หนทางสู่นวัตกรรมการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สะอาดแค่ไหน มาเร็วเพียงใด
เครื่องบินขนาดเล็กที่ใช้แบตเตอรี่กำลังจะเกิดขึ้น แต่การสร้างเครื่องบินขนาดใหญ่ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์คือความท้าทายใหญ่หลวง ข้อเท็จจริงและตัวเลขชุดหนึ่งคอยแต่จะผุดขึ้นในใจ ขณะที่ผมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบินว่า การบินพาณิชย์จะมีวันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงก็คือ เทคโนโลยีรักษ์โลกทั้งหมดเท่าที่เราคิดได้ บนภาคพื้นดินจะแทบไม่มีประโยชน์อะไรบนฟากฟ้าในเวลาอันใกล้ ทั้งแผงเซลล์สุริยะ กังหันลม เครื่องยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสูง เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ระบบขนส่งด้วยพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic levitation) ทั้งหมดนี้ หากพูดตรงๆ ก็คือไร้ประโยชน์ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงความท้าทายทางเทคโนโลยีในการนำคนไม่กี่ร้อยคน ขึ้นสู่บรรยากาศชั้นสแตรโทสเฟียร์ และพาพวกเขาเดินทางหลายพันกิโลเมตร ส่วนตัวเลขก็คือ ประชากรกว่าร้อยละ 80 ของโลกไม่เคยขึ้นเครื่องบินเลยด้วยซ้ำ ความเกี่ยวข้องระหว่างข้อเท็จจริงกับตัวเลขนี้ คือหัวใจของปัญหาที่สายการบินต่างๆและผู้ผลิตอากาศยาน กำลังเผชิญ ระหว่างขบคิดภารกิจสำคัญในการหาวิธีลดการปล่อยคาร์บอน การบินอาจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ แต่ไม่ใช่ในเร็ววันนี้ และไม่ครอบคลุมเท่าการขนส่งภาคพื้นดิน ถึงอย่างนั้น ความเร็วในการก้าวไปสู่เส้นทางนี้ของอุตสาหกรรมการบินอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และรายได้ เมื่อผู้สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาเตือนว่า การบินคือตัวการใหญ่ที่ยากจะยอมรับได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อัตราความก้าวหน้าที่นำไปสู่เส้นทางสะอาดบนท้องฟ้าอาจถึงกับทำให้นักเดินทางตั้งคำถามว่า การบินเป็นเรื่องผิดจริยธรรมหรือไม่ไปเลย “เราก็แค่ต้องไปให้ถึงจุดนั้นค่ะ” เจนนิเฟอร์ โฮล์มเกรน ซีอีโอของแลนซาเทค บริษัทที่บุกเบิกการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานจากแหล่งที่มาไม่ธรรมดา เช่น ขยะ เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงมาตรฐานอย่างน้ำมันก๊าด บอกและเสริมว่า “ทุกคนเห็นพ้องกันว่า สายการบินไม่อาจทำเป็นทองไม่รู้ร้อนบินด้วยน้ำมันก๊าดที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป เรื่อยๆได้ เพียงแต่ปัญหานี้ไม่มีวิธีแก้แบบทันใจเหมือนร่ายมนตร์” เรื่องนี้จำเป็นต้องพูดให้ชัดเจน พัฒนาการต่างๆที่เป็นความหวังในการผลิตเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่และปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เกิดขึ้นแล้วในการบินแขนงหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเดินทางที่จำกัดทั้งระยะเวลาและระยะทาง […]