นอกจากน้ำท่วม ก็ยังมีปัญหาภัยแล้ง ซึ่งไม่เพียงแค่เล่นงานภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ภาคอุตสาหกรรมก็ประสบปัญหาเช่นกัน โรงงานใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นจำนวนมากแถบจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการสูบนํ้าบาดาลขึ้นมาใช้อย่างไร้การควบคุม ส่งผลให้แผ่นดินทรุดในอัตราสามถึงสี่เซนติเมตรต่อปี แม่นํ้าบางปะกงที่ขนาบด้วยโรงงานถูกนํ้าเค็มรุกเข้ามาทางปากแม่นํ้าจนเกือบถึง ตัวเมืองปราจีนบุรี ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ทางภาคตะวันออกก็ประสบปัญหาเรื่องนํ้ารุนแรง ทั้งนํ้าเสียและนํ้าขาดแคลน
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนํ้าประเมินตรงกันว่า แม้บางปีอ่างเก็บนํ้าในภาคตะวันออกจะมีนํ้าเต็มปริ่ม แต่ปริมาณนํ้าก็แทบไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่แนวคิดเรื่องการปันนํ้าจากลุ่มเจ้าพระยาไปป้อนให้อุตสาหกรรมตะวันออก ก็ยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนว่าควรมีการชดเชยให้เจ้าของทรัพยากรนํ้าที่ถูกปันไปอย่างไร
การใช้นํ้าอย่างมีประสิทธิภาพเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เทคนิคการปลูกพืชโดยใช้ผ้าใบคลุมดินเพื่อควบคุมความชื้นหรือประดิษฐ์ระบบจ่ายนํ้าหยดได้ผลจริงมาแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย เช่นเดียวกับประสิทธิภาพการใช้นํ้าในภาคอุตสาหกรรม
“เรื่องที่เราต้องคิดคือการนำนํ้ากลับมาใช้ใหม่ครับ” รองศาสตราจารย์ดร. บัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน บอก เขายกตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นที่นำนํ้าเสียบำบัดแล้ว กว่าร้อยละ 80 กลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่บำบัดเพื่อระบายทิ้ง แต่ใช้นํ้าดิบจากแหล่งธรรมชาติเต็มอัตราศึก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยิ่งทำให้สงครามชิงนํ้ารุนแรงขึ้นในอนาคต และการปันนํ้าจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งอาจเป็นชนวนทำให้ความขัดแย้งเรื่องนํ้าเขม็งเกลียวขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านนํ้าชี้ว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อก่อสร้างโครงการด้านนํ้าขนาดใหญ่คงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะนอกจากจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ อย่างเช่นในอดีต ยังอาจใช้งานไม่ได้อย่างที่คาดหวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เราไม่เคยดูเลยครับว่าโครงการที่สร้างจะใช้งานได้จริงหรือเปล่า มีแต่สร้างได้ตรงตามสเป็คหรือไม่” ดร.บัญชา บอก
(อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ที่ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2557)