Go Electric และ Go Green กลยุทธ์ความยั่งยืนของ ปตท. ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย

Go Electric และ Go Green กลยุทธ์ความยั่งยืนของ ปตท. ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย

ปตท. กำหนดแผนกลยุทธ์ Go Electric และ Go Green วางทิศทางธุรกิจรองรับการผลิตพลังงานสะอาดและเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตสำหรับประเทศไทย

การตื่นตัวเรื่องมลพิษและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทำให้ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ในตลาดโลกเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการขยับตัวของรัฐบาลทั่วโลก ในการออกนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า

รถยนต์ไฟฟ้าคือยานยนต์แห่งอนาคต และขณะนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ในขณะเดียวกัน ‘ธุรกิจพลังงาน’ ก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมให้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างแข็งแรง ดังนั้นนอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยที่ต้องปรับตัวแล้ว ‘ธุรกิจพลังงาน’ ในไทยก็ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อเติบโตไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่มีส่วนร่วมในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย  จึงมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ชัดเจนเพื่อวางทิศทางธุรกิจ รองรับการผลิตพลังงานสะอาดและเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

หน้าตาของรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา ภาพถ่ายโดย Tesla

“เทรนด์พลังงานในอนาคต จะมุ่งไป 2 เรื่อง คือ Go Electric และ Go Green” อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าว

ดังนั้นในอนาคต นอกจาก ปตท. จะต่อยอดการเติบโตในธุรกิจหลักอย่างปิโตรเคมีแล้ว ก็จะเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ ที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก

Go Electric

ล่าสุด ปตท. ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ Foxconn ผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดของโลก เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย

ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ให้เปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ ไฟฟ้าสมัยใหม่ นับเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและเศรษฐกิจประเทศให้เติบโต รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากขึ้น

โดยการผนึกกำลังกันในครั้งนี้ จะเป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ Foxconn และความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงานของ ปตท. เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่ายานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้รับผลิตสินค้าในประเทศไทยที่มีความสนใจ สามารถมาร่วมผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไปด้วยกันได้อย่างรวดเร็วและใช้ต้นทุนต่ำ

พร้อมกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ เสริมสร้างทักษะและอาชีพให้กับประชาชน และที่สำคัญที่สุด จะเป็นต้นแบบนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและพลังงาน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

“ในระยะแรก ปตท. และ Foxconn ตั้งเป้าหมายจัดตั้งแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และส่วนประกอบหลักต่าง ๆ แบบ end-to-end ด้วยเงินร่วมลงทุนขั้นต้นที่ 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะขยายการลงทุน ในอนาคตและเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจสู่เวทีโลกต่อไปในอนาคต

“นอกจากนี้ยังเป็นการตอบสนองนโยบายและทิศทาง การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ ที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส อรรถพลอธิบาย

ชายชาวนอร์เวย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาเอสของเขาในวันหยุดสุดสัปดาห์ นอร์เวย์วางแผนแบนการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในปี 2025 นี้

Go Green

เมื่อปีที่ผ่านมา ปตท. มีการปรับกลยุทธ์ทิศทางธุรกิจ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานใหม่และพลังงานสะอาด ในส่วนธุรกิจไฟฟ้าที่มีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็น Flagship จะขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและ New Energy ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน

โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนเพิ่มเป็น 8,000 เมกะวัตต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2573 จากที่ปัจจุบัน GPSC มีกำลังการผลิตอยู่ราว 5,000 เมกะวัตต์ เป็นในส่วนพลังงานทดแทน 500 เมกะวัตต์

ที่ผ่านมา ปตท. ได้พัฒนา EV Changer Platform และ EV Station เพื่อสร้าง Ecosystem ให้ครบ

โดยจัดตั้งบริษัท SWAP&GO โมเดลจักรยานยนต์ที่ถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาชาร์จ จากจีนที่นำมาทดลองในไทย โดยเริ่มจากธุรกิจฟู้ดเดลิเวลลี่ จากนั้นจะขยายไปเมืองท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวใช้ หากได้รับการตอบรับดีจะเพิ่มการผลิตภายในประเทศ

เครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เมื่อแบตเตอรีหมดระหว่างทาง ไม่ต้องรอชาร์จ เพียงเข้ามาสลับเอาแบตเตอรีลูกใหม่ที่ไฟเต็มไปได้เลย

โดยในภาพรวมได้นำ Digital Platform , Cloud Technology และ Blockchain มาใช้ เพื่อรองรับพลังงานใหม่ การซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ออกใบรับรองการใช้พลังงานสะอาด ให้เกิดธุรกรรมการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนครบวงจร ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วกับผู้ต้องการใช้พลังงานสะอาด

รวมทั้งการนำ AI มาใช้ให้เกิดความสมดุลด้านพลังงาน และคาดการณ์ล่วงหน้าพยากรณ์อากาศ เพื่อประเมินการผลิตไฟฟ้าจากลมหรือโซลาร์เซลล์ ได้นำร่องทดลองที่ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ

จะเห็นได้ว่า ปตท. นำนวัตกรรมองค์ความรู้ทั้งภายนอกและภายใน มาบูรณาการสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์ Reimagine เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจเดิมและ New S-Curve ซึ่งประกอบไปด้วย

กลุ่มแรกคือ New Energy ที่รวม Smart City

กลุ่มที่สอง Life Science หรือวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต

กลุ่มที่สาม Mobility & Lifestyle แพลตฟอร์มในการสื่อสารกับผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์การดำเนินชีวิตผู้บริโภคในรูปแบบใหม่

กลุ่มที่สี่ High Value Business คือ New Material เน้นด้านปิโตรเคมีและการกลั่นต่อยอดไปที่ High value product

และกลุ่มสุดท้าย Logistic เชื่อมโยงการขนส่งของกลุ่ม ปตท.เพื่อลดต้นทุนและหาโอกาสการขยายการลงทุน

พลังงานหมุนเวียน, โซลาร์เซลล์
โซลาร์เซลล์ แหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่ใช้ได้ไม่จำกัด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อเชื้อเพลิง ใช้ประโยชน์และดูแลรักษาง่าย อีกทั้งยังสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ห่างไกล

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : การรีไซเคิลแบตเตอรีรถ EV เป็นสิ่งที่ต้องทำ เมื่อโลกเปลี่ยนสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้า

Recommend