มองโลกใต้น้ำผ่านสายตาของคนให้อาหารปลา

มองโลกใต้น้ำผ่านสายตาของคนให้อาหารปลา

เบื้องลึกเบื้องหลังของผู้ดูแลสัตว์น้ำในอควาเรียม SEA LIFE Bangkok Ocean World สยามพารากอน

กองบรรณาธิการออนไลน์ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย มีโอกาสไปเที่ยวชมโลกใต้น้ำที่ SEA LIFE Bangkok Ocean World สยามพารากอน ซึ่งถือเป็น พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของบ้านเรา อีกทั้งยังเหมาะสำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็ก

ระหว่างเดินชมบรรยากาศ พวกเราเห็นแววตาเป็นประกายของเด็กๆ เมื่อได้ชมสัตว์น้ำนานาชนิดจากท้องทะเล มองดูแล้วก็อดมีความสุขไปกับน้องๆ หนูๆ ไม่ได้ บางช่วงบางจุดเหมือนเราเดินอยู่ใต้น้ำที่มองขึ้นไปแล้วเห็นกระเบนนกว่ายลอยไปมา ชวนให้จินตนาการไปต่างๆ นานา จนถึงขนาดถามตัวเองว่า ไปเรียนดำน้ำบ้างจะดีไหม

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, อควาเรียม, SEA LIFE,

สักพักก็ได้ยินเสียงประกาศว่าอีกสิบนาทีจะถึงเวลาให้อาหารฉลาม ขึ้นชื่อว่า “ฉลาม” ถึงไม่รู้ว่าเป็นสายพันธุ์ไหนก็ต้องกลัวไว้ก่อน แต่นี่ถึงขนาดลงไปป้อนอาหารกันถึงปาก ว่าไปแล้วอาชีพคนป้อนอาหาร ให้ฉลามก็น่าสนใจไม่แพ้กันนะ

เดินดูอยู่ไม่นานหนึ่งในผู้ดูแลสัตว์น้ำและให้อาหารปลา ก็เดินเข้ามาให้ความรู้เรื่องสัตว์และเรื่องของเขาเอง คุณปองจบจากภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถือว่าจบตรงสาย แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือความรักที่มีต่อปลาและการดำน้ำ ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนและทำงานด้านนี้

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, อควาเรียม, SEA LIFE,
คุณปอง – ธนาวิทย์ แสงสุข

 

ในวัยเด็กเขารักการเลี้ยงปลามาก จวบจนได้เข้ามาเรียนที่คณะประมง จึงมีโอกาสเรียนดำน้ำกับรุ่นพี่ คุณปองเล่าว่า “การดำน้ำทำให้ผมได้เห็นโลกใต้น้ำในอีกมิติหนึ่ง” จนสามารถสอบผ่านการดำน้ำแบบสกูบา พอเรียนจบก็ได้มาทำงานที่ SEA LIFE Bangkok Ocean World ผมลองถามว่าถ้าไม่ได้ทำงานที่นี่ เขาจะทำอะไร ก็ได้คำตอบว่า “อยากมีฟาร์มปลาเป็นของตัวเอง แต่ตอนนี้ขอหยุดเอาไว้ก่อน”  เพราะคุณปองบอกว่าเขารักอาชีพนี้

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, อควาเรียม, SEA LIFE,

คุณปองเริ่มงานครั้งแรกในตำแหน่งคนเลี้ยงปลา มีหน้าที่ล้างทำความสะอาดตู้ปลา เตรียมอาหารปลา ให้อาหารปลา ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ซึ่งมีความสำคัญที่สุด เพราะน้ำก็เปรียบเหมือนบ้าน ถ้าบ้านดีมีอากาศถ่ายเทสะดวก ผู้อยู่อาศัยก็ปราศจากโรคภัยและมีความสุข ในแต่ละวันที่อควาเรียมช่วงเช้าจะทำความสะอาดตู้ปลา พอตกบ่ายก็เป็นการโชว์ให้อาหารฉลามเสือทราย ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ดุแต่ฟันคมมาก นอกจากนี้ยังมีปลากระเบน ปลาฉนาก (สัตว์ควบคุม) ที่ต้องคอยให้อาหารแบบป้อนถึงปาก ซึ่งคุณปองให้คำตอบว่า “เพื่อเป็นการเก็บข้อมูลว่ามีอะไรผิดปกติไหม เช่น ทำไมวันนี้ไม่กินเลย หรือกินได้น้อย ทางผู้ให้อาหารก็ต้องรีบทำบันทึกและวางแผนกับสัตวแพทย์ว่า มีอะไรผิดปกติไหม ถ้าผิดปกติทางทีมงานจะได้ดูแลรักษาอย่างทันท่วงที”

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, อควาเรียม, SEA LIFE,

สำหรับผู้ที่จะมาดำน้ำให้อาหารปลาที่อควาเรียมแห่งนี้ได้ต้องจบหลักสูตร Rescue Diver คือต้องสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้เมื่อเกิดเหตุ พื้นฐานสำคัญอีกอย่างคือต้องเป็นคนรักสัตว์ ผมถามคุณปองว่า “เมื่อเรารักสัตว์ แล้วนำสัตว์มาขังไว้ในอควาเรียม มันไม่สวนทางกับความรักที่เรามีให้หรือ”  ก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจว่า

“คนที่ทำสวนสัตว์หรืออควาเรียมมีใจรักสัตว์อยู่แล้ว และเขาไม่ต้องการให้สัตว์เกิดอุบัติเหตุหรือเกิดความผิดพลาดในการดูแลสัตว์ อีกมุมหนึ่ง อควาเรียมก็ถือเป็นการอนุรักษ์สัตว์น้ำทางหนึ่ง อย่างเช่นทางเราเพาะพันธุ์ฉลามกบและปลาการ์ตูนได้ ก็นำไปปล่อยตามแหล่งธรรมชาติ อีกอย่างการมีอควาเรียมผมว่าช่วยปลูกจิตสำนึกให้เด็กๆ เวลาเข้ามาเที่ยวชมดูสัตว์น้ำ เมื่อเขาเห็นถึงความสวยงาม เขาจะเกิดความรักและอยากดูแล และเมื่อเขาอยากดูแลเขาก็จะมีจิตสำนึกที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติไว้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่” 

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, อควาเรียม, SEA LIFE,

สิบสี่ปีที่คุณปองทำงานนี้ก็เป็นธรรมดาที่ต้องเห็นปลาตายไป เขาพูดด้วยสายตาที่เศร้าลงว่า “ผมรู้สึกหดหู่เหมือนกัน เห็นอยู่ทุกวัน ป้อนอาหาร ดูแลเหมือนพี่น้อง บางครั้งมันสุดวิสัยก็เศร้าเป็นธรรมดาครับ บางครั้งเห็นปลาป่วย เราก็ต้องอยู่เฝ้า 24 ชั่วโมง ปลาบางตัวอยู่ที่นี่ก่อนผมอีก ต้องเช็กแล้วเช็กอีก ปลาทุกตัวเราบันทึกไว้หมด ถ้ามีอะไรผิดปกติเราจะรีบแจ้งสัตวแพทย์ทันที”

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ, อควาเรียม, SEA LIFE,

สิบสี่ปีกับการเป็น Aquarius diver ถึงแม้วันนี้จะดำน้ำให้อาหารปลาน้อยลง ด้วยตำแหน่งที่สูงขึ้น คุณปองยังคงเฝ้ามองน้องๆ นักดำน้ำรุ่นใหม่ผ่านแผ่นกระจกหนาหกนิ้วอยู่ทุกวัน อย่างน้อยเพื่อที่จะได้รู้ว่าน้องๆ ทำถูกวิธี และเพื่อนสัตว์น้ำของเขาปลอดภัย สำหรับพวกเรามีมุมมองว่า การมีอควาเรียมก็ดีเหมือนกันนะครับเพราะทำให้เราได้รู้จักสัตว์น้ำนานาชนิด และเมื่อเรารู้จักเราก็อยากจะเก็บรักษาไว้ นั่นจึงเป็นที่มาของการอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไป

เรื่อง: ไตรรัตน์ ทรงเผ่า
ภาพถ่าย: เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ขอขอบคุณ

  • คุณธนาวิทย์ แสงสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกดูแลสัตว์น้ำ SCUBA Diving Level : Dive Master จากสถาบัน PADI
  • SEA LIFE Bangkok Ocean World รายละเอียดเพิ่มเติมรับชมได้ที่ www.sealifebangkok.com

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ: แมงกะพรุน ทำสิ่งเหล่านี้ได้ แม้ไม่มีสมอง

แมงกะพรุน
แมงกะพรุนกล่องในน่านน้ำของแอฟริกาใต้ พวกมันเป็นหนึ่งในสัตว์มีพิษที่น่ากลัวที่สุดบนโลก
ภาพถ่ายโดย Thomas P. Peschak

Recommend