ปริศนาอันยืนยงของเทือกเขา เอเวอเรสต์

ปริศนาอันยืนยงของเทือกเขา เอเวอเรสต์

ปริศนาเทือกเขา เอเวอเรสต์ เมื่อเกือบร้อยปีก่อน แอนดรูว์ “แซนดี” เออร์ไวน์ กับคู่หูปีนเขา จอร์จ มัลลอรี หายตัวไปขณะลงจากสันเขาด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมานต์เอเวอเรสต์ นับตั้งแต่นั้น โลกก็กังขาว่าพวกเขาทั้งคู่หรือคนใดคนหนึ่งอาจพิชิตยอดเขาได้ในวันนั้น หรือ 29 ปีก่อนที่เอดมันด์ ฮิลลารี กับเทนซิง นอร์เกย์ จะได้ชื่อว่าเป็นสองคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ เชื่อกันว่าเออร์ไวน์พกกล้องโกดัก รุ่นเวสต์พ็อกเก็ตไปด้วย ถ้าพบกล้องตัวนั้น และถ้ากล้องบันทึกภาพยอดเขาไว้ได้ นั่นจะเป็น การเขียนประวัติศาสตร์ของยอดเขาสูงที่สุดในโลกขึ้นใหม่

 ผมได้ยินทฤษฎีที่ว่า มัลลอรีกับเออร์ไวน์อาจเป็นคนแรกที่พิชิตเอเวอเรสต์ได้มานานแล้ว แต่ผมเริ่มรู้สึกกระตือรือร้นอยากออกค้นหาเออร์ไวน์เมื่อสองปีที่แล้วนี่เอง หลังฟังบรรยายของทอม พอลลาร์ด เพื่อนผู้มีประสบการณ์ปีนเอเวอเรสต์มาแล้วอย่างโชกโชน

พอลลาร์ดเป็นช่างภาพเคลื่อนไหวในโครงการวิจัยเชิงสำรวจมัลลอรีและเออร์ไวน์ (Mallory and Irvine Research Expedition) เมื่อปี 1999 ซึ่งในระหว่างนั้น นักปีนเทือกเขาชาวอเมริกัน คอนราด แองเคอร์ พบศพของจอร์จ มัลลอรี ในพื้นที่ส่วนนี้ของเอเวอเรสต์ฝั่งเหนือ ซึ่งนักปีนเขาเพียงไม่กี่คนเคยมาเยือน

จุดสูงสุดของโลกดูห่างไกลเหมือนทางช้างเผือกจากแอดวานซด์เบสแคมป์ที่ผู้คนกว่า 200 คนพำนักอยู่เหนือกองตะกอนธารน้ำแข็งยาวครึ่งกิโลเมตร ยอดเขาคือยอดขวาสุดที่เกือบมองไม่เห็นถัดจากสันเขาห่มหิมะของนอร์ทโคล (ทางขวา)

แผ่นหลังทั้งหมดของมัลลอรีเปิดโล่ง ผิวหนังที่อยู่ในสภาพดีดูสะอาดและขาวจนคล้ายรูปปั้นหินอ่อน เชือกที่ขาดมัดรอบเอวของเขาแน่นจนทิ้งรอยไว้กลางลำตัว ซึ่งให้เบาะแสว่า ณ จุดหนึ่ง มัลลอรีน่าจะร่วงตกลงมาอย่างแรง ขาซ้ายของเขาพาดทับขาขวาที่หักเหนือหน้าแข้ง ราวกับมัลลอรีกำลังปกป้องขาข้างที่บาดเจ็บของเขา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดูเหมือนชัดเจนว่ามัลลอรีมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยก็ช่วงสั้นๆ ตอนที่เขามาถึงเรือนตายนี้

แรกเริ่มเดิมที แองเคอร์กับทีมค้นหาสันนิษฐานว่า นี่คือศพของแซนดี เออร์ไวน์ เพราะพวกเขาพบร่างนั้นบนสันเขา แทบจะใต้จุดที่พบขวานน้ำแข็งของเออร์ไวน์เมื่อเกือบสิบปีหลังมัลลอรีกับเออร์ไวน์หายตัวไป มัลลอรีผูกตัวติดกับเออร์ไวน์ตอนเขาร่วงลงมาหรือไม่ ถ้าใช่ เชือกถูกตัดขาดได้อย่างไร และทำไมจึงไม่พบร่างของเออร์ไวน์ใกล้ๆกัน

ไม่มีร่องรอยของกล้องถ่ายภาพด้วย นั่นทำให้นักประวัติศาสตร์เอเวอเรสต์หลายคนสรุปว่า เออร์ไวน์น่าจะเป็นคนถือกล้อง

ผมไม่เคยเข้าใจว่า ทำไมพอลลาร์ดจึงหมกมุ่นกับยอดเขานี้นัก แต่เมื่อเราคุยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ผมก็สนใจเรื่องของมัลลอรีกับเออร์ไวน์มากขึ้นเรื่อยๆ ในการพูดคุยครั้งหนึ่ง พอลลาร์ดเล่าถึงทอม โฮลเซล นักเขียนและผู้คลั่งไคล้เอเวอเรสต์ วัย 79 ปี ที่ใช้เวลากว่าสี่สิบปีพยายามไขปริศนานี้

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1986 โฮลเซลเป็นผู้นำโครงการสำรวจแรกสุดที่มุ่งค้นหามัลลอรีและเออร์ไวน์ ร่วมกับออดรีย์ ซอลเคลด์ นักประวัติศาสตร์เอเวอเรสต์คนสำคัญ แต่หิมะรุนแรงผิดปกติในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้นทำให้ทีมของเขาขึ้นภูเขาทางฝั่งจีนได้ไม่สูงพอ ถ้าสภาพอากาศดีกว่านี้ พวกเขาอาจพบร่างของมัลลอรี ซึ่งค้นพบหลังจากนั้นในรัศมีไม่เกิน 35 เมตรจากจุดที่โฮลเซลปักหมุดไว้

เออร์วิง (ทางซ้าย) และซินนอตต์สูดหน้ากากออกซิเจนลึกๆ ท่ามกลางอากาศเบาบางของเขตมรณะ ขณะไต่ตามเชือกตรึงเส้นทางไปยังสันเขานอร์ทอีสต์ที่ความสูงประมาณ 8,300 เมตร ซึ่งสูงกว่าภูเขาทั่วโลก ยกเว้นเพียงห้าแห่ง

ความคิดต่อไปของเขาคือการใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่บันทึกได้จากโครงการทำแผนที่เอเวอเรสต์ ซึ่งเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เป็นผู้สนับสนุน และมีนักสำรวจ แบรดฟอร์ด วอชเบิร์น เป็นหัวหน้าโครงการ ในการพยายามระบุจุดที่แน่ชัดซึ่งนักปีนเขาชาวจีนอ้างว่าเห็นร่างของเออร์ไวน์ สวี่จิ้งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีมสำรวจของจีนในความพยายามปีนเอเวอเรสต์ฝั่งเหนือครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1960 ตามที่สวี่จิ้งเล่า หลังจากล้มเลิกความคิดพิชิตยอดเขา เขาได้ใช้ทางลัดกลับลงมาและได้เห็นศพที่ตายมานานแล้วในร่องเขาที่ความสูงประมาณ 8,300 เมตร ในช่วงเวลาที่เขาพบศพ มีเพียงสองคนที่เสียชีวิต ณ ความสูงระดับนี้ทางฝั่งเหนือของเอเวอเรสต์นั่นคือมัลลอรีกับเออร์ไวน์ แต่กว่าสวี่จิ้งจะเล่าเรื่องนี้ในปี 2001 ก็มีผู้พบร่างของมัลลอรี ณ จุดต่ำกว่านั้นบนภูเขาแล้ว

ก่อนจะเริ่มการค้นหาเออร์ไวน์ เราต้องปรับตัวให้ชินกับอากาศบนที่สูงและทดสอบอาวุธลับของเราก่อน นั่นคือฝูงโดรนขนาดย่อม เรนัน ออซเติร์ก หวังว่าจะใช้อากาศยานไร้คนขับเหล่านี้ค้นหา ไม่เฉพาะร่องเขาของเออร์ไวน์เท่านั้น แต่ยังรวมฝั่งเหนือทั้งหมดของภูเขาด้วย

ออซเติร์กส่งโดรนขึ้นไปทางยอดเขา เขาถ่ายภาพความละเอียดสูงของพื้นที่ค้นหาได้ 400 ภาพ รวมถึงภาพระยะใกล้ของจุดที่โฮลเซลระบุไว้ด้วย ในภาพถ่ายภาพหนึ่ง ผมเห็นร่องเขา แต่ไม่เห็นข้างใน ร่างของเออร์ไวน์อยู่ข้างในหรือเปล่า

เสียงกระดึงมาพร้อมกับจามรีที่บรรทุกถังแก๊สโพรเพนและเสบียงอื่นๆไปตลอดทางจนถึง แอดวานซด์เบสแคมป์ที่ความสูง 6,400 เมตร ที่นี่สูงกว่าที่พวกเขาจะไปได้ทางเอเวอเรสต์ฝั่งเนปาล ซึ่งชาวเชอร์ปาจะขนทุกอย่างขึ้นไปตามโตนน้ำแข็งคุมบู

บ่ายวันที่ 23 พฤษภาคม ปี 2019 เรานั่งคุยกับทีมสนับสนุนชาวเชอร์ปาเพื่อหารือเรื่องการลำเลียงเสบียงสำหรับการค้นหา เจมี แมกกินเนสส์ ผู้นำทางและผู้นำโครงการสำรวจของเรา ยืนยันว่าทีมงานรู้แผนการของเราดี แต่เห็นได้ชัดว่าข้อมูลบางอย่างขาดหายไปในการแปล เมื่อผมอธิบายกลยุทธ์ในการค้นหาร่างของเออร์ไวน์ พวกเขาก็ยกแขนขึ้นและเริ่มถกเถียงเป็นภาษาเนปาล

“เราจะไม่ขึ้นยอดเขางั้นหรือ” ลักปา เชอร์ปา ถาม “ปัญหาใหญ่นะนั่น”

ออซเติร์กแปลข้อความให้เราฟัง ข้อหนึ่ง ทีมสนับสนุนไม่ต้องการให้เราออกนอกเส้นทางที่มีเชือกตรึงไว้โดยทางการจีน พวกเขาบอกว่า มันอันตรายเกินไปและขัดคำสั่งทางการ ข้อสอง ยอดเขาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา ทีมงานบางคนเป็นมือใหม่ที่ไม่เคยไปถึงยอดเขา ข้อสาม พวกเขาต้องการใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ที่แคมป์สาม ซึ่งมีความสูงราว 8,200 เมตรและอยู่ในเขตมรณะ เพราะอากาศเบาบางเกินกว่าจะอยู่ได้เป็นเวลานาน “อันตรายมากสำหรับทุกคน” พวกเขาบอก

ขณะดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือที่ราบสูงทิเบต ปาซัง กาจี เชอร์ปา (ข้างหน้า) และลักปา เทนเจ เชอร์ปา ก็ผ่านความสูง 8,750 เมตรบนเมานต์เอเวอเรสต์ คำถามสำคัญคือ เมื่อปี 1924 จอร์จ มัลลอรี และแซนดี เออร์ไวน์ มาได้ไกลแค่นี้ หรือไปจนถึงยอดเขา

ตอนนี้เรากำลังมีปัญหากับทีมสนับสนุนซึ่งมีทั้งหมด 12 คน เช่นเดียวกับทีมอื่นๆทุกทีมเราต้องพึ่งทีมสนับสนุน และถ้าพวกเขาทิ้งเรา การสำรวจของเราก็จบเห่

“ถ้าเราขึ้นยอดเขา ผมจะออกนอกเส้นทางที่ทำไว้เพื่อค้นหาร่องเขาของเออร์ไวน์ในช่วงขาขึ้นหรือขาลงได้หรือเปล่า” ผมถามแมกกินเนสส์

“ขาลงน่าจะดีกว่า” เขาตอบ นอกจากนั้น ในเส้นทางขาลง ลักษณะภูมิประเทศจะดูเหมือนที่สวี่จิ้งเห็นเมื่อปี 1960 ที่เขาอ้างว่าเห็นศพด้วย*

เรื่อง มาร์ก ซินนอตต์
ภาพถ่าย เรนัน ออซเติร์ก

Recommend