ปลัดขิก : โลกิยธรรมในวิถีพุทธของชาวภูฎาน

ปลัดขิก : โลกิยธรรมในวิถีพุทธของชาวภูฎาน

 ใครที่เคยสัญจรรอนแรมไปในเขตชนบทของภูฏาน ล้วนต้องตั้งคำถาม ว่าไย ชาวภูฏานจึงนิยมประดับภาพ ปลัดขิก หรืออวัยวะเพศชายขนาดใหญ่ชนิดโจ๋งครึ่ม บางบ้านแต่งเติมให้ท่านปลัดพ่นไฟได้ บางบ้านแกะสลักไม้เป็นรูปท่านปลัดแล้วทาสีแดงแป๊ด ติดไว้เหนือประตูบ้าน แขวนไว้ตามยุ้งฉางอีกต่างหาก ร้านอาหารบางแห่งตั้งท่านปลัดขนาดสูงเท่าตัวคนไว้กลางร้านเลยทีเดียว

จะหาคำตอบของเรื่อง ปลัดขิก นี้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ศาสนาพุทธที่ชาวภูฏานนับถือศรัทธา มิใช่นิกายเถรวาทแบบไทย หรือนิกายมหายานแบบจีน เกาหลี ญี่ปุ่น แต่เป็นนิกายวัชรยานแบบทิเบต สาระสำคัญของนิกายนี้ใกล้เคียงกับมหายาน คือนอกจากนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาแล้ว ยังมี “พระโพธิสัตว์” อีกหลายองค์ที่คอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก อาทิ พระโพธิสัตว์กวนอิม ที่รู้จักกันดี แต่พิเศษกว่านั้น คือวัชรยานกำหนดให้มีเครื่องมือพิเศษ เช่น ธงมนตรา กงล้อมนตรา ระฆังมนตรา ฯลฯ ไว้ช่วยชาวพุทธให้บรรลุธรรมได้รวดเร็วปานสายฟ้าแลบแปลบ และมีอำนาจตัดกิเลสได้แข็งแกร่งดั่งเพชร ตามความหมายของคำว่า “วัชระ” ที่แปลว่าเพชร หรือสายฟ้า

ปลัดขิก, ธงมนตรา, ธงมนต์, ภูฏาน, ความเชื่อ, ศาสนา
วัดชิมิ หรือวัดสุนัขหาย

ยิ่งไปกว่านั้น ในอดีต นิกายวัชรยานเคยพัฒนาไปไกลถึงขั้นที่เชื่อว่า หากนักบวชฝึกฝนอย่างดีแล้ว สามารถละเมิดศีลธรรม เช่น ดื่มสุรา เสพเมถุน เพื่อจะบรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เรียกว่าใช้ “กิเลส” เป็น “อุบาย” หรือบันไดไต่ไปสู่การบรรลุธรรม เหมือนหนามยอก ต้องเอาหนามบ่ง น้ำเข้าหู ต้องเอาน้ำกรอกหู

แนวคิดนี้เรียกอีกอย่างว่า “ตันตระ” ซึ่งเกิดขึ้นในศาสนาฮินดูก่อน เรียกว่า “ฮินดูตันตระ” มุ่งเน้นเวทมนต์คาถาและถือการมีเพศสัมพันธ์กับสตรีเป็นหนทางสู่โมกษะ (คือการหลุดพ้น)

ต่อมามีเกจิอาจารย์ฝ่ายพุทธชาวอินเดียนาม “พระปทุมสมภพ” ประยุกต์แนวคิดนี้มาเป็น “วัชรยานตันตระ” แล้วนำไปเผยแผ่จนงอกงามบนที่ราบสูงทิเบต กระทั่งชาวทิเบตยกย่องท่านเป็น “คุรุ รินโปเช” หรือ “อาจารย์ใหญ่ผู้ล้ำเลอค่า” โดยรูปเคารพของคุรุ รินโปเช จะมี “ตารา” หรือพระชายาสององค์ประทับอยู่ด้านข้างเสมอ

ปลัดขิก, ธงมนตรา, ธงมนต์, ภูฏาน, ความเชื่อ, ศาสนา
ตาคิน สัตว์ประจำชาติ

ซึ่งในราว พ.ศ.1998 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีลามะจากทิเบตผู้เป็นสาวกคุรุ รินโปเช รูปหนึ่ง นามว่า ดรุ๊กปะ กินเหละ จาริกสู่ดินแดนทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทิเบต ที่กลายเป็นประเทศภูฏานในปัจจุบัน แล้วเผยแผ่ศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ จนได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบรรดามหาอาริยะเจ้าผู้เป็นที่รักยิ่งของชาวภูฏาน

โดยมีจุดเด่นที่กุศโลบายในการเผยแผ่ธรรมนอกตำรา เช่นการใช้เพลง หรือบทกวีสองแง่สามง่าม นิทานที่มีเรื่องการร่วมเพศ มาประกอบคำสอน เป็นจุดดึงดูดผู้คนให้เข้าถึงเนื้อแท้แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า จนได้สมญานามว่า “เทวาวิปลาศ” (อาชิ โดร์จิ วังโม วังชุก ในหนังสือ “ภาพสวรรค์ภูฏาน” แปลโดย รศ.ดร.อมร แสงมณี)

ปลัดขิก, ธงมนตรา, ธงมนต์, ภูฏาน, ความเชื่อ, ศาสนา
ปรากฏการณ์ปลัดขิกที่ฝาบ้าน

บางตำราอุปมาท่านดรุ๊กปะ กินเหละ เหมือนพระจี้กงในตำนานของชาวจีน ที่ทำอะไรผิดแผกจากวัตรปฏิบัติของพระทั่วไป เช่น ชอบยิงธนูเล่น วันหนึ่ง ชาวบ้านถามท่านว่าจะแสดงอภินิหารอะไรเพื่อพิสูจน์ว่าเก่งกล้าอาคมจริง ท่านบอกให้ชาวบ้านไปหาแพะกับวัวมา แล้วท่านก็ชำแหละเนื้อมาฉันจนอิ่ม แล้วเอากะโหลกแพะกับซี่โครงวัว มาปลุกเสกจนกลายเป็น “ตาคิน” (Takin) ที่กลายมาเป็นสัตว์ประจำชาติของภูฏานวันนี้

ยังมีตำนานเล่าขานอีกว่า เมื่อท่านจาริกผ่านโดชูล่า หรือช่องเขาศิลา บนเส้นทางระหว่างนครหลวงธิมพู สู่อดีตราชธานีปูนาคา ท่านพบเด็กเลี้ยงวัวนั่งร้องไห้ เพราะถูกนางปีศาจร้ายแห่งช่องเขาศิลารังควานจนเลี้ยงวัวไม่เป็นสุข ท่านจึงสำแดงเดชด้วยการเสกอวัยวะเพศให้ยาวเป็นงูเลื้อยรอบกาย จนนางปีศาจร้ายตกใจกลัวเผ่นหนีลงจากภูเขา ท่านจึงสาบนางปีศาจร้ายให้กลายเป็นสุนัข แต่ก็เกรงว่าจะเที่ยวไปรังแกชาวบ้านอีก จึงเสกให้สุนัขปีศาจตัวนั้นหายไปในพริบตา ต่อมา มีผู้คนมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนั้น จึงถูกเรียกขานว่า “ตำบลชิมิ” แปลว่าตำบลสุนัขหาย ทั้งยังมีการสร้างวัดชิมิ หรือวัดสุนัขหาย อุทิศถวายแด่ “เทวาวิปลาส” คือท่านดรุ๊กปะ กินเหละ อีกด้วย

ปลัดขิก, ธงมนตรา, ธงมนต์, ภูฏาน, ความเชื่อ, ศาสนา
สัญลักษณ์แห่งโชคลาภ

เหตุนี้เอง ชาวภูฏานในชนบทจึงนิยมวาดรูปอวัยวะเพศชายประดับไว้ที่ฝาบ้าน นัยว่าเป็นยันต์กันภูตผีปีศาจร้ายไม่ให้มากรายกล้ำ บ้างก็เป็นไม้แกะสลักทาสีแดงติดไว้ที่ประตูบ้าน แขวนไว้ที่ยุ้งฉาง ด้วยเชื่อว่าจะนำโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ครอบครัว ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด และเป็นที่รู้กันว่า สามีภรรยาที่ฝันอยากมีลูก คนโสดที่อยากมีคู่ครอง จะชวนกันไปทำบุญที่วัดสุนัขหาย และอธิษฐานให้ฝันเป็นจริง

อีกทั้งในพิธีกรรมระบำหน้ากาก (Mask Dance) ที่ทุกวัดในภูฏานต้องจัดขึ้นทุกปี จะมี“อัตซารา” หรือตัวตลกจมูกโตสวมหน้ากากแดง ในมือถือปลัดขิกสีแดง ออกมาเรียกเสียงฮาคั่นรายการด้วยเรื่องตลกสองแง่สามง่าม บางครั้งยั่วแย้งพระธรรมคำสอน แล้ววิพากษ์ถกเถียงกันเองในลักษณะด้นสด เพื่อให้ชาวพุทธรู้จักคิดวิเคราะห์และเข้าถึงแก่นแท้ของธรรมะ ตามแนวทางที่ท่านดรุ๊กปะ กินเหละ เคยทำไว้ จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ ตัวตลกจมูกแดงยังมีหน้าที่สอนเพศศึกษา เช่น ความสำคัญของถุงยางอนามัย ฯลฯ ให้เยาวชนภูฏานยุคใหม่อีกด้วย

กล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์ปลัดขิกที่ฝาบ้าน และการดำรงอยู่ของตัวตลกจมูกแดง คือร่องรอยของศาสนาพุทธนิกายวัชรยานตันตระ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวิถีชีวิตชาวภูฏาน แม้ว่าในทางปฏิบัติ การฝึกตันตระโดยใช้กิเลสเป็นอุบายสู่การบรรลุธรรม จะถูกยกเลิกไปแล้วก็ตาม ดังข้อวิเคราะห์ของ “อาชิ โดร์จิ วังโม วังชุก” พระราชินีในสมเด็จพระราชาธิบดีภูฏาน รัชกาลที่สี่ ในหนังสือพระราชนิพนธ์ “ภาพสวรรค์ภูฏาน” ที่ว่า…  วัฒนธรรมของภูฏานสะท้อนความสัมพันธ์แนบแน่น ระหว่างวิถีแห่งโลกุตรธรรมและโลกิยธรรมอันเปี่ยมด้วยพลัง 

ธงมนตรา, ธงมนต์, ภูฏาน, ความเชื่อ, ศาสนา
หุบเขาชิมิ ที่ชาวบ้านสร้างวัดชิมิถวายท่านดรุ๊กปะ กินเหละ

โลกิยธรรม 

ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก, สภาวะเนื่องในโลก ได้แก่ขันธ์ 5 ที่ยังมีอาสวะทั้งหมด; คู่กับ โลกุตตรธรรม

(จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

เรื่องและภาพถ่าย: ธีรภาพ โลหิตกุล

ธีรภาพ โลหิตกุล เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (สารคดี) ประจำปี 2558 เจ้าของราวัลศรีบูรพาในปี 2556 และรางวัลแม่โขงอะวอร์ดในปี 2557 


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เชน ที่เห็น ไม่เป็นอย่างที่คิด

Recommend