขนำน้อยหอยใหญ่ กินหอย นอนขนำ

ขนำน้อยหอยใหญ่ : เราอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ธรรมชาติอยู่ได้

ที่เกริ่นว่า ขนำน้อยหอยใหญ่ เพราะผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่ดีที่สุดในประเทศไทย ที่ตำบลท่าทองใหม่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

“ขนำ” ในภาษาปักษ์ใต้ เป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกกระท่อมชั่วคราว คือกระท่อมเฝ้าหอยนางรมที่อยู่กลางทะเล เหมือนกระท่อมปลายนาที่คนภาคกลางหรือภาคอื่นๆ คุ้นเคยกันนี่ล่ะครับ แต่ยกมาไว้กลางทะเล

นอกจากนี้ ผมยังได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของคนเลี้ยงหอยนางรมบริเวณปากอ่าวคลองกระแดะแจะ ที่ตำบลท่าทองใหม่ แห่งนี้ด้วย

เล่ามาถึงตรงนี้ ผมขอนำทุกท่านไปพูดคุยกับเจ้าของขนำ ที่ดัดแปลงและต่อเติมขนำเฝ้าหอยนางรมของตัวเอง ให้เป็นร้านอาหาร เสิร์ฟหอยนางรมที่เลี้ยงเองแบบไม่อั้น คุณสิริพล ใจงาม หรือพี่เชน เล่าให้ผมฟังว่า “เขาทำธุรกิจเลี้ยงหอยนางรมเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว” พี่เชนเป็นคนสุราษฎร์ธานีโดยกำเนิด แต่ก่อนจะมาประกอบอาชีพเลี้ยงหอยนางรม พี่เชนเคยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างมาก่อน

ขนำน้อยหอยใหญ่
แนวหลักของฟาร์มหอยนางรมปักเรียงรายอยู่รอบขนำหลังน้อย

ร้านขนำน้อยหอยใหญ่เกิดจากการชวนเพื่อนฝูงมาพักผ่อนสังสรรค์และตกปลากัน จนกลายเป็นที่กล่าวขานกันในกลุ่มเพื่อน และมีคนแสดงเจตจำนงค์มาเยี่ยมพี่เชนมากขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิดนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจ จากเดิมที่เลี้ยงหอยนางรม พี่เชนจึงขยายกิจการมาเปิดร้านอาหารด้วย

“พื้นที่ทำฟาร์มหอยนางรม กลายมาเป็นจุดเด่นในเรื่องวัตถุดิบ เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งชุมชนดั้งเดิมที่ประกอบอาชีพเป็นชาวประมงพื้นบ้าน

เพราะวัตถุดิบทั้งหมดที่นำเสนอในร้านล้วนเป็นผลิตผลจากการประมงพื้นบ้านทั้งสิ้น เช่น ปลาที่ชาวบ้านจับมาได้จากธรรมชาติ พี่เชนมักไปจับจองและรับซื้อเอาไว้ ก่อนที่ชาวบ้านนำไปขายต่อกับพ่อค้าคนกลาง รวมถึงปูและหอยก็รับซื้อจากชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง

ขนำน้อยหอยใหญ่, การท่องเที่ยวชุมชน, ธุรกิจเพื่อสังคม
ขนำของพี่เชน ที่ดัดแปลงมาเป็นร้านอาหารและที่พัก

นอกจากที่ชาวบ้านมีรายได้แล้ว ทางร้านยังสามารถรับรองเรื่องความสดของอาหารได้ด้วย ส่วนเรื่องของการปรุงอาหารเพื่อให้ได้รสมือของคนพื้นถิ่นอย่างแท้จริง พี่เชนจัดหาแม่ครัวในพื้นที่ ทั้งป้าแดงและป้าเอียดเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรังสรรค์รสอาหาร ในเรื่องของขนมหวานพี่เชนรับซื้อจากป้าหนูเล็ก แห่งตำบลท่าทองใหม่

เรื่องความเรียบร้อยของขนำได้ลุงอ้น หรือสุชล คงใหญ่ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทั้งในส่วนของเรื่องการเข้าพักและการดูแลหลักหอยนางรม และลุงเปี๊ยกหรือ นายวุฒิ ประเสริฐ เป็นผู้จัดการฟาร์มหอย (ผู้ที่ทำหน้าที่ล้วงหอยให้เรากิน)

“การให้คนพื้นที่มีส่วนร่วมตรงนี้ เพราะเราต้องการมอบคุณค่าและเคารพคนท้องถิ่น เพื่อให้ทุกคนมีรายได้ และเติบโตไปพร้อมกัน” พี่เชนกล่าวเสริม

การเลี้ยงหอยนางรมกับแนวป่าชายเลน

ผมสอบถามถึงประเด็นการเลี้ยงหอยนางรมว่า การเลี้ยงหอยลักษณะนี้ส่งผลกระทบอะไรกับสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบๆ หรือไม่ อย่างไร “เพราะแนวของฟาร์มหอยที่เลี้ยงตามหลักปักเอาไว้ เปรียบเสมือนแนวชะลอคลื่น ช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นลม รวมถึงปกป้องแนวป่าชายเลนเพื่อให้เป็นเป็นแหล่งพักพิง และอนุบาลของตัวอ่อนสัตว์น้ำมากมาย ส่งผลต่อเนื่องไปยังการประมงชายฝั่งให้ดำเนินต่อไปได้” พี่เชนตอบในประเด็นที่ผมสงสัย

ฟาร์มหอยนางรม, ขนำน้อยหอยใหญ่
บริเวณโดยรอบขนำเป็นหลักหอยนางรม

ในตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมอากาศส่งผลกระทบอะไรกับการเลี้ยงหอยและวิถีชีวิตของผู้คนแถวนี้บ้าง

เหตุการณ์ที่ชัดเจนและรุนแรงที่สุดคงเป็นปี 2014 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลให้น้ำจืดทะลักลงมาเจือจางน้ำเค็มบริเวณปากอ่าวและแนวหลักหอยนางรมของพี่เชน “ค่าความเค็มของน้ำทะเลเปลี่ยนไปส่งผลโดยตรงต่อการเลี้ยงหอยนางรม” ที่เชนเล่าและเสริมว่า “ฟาร์มหอยนางรมของพี่เชนเสียหายมากที่สุด หอยนางรมหลุดจากหลักและตายไปเป็นจำนวนมาก

 

การท่องเที่ยวชุมชน, การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ธุรกิจเพื่อสังคม
การเดินทางไปที่ขนำของพี่เชนต้องโดยสารทางเรือ

นอกจากนี้ ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา พบว่าสัตว์ทะเลเชิงเศรษฐกิจหลายชนิดอ่อนแอลง หรือมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น พี่เชนยกตัวอย่างว่า หอยแครงตายง่ายกว่าเมื่อก่อน และแนวของน้ำเค็มรุกเข้าไปทางชายฝั่งมากขึ้นคลื่นลมแรงสภาพอากาศแปรปรวนมากขึ้น ทำให้บางปีผลผลิตลดน้อยลง

เรื่องและภาพ : Wara Suttiwan

ติดตามผลงานอื่นของนักเขียนได้ที่ Great Bear Gallery


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Gastronomy : การท่องเที่ยวเชิงอาหาร

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร, อาหาร, การกิน, อาเซียน

Recommend