ความยั่งยืน : องค์ประกอบสำคัญของการสร้างแบรนด์ในทุกธุรกิจ

ความยั่งยืน : องค์ประกอบสำคัญของการสร้างแบรนด์ในทุกธุรกิจ

ในโลกยุคใหม่ ภาคธุรกิจได้รับการคาดหวังว่าต้องรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อความยั่งยืนของโลก โดยในปลายเดือนตุลาคม 62 นี้ จะมีการประชุมว่าด้วยการสร้างแบรนด์เพื่อ ความยั่งยืน ในประเทศไทย

ปัจจัยสำคัญในการสร้างธุรกิจให้อยู่รอดในยุคสมัยใหม่ คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนในสังคม โดยนอกจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้แบรนด์ธุรกิจได้รับการยอมรับคือ การมีส่วนร่วมสร้าง ความยั่งยืน ให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าอย่างมีความรับผิดชอบ หรือการมุ่งหาแนวทางในการนำผลกำไรมาตอบแทนสังคม หรือชุมชนรอบตัวให้เติบโตไปด้วยกัน หมดยุคสมัยของการเติบโตเพื่อกอบโกยกำไรแต่เพียงผู้เดียวและทิ้งผู้คนมากมายไว้เบื้องหลัง

ดร. ศิริกุล เลากัยกุล  หรือ คุณหนุ่ย ปัจจุบันเป็น Country Director ของ SB Thailand มีประสบการณ์ทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์ มานานกว่า 20 ปี อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการสร้างแบรนด์หลากหลายบริษัท อีกบทบาทของเธอในวันนี้คือการเป็นผู้จัดการประชุมสัมมนา Sustainable Brands (SB) อันเป็นการประชุมสัมมนาด้านความยั่งยืนของแบรนด์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด จัดต่อเนื่องมานานนับสิบปี ในเมืองชั้นนำทั่วโลก อาทิ ซานดิเอโก ลอนดอน บาร์เซโลนา ริอูเดจาเนรู โตเกียว ซิดนีย์ เคปทาวน์ แวนคูเวอร์ เป็นต้น

ความยั่งยืน
ดร. ศิริกุล เลากัยกุล  หรือ คุณหนุ่ย Country Director ของ SB Thailand ผู้จัดการประชุม Sustainable Brands (SB) การประชุมสัมมนาด้านความยั่งยืนของแบรนด์

วันนี้เราได้มาพูดคุยกับคุณหนุ่ยถึงแรงบันดาลในการผลักดันเรื่องของการสร้างแบรนด์เพื่อความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของธุรกิจในเมืองไทย ความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนของธุรกิจ และงานสัมมนา Sustainable Brands ที่เธอเป็นโต้โผใหญ่ ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้ชื่องานว่า SB’19 Oceans and beyond ในวันที่ 25 -26 ตุลาคมนี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร ว่างานนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ในเรื่องของความยั่งยืนเพื่อนำเอาไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองได้อย่างไร

ที่มาที่ไปของ Sustainable Brands ในระดับโลก และแนวคิดการนำเข้ามาในไทย

คุณหนุ่ยเริ่มการสนทนากับเราว่า “โดยอาชีพของหนุ่ยเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ แต่การสร้างแบรนด์ของหนุ่ยไม่เน้นที่ Consumer Branding แต่เน้นคำว่า Cooperate Branding หรือการสร้างแบรนด์ขององค์กร โดยปกติเวลาสร้างแบรนด์ ทุกคนก็จะเน้นไปที่ Product (ผลิตภัณฑ์) ก่อน แต่ในวันนี้มีแต่ผลิตภัณฑ์แทบจะไม่สร้างความแตกต่างแล้ว ในยุคหลัง คนเลยมาดูว่า Product นั้นทำมาจากองค์กรไหน

โดยในระยะ 30-40 ปีที่ผ่านมา การทำแบรนด์โดยเน้นไปที่ตัวองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ และเราทำในเรื่องแบรนด์ขององค์กรมาตลอด เวลาเราทำแบรนด์ขององค์กร ก็จะเป็นไปในลักษณะที่ว่า องค์กรนี้จะต้องมี Innovation (นวัตกรรม) แบบไหน

หลังๆ พอโลกมีปัญหามากขึ้น จนองค์การสหประชาชาติชี้ว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากภาคธุรกิจที่มีการผลิตผิดวิธี จนเกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างสูญเปล่า มีการทำตลาดกระตุ้นให้เกิดการบริโภค เกิดขยะเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าอยากทำให้โลกดีขึ้น ธุรกิจเหล่านี้ก็ต้องรับผิดชอบด้วย นี่เป็นที่มาของ sustainable development คือการผลิตที่นอกจากการตอบสนองความต้องการของวันนี้ และต้องไม่ไปทำร้ายความต้องการหรืออนาคตของรุ่นต่อไป

พอมีเรื่องของ Sustainable Development ก็เป็นที่มาของคำว่า 3P ซึ่งธุรกิจที่อยากอยู่ได้ต้องมี 3P นี้ คือ Profit (ผลกำไร) People (คน) และ Planet (โลก) คือนอกจากดูแลองค์กรให้มีผลกำไรแล้ว ต้องดูคน สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ้งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นความยั่งยืน” ความยั่งยืน

คุณหนุ่ยมีความเห็นว่า ถ้าองค์กรจะลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ ก็ควรต้องทำในเรื่องการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ประจวบเหมาะกับเมื่อราว 5-6 ปีที่แล้ว เธอรู้จักงานประชุมสัมมนาเรื่อง Sustainable Brand ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการสร้างแบรนด์เพื่อความยั่งยืนที่ต่างประเทศ จึงสนใจและเข้าร่วม ก็ค้นพบว่าเป็นงานที่บรรดาผู้บริหารบริษัทชั้นนำยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่พูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งคล้ายคลึงกับปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด

“ตอนนั้นหนุ่ยทำแบรนด์ดอยตุงอยู่ ก็คิดว่าถ้าเอาดอยตุงมานำเสนอ โลกก็จะรู้เลยว่าคนไทยก็ไม่ได้ด้อยในเรื่องพวกนี้ หนุ่ยเลยไปคุยกับผู้จัดงานว่าขอเอากรณีศึกษาของไทยมานำเสนอปีหน้าได้ไหม เขาก็บอกว่าให้ลองเสนอมาตามขั้นตอน 

แต่เขามีเงื่อนไขว่า เขาไม่ให้คนที่เป็นที่ปรึกษาพูด เจ้าของแบรนด์ต้องมาพูดเอง แต่ทีนี้ดอยตุงไม่มีใครมาว่างพูด คุณชาย (ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล) ก็ให้หนุ่ยมาพูด แต่เขาก็ไม่ยอม เพราะที่ปรึกษาไม่ใช่เจ้าของ แล้วพอนั่งฟังก็รู้สึกว่าถ้าเอาเคสไปพูดไม่ได้ก็เอางานนี้มาจัดที่เมืองไทยก็แล้วกัน เพราะเป็นโอกาสที่จะได้แบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น ซึ่งก็คุยอยู่ 2 ปี กว่าเขาจะยอมให้มาทำในประเทศไทย”

อีกเหตุผลสำคัญที่คุณหนุ่ยอยากจัดงานนี้ขึ้นที่ประเทศไทย เพราะให้ความสำคัญกับคำว่า เครือข่ายความรู้ เพราะถ้าต่างคนต่างยึดถือในความรู้เรื่องความยั่งยืนของตัวเอง เรื่องนี้ก็จะจำกัดแค่ในวงแคบๆ แต่ถ้ามีเวทีกลางที่ให้คนเหล่านี้มาแบ่งปันความรู้ และสร้างพลังที่เกิดจากเครือข่าย ทุกคนก็จะมีกำลังใจการร่วมกันเพื่อทำธุรกิจที่สร้างสรรค์ความยั่งยืน

เหตุผลที่ธุรกิจจำเป็นต้องมีความยั่งยืน

คุณหนุ่ยขยายความเพิ่มเติมถึงความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนกับธุรกิจว่า ธุรกิจต้องสร้างความยั่งยืน และธุรกิจมีหน้าที่ต้องตอบแทนสังคม ไม่ใช่แค่ตอบแทนผู้ถือหุ้นเท่านั้น ถ้าหวังแค่เอาความรู้และเทคโนโลยีที่ตนมีมากอบโกย ก็จะเป็นแบรนด์ที่คนในสังคม รัก ไม่ได้ และเป็นหน้าที่ทั้งบริษัทใหญ่และ SME ที่ต้องส่งเสริมความยั่งยืนนี้ให้เกิดขึ้นในทุกห่วงโซ่การผลิตความยั่งยืน

ความพิเศษของการจัดงาน Sustainable Brands ในปีนี้

คุณหนุ่ยเท้าความเปรียบเทียบการจัดงาน Sustainable Brands ของต่างประเทศและของไทยให้ฟังว่า ทางองค์กรเจ้าของ Sustainable Brands ที่อเมริกาจะมีการประชุมกันเพื่อกำหนด Theme (แนวคิดหลัก) ว่าในปีนั้นแบรนด์ควรมีบทบาทในการพัฒนาสังคมอย่างไร ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศที่จัดงานใช้แนวคิดหลักเหมือนกัน แต่สามารถปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับแต่ละประเทศ

โดยคุณหนุ่ยได้เสนอในที่ประชุมว่าให้แต่ละประเทศเลือกหัวข้อที่แต่ละประเทศโดดเด่น ซึ่งคุณหนุ่ยมองว่าประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องของทะเลและอาหาร โดยในตอนนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเลก็เป็นประเด็นที่โลกต่างให้ความสนใจ อย่างในไทยเองก็มีปัญหาเรื่องของขยะในทะเลและการทำประมงแบบไม่รับผิดชอบ

เมื่อมองถึงสถานที่จัดการประชุมในไทย ก็ได้รับคำแนะนำว่า จังหวัดชุมพรนั้นเป็นสถานที่อันเหมาะสม  เพราะมีทั้งสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตั้งอยู่ ซึ่งได้มาเป็นผู้ร่วมจัดในครั้งนี้ และทางสถาบันฯ ก็มีโครงการที่ทำร่วมกับชุมชนมากมาย เมื่อนำผู้เข้าร่วมการประชุมที่มาจากภาคธุรกิจมาร่วม ก็จะเกิดเป็นวงจรทั้ง ธุรกิจ-ชุมชน-สถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นวงจรของการพัฒนาอันยั่งยืน และสามารถจับต้องได้จริง อีกทั้งชุมพรยังมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของทะเล มีพื้นที่ทะเลทั้งฝั่งแปซิฟิกและอันดามัน เป็นแหล่งปลูกกาแฟโรบัสตา และชุมชนในพื้นที่เข้มแข็ง จึงเลือกจัดการประชุมที่นี่ ภายใต้หัวข้อ Oceans and beyond

ความยั่งยืน
งาน Sustainable Brands งานสัมมนาและทริปเพื่อเรียนรู้ด้านความยั่งยืนของแบรนด์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด จัดมาแล้วกว่าสิบปี ในเมืองชั้นนำกว่าสิบห้าประเทศทั่วโลก ในเมืองไทย กำลังจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 25-26 ตุลาคมนี้ ที่จังหวัดชุมพร

สิ่งที่จะได้รับจากการเข้าร่วม SB’19 Oceans and beyond

คุณหนุ่ยคาดหวังว่าจะมีเจ้าของธุรกิจ ทั้งแบรนด์ใหญ่และระดับ SME เข้าร่วม ซึ่งไม่ใช่แค่แบรนด์ธุรกิจด้านอาหารและการท่องเที่ยว แต่เจ้าของธุรกิจทุกประเภทสามารถเข้าร่วมได้ทั้งสิ้น เพราะการประชุมครั้งนี้คือการให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ถึงการแบ่งปันและการสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน ลงไปสู่ชุมชน และสิ่งรอบตัวให้เกิดการพัฒนาร่วมกัน ซึ่งผู้ที่มาเป็นวิทยากร ก็จะเป็นวิทยากรระดับโลกชื่อมีชื่อเสียงด้านอาหาร และมีประสบการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเต็มใจถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทย ซึ่งสิ่งที่จะได้เรียนรู้คือเทรนด์ และวิธีการใหม่ๆ เรื่องการสร้างแบรนด์เพื่อความยั่งยืน และวิธีการนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ผ่านการพาผู้เข้าร่วมลงไปในชุมชน จึงเกิดการเรียนรู้จากทั้งสองส่วน ที่ทำให้เกิดแง่มุมอันทันสมัยและตอบโจทย์สังคมอย่างได้ผล

โดยจำนวนผู้ที่เข้าร่วม คุณหนุ่ยไม่ได้คาดหวังว่าจะมีมากมาย แต่ผู้ที่เข้าร่วมจะเป็นคนที่สนใจเรื่องนี้จริงๆ ซึ่งจะทำให้ทุกคนล้วนได้รู้จักและสร้างเครือข่ายแห่งความยั่งยืนร่วมกัน

สำหรับผลลัพธ์ในการจัดงานครั้งผ่านๆ มา คุณหนุ่ยยกตัวอย่างถึงแบรนด์ หมูทอดเจ๊จง ที่ได้พบกับตัวแทนจาก เบทาโกร ผู้ประกอบการด้านวัตถุดิบอาหาร จนเกิดการพัฒนาแบรนด์ร่วมกัน และมีแบรนด์ดอยคำ ที่ได้โอกาสมาพบเจอคนในชุมชน จนเกิดเป็นรูปแบบธุรกิจที่เกื้อกูลกันมากขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า นี่ไม่ใช่การประชุมที่แค่มาเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ แล้วกลับไป แต่สิ่งที่สำคัญคือการเป็นแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ เกิดความร่วมมือกัน

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ คุณหนุ่ยทิ้งท้ายกับเราว่า ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องความยั่งยืนนั้นได้แพร่หลายไปในสังคมไทยอย่างมาก เป็นสิ่งที่บริษัทใหญ่ต้องทำ ซึ่งอาจจะเริ่มที่ CSR (Corporate Social Responsibility – ความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กร) โดยงานในครั้งนี้จะช่วยขยายคำว่า CSR ของแต่ละองค์กรให้เป็นระบบแบบเดียวกับระดับโลกมากขึ้น จากที่เมื่อก่อน CSR จะอยู่ภายใต้แผนกสื่อสารองค์กร แต่เราจะทำให้ CSR เข้าไปอยู่ในใจเจ้าของกิจการ และเริ่มต้นทำ CSR ด้วยหัวใจไปพร้อมกับการทำอย่างมีกลยุทธ์

เมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่มักทำเรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคมอยู่เป็นปกติ ภาคธุรกิจนั้นเป็นภาคที่มีทั้งงบประมาณและทักษะ ทั้งการตลาดและภาคการสื่อสาร จึงต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้อื่นและสังคม มิใช่เพื่อกอบโกยผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมการเข้าร่วมงาน SB’19 Oceans and beyond ได้ที่ https://www.sustainablebrandsbkk.com/

เรื่อง/สัมภาษณ์ เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ

ภาพ ณภัทรดนัย


อ่านเพิ่มเติม แนวทางการผลิตอาหารในแบบที่ไม่ทำลายโลกการผลิตอาหาร

Recommend