อุทยานแห่งชาติคลองลาน…กับพื้นที่อนุรักษ์

อุทยานแห่งชาติคลองลาน…กับพื้นที่อนุรักษ์

หากคุณเคยไปท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติในที่ต่างๆ เรามักเห็นเส้นทาง เดินป่าศึกษาธรรมชาติอยู่ควบคู่ด้วยเสมอเกือบทุกอุทยานฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางสั้นๆ ที่มีการพัฒนาเส้นทางแล้วและมีความปลอดภัยซึ่งภาษาราชการเรียกว่า “พื้นที่ให้บริการ” ในขณะที่บางอุทยานฯก็ประกาศเป็น “พื้นที่อนุรักษ์” และไม่เปิดให้เป็นพื้นที่ที่ให้กับประชาชนทั่วไปได้เข้าถึง ด้วยความสงสัยปนหลงใหล

ทีมงาน NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย ได้ขออนุญาตติดตาม การทำงานของหน่วยลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ที่มีชื่อเรียกขานว่า “พญาเสือ 51” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคลองลาน แห่งอุทยานแห่งชาติคลองลาน เข้าไปยังพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าผืนป่าแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไรและเกี่ยวข้องอย่างไรกับผืนป่าตะวันตก กับเส้นทางที่ไม่มีทางในป่าลึก เพราะตลอดสองข้างทางเป็นป่ารกชัฏ มองไม่เห็นเส้นทางเดินชัดเจนและเสี่ยงต่อการหลงป่าหากไม่มีเจ้าหน้าที่มาด้วย

พื้นที่อนุรักษ์หมายถึงอะไร

พื้นที่อนุรักษ์ หมายถึง พื้นที่ป่าสมบูรณ์ที่ถูกยกสถานะขึ้น เพื่อที่จะนำกฎหมายเข้าไปบริหารจัดการ และดูแลรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่านั้น ๆ ได้ ทั้งทางบกและทางทะเล

อนุรักษ์อะไร

อนุรักษ์ระบบนิเวศที่มีความสัมพันธ์กันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ป่า พันธุ์พืช ทุ่งหญ้า แหล่งน้ำ แหล่งดิน ฯลฯ

ทำไมต้องอนุรักษ์

– เพื่อรักษาและคงไว้ซึ่งพื้นที่ป่าขนาดใหญ่อันเป็นตัวแทนของชีวมณฑลที่สำคัญของประเทศ
– เพื่อรักษาพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ป้องกันการสูญพันธุ์ให้ได้มากที่สุด
– เพื่อส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัย
– เพื่อคงไว้ซึ่งดิน น้ำ อันเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ป่า
– เพื่อประโยชน์ทางด้านนันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว
– เพื่อคุ้มครองมรดกโลกทางธรรมชาติ ซึ่งในบางพื้นที่หมายรวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมด้วย

ผืนป่าตะวันตกคือ

ผืนป่าขนาดใหญ่ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยผืนป่าอนุรักษ์ที่ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมกันทั้งหมด 17 แห่ง ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี โดยมีขนาดพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12 ล้านไร่ หรือ 18,727 ตารางกิโลเมตร

ตั้งอยู่บนเทือกเขาถนนธงชัยต่อกับเทือกเขาตะนาวศรี มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาที่สลับซับซ้อน มีความสูงจากระดับทะเลตั้งแต่ 150-2,100 เมตรจากระดับทะเล เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยตอนล่าง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง อ.อุ้มผาง จ.ตาก

จากลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นแนวเชื่อมต่อของแนวเทือกเขาจากตอนเหนือและตอนใต้ ผืนป่าตะวันตกจึงถูกจัดอยู่ในเขตชีวภูมิศาสตร์เทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งมีความพิเศษทางด้านศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ป่าที่มาบรรจบกันจาก
ด้านทิศเหนือที่เชื่อมต่อกับเทือกเขาหิมาลัย ด้านทิศใต้จากมาเลเซีย ด้านตะวันออกจากอินโดจีน และด้านตะวันตกจากพม่า ส่งผลให้ผืนป่าตะวันตกมีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับพันธุกรรม ระดับชนิด และระดับสังคมสูงกว่าผืนป่าอื่นๆ ในประเทศไทย

ภาพประกอบ: ธีรธัญภัค เหลืองอุบล

อีกทั้งพื้นที่ใจกลางผืนป่าตะวันตกกว่า 3 ล้านไร่ อันประกอบไปด้วยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

อาณาเขตผืนป่าตะวันตก
1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง
2 อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
3 อุทยานแห่งชาติคลองลาน
4 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
5 อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
6 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก
7 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันออก
8 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
9 อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
10 อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
11 อุทยานแห่งชาติลำคลองงู
12 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
13 อุทยานแห่งชาติพุเตย
14 อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
15 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
16 อุทยานแห่งชาติเอราวัณ
17 อุทยานแห่งชาติไทรโยค

อุทยานแห่งชาติคลองลานเกี่ยวข้องกับผืนป่าตะวันตกอย่างไร

อุทยานแห่งชาติคลองลานเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ตอนบนที่อยู่ด้านตะวันออกของผืนป่าตะวันตก ผืนป่าตะวันตกถือว่าเป็นผืนป่าที่มีขนาดใหญ่มีความสำคัญและสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทย

จากหลักฐานทางวิชาการล่าสุดชี้ให้เห็นว่าผืนป่าแห่งนี้เป็นบ้านและแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของเสือโคร่งและ สัตว์ป่าหายากหลายชนิด จากความสำคัญดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) WWF ประเทศไทย ได้จัดทำ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน” โดยมีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อ ภายใต้ข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องและเพียงพอ เพื่อป้องกันการกระทำผิดทางกฎหมาย ต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ

เสือโคร่งจัดว่าเป็นตัวชี้วัดความอุมดมสมบูรณ์ของผืนป่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ และจะอาศัยในผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น ดังนั้นป่าคลองลานจึงจัดว่าเป็นแหล่งอาหารสำหรับเสือโคร่ง โดยมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูสัตว์กีบที่เป็นอาหารของเสือโคร่งเป็นหลัก

แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน

แก่งเกาะร้อย เกิดจากคลองสวนหมากเป็นลำธารสลับด้วยแก่งหิน และหาดทรายขาวสะอาด อยู่ท่ามกลางทิวทัศน์แห่งขุนเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยแก่งหินตะปุ่มตะป่ำนับร้อยพันก้อนเรียงรายเป็นลานกว้าง ช่วงกลางมีลำธารน้ำใสไหลผ่าน ดูสวยงามยิ่งนัก

ลำน้ำคลองสวนหมาก เกิดจากน้ำซับจากป่าอุทยานแห่งชาติคลองลานและป่าอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ไหลลงมารวมกันเกิดลำน้ำคลองสวนหมาก สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของลำน้ำคลองสวนหมากคือ แก่งเกาะร้อย สำหรับน้ำคลองสวนหมากจะมีนักท่องเที่ยวนิยมล่องแพยางประมาณเดือน พฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก และมีแก่งหินเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบท้าทายลักษณะของลำคลองสวนหมากจะเป็นแก่งหินและ เนินทราย มีน้ำไหลตลอดทั้งปี

ทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วงวงช้าง เส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเดินป่าเขาหัวช้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จะนำท่านไปสู่จุดชมทิวทัศน์กิ่วงวงช้าง มีระยะทางประมาณ 735 เมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ตลอดเส้นทางค่อนข้างลาดชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะ 100 เมตร สู่บริเวณยอดปลายงวงช้าง ก่อนจะลาดลงสู่บริเวณ “กิ่วงวงช้าง” ซึ่งเป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ยามดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในจุดเดียวกัน และยังเป็นจุดชมความสวยงามของน้ำตกคลองลานในอีกมุมมองหนึ่ง ส่วนช่วงที่ 2 เป็นเส้นทางเดินป่าไปยังยอดเขาหัวช้าง มีระยะทางต่อจากช่วงแรกประมาณ 700 เมตร โดยต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง

เส้นทางนี้ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว บางระยะเป็นทางเดินขึ้นตามสันเขา เสี่ยงที่จะพลัดตกลงมา จึงห้ามเดินออกนอกเส้นทางโดยเด็ดขาด และหากต้องการขึ้นชมในช่วงเวลาแสงน้อยในตอนเช้ามืดหรือพลบค่ำควรประสานเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อความปลอดภัย

น้ำตกคลองน้ำไหลหรือน้ำตกปางควาย อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากเส้นทางสายอุ้มผาง-คลองลาน ก่อนถึงอำเภอคลองลาน มีทางแยกด้านขวาเข้าสู่น้ำตก เรียกว่า “ถนนปางควาย” ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ถึงน้ำตกคลองน้ำไหล ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดกลาง สายน้ำไหลลดหลั่นกันลงมา มีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมีแอ่งน้ำและความสูงต่างกัน ลานหินที่นี่กว้างมากเป็นสีนิลวาววับเมื่อตัดกับสายน้ำ ลำธารสวยด้วยโขดหิน ในชั้นที่ 3 น้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ดูสวยงามทางฝั่งขวาไหลลงสู่แอ่งน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำตก

น้ำตกเพชรจะขอ เป็นน้ำตกขนาดกลางที่นับว่าสวยงามอีกแห่งหนึ่ง ไหลลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆทั้งหมดสี่ชั้น แต่ละชั้นมีความสูงมากกว่า 30 เมตร โดยเฉพาะชั้นที่สี่ที่สามารถมองเห็นได้จากถนนด้านนอกเขตอุทยานมีความสูงมากกว่า 70 เมตร แต่น้ำตกที่สวยงามไม่ได้อวดความสวยงามได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากฤดูแล้งน้ำจะน้อย การเดินทางจากสามแยกที่เลี้ยวซ้ายไปคลองน้ำไหล ให้ตรงไปตามทางประมาณ 10 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ คล.4 (คลองเพชรนิยม) จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีก 1.5 กิโลเมตร

น้ำตกคลองลาน เกิดจากเทือกเขาขุนคลองลาน ซึ่งมียอดสูง 1,439 เมตรจากระดับทะเล เหนือหน้าผาน้ำตกเป็นที่ราบกว้าง ในฤดูฝนสายน้ำจะไหลจากลำห้วยต่างๆ ประมาณ 5 สาย ลงสู่แอ่งน้ำกลางหุบเขา เกิดเป็นวังน้ำลึกและลำน้ำยาวประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วไหลผ่านหน้าผาลงมาเป็นน้ำตกคลองลาน สูง 100 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตร บริเวณใต้น้ำตกเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งสามารถลงเล่นน้ำได้ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 500 เมตร

เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกคลองลาน อยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยาน นักท่องเที่ยวสามารถเดินชม และสัมผัสกับธรรมชาติได้ในระยะทาง ประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในเส้นทางมีฐานให้ความรู้ทั้งหมด 11 ฐาน และเดินไปทะลุบริเวณน้ำตกคลองลานได้อีกด้วย

ความสำคัญของคลองลานที่มีต่อแม่น้ำปิง

ผืนป่าคลองลานเป็นต้นกำเนิดลำธารน้ำอย่างคลองขลุง คลองน้ำไหล และคลองสวนหมาก ไหลไปรวมกันที่แม่น้ำปิงก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในลำดับต่อไป ป่าต้นน้ำคลองลาน ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำ ที่คอยดูด ซับ กักเก็บน้ำจากน้ำฝนและควบคุมการกัดเซาะของผิวดินตามธรรมชาติ รวมถึงการช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่จะส่องมายังพื้นโลก และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เมื่อฝนตกลงมาบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ ป่าไม้จะทำหน้าที่แบ่งน้ำฝนออกเป็น น้ำบนดิน และน้ำใต้ดิน บริเวณพื้นที่ใดมีต้นไม้ปกคลุมอย่างหนาแน่น จะช่วยลดแรงปะทะหน้าดินกับเม็ดฝนได้ ทำให้ดินดูดซึมน้ำได้ทันและช่วยให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี คลองลานจึงเป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่คอยเติมน้ำให้กับแม่น้ำปิง

เส้นทางลาดตระเวนและภารกิจ กับพญาเสือ 51

ทีมงาน NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคลองลาน แห่งอุทยานแห่งชาติคลองลาน เข้าไปยังพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งคราวนี้ชุดพญาเสือ 51 เลือกที่จะไปลาดตระเวน บริเวณหัวน้ำตกคลองลาน และหมู่บ้านเก่า จากการเก็บข้อมูลพื้นที่บริเวณนี้มักเป็นที่ที่พบผู้กระทำผิดอยู่บ่อยๆ ระยะทางโดยประมาณ 8 กิโลเมตรจากที่ทำการอุทยานฯ สองข้างทางเป็นป่ารก ที่ไม่มีร่องรอยทางเดินที่ชัดเจน ต้องใช้ความชำนาญอย่างมากในการจดจำเส้นทาง พร้อมทั้งดู GPS ควบคู่กันไปด้วย เกือบตลอดเส้นทาง มีลำธารน้ำไหลผ่านให้เห็นเป็นระยะ

ไม่นานก็เดินมาถึงบริเวณหัวน้ำตก จะมีลักษณะเป็นธารน้ำไม่ใหญ่มาก แต่น้ำไหลแรง และอันตราย ก่อนที่จะไหลลงไปสู่ยังน้ำตกคลองลานเบื้องล่าง จากนั้นเดินลึกเข้าไปในป่า ก็จะเห็นธารน้ำ สวยใสที่ใหลไปตรงบริเวณหัวน้ำตก พี่สมหมาย ขันตรี หัวหน้าชุดพญาเสือ 51 เล่าว่า “มักจะมีผู้ลักลอบขึ้นมาเที่ยวตรงจุดนี้และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อปัจจัยคุกคามจากคนจุดหนึ่ง”


จุดต่อไปเป็นหมู่บ้านเก่า ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหมู่บ้านของชาวบ้านกะเหรี่ยง และเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมาก่อน ๆ ที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แล้วอพยพชาวบ้านลงไปอยู่ด้านล่าง ผ่านไปสามสิบกว่าปี พื้นที่หมู่บ้านเก่าตรงจุดนี้กลับมาเขียวครึ้มอีกครั้งจนไม่เหลือร่องรอยของหมู่บ้านในอดีตให้เห็น บริเวณไม่ไกลกันก็เป็นน้ำตกลานเท เป็นที่พักผ่อนประจำหมู่บ้านในอดีต ปัจจุบัน น้ำตกลานเทไม่ได้เปิดให้บริการ ด้วยเพราะว่าอยู่ในป่าลึก และเป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ ระหว่างทางเดินป่าเราพบรอยเท้าสัตว์กีบแบบสดๆให้เห็นเป็นระยะ ว่าเพิ่งผ่านทางนี้ไปไม่นาน ทุกครั้งที่พบรอยเท้าสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่จะทำการวัดขนาดและถ่ายรูปพร้อมทั้งบันทึกข้อมูล GPS ที่เจอว่าพบตรงจุดไหน เส้นทางลาดตระเวนนี้อยู่ในแผนการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า ซึ่งจะต้องออกตรวจทุกเดือน บางครั้งมีเส้นทางอื่นด้วยแต่สุดท้ายก็จะมาลงที่เส้นทางนี้

หน้าที่หลักๆของชุดพญาเสือ 51 คือการลาดตระเวน จดบันทึกเก็บข้อมูลในเรื่องปัจจัยคุกคาม ที่เห็นได้ชัดคือมนุษย์ ที่ลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ ร่องรอยสัตว์ป่าจากรอยเท้าที่พบเจอระหว่างทาง ปัจจัยนิเวศ เช่นพวกต้นไม้พรรณไม้ โป่งดิน สมัยนี้มีเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นเลย ทำให้การจดบันทึกละเอียด และครอบคุมได้มากยิ่งขึ้น เราใช้เวลาหนึ่งวันในการเดินตามเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเส้นทางนี้ การจดบันทึกของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า พญาเสือ 51ทำให้รู้และเข้าใจเลยว่าทำไมต้องอนุรักษ์ ไม่เพียงแต่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด หากว่างเว้นจากภารกิจในป่า พญาเสือ 51 ยังคงมีหน้าที่สร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น

กิจกรรมเสือสัมพันธ์ พัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่อุทยานฯเพื่อผลักดันงานประชาสัมพันธ์

กิจกรรมเพื่อเยาวชน สร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเริ่มจากรุ่นเยาว์

กิจกรรมชุมชนพื้นถิ่นรอบเขตอนุรักษ์ ให้ข้อมูลการเรียนรู้อย่างเข้าใจให้กับชุมชนเพื่อให้อยู่ร่วมกับ พื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างไม่ทำลาย

กิจกรรมค่ายสิ่งแวดล้อม โดยการนำพาเยาวชนเข้าไปเห็นและเรียนรู้ถึงสิ่งแวดล้อมจริงๆด้วยตาของตัว เองเพื่อให้ เกิดภาพจำที่ดีมีสำนึกรักต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ต้องสรุปรายงานการสำรวจจากการบันทึก ในเส้นทาง ส่งให้แก่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลานต่อ ไป เพื่อเป็นข้อมูลในการทำแผนลาดตระเวนคราวหน้า

อุทยานแห่งชาติใกล้ๆ คลองลาน

อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคลองลาน กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร และกิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิง มีสัตว์ป่า นานาชนิด ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา โป่งแก๊สธรรมชาติ เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 466,875 ไร่ หรือ 747 ตารางกิโลเมตร น้ำตกที่สำคัญภายในอุทยาน เช่น น้ำตกเต่าดำ ซึ่งเป็นน้ำตก 3 ชั้น ความสูง 200 เมตร, น้ำตกคลองวังเจ้า ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้รอบด้าน, น้ำตกคลองสมอกล้วย ที่มีน้ำสีเหลือง และน้ำตกเขาเย็น ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาที่สูงสุดในอุทยาน เป็นต้น

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และกิ่งอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 558.750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร

มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญดังนี้ เขาโมกูจู ช่องเย็น แก่งผานางคอย น้ำตกแม่รีวา น้ำตกแม่กระสา น้ำตกแม่กี เป็นต้น

ข้อมูลอ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า

ขอขอบคุณ
คุณสุระชัย โภคะมณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน
คุณพงศธร ธีรศรีศุภร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน
คุณสมหมาย ขันตรี พนักงานพิทักษ์ป่า หัวหน้าชุดพญาเสือ 51


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รักษาผืนป่าตะวันตกด้วย ความเข้าใจเรื่องระบบนิเวศ

Recommend