คนเก็บขยะแบกถุงวัสดุที่รีไซเคิลได้ ในภูเขาขยะ Dandora กรุงไนโรบี อันเป็น 1 ใน 4 ภูเขาขยะที่ใหญ่และเป็นพิษมากที่สุดในแอฟริกา ภาพถ่ายโดย BENEDICTE DESRUS, SIPA via AP แม้ประเทศไทยจะดำเนินนโยบายให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ งดแจกถุงพลาสติก ให้กับประชาชน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะต้องทำควบคู่ไปกับระบบคัดแยก รีไซเคิล และกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพ จึงจะแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยเริ่มดำเนินนโยบายให้ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า และขอความร่วมมือให้ลูกค้านำถุงผ้าหรือภาชนะอื่นๆมาใส่สิ่งของเอง เพื่อตั้งเป้าลดปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย สอดคล้องกับกระแสโลกที่กำลังเอาจริงเอาจังเรื่องการลดการใช้ถุงพลาสติก นโยบายดังกล่าวนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้ามานานนับแรมเดือน หลังวันเริ่มดำเนินนโยบายก็มีเสียงตอบรับทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมองในแง่บวกว่า หลังผ่านไปสักระยะ ประชาชนจะสามารถปรับตัวและให้ความร่วมมือกับนโยบายนี้ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านโยบายนี้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะนอกจากการแจกถุงพลาสติกตามร้านค้ารายย่อยหรือตลาดสดที่ยังดำเนินอยู่เหมือนเดิมแล้ว ประเทศไทยยังต้องเผชิญปัญหาจากขยะพลาสติก (รวมไปถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นขยะอันตราย) องค์การกรีนพีซ องค์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ได้ออกรายงานระบุว่า ประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นแหล่งนำเข้าขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นปริมาณมาก ซึ่งในปี 2561 กลุ่มประเทศอาเซียนนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2,265,962 ตัน คิดเป็นร้อยละ 27 จากทั่วโลก โดยมาเลเซียนำเข้าขยะ 872,797 […]