The Ocean Cleanup สตาร์ตอัปที่ตั้งใจกวาดล้างขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก กับการเดินทางมาติดตั้งเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันการเล็ดรอดของขยะลงสู่ท้องทะเล
โบแยน สแลต (Boyan Slat) เพิ่งอายุ 18 ปี ตอนที่เขาเสนอแนวคิดกวาดล้างขยะพลาสติกในมหาสมุทร ที่งาน TEDx ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี 2012
เขาเล่าถึง Great Pacific Garbage Patch แพขยะกลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยพวกมันมีใหญ่กว่าขนาดของประเทศฝรั่งเศสถึง 3 เท่า และลอยอยู่ในน่านน้ำสากลห่างจากชายฝั่งที่ใกล้ที่สุด 1,000 ไมล์ ในท้องทะเลเวิ้งว้างที่ไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ
จากอิทธิพลของ Coriolis Force ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลให้กระแสน้ำในมหาสมุทรหมุนวนรอบตัวเอง เกิดเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ที่พัดขยะจำนวนมหาศาลมากองรวมกันเป็นแพขยะ เป็นเวลาหลายสิบปีนับจากการค้นพบ Great Pacific Garbage Patch พวกมันยังคงอยู่ที่เดิมและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
มีการคาดการณ์ว่าแพขยะยักษ์ใหญ่กลางมหาสมุทรแปซิฟิกนี้ ต้องใช้เวลาเกือบ 80,000 ปี ในการย่อยสลายกว่าท้องทะเลบริเวณนี้จะกลับมาสะอาดอีกครั้ง
สิ่งที่โบแยนนำเสนอ คือแนวคิดทำความสะอาด Great Pacific Garbage Patch โดยอาศัยการพัดพาของกระแสน้ำนำขยะลอยเข้าสู่อุปกรณ์ดักจับขนาดใหญ่ หากวิธีการนี้ประสบความสำเร็จ เขาจะสามารถเก็บขยะทั้งหมดในแพขยะนี้ ได้ในเวลา 5 ปี
แน่นอนว่าหลังงาน TEDx แนวคิดของเขาได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง องค์กรและคนจำนวนไม่น้อยร่วมกันระดมทุนให้เขานำแนวคิดไปทดลองปฏิบัติจริง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ The Ocean Cleanup สตาร์ตอัปด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเล็กๆ แห่งนี้
ปัจจุบัน The Ocean Cleanup มีทีมงานนับร้อยคนทั่วโลก ประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักวิจัย วิศวกร นักออกแบบและอาสาสมัคร ที่กำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสร้างความยั่งยืนให้มหาสมุทรของเรา
บทเรียนครั้งใหญ่จากความผิดพลาด
หลังจากระดมทุนได้มากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โบแยนและทีมนักวิทยาศาสตร์เดินทางไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อทำการสำรวจ Great Pacific Garbage Patch อย่างละเอียดทั้งทางเรือและทางอากาศ ผลลัพธ์คือแผนที่ความละเอียดสูงของแพขยะแห่งนี้ครั้งแรกของโลก ที่ไม่เพียงระบุตำแหน่ง แต่ยังสามารถระบุถึงความหนาแน่นของปริมาณขยะที่ลอยอยู่ในพื้นน้ำบริเวณนั้นๆ ได้ด้วย
จากนั้นทีมได้ออกแบบเครื่องมือเก็บขยะในทะเล โดยทำการทดสอบแบบจำลองในพื้นที่ปฏิบัติการประเทศเนเธอร์แลนด์หลายร้อยครั้ง ก่อนจะนำต้นแบบไปทดสอบบริเวณทะเลเหนือ มหาสมุทรแอตแลนติก น่านน้ำรอยต่อระหว่างสหราชอาณาจักร, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, เยอรมนี, เบลเยียม, ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์
หลังทำการทดลองอยู่นานนับปี ในที่ System 001 เครื่องดักจับขยะทะเลอย่างเป็นทางการเครื่องแรกของ The Ocean Cleanup ก็ถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโกในเดือนกันยายน ปี 2018
ตัวเครื่องมีลักษณะเป็นทุ่นลอยน้ำความยาว 600 เมตร ทำงานสอดประสานไปกับกระแสน้ำในมหาสมุทร เมื่อกระแสน้ำพัดพาขยะมา System 001 จะทำการต้อนขยะเหล่านั้นให้ไหลไปรวมกัน จากนั้นจึงลำเลียงขยะขึ้นสู่เรือ เตรียมนำกลับมาเข้ากระบวนการทำลายและรีไซเคิลอย่างถูกต้องบนแผ่นดินใหญ่
แรกเริ่ม The Ocean Cleanup ประเมินว่า System 001 จะสามารถเก็บขยะทะเลได้ปีละมากกว่า 50 ตัน แต่หลังผ่านไปเพียง 2 เดือน ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับขยะเวอร์ชันแรกที่มีชื่อว่า Wilson เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิค หลังดักจับขยะไปได้เพียง 2,000 กิโลกรัม และไม่นานหลังจากนั้น Wilson ก็แตกหักเป็น 2 ท่อน ทำให้ต้องลากเครื่องมือทั้งหมดกลับเข้าฝั่งเพื่อซ่อมแซม
เป้าหมายระดับโลกที่ต้องไปให้ถึง
โบแยนและและทีมใช้เวลาอีกครึ่งปี ปรับปรุงระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับขยะและเสริมชิ้นส่วนเพิ่มเติมไปยัง System 001 อย่างตาข่ายใต้น้ำที่เพิ่มประสิทธิภาพในการดักจับขยะ รวมถึงร่มชูชีพที่ช่วยชะลอความเร็วในการเคลื่อนตัวของอุปกรณ์ไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำเร็วเกินไปนัก
หลังปล่อยอุปกรณ์ออกไปทำงานจริงอีกครั้ง เห็นได้ชัดว่า System 001 ที่ปรุงปรุงแล้วมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก มันสามารถจับและเก็บขยะขนาดใหญ่อย่างซากอวน ไปจนถึงเศษพลาสติกเล็กขนาดไม่กี่มิลลิเมตรได้ โดยสัตว์น้ำที่ว่ายเข้าไปในรัศมีของอุปกรณ์ สามารถมุดออกจากตาข่ายใต้น้ำได้อย่างอิสระ
อย่างไรก็ตาม System 001 ยังไม่สามารถจัดการกับไมโครพลาสติก (อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) และยังมีปัญหาในเชิงระบบหลายส่วนที่ทีม The Ocean Cleanup ใช้ข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากการทดสอบ System 001 มาศึกษาและพัฒนาเป็นเครื่องดักจับขยะทะเลรุ่นต่อมา
ปัจจุบัน System 002 ได้รับการทดสอบและพัฒนาระบบอยู่ที่ทะเลเหนือ และจะถูกนำไปใช้งานดักจับขยะทะเลเต็มรูปแบบที่ Great Pacific Garbage Patch ปลายปีนี้
เป้าหมายใหญ่ของ The Ocean Cleanup คือภายในปี 2040 พวกเขาจะต้องทำการการกำจัด ร้อยละ 90 ของขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในวงแหวนกระแสน้ำของมหาสมุทรทั้ง 5 แห่ง (The Five Oceanic Gyres) ไม่เพียงเฉพาะมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น
เพราะมหาสมุทรไม่มีพรมแดน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ โบแยนอธิบายว่าพวกเขาต้องทำมากกว่าแค่ตามเก็บขยะดั้งเดิมที่ลอยคว้างอยู่กลางมหาสมุทรมาเป็นเวลานาน เพราะในแต่ละวัน แม้แต่ในนาทีนี้ ขยะมหาศาลกำลังไหลเล็ดรอดลงสู่ท้องทะเล ดังนั้นระหว่างที่ดักจับขยะดั้งเดิม (Legacy Pollution) พวกเขาต้องดำเนินการปิดก๊อกสายน้ำ ที่ไหลพัดพาพลาสติกลงสู่มหาสมุทรไปพร้อมๆ กันด้วย
ข้อมูลจากนักวิจัยระบุว่า ร้อยละ 80 ของมลพิษพลาสติกในมหาสมุทรเกิดจากแม่น้ำประมาณ 1,000 สายหรือเพียงร้อยละ 1 ของแม่น้ำทั้งหมดทั่วโลก โดยแม่น้ำเหล่านั้นมีภาวะปนเปื้อนรุนแรง และทันทีที่ขยะจากแม่น้ำเหล่านั้นไหลลงท้องทะเลที่ไร้พรมแดน ขยะของประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็กลายเป็นขยะของโลกที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน
หนทางแก้ปัญหาของ The Ocean Cleanup คือการทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคเอกชนท้องถิ่นในหลากหลายประเทศ เพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำที่มีมลพิษมากที่สุดทั้ง 1,000 แห่งทั่วโลก
โดยใช้ Interceptor เรือพลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์อีกชนิดจากการระดมสมองของทีม The Ocean Cleanup เพื่อทำหน้าที่ดักจับขยะในแม่น้ำ ก่อนส่งต่อให้หน่วยจัดการขยะมูลฝอยท้องถิ่นนำไปจัดการต่ออย่างเหมาะสมที่สุดตามบริบทของแต่ละพื้นที่
กระแสน้ำตามธรรมชาติในแม่น้ำ จะพัดพาขยะพลาสติกไปยังสิ่งกีดขวางลอยน้ำที่ต้อนพวกมันไปรวมกัน โดยสิ่งกีดขวางนี้ยึดโยงเข้ากับสายพานที่จะลำเลียงขยะขึ้นสู่ Interceptor ซึ่งมีถังเก็บขยะขนาดใหญ่ภายใน เมื่อขยะเต็ม ระบบแจ้งเตือนอันโนมัติจะส่งสัญญาณบอกชายฝั่งให้มาเปลี่ยนถ่ายขยะออกไปยังชายฝั่งและเข้าสู่ระบบจัดการต่อไป
แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ลำดับที่ 5 ซึ่ง The Ocean Cleanup ได้มาทำการติดตั้ง Interceptor ต่อจาก Cengkareng Drain ประเทศอินโดนีเซีย, แม่น้ำ Klang ประเทศมาเลเซีย, แม่น้ำ Rio Ozama ประเทศโดมินิกัน รีพับลิก และแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม
Interceptor สามารถดักเก็บขยะอัตโนมัติได้ 3–4 ตันต่อวันขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในพื้นที่ การดำเนินการในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง The Ocean Cleanup และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจะติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ 3 จุด จุดแรกนำร่องติดตั้งบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวการแก้ปัญหาขยะทะเล เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณขยะในแม่น้ำมากที่สุด
แก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีและความครีเอทีฟ
หลังจากทดลองและพัฒนาเป็นเวลาหลายปี The Ocean Cleanup ค้นพบวิธีเปลี่ยนขยะพลาสติกจากทะเลเหล่านี้ เป็นวัสดุที่พร้อมถูกใช้งานใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางความสงสัยในระยะแรกของนักวิชาการว่าพวกมันจะสามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ เนื่องจากโครงสร้างที่ซับซ้อนหลังจากผุกร่อน ถูกทำลายโดยแสงแดด ลมและกระแสน้ำเป็นเวลานานหลายปี
The Sunglasses ผลิตภัณฑ์แรกของโลกที่ผลิตด้วยพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด จาก Great Pacific Garbage Patch
โบแยนกล่าวว่า “นี่เป็นความพยายามครั้งแรกของเราในการผลิตผลิตภัณฑ์ และเราวางแผนที่จะปรับปรุงให้ทุกอย่างดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเชิงเทคโนโลยีและดีไซน์ สิ่งที่เราคาดหวังมากที่สุดสำหรับแว่นกันแดดเหล่านี้ คือผมหวังว่ามันจะช่วยยกระดับความหมายของการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน และความเข้าใจว่าพลาสติกไม่ใช่วัสดุที่ไม่ดีในตัวมันเอง แต่การใช้งานและจัดการหลังใช้อย่างไม่รับผิดชอบต่างหาก คือภัยคุกคาม”
รายได้จากแว่นกันแดดจะถูกนำไปสมทบทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของ The Ocean Cleanup คาดว่ารายได้จากการขายแว่นกันแดด 1 คู่ เทียบเท่างบประมาณที่จำเป็นต้องใช้ในการดักจับขยะพื้นที่ 24 สนามฟุตบอลใน Great Pacific Garbage Patch เลยทีเดียว
สืบค้นและเรียบเรียง มิ่งขวัญ รัตนคช
ข้อมูลอ้างอิง
- From trash to treasure: The Ocean Cleanup story continues
- Interceptor เรือเก็บขยะแม่น้ำเจ้าพระยาลำแรกถึงไทย
- The Ocean Cleanup
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : Net Free Seas ครั้งแรกของการรีไซเคิลซากอวนประมงจากท้องทะเลไทย