ครั้งแรกของเวิร์คช็อปเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งผ่านศิลปะดิจิทัล โดย National Geographic ที่ได้วิทยากรระดับนานาชาติมารวมตัวกัน ทั้งช่างภาพและนักชีววิทยาชาวไทยที่ได้รับเลือกเป็นนักสำรวจของ National Geographic (National Geographic Explorer) ตัวแทนกลุ่ม Emerging Islands องค์กรศิลปะจากฟิลิปปินส์
และศิลปินภาพประกอบดิจิทัลมือรางวัล โดยมีกลุ่มนักศึกษาสาขา Communication Design วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) สมัครเข้ามาร่วมเวิร์คช็อป ที่ชวนให้เข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งตั้งแต่ในมหาสมุทรถึงชุมชนชายฝั่งด้วยการทำภาพประกอบดิจิทัล ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ผลกระทบที่เกิดจากมนุษย์ และหนทางที่เราเลือกที่จะทำเพื่อปกป้องมหาสมุทรและชายฝั่งได้
ขอเล่าให้ฟังก่อนว่าปีนี้ National Geographic มาร่วมกิจกรรมใน Sustainability Expo 2022 แบบครบวงจร คือมีทั้ง เวทีเสวนา Postcards from Planet Possible, Impact Storytelling เวิร์คช็อป และการฉายภาพยนตร์สารคดี ซึ่งล้วนมาแนวคิดเชื่อมโยงกัน
สำหรับเวิร์คช็อปที่ชื่อว่า Once Upon A Time Coastline นี้ ผ่านการเตรียมงานมาร่วมเดือน เหล่าวิทยากรซึ่งประกอบด้วย เดวิด โลรัน, นิโคลา เซบาสเตียน และซาแมนธา ซารันดิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Emerging Islands องค์กรศิลปะจากฟิลิปปินส์ ร่วมด้วย ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ท้องทะเล ดีกรีชีววิทยาทางทะเล ก็มาเตรียมทำเวิร์คช็อปที่ได้ โจนาธาน เจย์ ลี ฮ่องกง ศิลปินที่ทำงานร่วมกับแบรนด์ระดับโลกมากมาย พวกเขาประชุมออนไลน์กันบ่อยครั้ง หลายครั้งก็ดึกดื่น
เพื่อออกแบบเวิร์คช็อป Once Upon A Time Coastline ให้นักศึกษาเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชายฝั่ง ด้วยวิธีใหม่ ที่ไม่เหมือนเปิดตำราเรียน ถ่ายทอดเรื่องราวเข้มข้นเป็นลำดับขั้นให้เข้าใจง่ายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เริ่มจากการปูพื้นความรู้เรื่องระบบนิเวศชายฝั่งเบื้องต้นโดยนักชีววิทยา ต่อด้วยวิธีคิดในการหลอมรวมความรู้ แล้วจึงเข้าสู่การใช้โปรแกรมวาดภาพดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจ แล้วให้นักศึกษาออกมานำเสนอผลงานเล่าแนวคิดของพวกเขาเองว่าทำไมสิ่งต่างๆ จึงเป็นเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงลำดับเวลา ความสัมพันธ์ผลกระทบที่มีต่อกัน ผ่านเทคนิคไทม์แลป ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจน และในที่สุดก็ได้วิธีคิดติดตัวกลับบ้าน
เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทรและชายฝั่งที่มีส่วนสัมพันธ์กัน โดย วิน – ดร.วัชรพงษ์ หงส์จำรัสศิลป์ (ช้าย) อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชิน – ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย (ขวา) ช่างภาพผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ท้องทะเล ดีกรีชีววิทยาทางทะเล ทั้งคู่ได้รับเลือกเป็น National Geographic Explorer
หลังจากปูความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชายฝั่งและมหาสมุทรแล้ว เดวิด โลรัน (David Loughran) ภัณฑารักษ์ (Curator) และผู้ร่วมก่อตั้ง Emerging Islands องค์กรศิลปะจากฟิลิปปินส์ มาให้วิธีคิดที่จะเชื่อมความรู้เชิงธรรมชาติวิทยา เข้ากับการทำความความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและธรรมชาติ แล้วให้โจทย์เป็นปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามามีผลกระทบและทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป
จากนั้น โจนาธาน เจย์ ลี (Jonathan Jay Lee) อธิบายภาพประกอบที่เขาเตรียมมาให้กับนักศึกษาสาขา Communication Design วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ที่มาร่วมเวิร์คช็อป เขาสอนไปถึงเทคนิคการใช้แอพ Procreate เลยทีเดียว
ระหว่างการเวิร์คช็อปก็มีวิทยากรประจำกลุ่มช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ไปตลอด นิโคล่า เซบาสเตียน (Nicola Sebastian) (ซ้ายสุด) นักเขียน National Geographic Explorer และผู้ร่วมก่อตั้ง Emerging Island คอยให้คำปรึกษาระหว่างการทำงาน เธอแชร์ประสบการณ์ความผูกพันและความรู้ที่สะสมมาจากการศึกษาและเขียนบทความเรื่อง ‘ความเป็นเกาะ’ (Islandness) ให้กับสื่อระดับนานาชาติหลายสำนัก
ศิรชัย คอยให้ความรู้เรื่องสัตว์ทะเล พฤติกรรม ถิ่นที่อยู่ เช่น ปูม้าควรวางอยู่กับหญ้าทะเล เพราะเป็นแหล่งอาศัยและอาหาร มูลของปลานกแก้ว จะเพิ่มอาหารให้ปลาเล็กปลาน้อย และกลายเป็นทรายในที่สุด ปลานักล่าอย่างฉลามวาฬมักอาศัยอยู่ตรงไหน เป็นต้น พร้อมโยนคำถามให้นักศึกษาไปคิดต่อ และสร้างภาพของเกาะในฝันและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
วิทยากรให้นักศึกษาออกแบบเกาะที่ตัวเองอยากเห็นอยากให้เป็น โดยโจนาธานสอนวิธีการใช้ภาพประกอบที่เข้าออกแบบมา แยกเป็นแบคกราวนด์ที่มีทั้งมหาสมุทร พื้นที่ชายฝั่ง และเกาะ พร้อมกับไอเท็มสิ่งมีชีวิต ชุมชน เรือประมงเล็กใหญ่ และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ทั้งท่าเรือ ธุรกิจประมง ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หากนักศึกษาอยากเติมอย่างอื่นเข้าไปเองก็สามารถทำได้ โดยการออกแบบเกาะในฝันเริ่มจากธรรมชาติที่สมบูรณ์สวยใสไม่มีมนุษย์ จนถึงการเข้ามาของชุมชนและธุรกิจต่างๆ จะสร้างผลกระทบและมลภาวะแบบไหน และท้ายที่สุด เมื่อเกาะอยู่ในสภาพเลวร้าย จะหาวิธีฟื้นฟูอย่างไร
หลังจากออกแบบผลงานเรียบร้อยแล้ว นักศึกษาแต่ละกลุ่มก็นำผลงานขึ้นมาแสดง เล่าเรื่องราวด้วยวิธีคิดในมุมมองที่แตกต่างกัน นอกจากบอกเล่าในเวิร์คช็อปวันนี้แล้ว วิทยากรยังได้นำขึ้นเวที Youth Stage ในอีก 2 วันต่อมา เพื่ออธิบายวิธีคิดเบื้องหลังการทำเวิร์คช็อปนี้ ซึ่งนี่คือต้นแบบของการทำกิจกรรมที่สามารถต่อยอดไปสู่การสร้างเครื่องมื่อการเรียนรู้ด้านระบบนิเวศ ที่ไม่จำกัดเพียงแค่พื้นที่ชายฝั่งเท่านั้น แต่สามารถหลอมรวมความเชี่ยวชาญของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำเวิร์คช็อปกับเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่ง ต่อไปเรื่อยๆ ย่อมได้ผลลัพธ์ที่หลากหลายและน่าสนใจต่อไปเรื่อยๆ
ใครสนใจต่อยอดเวิร์คช็อปนี้สามารถหลังไมค์มาคุยกับพวกเรา Nat Geo Thai หรือติดต่อพวกเขาได้ที่ Emerging Islands