สวนสวรรค์เหนือ แมนแฮตตัน

สวนสวรรค์เหนือ แมนแฮตตัน

ในมหานครอย่างนิวยอร์กเรื่องดีๆ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ และบ่อยๆ และโครงการที่เข้าท่าก็มักต้องยอมประนีประนอมหากความคิดนั้นเกิดขึ้นได้จริงๆ ไฮไลน์เป็นข้อยกเว้นที่หลายฝ่ายสมหวัง เพราะต้องยอมรับว่าในนิวยอร์กมีน้อยครั้งนักที่แนวคิดสุดบรรเจิดไม่เพียงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังออกมาดีกว่าที่ใครต่อใครคาดคิด เรื่องทำนองนี้ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองไหนยิ่งมหานครนิวยอร์กด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง เมื่อแนวคิดอันสลับซับซ้อนในการสร้างพื้นที่สาธารณะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การตัดสินใจทางการเมือง ไปจนถึงการก่อสร้างได้โดยแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ผู้ออกแบบโครงการนี้คือ เจมส์ คอร์เนอร์ ภูมิสถาปนิกจากบริษัทฟีลด์โอเปอเรชันส์ ร่วมกับบริษัทสถาปนิกดิลเลอร์สโกฟิดิโอแอนด์เรนโฟร

แมนแฮตตัน, สวนสาธารณะ, มหานคร, วิถึชีวิต
การจุมพิตอันดูดดื่มอาจเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ใครบางคนพลาดชมทัศนียภาพเหนือถนนเทนท์อเวนิว ซึ่งสถาปนิกออกแบบให้เป็นไฮไลต์หนึ่งของสวนสาธารณะลอยฟ้าไฮไลน์ การออกแบบของพวกเขาเปลี่ยนสะพานธรรมดาๆ ให้กลายเป็นอัฒจันทร์กลางเมืองอันโดดเด่น พร้อมด้วยม้านั่งไม้ยาวลดหลั่นกันลงไปยังช่องหน้าต่างที่อยู่เหนือเส้นทางจราจรพอดี

โครงการของพวกเขาเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างความประณีตกับความหยาบกระด้าง อันเป็นคุณสมบัติเชิงอุตสาหกรรมของไฮไลน์ งานออกแบบจึงมีทั้งม้านั่งไม้ขัดเงาที่ผุดขึ้นมาจากพื้นสวนสาธารณะ และยังคงเก็บรางรถไฟเก่าส่วนใหญ่ไว้โดยนำไปตกแต่งเป็นส่วนหนึ่งของทางเดินและภูมิทัศน์ คอร์เนอร์ซึ่งทำงานร่วมกับพีต โอดอล์ฟ ภูมิสถาปนิกชาวดัตช์ แนะนำให้ปลูกพืชหลากหลายโดยเน้นไปที่พืชจำพวกหญ้าลำต้นสูงกับต้นกก เพื่อสร้างบรรยากาศของทุ่งดอกไม้ป่าและวัชพืชที่ขึ้นปกคลุมในช่วงที่ไฮไลน์ถูกทิ้งร้างไปนานหลายสิบปี

ในช่วงแรกๆ ของระยะเวลา 25 ปีที่เส้นทางรถไฟสายไฮไลน์ไม่ได้ใช้งานและไม่ถูกแตะต้อง ปีเตอร์ โอเบลตซ์ ผู้หลงใหลทางรถไฟ ควักกระเป๋าซื้อโครงสร้างลอยฟ้านี้ในราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐจากบริษัทคอนเรล (Conrail) ด้วยความตั้งใจที่จะซ่อมแซมไว้ใช้งาน

ทว่ากรรมสิทธิ์ในการครอบครองของโอเบลตซ์ถูกชะลอออกไประหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายที่กินเวลาห้าปี ซึ่งเขาเป็นฝ่ายแพ้คดีในที่สุด โอเบลตซ์เสียชีวิตในปี 1996 แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือผู้จุดประกายในการอนุรักษ์ไฮไลน์เอาไว้ เช่นเดียวกับโจล สเติร์นเฟลด์ ผู้เป็นช่างภาพ ในช่วงหลายปีที่ไฮไลน์ถูกทิ้งร้าง เขาได้ถ่ายภาพอันน่าตื่นตาของไฮไลน์ดูราวกับริบบิ้นสีเขียวที่คดเคี้ยวผ่านเมืองอุตสาหกรรม

ผลงานของสเติร์นเฟลด์ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มของคนที่ต่อสู้เรียกร้องให้อนุรักษ์ทางรถไฟเพื่อสาธารณประโยชน์สเติร์นเฟลด์แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตเทอะทะนี้อาจดูคล้ายสวนสาธารณะขึ้นมาได้จริงๆ

แต่วีรบุรุษตัวจริงของเรื่องนี้คือ ชายสองคนที่พบกันเป็นครั้งแรกในการประชุมระดับชุมชนว่าด้วยอนาคตของทางรถไฟสายนี้เมื่อปี 1999 ได้แก่ โจชัว เดวิด นักเขียนอิสระ ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 36 ปี อาศัยอยู่บนถนนสายที่ 21ตะวันตกไม่ไกลจากเส้นทางช่วงตรงกลางของไฮไลน์นักกับโรเบิร์ต แฮมมอนด์ ศิลปินวัย 29 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านกรีนิชวิลเลจ ห่างจากสถานีปลายทางด้านใต้ไปไม่กี่ช่วงตึก

แมนแฮตตัน, สวนสาธารณะ, มหานคร, เมืองใหญ่
บางช่วงของไฮไลน์เหมะสำหรับเดินเล่น แต่ทางเดินเชลซีมาร์เก็ต (Chelsea Market Passage) ตรงถนนสายที่ 15 ให้ความรู้สึกเหมือนระเบียงมากกว่า เพราะเป็นจุดที่มองลงไปเห็นเมืองและแม่น้ำฮัดสัน นี่เป็นบรรยากาศยามเย็นอันเงียบสงบและสดใสวันหนึ่งขณะที่แสงเรืองรองของอาทิตย์อัสดงค่อยๆ ลาลับไปจากขอบฟ้า

“ผมเห็นบทความใน นิวยอร์กไทมส์ บอกว่า ไฮไลน์กำลังจะถูกรื้อถอน และผมก็สงสัยว่ามีใครกำลังพยายามรักษามันไว้หรือเปล่า” แฮมมอนด์บอกผม “ผมหลงรักโครงสร้างเหล็กกล้า หมุดยึดรางรถไฟ และซากปรักหักพังครับ ผมเดาเอาว่าคงมีกลุ่มประชาคมบางกลุ่มกำลังพยายามอนุรักษ์มันไว้ เพราะผมเห็นเรื่องนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมของคณะกรรมการชุมชน ผมเลยไปดูว่าเรื่องเป็นยังไงกันแน่ และจอชก็นั่งอยู่ข้างผม แต่กลายเป็นว่าในที่ประชุมนั้นมีแค่พวกเราที่อยากเก็บมันไว้ครับ”

“ทางการรถไฟส่งตัวแทนมาเสนอแผนในการนำทางรถไฟกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งทำให้คนที่พยายามรื้อถอนมันโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ” เดวิดอธิบาย ”นั่นเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาของผมกับโรเบิร์ตครับ เราไม่อยากเชื่อเลยว่าคนพวกนั้นจะเดือดดาลได้ถึงขนาดนี้”

เดวิดและแฮมมอนด์ขอให้เจ้าหน้าที่การรถไฟพาไปดูไฮไลน์ ”พอขึ้นไปบนนั้น เราก็ได้เห็นทุ่งดอกไม้ป่าทอดยาวกลางเกาะแมนแฮตตันเลยครับ” แฮมมอนด์เล่า

ทั้งคู่ต้องประหลาดใจกับความโล่งกว้างที่ได้เห็น และตัดสินใจปกป้องไฮไลน์ให้รอดพ้นจากการถูกรื้อถอน พอถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1999 พวกเขาก็ก่อตั้งกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์ (Friends of the High Line) ขึ้น โดยไม่ได้ตั้งเป้าหมายสูงส่งนักในระยะแรก ”เราแค่อยากงัดข้อกับจูลีอานีเพื่อไม่ให้ไฮไลน์ถูกทำลายเท่านั้นละครับ” แฮมมอนด์เท้าความ “แต่การอนุรักษ์เป็นเพียงก้าวแรก และเราเริ่มคิดว่าเราสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ขึ้นมาได้” การดำเนินงานของกลุ่มเฟรนด์สออฟเดอะไฮไลน์คืบหน้าไปอย่างเชื่องช้า

แมนแฮตตัน, สวนสาธารณะ, มหานคร, นิวยอร์ก
อาคารห้องชุดกรุผนังกระจก เดอะแคเลโดเนีย เป็นอาคารที่พักอาศัยเกิดใหม่หนึ่งในหลายแห่งที่เพิ่งผุดขึ้นตามเส้นทางไฮไลน์ไม่นาน

 

อ่านต่อหน้า 3 

Recommend