6 วิธีเก็บน้ำหน้าฝนเพื่อใช้ในหน้าแล้ง ของชุมชนรอบเขายายดา จ. ระยอง

6 วิธีเก็บน้ำหน้าฝนเพื่อใช้ในหน้าแล้ง ของชุมชนรอบเขายายดา จ. ระยอง

จากความต้องการแก้ไขปัญหาน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน และน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง ในวันนี้ ชุมชนรอบเขายายดา จ. ระยอง สามารถสร้างขั้นตอนการบริหารจัดน้ำด้วย 6 วิธี ซึ่งเกิดจากการศึกษาร่วมกันกับ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC จนพลิกสถานะสู่ชุมชนที่มีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอในตลอดทั้งปี

เมื่อราว 20 ปีก่อน ณ บริเวณชุมชนรอบเขายายดา ที่กินพื้นที่ในบริเวณอำเภอเมืองและอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่ตั้งของหมู่บ้าน ราว 10 หมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนผลไม้และยางพารา ต้องประสบปัญหาเรื่องน้ำที่รุมเร้าและยืดเยื้อ

จากปัญหาพื้นที่ป่าที่เริ่มเสื่อมโทรมจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ป่าไม้ไปเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว ดินในพื้นที่ไร้ซึ่งความสามารถในการดูดซับน้ำ ประกอบกับเขายายดายังเป็นพื้นที่ที่ติดกับทะเล ด้วยลักษณะธรณีวิทยาที่มีลักษณะเป็นดินทรายซึ่งมีคุณสมบัติการกักเก็บน้ำที่ต่ำ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามากในช่วงหน้าฝน แปลงสภาพกลายเป็นน้ำผิวดินไหลลงสู่ลำธารและไหลลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงหน้าแล้งจึงไม่มีน้ำในดินหล่อเลี้ยงลำธารของพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ เกษตรกรโดยรอบจึงได้รับความเดือดร้อนจากการที่ไม่มีน้ำรดพืชผลการผลิตอย่างต่อเนื่อง

พื้นดินที่ถูกแปลงสภาพจากป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กลายเป็นพื้นที่เปิดโล่งเกือบหมด แรงตกกระทบของเม็ดฝนจากฝนในหน้าฝนทำให้ผิวดินถูกอัดแน่น และความสามารถในการดูดซับน้ำฝนของดินลดลง ดังนั้นฝนที่ตกลงมาส่วนใหญ่จึงแปลง ไปเป็นน้ำผิวดินและไหลลงสู่ลำธารอย่างรวดเร็วตามลักษณะของพื้นที่ที่มีความลาดชัน ก่อให้เกิดเป็นน้ำไหลบ่าในขณะที่ฝนตก และเมื่อไม่มีน้ำฝนซึมลงไปในดิน ก็จะไม่มีน้ำในดินเอื้ออำนวยให้กับลำธารช่วยกักเก็บน้ำในพื้นที่หลังจากฝนหยุดตก หรือในช่วงฤดูแล้ง

ยิ่งไปกว่านั้น ผิวดินที่ถูกกัดเซาะและพัดพาไปโดยน้ำผิวดิน จะทำให้ชั้นดินบางลงและเก็บกักน้ำฝนสะสมได้น้อยลง  จึงทำให้น้ำฝนสะสมในชั้นดินที่ควรจะเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับลำธารหลังจากฝนหยุดตกในช่วงฤดูแล้งลดน้อยลงตามไปด้วย  ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ของเขายายดาก็ยิ่งรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านรอบชุมชนเขายายดาจึงตัดสินใจที่จะเรียนรู้และสร้างระบบการจัดการน้ำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำของพื้นนี้ให้ดีขึ้น ด้วยการสร้างโครงการ “เก็บน้ำดี มีน้ำใช้ ด้วยโมเดล 2 สร้าง 2 เก็บ” ภายใต้การสนับสนุนและให้คำแนะนำของ เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เพื่อการสร้างองค์ความรู้การจัดน้ำของชุมชนเขายายดา โดยมี ดร. พงษ์ศักดิ์ วิทวัสชุติกุล  อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นที่ปรึกษาโครงการ ฯ และคุณวันดี อินทรพรม ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 บ้านมาบจันทร์ เป็นผู้แทนชาวบ้านในการร่วมการศึกษาและสร้างระบบจัดการน้ำในโครงการนี้

เรียนรู้สมการสมดุลน้ำ เพื่อการจัดการน้ำที่ยั่งยืน

การสร้างสมดุลน้ำ

จากการศึกษาร่วมกันของ เอสซีจีซี ผู้เชี่ยวชาญ และชุมชน ได้ผลออกมาเป็นข้อสรุปว่า การทราบถึงวิธีการจัดการน้ำที่เหมาะสมจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อหาปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อเป็นตัวตั้งต้นในการสร้าง “สมการสมดุลน้ำ” เพื่อให้ทุกคนในชุมชนทราบถึงปริมาณน้ำที่ชุมชนสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างเหมาะสมไปตลอดทั้งหน้าฝนและหน้าแล้ง

ปริมาณน้ำคงเหลือเหล่านี้จะนำมาสู่การบริหารจัดการ ทั้งในกรณีการกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝน เพื่อตุนเอามาใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ให้ภาพรวมถึงปริมาณการใช้น้ำอย่างเหมาะสมไปตลอดทั้งปี

6 ข้อมูลการจัดการน้ำท้องถิ่นแบบง่าย ๆ ของชุมชนรอบเขายายดา

นอกเหนือจากการสร้างสมดุลน้ำ สิ่งที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำภายในชุมชนอย่างยั่งยืน คือ การหาวิธีการเก็บน้ำฝนให้ได้มากที่สุดด้วยการเพิ่มการดูดซับน้ำฝน กักเก็บน้ำผิวดิน ชะลอการไหลของน้ำท่า (ตามลำธารและลำคลอง) โดยน้ำที่เก็บได้ในหน้าฝนจะเป็นต้นทุนแหล่งน้ำสำคัญที่จะนำมาใช้ในหน้าแล้ง

ในกรณีของชุมชนรอบเขายายดา ได้มีการศึกษาโดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยชุมชนและความรู้ดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ผสานเข้ากับกรณีศึกษาวิธีการจัดการน้ำที่ได้ผลในพื้นที่ต่าง ๆ ออกมาเป็น 6 วิธีหลักการจัดการน้ำ ที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และคนในชุมชนเป็นผู้ดำเนินการเองได้ในทุกขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. การจดบันทึกของมูลน้ำ ด้วยการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ร่วมกับการคำนวณแบบพื้นฐาน

การสร้างข้อมูลน้ำเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการในภาพรวมต้องอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ในตอนเช้าของทุกวัน อาสาสมัครนักวิจัยท้องถิ่นในชุมชนบ้านมาบจันทร์ หนึ่งในชุมชนรอบเขายายดาจะทำการรวบรวมและจดบันทึกข้อมูลน้ำใน 2 ส่วน ดังต่อไปนี้

  • การเก็บค่าความชื้น ใช้วิธีการตั้งเครื่องวัดน้ำระเหยที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ซึ่งมีลักษณะเป็นถาดสเตนเลสที่มีขนาดหน้าตัดจำนวนหนึ่งสำหรับวัดน้ำฝน (สามารถเลือกขนาดหน้าตัดได้ตามความสะดวก) และมีปลายลวดอยู่ตรงกลางถาดสำหรับระบุจำนวนน้ำที่ต้องเติมอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ปลายลวดเป็นตัวบ่งชี้จำนวนน้ำที่ระเหยออกไปในแต่ละวันอีกด้วย

วิธีการใช้คือ ตั้งเครื่องวัดน้ำระเหยไว้ในที่โล่งสูงจากพื้นดินราว 1 เมตร ทำมุมกับยอดต้นไม้หลัก 45 องศา แล้วเติมน้ำในเครื่องวัดฯ ให้เต็ม ในวันรุ่งขึ้นให้วัดปริมาณน้ำที่ระเหยออกซึ่งจะทราบได้จากการที่วันถัดมาผู้ใช้งานต้องมีการเติมน้ำให้ถึงปลายขดลวดกี่มิลลิลิตร แล้วจดบันทึกไว้เพื่อนำส่งข้อมูลไปประมวลผล โดยจะใช้พร้อมข้อมูลอุณหภูมิที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์ โดยการเก็บค่าความชื้นนี้ยังทำให้ทราบได้ว่าต้องใช้น้ำมากแค่ไหนเพื่อรดน้ำในสวนของตัวเองในแต่ละวันได้อีกด้วย

  • การเก็บค่าน้ำฝน ในกรณีที่ต้องการวัดปริมาณน้ำฝน ใช้เครื่องวัดน้ำฝนที่ประดิษฐ์ขึ้นเองตั้งไว้ในระดับเดียวกับเครื่องวัดน้ำระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยกรวยที่มีขนาดกว้าง 8 นิ้ว ใช้คู่กับแกลลอนพลาสติกที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เพื่อรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาในเครื่องวัดฯ แล้วเทน้ำฝนลงบนภาชนะที่สามารถวัดปริมาณของเหลวได้เพื่อวัดค่าปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา แล้วจดบันทึกไว้ พร้อมอุณหภูมิที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์ และนำส่งข้อมูลไปประมวลผล

นอกจากนี้ ยังมีการจดบันทึกข้อมูลที่มีอยู่ในชุมชนอีก 2 ส่วน คือ

การวัดความจุน้ำบ่อ โดยการใช้ลูกดิ่งเพื่อวัดความลึกและเก็บข้อมูลจากน้ำบ่อแหล่งต่าง ๆ ในหมู่บ้าน และมาคูณพื้นที่ความกว้างและยาวของขนาดบ่อ ตามหลักการการหาค่าปริมาตรความจุ กว้างxยาวxลึก

การวัดปริมาตรน้ำท่า และความเร็วน้ำ โดยการใช้ลูกปิงปองวัดกระแสน้ำท่าเพื่อเป็นอุปกรณ์บ่งบอกความเร็วการไหลของน้ำ หรือ แหล่งน้ำตามลำธารหรือลำคลอง ซึ่งการวัดปริมาณน้ำท่าจำเป็นต้องวัดทั้งความเร็วกระแสน้ำ และพื้นที่หน้าตัด (กว้างxยาว) ของน้ำลำน้ำต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงเวลาตั้งฝนเริ่มตก จนกระทั่งฝนหยุดตก และเปรียบเทียบระดับน้ำท่าก่อนและหลังการตกของฝน ซึ่งจะมีการไหลที่ก่อให้เกิดความเร็วในระดับหนึ่ง โดยผู้วัดต้องนำข้อมูลความเร็วกระแสน้ำกับพื้นที่หน้าตัดน้ำในลำน้ำ ณ ช่วงเวลาเดียวกันมาคูณกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคืออัตราการไหลของน้ำท่า ณ เวลานั้น จากนั้นจะนำไปหาค่าเฉลี่ยของอัตราการไหลของน้ำท่าของเวลาที่ติดกัน แล้วคูณด้วยช่วงระยะเวลานั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือปริมาตรน้ำท่าทั้งหมดที่ไหลผ่านจุดวัดน้ำท่าในช่วงเวลาดังกล่าว

2. การนำข้อมูลมาวิเคราะห์คาดการณ์น้ำ เพื่อกำหนดการใช้กติกาน้ำ

ข้อมูลที่น้ำชุมชนรวบรวมในแต่ละวันจะถูกนำมาคำนวณโดยโปรแกรมที่ได้จากการเก็บสถิติของงานวิจัยท้องถิ่นเพื่อหาค่าเฉลี่ยคาดการณ์ของปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งปี สำหรับพื้นที่เขายายดาจะมีฝนตกมากในช่วงเดือนปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี อันเป็นช่วงเวลาที่ทั้ง “ชุมชน” และ “ธรรมชาติ” จะดำเนินการกักเก็บน้ำฝนเอาไว้เพื่อให้เพียงพอในหน้าแล้งของทุกปี ซึ่งชาวบ้านจะนำข้อมูลน้ำที่ได้เหล่านี้มาประชุมเพื่อกำหนดกติกาการใช้น้ำร่วมกันในชุมชนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีปริมาณนำใช้ได้อย่างเหมาะสมตลอดทั้งปี

3. การสำรวจแหล่งน้ำ และทำผังน้ำในชุมชน

นอกเหนือไปจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝน ชาวชุมชนรอบเขายายจะออกสำรวจแหล่งน้ำมีที่อยู่ในชุมชน ทั้งบ่อน้ำภายในสวนของชาวบ้าน บ่อน้ำสาธารณะ รวมไปถึงแม่น้ำลำธาร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาจัดทำผังน้ำของชุมชน เพื่อให้ทราบถึงปริมาณน้ำที่ชุมชนสามารถนำมาหาวิธีใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดทั้งปี ทั้งในยามหน้าฝนหรือหน้าแล้ง

4. การสร้างฝายชะลอน้ำในผืนป่า และสร้างทำนบชะลอน้ำตามลำคลองในพื้นที่อาศัย

ฝายคือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อขวางร่องน้ำและลำธารชั่วคราว โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน กิ่งไม้ ไม้ไผ่ เพื่อชะลอการไหลของน้ำในลำธารให้ช้าลงในตอนที่มีน้ำมากในฤดูฝน ป้องกันการเกิดน้ำหลากในพื้นที่ของบ้าน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยผืนป่ากักเก็บน้ำเพื่อใช้ในยามหน้าแล้ง ชุมชนจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างและซ่อมฝายที่สร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติอยู่เสมอ เพื่อให้ฝายสามารถใช้งานและอยู่ร่วมโดยไม่ทำลายระบบนิเวศดั้งเดิม ประกอบกับการเลือกทางน้ำที่ลดระดับอยู่ในสภาพแห้งขอดเป็นทุนเดิม จึงไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตโดยรอบ แต่กลับช่วยฟื้นฟูให้สิ่งมีชีวิตกลับเข้ามาอาศัยในพื้นที่ได้อีกครั้ง ฝายจึงเป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น บรรเทาความแห้งแล้ง อันจะส่งผลให้มีการฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าได้ในระยะยาว

ผลของการสร้างฝายในบริเวณเขายายดา พบหลักฐานในเชิงประจักษ์ว่า ฝายทำให้เขายายดามีปริมาณน้ำคงอยู่ตลอดทั้งปี จากที่เคยแห้งแล้งเป็นประจำในช่วงฤดูแล้งของทุกปี และตามงานวิจัยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยวิธีการใช้แบบจำลองร่วมกับภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า

  • ช่วยลดความเร็วกระแสน้ำได้ร้อยละ 40-90
  • น้ำสะสมในชั้นดิน เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 41
  • ลดความขุ่นของตะกอนในน้ำท่าเฉลี่ยร้อยละ 33
  • พบต้นไม้เจริญเติบโตเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 08

อีกหนึ่งวิธีการซึ่งเป็นผลจากการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นคือการทำนบชะลอน้ำ (ทำทด) ในลำคลองของหมู่บ้าน โดยการสร้างสิ่งขวางกั้นทางน้ำไหลในคลอง ทำให้คลองสามารถเก็บน้ำได้มากขึ้น เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรที่มีพื้นที่ติดลำคลอง โดยพัฒนารูปแบบทำนบโดยการเพิ่มจำนวนขั้นของทำนบเป็นขั้นบันได ลดความแรงของน้ำที่ตกกระทบคลอง ป้องกันการเซาะหน้าดิน และเสริมความแข็งแรงด้วยนวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต

5. วิธีการปลูกป่า 5 ระดับ

การปลูกป่า 5 ระดับ คือการคัดเลือกพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าของท้องถิ่นซึ่งมีขั้นเรือนยอดที่ต่างกัน 5 ระดับ ได้แก่ ระดับใต้ดิน เช่น มัน เผือก ระดับเรี่ยดิน เช่น ฟักทอง แตงโม ระดับเตี้ย เช่น พริก มะเขือ ระดับกลาง เช่น มะม่วง มะพร้าว และระดับสูง เช่น สัก ยางนา มาปลูกเสริมกับแนวป่าเดิม โดยเรือนยอดที่มีหลากหลายระดับเหล่านี้จะช่วยลดแรงตกกระทบผิวดินของเม็ดฝน ยืดระยะเวลาในการตกของเม็ดฝน เพิ่มการดูดซับน้ำฝนของผิวดินได้อย่างเต็มที่

ระบบรากที่หลากหลายที่มาจากต้นไม้หลากระดับจะทำให้น้ำฝนเคลื่อนตัวลงไปเก็บในส่วนลึกของชั้นใต้ดินได้มากขึ้น ซึ่งน้ำเหล่านี้จะค่อย ๆ เคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ ลงสู่ลำธารหรือน้ำบ่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ลดปัญหาน้ำไหลหลากไปอย่างสูญเปล่าในหน้าฝน เพิ่มระดับน้ำในดินสร้างความชุ่มชื้นของผืนป่าในหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี

6. ธนาคารน้ำใต้ดิน

ธนาคารน้ำใต้ดิน หนึ่งในวิธีการกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาในระดับผิวดิน กลายเป็นน้ำขังให้ไหลลงสู่ใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเติมระบบน้ำใต้ผืนดินตามพื้นที่บ้านเรือนหรือสวนของชุมชน

ธนาคารน้ำใต้ดินมีประโยชน์ที่สำคัญคือ เป็นวิธีการเติมน้ำลงในชั้นบาดาลเพื่อกักเก็บไว้ในช่วงหน้าแล้ง ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นต่อหน้าดิน ประหยัดน้ำในการรดน้ำต้นไม้บริเวณใกล้เคียง ลดน้ำท่วมขังได้ในช่วงหน้าฝน สามารถกักน้ำส่วนเกินดังกล่าวให้มาเป็นความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง และชุมชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่รอบ ๆ บนพื้นดินของธนาคารน้ำได้ปกติ โดยไม่จำเป็นต้องเสียพื้นที่เพื่อทำจุดกักเก็บแหล่งน้ำเพียงอย่างเดียว

สำหรับวิธีการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ชุมชนจะสำรวจจุดที่น้ำไปรวมตัวกันมาก เช่น บริเวณจุดที่น้ำไหลจากชายคา หรือจุดที่น้ำขัง แล้วขุดหน้าดินและขุดความลึกให้ทะลุชั้นหน้าดิน โดยความเหมาะสมขึ้นอยู่กับสภาพชั้นดินของแต่ละพื้นที่ จากนั้นนำวัสดุที่ทำให้น้ำสามารถซึมผ่านได้ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น ก้อนหิน เศษปูน โดยจะเรียงจากขนาดใหญ่ไปเล็ก เพื่อช่วยกรองน้ำระหว่างที่ซึมไหลลงใต้ดิน ช่วยเติมให้น้ำจากผิวดินไหลลงใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีจำนวนมากพอสำหรับสร้างความชุ่มชื้นของผิวดินในหน้าแล้ง

โดย 6 วิธีการบริหารจัดการน้ำ เป็นการสร้างระบบการจัดการแหล่งน้ำในรูปแบบที่เชื่อมต่อกันจากพื้นที่ป่าชาวบ้านสู่พื้นที่ทำสวนและอยู่อาศัยแบบองค์รวม ที่นอกจากทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์ในการมีน้ำใช้อย่างเพียงพอไปตลอดทั้งปีแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเป็น “นักวิจัยท้องถิ่น” ซึ่งเป็นผลจากการที่ เอสซีจีซี ทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ในการนำเอาหลักการทางวิทยาศาสตร์มาให้คำแนะนำในการประยุกต์ใช้ ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ ส่งเสริมขีดความสามารถในการใช้ประโยชน์จากน้ำและที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจในการสร้างระบบจัดการน้ำเพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรในระดับที่ต้องการซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยตัวเอง ส่งเสริมความรู้สึกรักและหวงแหนในท้องถิ่น อันจะทำให้ธรรมชาติและระบบนิเวศในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ น้ำ ป่า และคน จึงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

Recommend