Covid Relief Bangkok กลุ่มอาสาสมัครเพื่อเยียวยากลุ่มเปราะบางในกรุงเทพฯ โดยไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนการบริจาคสิ่งของ แต่มีการวางแผนระยะยาวต่อเนื่องเป็นหลายระยะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนไม่มากก็น้อย ในแต่ละด้านแตกต่างกันไป รวมถึงผู้คนในพื้นที่ชุมชนแออัด พวกเขาล้วนเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยให้กลไกในระบบสังคมไทยก้าวไปได้ แต่กลับกลายเป็นว่าผู้คนจำนวนมากในพื้นที่ดังกล่าวต้องกลายเป็นคนนอกระบบที่โอกาสต่าง ๆ อาจเข้าไปไม่ถึง แต่กระนั้นพวกเขายังคงพยายามฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้เหมือนดังที่ทุก ๆ คนก็พยายามอยู่เช่นกัน
ภายใต้วิกฤติยังมีโอกาสก่อเกิดเป็นโครงการ Covid Relief Bangkok ของกลุ่มอาสาสมัครหลากหลายภาคส่วน เพื่อเยียวยาผู้มีรายได้ต่ำและกลุ่มเปราะบางในกรุงเทพฯ โดยไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนการบริจาคสิ่งของ แต่มีการวางแผนระยะยาวต่อเนื่องเป็นหลายระยะ ผ่านการเข้าไปให้ความรู้ เข้าไปทำงานร่วมกันกับพื้นที่ชุมชนแออัด และพยายามสร้างระบบให้เข้าถึงทุกคน เพื่อไม่ให้มีใครที่ต้องอยู่ภายนอกระบบอีก
Covid Relief Bangkok ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2563 จากการรวมตัวกันของมูลนิธิสติ (SATI Foundation), มูลนิธิ Scholars of Sustenance, Urban Studies Lab, มูลนิธิครีเอทีฟไมเกรชั่น (อีส) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งร่วมทำงานที่ Bangkok 1899 และศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC Bangkok)
มีจุดประสงค์เข้าช่วยเหลือผู้คนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มคนในชุมชนแออัด ผู้สูงวัย และผู้มีรายได้ต่ำ ผู้คนเหล่านี้จำนวนมากคือประชากรแฝงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นเดียวกันกับประชากรกลุ่มอื่น ๆ แต่ช่องว่างทางสังคมทำให้พวกเขาอาจไม่ได้รับสวัสดิการ และไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานบางอย่าง ซึ่งนั่นทำให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมาทั้งปัญหาต่อคุณภาพชีวิต และปัญหาสังคม เพราะอย่าลืมว่าทุกคนล้วนมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนสังคม
เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประเทศไทย ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ (SATI Foundation) ซึ่งเป็นหนึ่งในมูลนิธิที่ริเริ่มโครงการ Covid Relief Bangkok คุณเสกสรรได้บอกเล่าการดำเนินการของโครงการ และถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตของผู้คนในชุมชนแออัด ช่วงวิกฤติโควิด-19
วิกฤตความเหลื่อมล้ำ
หนึ่งในเรื่องราวที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการขาดโอกาสของผู้คนในชุมชนแออัด อย่างกรณีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ มีระบบการจัดการที่ดี สะอาด และปลอดภัย
ในขณะที่พื้นที่หลังกำแพงของหมู่บ้านแห่งนี้ดูแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง อีกฟากของกำแพงคือที่ตั้งของชุมชนแออัด ที่มีกองขยะเต็มไปหมด ทั้งๆที่คนในชุมชนแออัดแห่งนี้คือผู้คนที่อยู่ในสังคมเดียวกันกับหมู่บ้านข้างๆ อาจเป็นแม่บ้านทำความสะอาด คนกวาดถนน หรือคนเก็บขยะ แต่พวกเขากลับมีคุณภาพในสุขภาวะพื้นฐานไม่เท่ากัน
แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำสามารถพบเห็นได้ทั่วกรุงเทพมหานคร และเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ Covid Relief Bangkok ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้คนในชุมชน ดังนั้นขั้นตอนและวิธีการดำเนินการจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้โครงการสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและเกิดความยั่งยืน
Covid Relief Bangkok ใช้ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรจาก Urban Studies Lab ในการลำดับชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดยการนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนงานทำให้โครงการสามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นระบบ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังมีพาร์ทเนอร์ส่วนกลางอย่าง Socialgiver ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เข้ามาช่วยในส่วนของการรับบริจาค ให้มีความชัดเจนและทราบถึงรายละเอียดของการนำเงินไปใช้ในการดำเนินงานของโครงการ
อาหารประทังชีพ 1 ล้านมื้อ
ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 มีมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการล็อคเดาน์ ปิดโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ การทำงานที่บ้าน การเลิกจ้าง ปรับลดจำนวนคน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของผู้คนในชุมชน
Covid Relief Bangkok จึงจำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วนในการรับบริจาคและแจกจ่ายสิ่งของ เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ทําความสะอาดมือ เจล สบู่ รวมถึงอาหารสําเร็จรูป ให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
Covid Relief Bangkok ได้ลงพื้นที่แจกจ่ายถุงยังชีพ ร่วมกันกับศูนย์สุขภาพชุมชนและอาสาสมัครโดยโครงการได้มีความตระหนักในความเสี่ยงต่างๆเป็นสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสจึงจัดให้มีมาตรการสำหรับการลงพื้นที่และมีการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในการดูแลสุขภาพ
เช่น การเคาะประตูแล้ววางของไว้หน้าบ้าน การเว้นระยะห่าง สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า และงดการถ่ายรูปใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิ่งของและอาหารจะเข้าไปถึงครอบครัวที่มีความต้องการในแต่ละชุมชนอย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด
อีกทั้ง Covid Relief Bangkok ยังควบคุมระบบการบริจาคให้สามารถตรวจสอบได้ผ่าน QR Code ที่ถุงยังชีพ เมื่ออาสาสมัครและผู้รับบริจาคสแกน ข้อมูลก็จะถูกจัดเก็บ ทำให้โครงการนำมาใช้วางแผนการแจกจ่ายถุงยังชีพได้ต่อไป โดยตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา Covid Relief Bangkok สามารถเสิร์ฟมื้ออาหารได้มากกว่า 1,000,000 มื้อ ด้วยจำนวนแคลอรี่ 2,000 แคลอรี่ต่อหนึ่งมื้อ จากสิ่งของในถุงยังชีพ
หนทางเยียวยาที่ยั่งยืนกว่า
ถึงแม้ว่าในระยะแรก Covid Relief Bangkok จะเริ่มจากการบริจาคสิ่งของ แต่แนวทางการช่วยเหลือของโครงการนั้นมุ่งเน้นในความยั่งยืน โครงการไม่เพียงแต่พัฒนาศักยภาพของผู้คนในชุมชนแออัดให้สามารถดำรงชีวิตผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้ แต่ยังพยายามต่อยอดให้เกิดการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตในระยะยาวหลังจากปัญหาโควิด-19 จบลง
โดยการดำเนินงานของ Covid Relief Bangkok ในระยะต่อมาคือ การให้ความรู้ทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดอาชีพของผู้คนในชุมชนแออัด รวมถึงการให้คำปรึกษา ประเมินสุขภาพทางจิต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้คนมากมายกำลังเผชิญอยู่ในสภาวะกดดันเช่นนี้
แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวจากที่เคยขายได้วันละ 1000 บาท กลับขายได้น้อยลงจนบางรายก็ต้องหยุดขายไป และหากรอสถานการณ์ดีขึ้น รอให้โควิด-19 จบลง ก็ไม่มีอะไรยืนยันว่าจะกลับมาขายได้วันละพันเหมือนเดิม ในเมื่อสูตรก๋วยเตี๋ยวยังคงมีอยู่ในมือ แล้วจะหารายได้ในเวลาวิกฤตินี้ได้อย่างไร
Covid Relief Bangkok จึงสร้างคอร์สเรียนหลักสูตรธุรกิจ อีกทั้งร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (CODI) ช่วยพัฒนารูปแบบธุรกิจของผู้คนในชุมชน และสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กหรือเงินช่วยเหลือ
ในส่วนของคอร์สเรียนรู้ด้านธุรกิจ เช่น กลุ่มสอนเรื่องการคำนวณต้นทุน กำไร ได้เข้าไปให้ความรู้กับพ่อค้าแม่ค้าในชุมชน ให้สามารถวางแผนการซื้อวัตถุดิบสินค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เรียนรู้การประหยัดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร หรือจะเป็นกลุ่มสอนด้านภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ดึงดูดลูกค้า รวมถึงการสอนทำตลาดออนไลน์ และการขายรูปแบบเดลิเวอรี่ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในยุคโควิด-19
เพื่อสุขภาพจิตและกายที่ดี
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ก่อให้เกิดความกดดันที่เปรียบเสมือนเป็นตัวกระตุ้นปัญหาความเครียดที่สะสมอยู่แล้วของผู้คนในชุมชน เช่น ความเครียดจากการเป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยสูง บวกกับการขาดรายได้ช่วงนี้จึงไม่มีเงินใช้หนี้ หรือจะเป็นความเครียดที่ต้องเลี้ยงลูก โดยเฉพาะในช่วงที่โรงเรียนปิด ผู้คนในชุมชนต้องแบกรับภาระความกดดันนี้มายาวนานตลอดช่วงการระบาดโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเช่นนี้
Covid Relief Bangkok ได้ดำเนินการช่วยเหลือด้านสุขภาวะทางจิต ผ่านการอบรมเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครลงพื้นที่เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนแออัด สร้างความไว้วางใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นพูดคุย ให้คำปรึกษา เพื่อประเมินอาการว่าแต่ละคนมีสภาวะที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ หรืออาจถึงขั้นที่ต้องได้รับการรักษา
จากการคำนึงด้านความเสี่ยงในการลงพื้นที่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 แต่ถึงกระนั้น Covid Relief Bangkok ยังคงพยายามวางแผนหาวิธีแก้ปัญหาอยู่ โดยมองความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาลดระยะห่างที่เกิดขึ้น และช่วยให้อาสาสมัครสื่อสารกับผู้คนในชุมชนได้อีกครั้ง
ตัวอย่างเรื่องราวจากการลงพื้นที่ของ Covid Relief Bangkok ในชุมชนแออัดย่านบางบอน คุณลุงคนหนึ่งอาศัยอยู่กับหลานที่มีความพิการ โดยคุณลุงทำงานรับจ้างทั่วไป ซึ่งช่วงโควิด-19 ทำให้งานลดลงและขาดรายได้ คุณลุงเล่าว่าไม่ได้ลำบากมากมายอะไร เพราะบ้านก็อยู่ติดวัด พอจะได้อาหารและของใช้จากวัดอยู่เรื่อย ๆ แต่ปกติคุณลุงต้องพาหลานไปโรงพยาบาลเป็นประจำ จึงจำเป็นต้องดิ้นรนหาค่าเดินทางและค่ารักษาพยาบาล
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่พูดคุยกันอยู่นั้นคุณลุงยิ้มแย้มตลอดเวลา ราวกับว่าตนไม่ได้มีความยากลำบากใดๆ ซึ่งคุณลุงได้เล่าว่าความสุขของลุงมาจากการมีชีวิตอยู่ของหลาน เพราะหมอเคยบอกว่าหลานจะอยู่ได้ไม่เกิน10 ขวบ แต่ตอนนี้หลานอายุมากกว่านั้น แค่นี้ก็หมือนเป็นของขวัญของลุงแล้ว
จะเห็นได้ว่าแต่ละคนประสบปัญหาความยากลำบากแตกต่างกันไป แต่ละคนมีเรื่องราวความทุกข์ยากไม่เหมือนกัน การได้เข้าไปพูดคุยถามไถ่จะช่วยทำให้ Covid Relief Bangkok เข้าใจปัญหาและช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด และทำให้เห็นว่าอีกหนึ่งปัญหานอกจากเรื่องธุรกิจหรือการประกอบอาชีพ นั่นคือปัญหาด้านสุขภาพจิต แม้ว่าเชื้อโรคจะแพร่ระบาดและเป็นภัยต่อสุขภาพกาย แต่อย่าลืมว่าการมีสุขภาพจิตที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญในสภาะวะเช่นนี้
การระบาดระลอกใหม่
ประเด็นใหญ่ที่ Covid Relief Bangkok กำลังวางแผนดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของคนในชุมชนแออัด อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคนในชุมชนจำนวนมากเป็นดั่งประชากรแฝงที่อยู่นอกระบบการจัดการสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ดังนั้นวัคซีนอาจล่าช้าหรือเข้ามาไม่ถึงคนกลุ่มนี้
Covid Relief Bangkok วางแผนที่จะเก็บรวมรายชื่อ และข้อมูล ของผู้คนในชุมชนแออัด โดยจัดเก็บให้เป็นระบบชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขในการดำเนินการฉีดวัคซีน โดยจะฝึกอบรมอาสาสาสมัครให้เข้าไปให้คำปรึกษาในการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการรับวัคซีน รวมถึงการเก็บรวบรวมรายชื่อด้วยตนเอง และประสานงานกับทางสาธารณสุขชุมชน รวมถึงมองความเป็นไปได้ในการอำนวยสถานที่สำหรับเปิดลงทะเบียนรับวัคซีน
ปัจจุบัน Covid Relief Bangkok ยังคงดำเนินการช่วยเหลือผู้คนในชุมชนแออัด ผู้สูงวัย และผู้มีรายได้ต่ำอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ระบบที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนไปอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่การก้าวข้ามผ่านวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่โครงการยังคาดหวังว่าโควิด-19 จะทำให้สังคมเรามองเห็นปัญหาที่แท้จริง ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างของระบบ โอกาสในการเข้าถึงสิ่งพื้นฐานต่างๆ และหวังว่าผลสำเร็จในการดำเนินงานของ Covid Relief Bangkok จะช่วยสร้างมุมมองดีๆในการช่วยเหลือกันและกัน โครงการที่เกิดจากการรวมตัวกันของมูลนิธิเล็กๆจำนวนหนึ่งยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และถ้าทุกคนร่วมมือกันคงขับเคลื่อนสังคมไปได้ไกลกว่านี้
เรื่อง ภัทราพร ชัยบุตร (โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)
ภาพ เสกสรร รวยภิรมย์
- วันนี้ เมื่อการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น ผู้คนกลับมาได้รับผลกระทบและต้องทนทุกข์จากการสูญเสียรายได้อย่างต่อเนื่องจากการว่างงานอีกครั้ง โดยเฉพาะชุมชนเปราะบางรายได้น้อย และชุมชนแรงงานข้ามชาติ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพฯ
- โครงการ Covid Relief Bangkok จึงเล็งเห็นถึงความความจำเป็นในการแจกจ่ายอาหารอีกครั้ง จำพวกข้าวสารขนาด 5 กิโลกรัม, ปลากระป๋อง และผลไม้กระป๋อง โดยสามารถจัดส่งมาได้ที่ Bangkok 1899 และสามารถร่วมบริจาคเงินสนับสนุนโครงการได้ทาง Social Giver
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : โรคระบาด : ราคาจากการทำร้ายธรรมชาติ