หากอยากแบกเป้ขึ้นเขาเข้าป่าแต่ไม่แน่ใจในความฟิตของร่างกาย กับการที่ต้องไปเจอกับทางขึ้นเขาที่ทั้งยาวทั้งชัน
อย่าเพิ่งถอดใจไปครับ ลองกระตุ้นความต้องการเดินทาง ด้วยการจินตนาการถึงตัวเองที่กำลังอยู่บนยอดเขาสูงกับวิวกว้างสุดลูกหูลูกตา อาจพอช่วยฉุดความอยากลากสังขารให้ออกไปใช้ชีวิตกลางแจ้งมากขึ้น
ไม่ต้องกังวลกับความเหนื่อยล้า เพราะเราจะค่อย ๆ เดินไป โดยปฏิเสธความรีบเร่งทั้งปวง เราจะพักกันเท่าที่เราอยากพัก อย่างน้อยที่สุดการเคลื่อนที่ไปอย่างช้า ๆ มันก็ทำให้เราเห็นนั่นเห็นนี่ข้างทางได้มากกว่าคนอื่น…
ต้นทาง
จุดที่เรานั่งพักจุดแรกเป็นบริเวณน้ำตกเล็ก ๆ เรียกว่า“ห้วยทองหลาง” ที่นี่คือทำเลที่เหมาะสำหรับมื้อกลางวัน ช่วงเวลานี้อาหารร้านดังที่มีดาวการันตีจากสำนักไหนก็ไม่เด็ดเท่าข้าวเหนียวหมูย่าง นี่คือที่สุด!!! ความสดชื่นจากการได้ล้างหน้าล้างตัวด้วยน้ำเย็น ๆ ในลำธารเหมือนเป็นการชาร์จแบตได้สักหน่อย หากมีภาชนะเหลือแนะนำให้เติมน้ำตรงนี้ไปใช้ต้มประกอบอาหารเพราะนี่คือจุดสุดท้ายที่เราจะเจอลำธาร พี่เจ้าหน้าที่บอกพวกเราว่าลำธารสายนี้คือส่วนหนึ่งของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแม่กลองเชียวนะ นี่แหละครับเรื่องน่าทึ่งตั้งแต่ยังไม่ถึงยอดดอย
ระหว่างทาง
จะว่าไปในความช้าและพักบ่อยก็มีประโยชน์ มันทำให้ได้เห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทางมากขึ้น ได้เห็นดอกไม้ป่าเล็ก ๆ จากการก้มหน้าหอบหายใจ ได้เห็นยอดไม้กับก้อนเมฆตอนแหงนหน้าดื่มน้ำ
ช่วงเวลานี้ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่เรียกว่าสมาร์ตโฟน ที่ทำให้เราถ่ายภาพได้ทันทีแบบไม่ยั้ง ไม่ต้องมาคิดมากว่าภาพจะดีหรือไม่ แตกต่างจากสมัยใช้กล้องฟิล์มลิบลับ จะกดชัตเตอร์แต่ละทีก็เกรงใจกลัวฟิล์มจะหมด ภาพที่เห็นตรงหน้าตอนนี้ทุกอย่างดูน่าสนใจไปซะหมด
ในแต่ละจุดพักเราใช้เวลากับมันประมาณหนึ่ง จากความช้ากลายเป็นความรื่นรมย์ทำให้ข้างทางน่าสนใจขึ้นกว่าเดิม ไอ้นั่นก็ดีไอ้นี่ก็สวย “ถึงที่หมายช้าก็เพราะแวะถ่ายรูประหว่างทาง” นี่คือข้ออ้างแบบมีฟอร์มแทนที่จะบอกความจริงว่าเหนื่อยพักบ่อยไม่ค่อยฟิต
“ถึงจะช้าแต่ก็ชิลล์นะครับ” ผมว่า
สิ่งที่อยู่ตรงหน้าผมตอนนี้ไม่ใช่แค่ใบไม้ แต่มันคือความงามตามธรรมชาติแบบมีหลักการ ใบเล็กๆ ที่ลดหลั่นกันไปเรื่อย ๆ จากทฤษฎีสัดส่วนทองคำที่ครูเคยสอนตอนเรียนมันคือส่วนผสมของคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปะ แต่อย่าไปสนใจเลยครับกับความเรื่องมากเวิ่นเว้อที่ว่ามา การมีความสุขกับสิ่งรอบตัวแบบง่าย ๆ ไม่ต้องคิดมากต่างหากนี่แหละคือสิ่งที่ผมได้รับ
เส้นทาง
ทางลาดเอียงดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของการเดินป่าที่นี่ แต่ในความลำบากครั้งนี้ก็ตอบแทนพวกเราด้วยทัศนียภาพน่าประทับใจข้างทาง เราได้เห็นป่าทึบ ลำธาร น้ำตก ทุ่งหญ้า หน้าผา ป่าโปร่ง ระหว่างทาง นอกจากเสียงสนทนาที่มีเป็นระยะและเสียงหอบหายใจของตัวเอง ในบางจังหวะที่เราเงียบ เราจะได้ยิน “เสียงป่าแท้ ๆ” เสียงที่ไม่สามารถจะหาฟังได้ในเมือง และนี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของโสตประสาท เป็นโอกาสที่จะได้ผ่อนคลายจากเสียงเมือง นับว่าเป็นของขวัญชั้นดีให้กับแก้วหูชั้นใน
เพื่อนร่วมทาง
ไม่ว่าเราจะเดินช้าขนาดไหนยังไงก็ไม่เป็นคนสุดท้ายของขบวน ทุกครั้งที่หันหลังกลับไปเราจะอุ่นใจได้เสมอ เจ้าหน้าที่ของอุทยานจะเป็นคนเดินปิดท้ายพวกเราตลอดการเดินทาง เราพักเขาพัก เราหยุดเขาหยุด
หากคุณกำลังถอดใจกับน้ำหนักเป้ด้านหลัง และรู้สึกร้อนผ่าวอบอ้าวกับเสื้อผ้าที่กำลังใส่ เริ่มรู้สึกไม่สบายกับรองเท้าที่คุณสวม ถ้าได้ลองพิจารณาสัมภาระและชุดของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ตรงหน้า ความลำบากของเราในครั้งนี้ มันกระจอกไปเลย
ถ้าคุณเป็นคนเพื่อนน้อยผมมั่นใจว่าคุณจะได้เพื่อนเพิ่มจากทริปนี้แน่นอน ด้วยอัธยาศัยที่ดีของเจ้าหน้าที่ทุกคน มันทำให้การเดินทางครั้งนี้สนุกขึ้นเป็นกอง ผมแอบตั้งชื่อและนามสกุลเล่น ๆ ให้กับเจ้าหน้าที่เหมือนกันหมดทุกคนว่า “คุณไมตรี แกร่งชำนาญ” อันนี้ผมไม้ได้บอกใครได้แต่เขียนไว้ในสมุด หากพี่เจ้าหน้าที่ได้มาอ่านบทความนี้ผมก็ขอยกนิ้วให้ทุกคนครับ
ทำเลสวย วิวดี ไม่มี Wifi และไร้สัญญาณโทรศัพท์ใด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในวันพักผ่อน
บริเวณนี้เราสามารถเลือกจุดกางเต็นท์ได้ตามสบาย นอกเหนือจากวิวแล้วเราก็ควรคำนึงความเรียบของพื้นที่และหาที่ลาดเอียงน้อยที่สุดเพื่อการพักผ่อนอย่างสบาย เพราะเราต้องเติมแรงไว้ขาลงอีกครับ
ทางเลือก
การได้แลกเปลี่ยนความคิดพูดคุยรอบกองไฟพร้อมเครื่องดื่มดี ๆ ก่อนแยกย้ายกันไปฝันหวานเหมือนเป็นธรรมเนียมของการแคมปิ้งที่ส่วนใหญ่ต้องมี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เราเรียนรู้การเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดีจากวงสนทนานี้ ท่ามกลางแสงดาวกับอากาศที่เย็นกำลังดีมันทำให้เราได้คุยกันพักใหญ่อย่างออกรส ไร้ตำแหน่ง ไร้เพศสภาพ ไร้วัย ดูเหมือนว่าทุกคนอยู่ในสถานภาพใกล้เคียงกันหมด พูดกันได้ตั้งแต่เรื่องโปกฮายันวิถีชีวิต หลายคนในวงสนทนาชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ “บางทีสิ่งที่ถนัดอาจไม่ใช่สิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ชอบอาจยังไม่เจอนั่นคือเหตุผลที่เราต้องลอง” นั่นแหละครับชีวิตเลยต้องเดินทาง
และนี่คือบทสรุปของการสนทนา คืนนี้ถึงจะหนาวแต่ก็อบอุ่นไปด้วยมิตรภาพครับ
ปลายทาง
“ระยิบระยับ” เป็นคำที่เหมาะสมที่สุดของคืนนี้ โชคดีเป็นของเราท้องฟ้าคืนนี้มีแสงจันทร์พียงบาง ๆ แสงดาวดูสบายตากว่าแสงจากจอโทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงานเป็นกอง สวยและสงบเงียบ การปล่อยความคิดโลดแล่นจินตนาการถึงดวงดาวมากมายที่อยู่ตรงหน้ามันทำให้ลืมความเหนื่อยล้าไปเลย
บทสรุปของการเดินทาง
สุดท้ายแล้วผมก็ได้รู้ว่าความยากที่สุดของการขึ้นเขาครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ความลำบาก
จากความชันของเส้นทางเดิน แต่ความยากของมันอยู่ที่การละทิ้งความกังวลและพาตัวเองออกเดินทางต่างหากน่าจะเป็นเรื่องยากที่สุด
เรื่อง : บดินทร์ บำบัดนรภัย
ภาพถ่าย : ศุภกร ศรีสกุล บดินทร์ บำบัดนรภัย และโตมร แสงขาว
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ (ถ้ำธารลอด)
หมู่ 4 ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี 71220
โทร. 095-619-8981
E-mail : chaloemrat_np@hotmail.com
FACEBOOK : อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
จัดทำโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกาญจนบุรี
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เดินขึ้น เขากำแพง ในวันที่แรงยังมี ที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์