ในขณะที่นักวิจัยกล่าวว่าการท่องเที่ยวส่งผลต่อวิถีประสาท (neural pathways) ของสมอง แต่การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างแท้จริง (จากการท่องเที่ยว) ยังคงเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบาย
ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) โดยปกติมักถูกนิยามว่าเป็น “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “การรู้สึกถึงสภาวะอารมณ์ของผู้อื่น” มันเป็นเครื่องมือทางสังคมที่สำคัญที่สามรถสร้างสะพานทางสังคมโดยการส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์จนก่อให้เกิดพฤติกรรมความเห็นอกเห็นใจได้ในที่สุด
ทว่า คนเราสามารถเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจได้หรือไม่ และการท่องเที่ยวสามารถมีส่วนช่วยการเรียนรู้นี้ได้หรือไม่
คำตอบนั้นซับซ้อน “การวิจัยแสดงให้เห็นว่าความเห็นอกเห็นใจไม่ได้มีมาตั้งแต่กำเนิด แต่สามารถสอนกันได้” นักจิตบำบัด F. Diane Barth ได้เขียนไว้ในวารสาร Psychology Today หลายงานวิจัยในอดีตบ่งชี้ว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นคุณลักษณะที่ไม่สามารถสอนกันได้ แต่งานวิจัยเมื่อปี 2017 ได้แนะว่า “ความสามารถทางประสาทวิทยา” ที่เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่สามารถสอนกันได้ภายใต้สถานการณ์อันเหมาะสม
ไม่ว่าการได้เห็นโลกจะสามารถเปิดใจนักท่องเที่ยว จนทำให้นักท่องเที่ยวมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นได้จริงหรือไม่ สิ่งนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในปี 2018 Harris Poll ได้ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (business travelers) ราว 1,300 คน ร้อยละ 87 กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจช่วยให้พวกเขามีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นมากขึ้น และในการศึกษาเมื่อปี 2010 Adam Galinsky ศาสตราจารย์แห่งคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พบว่าการท่องเที่ยวนั้น “เพิ่มความตระหนักรู้ของการเชื่อมโยงและการรวมกลุ่ม” กับวัฒนธรรมอื่นๆ
ในขณะที่ความเห็นอกเห็นใจที่นิยามขึ้นมาด้วยตัวเองและความตระหนักรู้ยังคงเป็นมาตรวัดที่ไม่น่าเชื่อถือ การท่องเที่ยวก็ยังคงเป็นเหตุของการได้สัมผัสความต่างทางวัฒนธรรมผ่านการเดินทาง ซึ่งอย่างน้อยก็ได้สร้างสถานการณ์ที่เอื้อต่อการตรวจสอบจิตสำนึกและอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว (Unconscious Bias) ของตัวเราเอง
“หากเราจะเปลี่ยนทิศทางสังคมให้เป็นสังคมที่มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น ก็ชัดเจนว่าการทำงานเพื่อเพิ่มความสามารถในเรื่องความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของคนในระดับปัจเจก ชุมชน ประเทศ และนานาชาติเข้มแข็งขึ้น” Helen Riess ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้เขียนงานวิจัยในปี 2017 กล่าว
เส้นทางที่ปูด้วยความตั้งใจที่ดี
เป็นเรื่องน่าสนใจที่การท่องเที่ยวในยุคใหม่เริ่มต้นขึ้นจากความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ในช่วงทศวรรษ 1850 โธมัส คุก ที่ภายหลังเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท Thomas Cook ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวระดับโลกของอังกฤษ ได้ใช้ระบบรถไฟสายใหม่เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวพักผ่อนในระยะสั้นสำหรับให้แรงงานชาวอังกฤษผู้ทำงานหนักได้มีโอกาสพักผ่อน Freya Higgins-Desbiolles อาจารย์อาวุโสแห่งภาควิชาการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย กล่าว
หนึ่งร้อยปีต่อมา องค์การสหประชาชาติได้ประกาศชั่วโมงการทำงานที่สมเหตุสมผล การพักร้อนที่ได้รับค่าจ้าง และ “การพักผ่อนในฐานะหนึ่งในสิทธิมนุษยชน” โดยในช่วงปี 1960 ได้มีการเรียกร้องให้เพิ่มวันหยุด และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพักผ่อนได้รวมตัวกันเพื่อรวมตัวเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับอาชีพ
นับตั้งแต่นั้น องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization – WTO) และกลุ่มองค์กรการช่วยเหลือต่างๆ ของสหประชาชาติได้ยกย่องให้การท่องเที่ยวเป็นทั้ง “พลังที่สำคัญสำหรับความสงบสุขของโลกที่สามารถก่อให้เกิดทั้งคุณธรรมและภูมิปัญญาเพื่อความเข้าใจและพึ่งพากันและกันในระดับนานาชาติ” เช่นเดียวกับกลยุทธ์การพัฒนาทางเศรษฐกิจสำหรับชาติที่ยากจน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ได้ด้วยเป้าหมายที่สูงส่งเช่นนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การท่องเที่ยวถูกกล่าวหาว่าได้ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ดังที่ สตีเฟน เวียริง ศาสตราจารย์ด้านการจัดการการท่องเที่ยว ได้เขียนไว้เมื่อ 20 ปีก่อนว่า “การท่องเที่ยวกลับทำให้ความไม่เท่าเทียมคงทนถาวรมากขึ้น” เนื่องจากองค์กรข้ามชาติจากกลุ่มประเทศทุนนิยมที่ร่ำรวยได้ควบคุมเศรษฐกิจและทรัพยากรเหนือประเทศที่กำลังพัฒนา
ในทุกวันนี้ ความไม่เท่าเทียมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการท่องเที่ยว Nathan Thornburgh อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนิตยสารไทม์ และ ผู้ก่อตั้งร่วมของ Road & Kingdom สื่อออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวระดับโลก กล่าวและเสริมว่า “การเป็นผู้โดยสารสมาชิกสายการบิน สายคาดที่แบ่งแยกประเภทผู้โดยสารขึ้นเครื่อง วิธีที่คุณเรียกรถจากแอปพลิเคชั่นต่างๆ หรือการเรียกแท็กซี่จากสนามบิน ไม่ใช่รถโดยสารประจำทางหรือรถรับจ้างท้องถิ่น” สิ่งเหล่านี้กับทำให้การแบ่งแยกรุนแรงขึ้น ไม่ใช่กับความเห็นอกเห็นใจ “มันก็แค่การไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเท่านั้นแหละครับ”
ข้อเสียของความเห็นอกเห็นใจ
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย โจเซฟ เอ็ม. เชียร์ ศาสตราจารย์แห่งศูนย์การวิจัยการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวและเสริมว่า โดยธรรมชาติ ความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องของการมอง “คนอื่น”
ในปี 2019 ได้มีการศึกษาการท่องเที่ยวแบบปั่นจักรยานของชาวตะวันตกในกัมพูชา เชียร์พบว่า แม้ในทัวร์จะมีกิจกรรมที่เอื้อต่อการทำความเข้าใจสังคมอย่างการเยี่ยมชมองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของท้องถิ่น การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนกัมพูชาท้องถิ่น การสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวเหล่านั้นหลังจากกิจกรรมการท่องเที่ยวจบลงเผยให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้เข้าใจบริบททางวัฒนธรรมของสถานที่ นักท่องเที่ยวต่างแสดงความรู้สึกเช่น “มีความสุข” “น่ารัก” และ “ใจดี” เมื่อต้องอธิบายถึงคนกัมพูชาท้องถิ่นหรือผู้ให้บริการทัวร์
เชียร์กล่าวเสริมอีกว่า อคติ “ต่อผู้อื่น” สามารถรับรู้ได้มากขึ้นจากระยะห่างระหว่างนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพบปะที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนบางอย่างชัดเจน เช่นในโรงแรม
การท่องเที่ยวแบบปัจเจกบุคคลมักให้ประสบการณ์ขัดแย้งกับความตั้งใจสูงสุดของเรา Bani Amor นักเขียนด้านการท่องเที่ยวซึ่งมักเขียนการท่องเที่ยวเกี่ยวกับเชื้อชาติ สถานที่ และอำนาจสังคม กล่าว
“ความตั้งใจในทางบวกมักขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยสิ้นเชิง รวมไปถึงความขัดแย้งกับในวิธีการกดขี่กลุ่มคน BIPOC (Black, indigenous, people of colors – คนดำ คนพื้นเมือง และคนผิวสี) ทั่วโลก รวมไปถึงวิธีการปฏิบัติต่อแรงงานภาคการท่องเที่ยว และการที่ (คนท้องถิ่น) ถูกขับไล่ หรือไม่มีสิทธิที่จะมีความสุขในพื้นที่ของตัวเอง” Amor ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเอกวาดอร์ กล่าว
“คุณจะรับรู้ได้แค่เพียงประสบการณ์ของตัวคุณเองเท่านั้น” Anu Taranath ศาสตราจารย์ด้านความเท่าเทียมทางเชื้อชาติแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน-ซีแอตเทิล กล่าว และผู้อพยพรุ่นที่สองในสหรัฐอเมริกา กล่าว
เที่ยวให้ลึกขึ้น
ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่างสรุปว่าการท่องเที่ยวอาจจะไม่ได้กระตุ้นความเห็นอกเห็นใจจนเปลี่ยนนักท่องเที่ยวให้เป็นนักกิจกรรมด้านความเท่าเทียมในสังคม ทว่า การไม่ท่องเที่ยวเลยอาจส่งผลที่ย่ำแย่กว่าเดิม
เพราะการท่องเที่ยวทำให้เกิดการพบกันระหว่างคนแปลกหน้า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นภาพจินตนาการของการเกิดความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความใกล้ชิดที่เกิดจากการท่องเที่ยว Hazel Tucker กล่าวไว้ในการศึกษาเมื่อปี 2016 และเสริมว่า นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้เด็กๆ ได้มีประสบการณ์การท่องเที่ยวในช่วงเริ่มต้นของชีวิต
“แน่นอนประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตัวเราได้จะต้องเป็นอะไรที่มากกว่าการปรากฏตัวพร้อมกับกระเป๋าเดินทาง มันต้องอาศัยทั้งพลังงาน ความพยายาม และความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของนักท่องเที่ยว และขึ้นกับเงื่อนไขที่จำเพาะเจาะจงในสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่” Higgins-Desbiolles กล่าวและเสริมว่า “ผู้ที่ไปเยือนต้องเตรียมพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวพร้อมที่จะมีส่วนร่วมผู้อื่นในระดับที่เท่าเทียมกัน”