อลหม่านแมนต้าเรย์ในทะเลมัลดีฟส์

อลหม่านแมนต้าเรย์ในทะเลมัลดีฟส์

ผมจำได้แม่นว่า ภาพที่จุดประกายให้รู้สึกอยากไปอ่าวฮานิฟารู (Hanifaru Bay) ในมัลดีฟส์คือภาพถ่ายของ โทมัส พีแช็ก ช่างภาพ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่บันทึกปรากฏการณ์ feeding frenzy หรือภาพฝูงปลากระเบนราหู หรือ แมนต้าเรย์ (manta ray) แห่มากินแพลงก์ตอนในอ่าวแบบมืดฟ้ามัวดิน ในภาพผมแทบมองไม่เห็นผืนน้ำสีฟ้า เพราะแน่นขนัดไปด้วยกระเบนราหูลำตัวสีดำ และสีขาวโพลนบริเวณท้อง

หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2011 พวกเราพากันไปมัลดีฟส์ด้วยความหวังที่อยากเห็นภาพเดียวกัน แต่ครั้งนั้น เจอกระเบนราหูเพียง 10 ถึง 20 ตัว แม้เป็นช่วงเวลาที่สนุกมากที่ได้ว่ายน้ำกับปลากระเบน เราต่างรู้สึกว่า ยังไม่สมใจและต้องกลับไปซ้ำอีกรอบแบบเต็มๆ แต่เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น นักดำน้ำแห่แหนกันไปฮานิฟารูจนกระทั่งฝูงกระเบนราหูหายไปจากบริเวณอ่าวเป็นเวลาหลายปี และเพิ่งจะกลับมาหากินเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แมนต้าเรย์, กระเบนราหู, ดำน้ำ, มัลดีฟส์
เพื่อนรักจานบินของเรา

ส่วนพวกเราที่ตารางดำน้ำแน่นเกือบทุกปี ทุกสิ่งอย่างเพิ่งจึงมาลงตัวช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมปี 2019 หลังจากรอคอยอย่างยาวนาน จึงต้องวางแผนกันอย่างดีเพื่อให้ตรงกับช่วงที่มีโอกาสเจอฝูงกระเบนราหูได้ดีที่สุด โดยเฉพาะการกางปฏิทินดูข้างขึ้นข้างแรม

ผมขอแนะนำเกี่ยวกับกระเบนราหูสักเล็กน้อย ถึงแม้ชื่อและลักษณะภายนอกอาจดูน่ากลัว อีกทั้งลำตัวขนาดใหญ่ แต่ความจริงแล้ว กระเบนราหูไม่มีพิษมีภัยแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีเงี่ยงที่หาง ในประเทศไทย กระเบนราหูหรือที่นักดำน้ำเรียกสั้นๆ ว่า แมนต้าเรย์ พบเห็นได้บ่อยครั้งที่หินม่วง หินแดง (ในทะเลกระบี่) หมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย และนานทีปีหนที่กองหินโลซิน

แมนต้าเรย์, กระเบนราหู, ดำน้ำ, มัลดีฟส์

ครีบของกระเบนราหูมีลักษณะคล้ายปีก เวลาว่ายน้ำจึงเหมือนนกบินมากกว่า แม้ว่ากระเบนราหูมีลำตัวค่อนข้างใหญ่ แต่เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำเร็วมาก หากพบกระเบนราหูตอนกำลังกินแพลงก์ตอน สังเกตได้ว่า ครีบหูหรือครีบหัวคอยทำหน้าที่โบกพัดเอาแพลงก์ตอนเข้าปาก ขนาดของปากขณะอ้ารับแพลงก์ตอนกวว้างมากจนเห็นช่องเหงือกได้ชัดเจน มองบางมุมหน้าตาเหมือนยานอวกาศ

หากกระเบนราหูไม่ได้สาละวนกับการกินอยู่ ครีบหูหรือครีบหัวจะถูกม้วนเก็บไว้ จึงเป็นสัญญาณบอกนักดำน้ำว่า พวกเขาพร้อมจะเล่น ซึ่งบ้างก็ว่ายน้ำโชว์ลีลาตีลังกากลับหัว บ้างก็ว่ายมาเล่นฟองอากาศของนักดำน้ำ สร้างความเพลิดเพลินให้ทั้งสองฝ่าย

แมนต้าเรย์, กระเบนราหู, ดำน้ำ, มัลดีฟส์
เข้าแถวกันกินแพลงก์ตอน

กระเบนราหูเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล แต่ถ้าอยากเจอพร้อมกันเป็นฝูงใหญ่ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง พื้นที่อ่าวฮานิฟารูตั้งอยู่ในบาอะทอลล์ (Baa Atoll) มีขนาดใหญ่ไม่เกินหนึ่งสนามฟุตบอล ในช่วงเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ของทุกปี (หรือฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้) เป็นช่วงที่แพลงก์ตอนไหลมากับกระแสน้ำ ด้วยลักษณะทางกายภาพที่แคบและยาว จึงทำบริเวณนี้กลายเป็นแหล่งหากินชั้นดีเมื่อแพลงก์ตอนถูกพัดเข้ามาในอ่าว

แมนต้าเรย์, กระเบนราหู, ดำน้ำ, มัลดีฟส์
กระเบนหากินอยู่ที่ผิวน้ำและไม่ได้สนใจนักดำน้ำ

ส่วนกระเบนราหูมักแหวกว่ายเข้ามาทางปากอ่าวเพื่อ “ต้อน” ให้อาหารเข้ามาอยู่ในบริเวณที่จะหากินได้สะดวก พฤติกรรมที่นักดำน้ำเห็นกันจนคุ้นตาคือ กระเบนราหูว่ายน้ำวนเรียงกันเป็นเวลาเวลาหาออกหากิน ถ้ามีจำนวนสมาชิกหลักสิบก็ยังพอเป็นระเบียบอยู่บ้าง แต่ถ้ามากันเป็นร้อยตัวก็เริ่มแตกแถวและว่ายชนกันไปมาด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ของพวกเขา

อ่าวฮานิฟารูเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area) ของมัลดีฟส์ และได้รับการประกาศให้เป็นเขตชีวมณฑลโดย UNESCO จึงมีการจัดระเบียบเพื่อการอนุรักษ์พอสมควร เพื่อไม่เป็นการรบกวนพฤติกรรมหากินตามธรรมชาติของสัตว์น้ำ หนึ่งในกฎที่เข้มมากก็คือ ห้ามดำน้ำแบบสกูบาโดยเด็ดขาด ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์ feeding frenzy ต้องว่ายอยู่ผิวน้ำด้วยการสนอร์เกิลลิงเท่านั้น และจำกัดเวลากลุ่มละ 45 นาที

แมนต้าเรย์, กระเบนราหู, ดำน้ำ, มัลดีฟส์
นักดำน้ำที่มีทักษะดำน้ำตัวเปล่าจะได้อารมณ์ประมาณนี้

เราเดินทางจากมาเล่ด้วยเครื่องบินใบพัดสู่เกาะ Dharavandoo ซึ่งอยู่ห่างจากฮานิฟารูเพียง 2 กิโลเมตร และเลือกพักที่ beach resort แบบเรียบง่าย เพราะมามัลดีฟส์ทั้งทีจังอยากดื่มด่ำกับบรรยากาศชายหาดสีขาวและน้ำทะเลสีฟ้าใส ในขณะที่บางคนอาจเลือกนอนบนเรือประเภท liveaboard ที่ทั้งกินและนอนอยู่บนเรือ แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกพักบนเกาะหรือบนเรือ คุณต้องนั่งเรือเล็ก (dhoni) ออกไปยังจุดว่ายน้ำกับกระเบนราหู เพราะตามกฎกำหนดไว้ว่า ทางรีสอร์ทและเรือ liveaboard จะต้องสลับวันกันพานักท่องเที่ยวไปจุดดำน้ำ เพื่อไม่ให้การจราจรทางน้ำหนาแน่นเกินไป

เนื่องจากเรารอคอยมาหลายปี เราจึงเลือกเวลาพักอยู่ที่รีสอร์ท 7 วัน 6 คืน เพื่อให้มีจำนวนวันได้ออกไปบริเวณอ่าวมากที่สุด ทั้งนี้ วันหรือจังหวะที่เราออกไปก็ต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยอีกว่า เราจะได้เจอกระเบนราหูเยอะแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้างขึ้นข้างแรม เวลาที่น้ำขึ้นเต็มที่ เป็นต้น

 

โชคดีที่สมัยนี้มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย มี ranger คอยส่งข่าวทางวิทยุให้คนที่อยู่บนเกาะหรือบนเรือ แต่ทุกครั้งที่ออกทะเลไม่ได้แปลว่าเราจะได้พบกระเบนราหูทุกครั้ง เราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้ ถึงแม้ปัจจัยต่างๆ จะเอื้อต่อการปรากฏตัว เช่น น้ำขึ้นเต็มที่ก็แล้ว แต่หากกระเบนราหูไม่เข้ามาก็มีบางครั้งที่ต้องรอถึงสองชั่วโมง

แมนต้าเรย์, กระเบนราหู, ดำน้ำ, มัลดีฟส์
กระเบนยังมีระเบียบเพราะฉะนั้นคนก็ต้องมีระเบียบด้วย

วันที่รู้สึกมหัศจรรย์ที่สุดคือ ขณะที่เรือหลายลำลอยตัวรอด้วยความหวังก็เริ่มมีกระเบนราหูว่ายเข้ามาหนึ่งหรือสองตัว และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เดิมทีตั้งใจจะนับ พอถึงเวลาจริงพวกเราก็เลิกนับแล้ว แต่พอประมาณด้วยสายตาได้ว่าประมาณหนึ่งร้อยตัวเหมือนขบวนอะไรสักอย่าง และบางช่วงก็ว่ายวนกันเป็นวงใหญ่เหมือนพายุไซโคลน บางจังหวะก็แตกแถวกัน จังหวะนั้นทุกอย่างดูชุลมุนมาก ไหนจะฝูงกระเบนราหู ไหนจะนักท่องเที่ยว ต้องคอยระวังกันให้ดีไม่ให้ไปถูกตัวกระเบนเพราะเค้าจะมาใกล้ผิวน้ำมาก ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ ว่ายอยู่ในแนวนอนตามปกติ ทำตัวให้อยู่ในท่าราบมากที่สุด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในแนวตั้งแล้วก้มหน้าลงไปมองในน้ำ

ภาพทั้งหมดปรากฏอยู่เกือบหนึ่งชั่วโมงจนกระทั้งต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไป บางครั้งอาจมีฉลามวาฬเข้ามาผสมโรงด้วย เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องของ “ดวง” สำคัญมากแค่ไหน แต่ที่แน่ชัดคือ เราต้องคำนึงเสมอว่า เราเป็นเพียงคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้ามาเยือนถิ่นหากินของพวกเขาและ หากพวกเขา “อนุญาต” ให้เรามีส่วนร่วมอยู่ตรงนั้น เราก็ต้องเคารพธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ รวมทั้งเคารพกฎเกณฑ์ของทางการด้วย

แมนต้าเรย์, กระเบนราหู, ดำน้ำ, มัลดีฟส์
ความอลหม่านที่เกิดขึ้นใต้น้ำในช่วงเวลาที่กระเบนราหูสาละวนกับการต้อนแพลงก์ตอนเข้าปาก

ส่วนปรากฏการณ์นี้จะคงอยู่ไปอีกนานแค่ไหน คงไม่มีใครตอบได้ เพราะความพยายามในการอนุรักษ์ของมนุษย์ยังไม่เพียงพอ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี เมื่อพวกเราได้มาสัมผัสความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติในครั้งนี้ เราก็ยิ่งเข้าใจวิถีของธรรมชาติ แต่ละอย่างที่พวกเราหมายมั่นว่าจะเห็นนั้น เราไม่ได้สมหวังเสมอไป ให้ทำใจเป็นกลางและตระหนักว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” และเหนือสิ่งอื่นใดคือต้องอดทน ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ในทะเลเปิด ไหนจะคลื่น ไหนจะลม ไหนจะฝน และหากวันนั้นจะเป็นของเราแล้ว ธรรมชาติจะมอบรางวัลที่แสนสวยงามให้กับเราเอง

เคล็ด(ไม่ลับ)การเก็บภาพประทับใจ

  • ห้ามใช้แฟลช เพราะฉะนั้นถ้ากล้องของคุณเป็นแบบต้องต่อ strobe ไม่ต้องแบกไปเลยให้หนักกระเป๋า
  • ห้ามถูกเนื้อต้องตัวกระเบนราหู ถึงแม้ว่าเขาจะเข้ามาใกล้จนเอื้อมมือไปจับได้ก็ตาม
  • ใช้เลนส์ wide angle และเนื่องจากเวลามีแพลงตอนเยอะน้ำจะขุ่นมากเพราะฉะนั้นพยายามอยู่ใกล้ฝูงกระเบนราหูที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะทัศนวิสัยใต้น้ำจะไม่ค่อยดี
  • ถ่ายวิดีโอเก็บภาพมุมกว้างจะดีกว่า เพราะจะได้บรรยากาศและได้อารมณ์มากกว่าภาพนิ่งหลายเท่า
  • รักษามารยาทด้วย เพราะทุกคนก็อยากจะเก็บบรรยากาศนี้เหมือนกัน

เรื่อง: ธนพงศ์ บรรพตจิต
ภาพถ่าย: Changnoi Diving และธรรมยุทธิ์ วัฒนวงศ์วรรณ


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: กระเบนราหู รวมตัวกันในงานเลี้ยงโกลาหล

กระเบนราหู, ฝูงปลากระเบน, การหาอาหาร

Recommend