7 หลักการสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

7 หลักการสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

หากคุณเป็นหนึ่งในผู้ที่ชอบท่องเที่ยวกลางแจ้ง หรือ Outdoor เช่น แคมปิ้ง เดินป่า ปีนเขา และดำน้ำ คุณคงเคยได้ยินแนวโน้มเรื่อง ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ มาบ้าง โดยเฉพาะในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา

ในต่างประเทศ การท่องเที่ยวกล้างแจ้งที่เน้นเรื่องความรับผิดชอบมักใช้วลีว่า “Leave No Trace” หรือการท่องเที่ยวที่ไม่ทิ้งร่องรอยนอกจากรอยเท้า และถูกกำหนดให้เป็นจริยธรรมการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต้องถือปฏิบัติตาม แม้ว่าแนวคิดเรื่อง “Leave No Trace” จะถูกริเริ่มในพื้นที่ทุรกันดาร แต่ภายหลังก็ได้รับการประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่สวนสาธารณะในเมืองไปจนถึงอุทยานแห่งชาติ ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ

สำหรับในประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในปี 2562 ก่อนการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเดินทางเข้าอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ จำนวน 20,819,396 คน สร้างรายได้กว่าสองพันล้านบาท แต่สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบต่อส่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบอุทยานฯ และจำนวนนักท่องเที่ยวในบางแห่งเกินขีดความสามารถการรองรับของพื้นที่

ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
ภาพความแออัดของนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม / ภาพถ่าย Nick Randle

หลังจากนั้น สื่อต่างๆ ก็ได้นำเสนอความเสื่อมโทรมของพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติกันมากขึ้น จนประชาชนเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเริ่มหันมาสนใจการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกันมากขึ้น

หลักการทั้งเจ็ดข้อเกี่ยวกับ Leave No Trace เป็นหลักการที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า หลักการดังกล่าวเป็นปัจจุบัน และมีความเหมาะสมกับภูมิสังคมของพื้นที่ที่แตกต่างกัน

เหล่านี้คือหลักการ 7 ประการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการท่องเที่ยวในสถานที่กลางแจ้ง “อย่างรับผิดชอบ

ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ
ภาพถ่าย Glenn Carstens

1. วางแผนและเตรียมตัวล่วงหน้า

เมื่อคุณจะออกเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ทางธรรมชาติ หากไม่มีข้อมูลหรือการเตรียมตัวไม่ดี อาจทำให้คุณประสบกับปัญหาบางอย่าง เช่น พื้นที่กางเต็นท์บางแห่งจำเป็นต้องจองก่อน หรือเส้นทางเดินป่าอยู่ในช่วงปิดเส้นทางประจำปี เป็นต้น และอาจทำให้คุณต้องหาสถานที่แห่งใหม่ที่คุณไม่ได้อยากไปมากนัก การเตรียมตัวล่วงหน้าประกอบด้วย การหาข้อมูลเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางที่คุณกำลังจะไป และเตรียมอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ให้เหมาะสม ข้อมูลที่ควรทราบล่วงหน้า เช่น

  • กฎ ระเบียบ และข้อบังคับ ของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
  • สภาพที่อาจนำไปสู่เหตุกาณณ์อันตรายระหว่างการท่องเที่ยว เช่น น้ำป่าในช่วงฤดูฝน ลมมรสุมในทะเล และสัตว์ป่า เป็นต้น
  • วางแผนเรื่องเวลาการเดินทาง เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดในสถานที่ท่องเที่ยว
  • เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้บรรจุภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะให้น้อยที่สุด
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ท่องเที่ยวอย่าางรับผิดชอบ, การท่ิงเที่ยวแห่งประเทศไทย, การเดินทาง, แคมปิ้ง
ภาพถ่าย Laura Pluth

2. เดินทางและตั้งแคมป์บนพื้นที่ที่จัดไว้

สำรวจพื้นที่รอบจุดกางเต็นท์ว่า พื้นผิวบริเวณนั้นมีความคงทนมากน้อยเพียงใด เช่น เป็นกรวดหิน ดิน หญ้าแห้ง หรือพื้นหินแข็ง ตั้งแคมป์ห่างจากพื้นที่ริมฝั่ง ริมทะเลสาบ หรือริมตลิ่ง ประมาณ 6-7 เมตร ที่สำคัญนักท่องเที่ยวควรกางเตนท์ในจุดที่จัดไว้ให้เท่านั้น ไม่ควรพยายามลักลอบไปกางเต็นท์ในจุดอื่นๆ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมบนพื้นที่ที่มีพืชพรรณขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ และหากคุณเลือกกิจกรรมเดินป่า ควรเดินบนเส้นทางที่จัดไว้ แม้ว่าจะเป็นฤดูกาลที่เส้นทางเปียกแฉะ และเต็มไปด้วยโคลน

ภาพถ่าย Ethan Kuzina

3. กำจัดขยะอย่างเหมาะสม

ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศไทย เนื่องจากขยะในสถานที่ท่องเที่ยวส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ และผลกระทบต่อระบบนิเวศ ดังนั้น สำนึกในเรื่องการจัดการขยะจึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องใส่ใจ หลักการง่ายๆ ในเรื่องการกำจัดขยะอย่างเหมาะสมคือ “คุณนำอะไรเข้าไป คุณก็ต้องนำกลับออกมาด้วย” ทั้งกระดาษชำระ บรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และภาชนะบรรจุเครื่องดื่มทั้งหมด

นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องทิ้งเศษอาหารต้องขุดหลุมลึกประมาณ 6 – 8 นิ้ว ห่างจากแหล่งน้ำประมาณ 6 เมตร เพื่อป้องกันสัตว์มาขุดคุ้ย และไม่เทน้ำเสียจากการล้างภาชนะลงแหล่งน้ำ รวมไปถึงไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ชำระร่างกายในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ควรนำภาชนะบรรจุน้ำขึ้นมาชำระร่างกายห่างจากแหล่งน้ำอย่างน้อย 7 เมตร

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, การท่องเที่ยวอย่าางรับผิดชอบ, การท่ิงเที่ยวแห่งประเทศไทย, การเดินทาง, แคมปิ้ง
ภาพถ่าย Toa Heftiba

4. ก่อไฟให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

กิจกรรมก่อกองไฟขณะแคมปิ้งเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยตกยุค แต่ก็อาจเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำลายล้างได้มากที่สุดเช่นกัน ในปัจจุบัน อุปกรณ์แคมปิ้งต่างๆ ออกแบบมาให้ทันสมัยและพกพาสะดวกมากขึ้น สามารถใช้แทนการก่อไฟได้ เช่น เตาขนาดเล็กสำหรับทำอาหาร โดยที่นักท่องเที่ยวไม่ต้องก่อไฟบนพื้นดิน ข้อปฏิบัติที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือ ก่อไฟในจุดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หลังจากใช้ความร้อนจากการก่อไฟแล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า เราดับไฟและถ่านทุกครั้ง รวมไปถึงขี้เถ้าที่เกิดความร้อนจากการก่อไฟ ควรทำให้เย็นลงด้วยการผสมกับดิน

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, การท่องเที่ยวอย่าางรับผิดชอบ, การท่ิงเที่ยวแห่งประเทศไทย, การเดินทาง, แคมปิ้ง
ภาพถ่าย Florida Guidebook

5. ไม่เก็บสิ่งที่อยู่ตามธรรมชาติติดตัวออกไป

ในอุทยานฯ บางแห่งติดป้ายว่า “เราจะไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า เราจะไม่เก็บอะไรออกไปนอกจากภาพถ่าย” ประโยคนี้สะท้อนหลักการท่องเที่ยวอย่างอย่างรับผิดชอบได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยสัญชาติญาณความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์ ก็ทำให้เราเผลอหยิบโน่นจับนี่ไปโดยไม่รู้ตัว

เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แนะนำว่า หากเราสนใจวัตถุที่อยู่ในธรรมชาติ ทั้งพืชและสัตว์ตัวเล็กๆ เราสามารถใช้เวลาสังเกตสิ่งนั้นได้อย่างเต็มที่ในป่า ไม่จำเป็นต้องเก็บติดตัวกลับไปสังเกตที่บ้าน หรือถ้าอยากเก็บความสวยงามของช่วงเวลานั้นก็กดบันทึกภาพถ่ายไว้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการสลักเสลาชื่อของตัวเองลงบนเปลือกไม้และก้อนหิน

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ท่องเที่ยวอย่าางรับผิดชอบ, การท่ิงเที่ยวแห่งประเทศไทย, การเดินทาง, แคมปิ้ง
ภาพถ่าย Matt Lavasseur

6. เคารพพื้นที่ของสัตว์ป่า

หากพบสัตว์ป่าระหว่างท่องเที่ยวทั้งเดินป่า และดำน้ำ สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติคือการสัมผัสตัวสัตว์ และไม่ควรพยายามไล่ตาม หรือหลอกล่อให้สัตว์เข้าใกล้ด้วยอาหารของมนุษย์

ในอุทยานฯ บางแห่งได้จัดพื้นที่ส่องสัตว์ไว้ให้ และบางแห่งเตรียมกล้องส่องทางไกลไว้ วิธีเหล่านี้เป็นการเคารพวิถีชีวิตตามธรรมชาติสัว์ป่ามากกว่า เพราะพื้นที่ในป่าคือบ้านของพวกเขา ไม่ใช่ของมนุษย์ที่เพียงผ่านมาและกลับออกไป นอกจากนี้ การสัมผัสตัวสัตว์อาจทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชื้อก่อโรคระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน, ท่องเที่ยวอย่าางรับผิดชอบ, การท่ิงเที่ยวแห่งประเทศไทย, การเดินทาง, แคมปิ้ง
ภาพถ่าย Scott Goodwill

7. เคารพเพื่อนร่วมทาง

หลักการข้อนี้มีวิธีคิดที่ง่ายมากคือ “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่คุณอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติกับคุณ” ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของการใช้พื้นที่สาธารณะ

เคารพนักท่องเที่ยวท่านอื่นๆ ที่ใช้พื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ไม่กางเต็นต์ใกล้กับนักท่องเที่ยวท่านอื่นมากเกินไป เว้นระยะให้มีความเป็นส่วนตัว ไม่ประกอบอาหารที่มีกลิ่นแรง และไม่สร้างเสียงดังรบกวนผู้อื่นขณะแคมปิ้ง คงไม่มีใครอยากเข้าป่าเพื่อไปฟังเสียงเอ็ดตะโรของมนุษย์

การเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ทางธรรมชาติเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ แต่หลายครั้งการเดินทางก็อาจมีเรื่องไม่ประทับใจเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้น หากเราใส่ใจและตระหนักเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งธรรมชาติและนักท่องเที่ยวเองก็สามารถมีประสบการณ์ที่ดีระหว่างเดินทางได้ และสถานที่ทางธรรมชาติก็จะยังเป็นสถานที่ที่เรารู้สึกผ่อนคลายอย่างแท้จริง

เรื่อง ณภัทรดนัย

สนับสนุนโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ท่องเที่ยวเพื่อ “อาบป่า” – ธรรมชาติบำบัดเพื่อการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจในกาญจนบุรี

Recommend