ทัวร์เพื่อคน ” ภาวะ สมองเสื่อม ” รับอนาคต “ผู้สูงอายุ” เต็มเมือง

ทัวร์เพื่อคน ” ภาวะ สมองเสื่อม ” รับอนาคต “ผู้สูงอายุ” เต็มเมือง

การท่องเที่ยว “แนวใหม่” เพื่อคน “ภาวะ สมองเสื่อม ” – รับ “ร้อยล้านคน” ที่อาจมาใช้บริการ!

ภาวะ สมองเสื่อม – การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่เป็นมิตรกับอาการสูญเสียความทรงจำกำลังเพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มความแปลกใหม่ การออกกำลังกาย และการขัดเกลาทางสังคมของการเดินทางนี้สามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมากที่มีภาวะสมองเสื่อมกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก

สก็อตต์ คูเปอร์ (Scott Cooper) ชาวออสเตรเลียวัย 66 ปีกำลังประสบปัญหาสูญเสียความทรงจำไปอย่างรวดเร็วเกินไป กระนั้นเขายังคงเดินทางไปทั่วโลกเพื่อต่อสู้กับภาวะสมองเสื่อม คูเปอร์และจิลผู้เป็นภรรยาของเขาไปเยี่ยมลูกสาวที่แคนาดาปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับออกสำรวจออสเตรเลียเป็นประจำซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางไม่กี่แห่งที่เริ่มรองรับนักท่องเที่ยวที่มีอาการสมองเสื่อม ซึ่งส่งผลต่อการจดจำ การคิด และพฤติกรรม

คูเปอร์กล่าวว่าการท่องเที่ยวเช่นนี้ทำให้เขา “มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป” แม้ “การเดินทางอาจทำให้เครียดได้ในบางครั้ง แต่ก็สามารถกระตุ้นได้ด้วยการเพลิดเพลินไปกับประสบการณ์ใหม่ ๆ” เขากล่าวพร้อมเสริมว่า “มันต้องใช้พลังงานมาก จึงช่วยให้ฉันกระตือรือร้นทั้งร่างกายและจิตใจ”

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าภายในปี 2050 จะมีผู้คนประมาณ 153 ล้านคนทั่วโลกประสบปัญหาภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโรคทางระบบประสาทประเภทหนึ่ง มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ โดยทำให้สูญเสียความทรงจำ สับสน ซึมเศร้า ไม่แยแส และมีอารมณ์แปรรวน

แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยการเข้าสังคม การออกกำลังกาย สร้างความกระฉับกระเฉงทางจิตใจ และการได้รับวิตามินดีจากการสัมผัสกับแสงแดด

ในการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมในประเทศจีนมากกว่า 100 ร้อยคนชี้ให้เห็นว่า การออกท่องเที่ยวสามารถช่วยผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมได้ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นการรับรู้และประสาทสัมผัสจาก ภาพ กลิ่น รสชาติ และการพบปะทางสังคมใหม่ ๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุกล่าวว่าสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่เพิกเฉยต่อนักท่องเที่ยวที่มีภาวะสมองเสื่อม แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ โดยในออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาได้มีการเผยแพร่คำแนะนำเพื่อสร้างการเดินทางที่เป็นมิตรกับภาวะสมองเสื่อม

ในขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่เป็นโรคสมองเสื่อมก็สามารถเพลิดเพลินกับสถานที่ท่องเที่ยว และกิจกรรมที่ออกแบบมาสำหรับพวกเขาตั้งแต่ร้านกาแฟไปจนถึงเส้นทางประสาทสัมผัส และกิจกรรมด้านศิลปะ

การเดินทางช่วยผู้เป็นโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร?

“ประสบการณ์การท่องเที่ยวทุกประเภทมีองค์ประกอบของความมคาดหวังและการวางแผน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง” จุน เหวิน (Jun Wen) อาจารย์ด้านการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยเอดิทโควาน และหนึ่งในนักวิจัยของการศึกษาล่าสุดกล่าว “การออกกำลังกายมักเป็นองค์ประกอบสำคัญของประสบการณ์การท่องเที่ยว และมักรวมอยู่ในแผนการแทรกแซงภาวะสมองเสื่อม”
.
การเดินทางยังช่วยให้ผู้ที่มีภาวะเหล่านี้เพิ่มความมั่นใจ กระตุ้นความทรงจำ และสร้างความรู้สึกอิสระ ศาสตราจารย์ วาร์เรน ฮาร์ดิง (Warren Harding) ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยแมคคัวรี ในออสเตรเลีย กล่าวว่า “การท่องเที่ยวเสนอแนวทางเสริมที่เป็นแนวโน้มที่ดีต่อการแทรกแซงที่ไม่ใช่เภสัชวิทยา(การใช้ยา)” เขาบอก “มันไม่ใช่การรักษา แต่สามารถให้ประโยชน์ทางอารมณ์และสังคมอย่างมีนัยสำคัญ”
.
ศาสตราจารย์ฮาร์ดิงได้เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเอง โดยได้เดินทางร่วมไปกับแม่ผู้ล่วงลับของเขาหลายครั้งในขณะที่เธอเป็นโรคสมองเสื่อม ด้วยการวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบ เขาจึงสามารถลดความเครียดและความวิตกกังวลของคุณแม่ได้ เขากำหนดเวลาออกไปเที่ยวในช่วงเวลาที่แม่ตื่นตัวที่สุดในวันนั้น รักษาเวลามื้ออาหาร การนอนหลับ และการใช้ยาให้สอดคล้องกับกิจวัตรตอนอยู่ที่บ้าน
.
และต้องแน่ใจว่าคุณแม่ได้นำบัตรประจำตัวรวมถึงรายละเอียดที่พักของพวกเขาไปด้วยในกรณีที่พวกเขาแยกจากกัน “หลักจากนั้นเราก็สามารภแบ่งปันภาพถ่ายและเรื่องราว (การเดินทาง) ที่สนับสนุนความทรงจำได้” ศาสตราจารย์ฮาร์ดิงบอก

ประสบการณ์การเดินทางที่เป็นมิตรกับภาวะสมองเสื่อม

ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย สถานที่มากกว่า 20 แห่งจัดกิจกรรม “คาเฟ่แห่งความทรงจำ” ซึ่งผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะสังสรรค์กันพร้อมดื่มชายามเช้า ขณะเดียวกันในซิดนีย์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยออสเตรเลียก็ได้เปิดชั้นเรียนในระหว่างที่นักศึกษาหารือเกี่ยวกับความหมายของงานศิลปะ ซึ่งจะได้รับสื่อสำหรับการสร้างสรรค์ผลงานของตนเองที่บ้าน (กระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ใช้ความคิดอย่างอิสระ)
.
การเดินทางส่งเสริมประสาทสัมผัสที่เป็นมิตรกับภาวะสมองเสื่อมแห่งแรกของออสเตรเลียเปิดในปี 2021 ณ อุทยานในภูมิภาควูวูคารัง ใกล้เมืองเมลเบิร์น ซึ่งเป็นเส้นทางยาว 0.6 ไมล์ (เกือบ 1 กิโลเมตร) ทอดยาวผ่านป่าเขียวขจีที่เป็นที่อยู่อาศัยของจิงโจ้และวอลลาบี ออกแบบโดยรัฐบาลแห่งวิกตอเรียโดยได้รับการสนับสนุนข้อมูลจากผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม และผู้ดูแล
.
สำหรับผู้พิการและสุนัขช่วยเหลือมีจุดพักอยู่ 9 จุด รวมถึงสถานที่พบปะสังสรรค์หลายแห่ง โดยผู้มาเยือนสามารถรวมตัวกันเพื่อฟังเพลงและแบ่งปันเรื่องราวความประทับใจเกี่ยวกับภูมิทัศน์ได้ เส้นทางเหล่านี้สามารถ “กระตุ้นให้เกิดความทรงจำ ความรู้สึก และอารมณ์เชิงบวก” มารีย์ แมคคาบี (Maree McCabe) ซีอีโอขององค์กรภาวะสมองเสื่อม ออสเตรเลีย (Dementia Australia) กล่าว
.
“โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้เป็นโรคภาวะสมองเสื่อม รวมถึงเป็นตัวอย่างว่าชุมชนอื่น ๆ ก็สามารถสร้างเส้นทางที่คล้ายกันได้อย่างไร” แมคคาบี เสริม
.
ในสหราชอาณาจักร คู่มือการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อโรคสมองเสื่อมนั้นมีความยาวกว่า 30 หน้า ตีพิมพ์โดยหน่วยงานของรัฐบาล ‘Visit England’ และ ‘Visit Scotland’ ซึ่งอธิบายว่าธุรกิจการท่องเที่ยวสามารถปรับปรุงบริการเพื่อลูกค้าที่มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไร เช่น การเปลี่ยนห้องน้ำให้เป็นที่เข้าถึงได้สะดวก ป้ายที่ชัดเจน ส่วนลดสำหรับผู้ดูแล และรายชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่เหมาะสม
.
ทางองค์กรภาวะสมองเสื่อม ออสเตรเลีย (Dementia Australia), สมาคมอัลไซเมอร์แคนาดา (Alzheimer Society of Canada) และสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) ในสหรัฐอเมริกา ต่างก็จัดทำคู่มือที่คล้ายกันขึ้นมา และในประเทศเหล่านี้ต่างก็มีสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่นิวยอร์กนั้น มีนักการศึกษาคอยแนะนำผู้มาเยือนที่เป็นโรคสมองเสื่อมผ่านบทเรียนการเรียนรู้ศิลปะ
.
หรือจะเป็นพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี และศูนย์ธรรมชาติมากกว่าสิบแห่งทั่ววิสคอนซิน มินนิโซตา มิชิแกน เทนเนสซี และโคโลราโดก็ได้เข้าร่วมกับโครงการ ‘Spark!’ ซึ่งเป็นโปรแกรมวัฒนธรรมที่มีการจัดเวิร์กช็อบสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม
.
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอังกฤษ ลิเวอร์พลู เองก็มีบริการที่หลากหลายสำหรับผู้มาเยือนด้วยเช่นกันรวมถึงทัวร์ “การเดินแห่งความทรงจำ” พร้อมไกด์ผ่านสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมือง กิจกรรมรำลึกความหลับแบบกลุ่ม และกิจกรรมสำหรับเด็กกับปู่ย่าตายาย
.
ในอีกหลายปีต่อจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุหวังว่าคนเช่น สก็อตต์และจิล หรือคูเปอร์จะได้พักผ่อนในวันหยุดได้ง่ายขึ้น และสร้างความทรงจำจากการเดินทางไม่ว่าพวกเขาจะอยู่นานแค่ไหนก็ตาม

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/travel/article/dementia-tourism-on-rise-why-its-important


อ่านเพิ่มเติม โมเลกุลมณีแดง สารต้านความชราระดับเซลล์ที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย

โมเลกุลมณีแดง
โมเลกุลมณีแดง

Recommend