เรื่องราวหนึ่งวันในหนึ่งปีของการเยี่ยมชม บ้านปลายเนิน หรือ วังคลองเตย สถานที่ประทับของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ที่เต็มไปด้วยศิลปวัตถุและสถาปัตยกรรมเรือนไทยร่วมสมัยใจกลางกรุง
สถานที่ทุกแห่งล้วนมีความทรงจำ จากการตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลา ร่วมด้วยผู้คนที่มาข้องเกี่ยวสร้างสรรค์ เกิดเป็นความผูกพันและบันดาลสถานที่นั้นดูมีชีวิตขึ้นมา จนมีคุณค่า น่าเข้าไปเยี่ยมเยือนเพื่อซึมซับความทรงจำอันสวยงามนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานที่ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญของประเทศ หรือของโลก โดย บ้านปลายเนิน หรือ วังคลองเคย เป็นหนึ่งในสถานที่มีคุณค่าเช่นนั้น
บ้านปลายเนินตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ บนถนนพระรามสี่ เป็นตำหนักส่วนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ซึ่งที่คนทั่วไปรู้จักกันในพระสมัญญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” และ “สมเด็จครู” โดยพระองค์ได้เริ่มมาประทับที่ตำหนักไทย บ้านปลายเนินเมื่อ พ.ศ. 2457 และบ้านปลายเนินก็ยังคงตั้งอยู่ที่นี่มาจนถึงปัจจุบัน
โดยเหตุที่พระองค์ได้รับพระสมัญญาเช่นนั้น เนื่องจากพระองค์มีความสามารถในศิลปวิทยาหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการนิพนธ์บทโขน ละคร หรือผลงานด้านการนิพนธ์เพลง เช่น เพลงเขมรไทรโยค และคำร้องของเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ยังใช้มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ พระองค์ยังมีความสามารถในทางศิลปะ เช่น ภาพเขียนสีบนเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน และผลงานทางสถาปัตยกรรม เช่น การออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสฯ เป็นต้น
ด้วยผลงานที่มากมายเช่นนี้ องค์การยูเนสโก ได้เชิดชูพระเกียรติยศของสมเด็จครูให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อ พ.ศ. 2506
ปัจจุบัน บ้านปลายเนินเป็นที่อยู่อาศัยของพระทายาทในราชสกุล “จิตรพงศ์” โดยในวันที่ 28 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันนริศ หรือเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ บ้านปลายเนินจะเป็นสถานที่จัดงานวันนริศ และในวันที่ 29 เมษายน ก็เปิดให้บุคคลได้เข้ามาเยี่ยมชมสถาปัตยกรรม และศิลปวัตถุมากมาย และผลงานชิ้นต่างๆ ของสมเด็จครู ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ หาชมได้ยาก ซึ่งในปีนี้ เป็นการเปิดให้เข้าชมหลังจากผ่านการปรับปรุงครั้งใหญ่
และเราก็ได้เป็นหนึ่งในผู้มาเยือนบ้านปลายเนินแห่งนี้
**********************
ในซอยเล็กๆ หน้าตัวบ้านที่เราต้องผ่านก่อนเข้าไปบ้านปลายเนินนั้นปกคลุมไปด้วยต้นไม้ ที่ยื่นออกมาจากรั้ว เป็นเสมือนหลังคาธรรมชาติสีเขียว ที่บรรเทาความร้อนแรงจากอุณหภูมิของแสงแดดช่วงสายๆ ของเดือนเมษายน
เมื่อก้าวไปข้างใน บรรยากาศในบ้านปลายเนิน ที่ถ้าเป็นวันอื่นๆ ก็คงจะเงียบสงบ แต่ในงานเปิดบ้านปลายเนินวันนี้ กลับเต็มไปด้วยผู้มาเยือนที่สนใจเข้ามาชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ และมีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่สนใจเข้าร่วม
เนื่องด้วยมีผู้เข้าชมมากมาย การนำชมจึงต้องแบ่งเป็นรอบ โดยมีจุดสำคัญในการนำชมคือ ตำหนักไทย ซึ่งเป็นเรือนไทยหลักหลังใหญ่ของบ้าน ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า โดดเด่นท่ามกลางเรือนเล็กเรือนน้อยที่รายล้อม และกลุ่มต้นไม้หนาตาที่ผ่านการปลูกและจัดวางมาเป็นอย่างดี
ผู้นำชมบ้านปลายเนินในรอบของเราคือ ม.ล. จิตตวดี จิตรพงศ์ หรือคุณแหวว เหลนหลวงในกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ผู้ที่ใช้ชีวิตและเติบโตในบ้านปลายเนินแห่งนี้ อาจจะกล่าวได้ว่านี่คือการนำชมสถานที่ในความทรงจำที่เธอผูกพันด้วยเช่นกัน
การนำชมบ้านปลายเนินเริ่มต้นขึ้นโดยการขึ้นตำหนักไทยไปที่ชั้นสอง โดยจุดแรกที่คุณแหววนำชมคือท้องพระโรง เป็นเสมือนห้องรับแขก ภายในมีพระประธาน ประจำห้อง ซึ่งเป็นภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู ตกแต่งด้วยงานแกะสลักฝีมืออาจารย์ศิลป์ พีระศรี ศิลปินชาวอิตาเลียนที่พระองค์ทรงสนับสนุนให้เข้ามารับราชการในสยามประเทศ ซึ่งต่อมาคือผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจากเดินตัดผ่านห้องเวรยาม ซึ่งเป็นที่เก็บหัวโขนหลากหลายรูปแบบ อันเป็นของสะสมส่วนตัวของสมเด็จครู ก็จะพบกับห้องทรงงาน ที่นี่เป็นเสมือนขุมทรัพย์ของผู้ที่ชื่นชอบวัตถุทางประวัติศาสตร์ เพราะเต็มไปด้วยชิ้นงานชิ้นเด่นๆ ที่สมเด็จครูเป็นผู้สร้างสรรค์เอาไว้ ทั้งภาพเขียน ภาพร่างอุโบสถวัด ภาพร่างที่แสดงให้เห็นถึงสัดส่วนร่างกายของมนุษย์ (Anatomy) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะของสมเด็จครู ที่สำคัญคือมีภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ที่สมเด็จครูทรงเขียนถวายรัชกาลที่ 6 ซึ่งต่อมาทางกรุงเทพมหานคร ได้นำไปเป็นตราสัญลักษณ์
ในส่วนของห้องบรรทม หรือห้องนอนของสมเด็จครู มีความพิเศษคือ มี “ห้องน้ำ”อยู่ใกล้เคียง ซึ่งจะผิดแปลกจากเรือนไทยในช่วงยุคสมัยเดียวกันที่ต้องสร้างไว้นอกตัวเรือน สื่อให้เห็นแนวคิดที่ล้ำสมัยของสมเด็จครู
หลังจากได้สำรวจทั่วตำหนักไทยแล้ว เราก็ได้เดินลงจากเรือนมายังสวนและทางเดิน ที่แหวกผ่านต้นไม้ทั้งไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม้พุ่ม และบ่อน้ำเล็กๆ ทำให้ผู้มาเยือนสัมผัสถึงความเย็นร่มรื่นเช่นเดียวกับผู้อาศัย ระหว่างเดินผ่านสวน คุณแหววกล่าวว่า สมาชิกตระกูลจิตรพงศ์ทุกคนล้วนมีความทรงจำกับต้นไม้แต่ละต้นของบ้านปลายเนิน
พอสิ้นสุดทางสวน ก็จะพบกับ ตำหนักตึก ซึ่งเป็นอาคารทรงสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ซึ่งสมเด็จครูได้สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักแห่งนี้ ภายในเป็นที่เก็บของสะสม และพระอัฐิของราชสกุลจิตรพงศ์ อาจกล่าวได้ว่าตำหนักแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของบ้านปลายเนินเลยก็ว่าได้ ซึ่งตำหนักแห่งนี้ แม้แต่สมาชิกภายในบ้านก็ไม่ได้เปิดเข้าไปบ่อยนัก ผู้มาเยือนเช่นเราก็ได้แต่ชมสถาปัตยกรรมจากด้านนอกเช่นกัน แต่นั่นเพียงพอให้เราทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์และความทรงจำที่มีชีวิตของสมเด็จครูและราชสกุลจิตรพงศ์โดยคร่าวๆ ผ่านตำหนักตึกแห่งนี้
**********************
ทายาทรุ่นปัจจุบันของสมเด็จครูได้ “วางแผนอนาคต” ของบ้านปลายเนินเอาไว้ว่าจะจัดทำทะเบียนภาพแบบร่างฝีพระหัตถ์ ศิลปวัตถุโบราณที่ทรงสะสม ข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ อีกทั้งตั้งไว้ว่าจะซ่อมแซม ปรับปรุงและอนุรักษ์อาคาร ตำหนักที่สำคัญต่างๆ โดยได้บูรณะเสร็จไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่ก็ยังมีหลายจุดที่ต้องใช้เวลาในการบูรณะ โดยทายาทของบ้านปลายเนินตั้งใจเปิดที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ และสถานที่อบรมที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าเยี่ยมชมและศึกษาได้
ตราบเท่าที่สถานที่แห่งนี้จะตั้งเด่นท้าทาย และรักษาประวัติศาสตร์เอาไว้ได้ ท่ามกลางกระแสธารของกาลเวลาที่เคลื่อนตัวไปข้างหน้า