รู้จักกับ คาร์ซีท อุปกรณ์บนรถเพื่อลูกน้อยที่พ่อแม่หลายคนหลงลืม

รู้จักกับ คาร์ซีท อุปกรณ์บนรถเพื่อลูกน้อยที่พ่อแม่หลายคนหลงลืม

ภาพของเด็กวัยเกิดกำลังใช้ คาร์ซีต ภาพถ่ายจาก https://yourshot.nationalgeographic.com/photos/5386068/ โดย Michael Lee


เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ การติดตั้ง คาร์ซีท (Car seat) หรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็กจึงจำเป็น และในขณะนี้ได้มีกฎหมายเพื่อบังคับใช้ให้เป็นการทั่วไปแล้ว

เมื่อ 8 พฤษภาคม 2565 มีรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565

โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีว่า

” คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ”

“ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กและที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตรายตาม (2) (ข) และวิธีการ ป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ให้เป็นไปตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด”

และระบุว่า พระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

นั่นหมายความว่าในช่วง 120 วันนี้ ผู้ที่มีเด็กเล็กไม่เกิน 6 ปี จะต้องเร่งจัดหาที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คาร์ซีท (Car Seat) มาติดตั้ง มิฉะนั้นจะมีความผิดตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

************************

ความปลอดภัยของลูกน้อยเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ที่เป็นพ่อแม่เสมอ

ในยามที่พ่อแม่ต้องพาลูกออกเดินทางไปโดยรถยนต์ส่วนตัว อุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า คาร์ซีต (Car Seat หรือ Child Safety Seat) ซึ่งในระดับสังคมโลกถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกครอบครัวที่มีรถยนต์ แต่สำหรับในประเทศไทย การใช้คาร์ซีตอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในบรรดาพ่อแม่ลูกอ่อนชาวไทยมากนัก อย่างไรก็ตาม คาร์ซีตกลายเป็นเด็นทางสังคมมากขึ้นเมื่อมีกรณีเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งมีเด็กน้อยนั่งอยู่บนรถ แต่กลับรอดชีวิตได้เพราะคาร์ซีตมาอยู่หลายครั้ง

ถ้าเป็นในสังคมต่างประเทศ เหตุการณ์แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับในประเทศไทยกลับดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะคาร์ซีตไม่ได้รับความสำคัญมากนัก และเหตุการณ์เช่นนี้ก็แสดงให้เราเห็นแล้วว่า คาร์ซีตนั้นเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นและทรงคุณค่ายิ่งสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกน้อย

คาร์ซีต
รูปร่างลักษณะของคาร์ซีตเมื่อกำลังถูกใช้งาน ภาพถ่ายจาก https://yourshot.nationalgeographic.com/photos/7871690/ โดย Jessica Svoboda

คาร์ซีตคืออะไร

คาร์ซีต หรือเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็ก เป็นอุปกรณ์เสริมเบาะที่นั่งรถยนต์ซึ่งออกแบบพิเศษเพื่อป้องกันเด็กจากการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในคราวที่รถยนต์เกิดอุบัติเหตุ เช่น เหตุการณ์รถชน โดยปกติแล้ว คาร์ซีตถือเป็นอุปกรณ์เสริมที่เจ้าของรถจะต้องเป็นผู้ติดตั้งด้วยตัวเอง

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าแต่เดิมเบาะนั่งบนรถยนต์สำหรับเด็กเริ่มมีการคิดค้นเมื่อราวทศวรรษที่ 1930 แต่ในช่วงเวลานั้นไม่ได้ถูกประดิษฐ์มาเพื่อจุดประสงค์ของความปลอดภัย แต่กลับประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเป็นเบาะที่ยกสูงเพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถมองดูเด็กระหว่างควบคุมยานพาหนะได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ก่อนที่จะเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเป็นเพื่อความปลอดภัยของเด็กดังเช่นในปัจจุบัน

ความสำคัญของคาร์ซีต

สำหรับผู้ใหญ่ การคาดเข็มขัดนิรภัย และการติดตั้งระบบถุงลมนิรภัยก็เพียงพอสำหรับความปลอดภัย แต่สำหรับเด็กนั้น สรีระของพวกเขายังไม่พัฒนามากพอที่จะนั่งเบาะรถยนต์และคาดเข็มขัดนิรภัยเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ได้ คาร์ซีตจึงเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อมีเด็กโดยสารในรถ โดยเมื่อถึงคราวเกิดอุบัติเหตุ คาร์ซีตจะช่วยป้องกันเด็กจากแรงกระแทก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กรอดจากอุบัติเหตุมาได้ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกรายงานบ่งชี้ว่าการใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็กนี้สามารถลดผลกระทบจากอุบัติเหตุได้ดี และช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของเด็กได้มากถึง 70 %

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความเชื่อที่ว่าคาร์ซีตเป็นสิ่งที่แพงเกินจำเป็น (ช่วงราคาของคาร์ซีตมีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น) หรือแค่คาดเข็มขัดให้เด็ก หรือให้เด็กนั่งตักผู้ใหญ่ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดและอันตรายต่อเด็กอย่างมาก เพราะเมื่อถึงคราวเกิดอุบัติเหตุ แรงกระแทกอาจจะทำให้เด็กหลุดจากตักไปกระแทกกับตัวรถ อาจจะรับบาดเจ็บจากแรงกระแทกของผู้ให้นั่งตัก หรือถุงลมนิรภัยอาจปิดหน้าเด็กจนหายใจไม่ออกและเสียชีวิตได้ ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าคาร์ซีตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ซึ่งข้อมูลจาก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เมื่อปีพ.ศ. 2557 ระบุว่ามีด็กไทยบาดเจ็บฉุกเฉินจากอุบัติเหตุยานยนต์มากถึง 318,379 ครั้ง

Photo by Erik Mclean on Unsplash

ประเภทของคาร์ซีต
คาร์ซีตนั้นมี 3 ประเภท ซึ่งจะแบ่งตามอายุและสรีระที่ต่างกันออกไป

1. Rear-Facing / Rear-Facing convertible หรือ คาร์ซีทแบบหันหน้าเข้าหาเบาะ เป็นคาร์ซีตที่ติดตั้งโดยหันหน้าเข้ากับเบาะหลัง และสามารถถอดออกจากเบาะที่เป็นฐานได้ เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 9-10 กิโลกรัม

2. Forward-facing convertible / Forward-facing with harness หรือ คาร์ซีทแบบหันไปข้างหน้ารถ เป็นคาร์ซีตที่ติดตั้งโดยหันหน้าไปทางด้านหน้ารถเหมือนกับเบาะรถทั่วไป เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี หรือเด็กที่มีน้ำหนัก 9 กิโลกรัมขึ้นไป หรือมีส่วนสูงเข้าเกณฑ์ที่จะเปลี่ยนมานั่งคาร์ซีตประเภทนี้ได้

3. Booster หรือ คาร์ซีทแบบที่นั่งเสริม โดยติดตั้งกับเบาะหลัง และหันไปข้างหน้ารถเหมือนคาร์ซีตที่หันไปข้างหน้ารถ เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป เหมาะกับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 15- 25 กิโลกรัม

ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เด็กควรนั่งคาร์ซีตไปจนถึงอายุ 12-13 ปี หรือมีความสูงพอที่นั่งห้อยขาแล้วขายาวถึงพื้น และเมื่อคาดเข็มขัดนิรภัยแล้วอยู่ตรงส่วนกระดูกเชิงกราน จึงสามารถนั่งเบาะรถและขาดเค็มขัดนิรภัยธรรมดาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกเด็กอาจจะไม่คุ้นเคยกับคาร์ซีต และไม่อาจยอมนั่ง ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นที่ฝึกให้เด็กหัดนั่งคาร์ซีตจนเกิดความเคยชิน เพื่อความปลอดภัยของเด็กและความสบายใจของพ่อแม่เอง

คาร์ซีต
การใช้คาร์ซีต จะลดความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ปกครอง และอาจรวมไปถึงเด็กเล็กด้วยเช่นกัน ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://www.tearfreetravel.com/toddler-travel-hacks/

คาร์ซีต วาระแห่งความปลอดของเด็กระดับโลก

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับคาร์ซีตอย่างมาก เนื่องจากแนวคิดที่ว่าสิทธิความปลอดภัยของเด็กต้องได้รับความคุ้มครองโดยเฉพาะจากผู้ปกครอง จึงมีกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวเรื่องนี้อย่างชัดเจน เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สหรัฐอเมริกา ออสเตรีย ออสเตรเลีย บราซิล อิสราเอล แม้ว่าแต่ละประเทศอาจมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างดี

แน่นอนว่าในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับคาร์ซีตอย่างชัดเจนเช่นประเทศเหล่านี้ ถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2538 ที่ระบุให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเข็มขัดนิรภัยนั้นเป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยที่เหมาะกับผู้ใหญ่ แต่ไม่เหมาะสมกับเด็กเสียเลย

ถึงแม้ว่าการใช้คาร์ซีตในประเทศไทยอาจจะยังไม่แพร่หลายหรือถูกบัญญัติให้เป็นกฎหมายที่ชัดเจน รวมไปถึงปัจจัยด้านมูลค่าของคาร์ซีต หรือแม้กระทั่งความเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เด็กมีเด็กรอดชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์หลายครั้งเนื่องจากคาร์ซีตก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของมันได้ดี แน่นอนว่าเมื่อมีการใช้ยานพาหนะ อุบัติเหตุย่อมเกิดขึ้นได้แสมอแม้ว่าเราจะระมัดระวังมากเพียงใด ดังนั้นการเตรียมตัวติดตั้งคาร์ซีตในรถยนต์ของคนที่เป็นพ่อแม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะไม่มีมูลค่าใดที่แพงเกินไปกว่าสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกน้อยอีกแล้ว

แหล่งอ้างอิง

คาร์ซีทคืออะไร? สำคัญอย่างไร?

คาร์ซีทสำคัญมากเพื่อชีวิตลูก  

คาร์ซีท เลือกซื้อและติดตั้งอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อลูกน้อย

คาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยลูก อย่าหวังพึ่งกฎหมาย 

“ทำไมต้องให้ลูกนั่งคาร์ซีท” 

กฎหมายเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางสำหรับเด็ก ตอน CAR SEAT  

Car Seats: Information for Families 

Car seat safety

Child car seats laws around the world  


อ่านเพิ่มเติม รถยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เป็นประโยชน์หรือความเสี่ยง

Recommend