กรุงโซล กรณีศึกษาของ ‘เมืองรักคน’

กรุงโซล กรณีศึกษาของ ‘เมืองรักคน’

กรุงโซล กับเคล็ดลับการสร้างเมืองที่คนรัก ทั้งต่อผู้คนในพื้นที่ และผู้คนทั้งโลก

สื่อบันเทิงจากเกาหลีก้าวเข้ามาเป็นกระแสหลักของโลกภายในช่วงทศวรรษ ภาพบรรยากาศการใช้ชีวิตประจำวันอย่างสะดวกสบายในเมืองใหญ่ ความเป็นอยู่แสนสบายในสวนสาธารณะริมแม่น้ำฮัน หรืออาหารการกินแบบฉบับเกาหลีถูกส่งผ่านสู่สายตาชาวโลก จนซึมซับกลายมาเป็นหมุดหมายของการเดินทางของชาวไทย ว่าสักครั้งจะต้องเดินทางไปเยือนมหานครแห่งนี้ให้ได้

วันหนึ่งในช่วงเย็นย่ำหลังเลิกงาน แม้จะเป็นวันธรรมดาที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อน แต่เราเห็นภาพครอบครัวพร้อมหน้า คู่รักหลายวัย นั่งเล่นอยู่ท่ามกลางสนามหญ้าในสวนสาธารณะหรือลานกลางแจ้ง โดยมีฉากหลังเป็นแมกไม้สีเขียว นั่งชมการแสดงน้ำพุเต้นระบำ เด็กเล็กวิ่งไล่จับกับเพื่อนที่รู้ใจ ผู้ใหญ่สูงวัยจับกลุ่มนั่งคุยพลางหัวเราะ นี่คือกิจกรรมประจำวันที่เกิดขึ้นจริงใน ‘กรุงโซล’

กรุงโซล

กรุงโซล

ณ มหานครแห่งนี้ เราได้เห็นผลลัพธ์ที่ผู้คนใช้เวลาอย่างมีคุณภาพเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ในปี 2022 กรุงโซลผ่านนโยบายการจัดการเมืองมาหลายเฟส ตั้งแต่ผังเมืองโจซอนที่นับเป็นการวางผังมหานครสมัยใหม่ฉบับแรกในปี 1934 ก่อนที่สงครามจะนำมาสู่การปฏิรูปเมืองใหม่ การพัฒนาผังเมืองถูกประเมินทุกสิบปี เพื่อนำมาสร้างแผนใหม่ จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่มองวิสัยทัศน์ของอนาคตที่ ‘การสร้างเมืองแห่งความสุขของประชากรผ่านการสื่อสารและความคิดเห็น’

 

เมืองที่คนเดินถนนเป็นศูนย์กลาง

หลังจากผ่านความตรากตรำในช่วงสงคราม ส่งผ่านมาถึงการสร้างเมืองใหม่ระดับโลกด้วยงานโอลิมปิกและฟุตบอลโลก นโยบายถัดไปเพื่อส่งเสริมความเติบโตของกรุงโซลในรูปแบบใหม่คือการใช้ดีไซน์เข้ามาสร้างมูลค่า และเป็นประวัติศาสตร์บทใหม่ให้กับกรุงโซล

กรุงโซล

ในแผนพัฒนาเมืองฉบับล่าสุด 2030 Seoul Plan ที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาผังเมืองในอีก 20 ปีข้างหน้า มีข้อหนึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า จะต้องเป็นผังเมืองที่มีผู้คนและสถานที่เป็นศูนย์กลางในแต่ละย่านเพื่อนบ้าน (Neighborhood Plan) ด้วยการจัดสรรสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่ดี และกระจายแนวคิดเหล่านี้ไปตามชุมชนต่างๆ อย่างสมดุล เพื่ออำนวยความสะดวกให้เท่าเทียมกันในทุกเขต เพราะสมดุลที่ดี ก่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเข้าถึงสาธารณูปโภค ความสะดวกสบาย โดยเฉพาะกับการสัญจรที่ควรเข้าถึงทุกที่ได้ด้วยการคมนาคมสาธารณะและการเดินเท้า

แผนการลำดับถัดไปจึงเป็นการสร้างศูนย์หลักเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเมืองที่อยู่รายรอบให้ได้อย่างสมดุล ยกตัวอย่างพื้นที่ที่เคยใช้จัดงานใหญ่ระดับโลก อย่างสนามกีฬา Jamsil Sports Complex ที่ใช้จัดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในปี 1986 ถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับครอบครัวในวันว่าง ไปพร้อมกับการดึงเอาคาแร็กเตอร์ของการเป็นอาคารที่รวมเอาผู้คนมาไว้รวมกัน บวกกับบริบทของวัฒนธรรม ปรับเปลี่ยนให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์รวมของกีฬาและการจัดแสดงเคป็อปในเวลาเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ในวันหยุด เราจะพบกับครอบครัวที่พาลูกหลานมาขี่จักรยาน เล่นสเก็ต ชมการแสดงสำหรับเด็ก ไปพร้อมกับกลุ่มวัยรุ่นที่เข้ามาชมคอนเสิร์ตตามอาคารและลานต่างๆ ตามอัธยาศัยในพื้นที่แห่งนี้

กรุงโซล
Jamsil Sports Complex ในวันหยุดที่คราคร่ำไปด้วยครอบครัว
กรุงโซล
Seoul Forest Park สวนป่ากลางเมือง เพื่องานอดิเรกเอาต์ดอร์หลากหลายรูปแบบ

หนึ่งในแผนการปรับเมืองที่สร้างชื่อให้กับกรุงโซลอย่างยิ่ง คือแผนการพัฒนาริมแม่น้ำฮันให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน ในนิยามของกรุงโซล แม่น้ำแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการสร้างเมืองใหม่ที่ใส่ใจกับชีวิตของผู้คนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สามารถส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลานผ่านไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนใกล้ชิดธรรมชาติได้อย่างเท่าเทียม พร้อมกับเป็นการปรับระบบนิเวศเมือง ร่วมไปกับการสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนด้วยสิ่งแวดล้อม

 

เมืองแห่งอัตลักษณ์ที่คงไว้ และสร้างใหม่ด้วยดีไซน์

‘Everything is Design in Seoul Today – วันนี้ใน กรุงโซล ทุกอย่างคือการออกแบบ’ เป็นวลีที่เราเห็นภาพได้ชัดเจนผ่านสาธารณูปโภคที่เห็นรอบตัว จากแนวคิดที่ว่า “การใช้ดีไซน์เป็นกระบวนการในการสร้างทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา” โดยเริ่มต้นจากการออกแบบเมือง การออกแบบภาคบริการ และการออกแบบระบบตามลำดับ ซึ่งสิ่งที่นโยบายลงมือคิดและทำ ไม่ใช่เพียงการสร้างสรรค์ข้อกำหนดใหม่ๆ ขึ้นมา แต่เป็นการกลับไปค้นหารากดั้งเดิมของวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของผู้คน เพื่อทำความรู้จักกับประชาชน สังคม และชีวิต ก่อนนำไปสู่การสร้างนโยบายสร้างสรรค์ด้วยยุทธศาสตร์ Cultureconomics หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม เป็นลำดับต่อไป

กรุงโซล
เมียงดงที่ถูกแต่งแต้มสีสันโดยกลุ่มศิลปิน Sticky Monster Lab

ในแง่ของผังเมือง ส่วนกลางของกรุงโซลเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติมาอย่างยาวนาน แต่โจทย์อีกขั้นคือ  จะทำอย่างไรให้สามารถส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ไปยังรุ่นลูกหลานในอนาคต พร้อมกับใช้มรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเติมชีวิตชีวาให้กับประชากรในเมือง และฟื้นฟูเมืองโดยมองยาวไปถึงอนาคต

จากการประเมินของหน่วยงานภายในภาคดีไซน์ของกรุงโซลสรุปได้ว่า จุดแข็งของเมืองคือการยอมรับในการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เมืองพัฒนาขึ้น เราจึงได้เห็นการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ทำให้พระราชวังเก่าอยู่ร่วมกับอาคารสำนักงานสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน หรือกระทั่งอาคารล้ำสมัยท่ามกลางทงแดมุน ย่านช็อปปิ้งท้องถิ่น  อย่าง Dongdaemun Design Plaza ศูนย์กลางงานดีไซน์ที่ออกแบบโดย Zaha Hadid จนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของงานออกแบบในระดับโลก สร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งคนในท้องถิ่นเอง และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าใจบริบทของโซลกับงานดีไซน์ได้มากขึ้น

 

สถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่ยังคงรักษาไว้ในย่านเมืองเก่า
กรุงโซล
Dongdaemun Design Plaza งานออกแบบโดย Zaha Hadid สถาปนิกตำนานระดับโลก

ในส่วนการสร้างโฉมหน้าเมืองใหม่ โดยยึดเอาลำน้ำและถนนเป็นหลัก การสร้างภาคบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง เป็นต้นทางที่นำไปสู่ Soft:Seoul ในลำดับถัดมา ซึ่งสรุปรวมเป็นการพัฒนาเมืองโดยโฟกัสไปที่วัฒนธรรมและดีไซน์ที่ค่อยๆ สอดแทรกให้กลมกลืนเข้าไปกับชีวิตประจำวัน อย่างการสร้างสรรค์เมืองที่แวดล้อมไปด้วยงานออกแบบ ตั้งแต่ป้ายรถเมล์ ป้ายบอกทาง และสาธารณูปโภคที่ออกแบบโดยให้ผู้ใช้งานเดินถนนเป็นที่ตั้ง การสร้างดีไซน์เซ็นเตอร์ในแต่ละเมือง การสอดแทรกความคิดอย่างสร้างสรรค์เข้าไปเป็นบทเรียนสำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม รวมไปถึงที่เราๆ เห็นกันได้ชัดคือ การรวมให้อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมงานดีไซน์ ผ่านทางรายการที่นำเสนอคอนเทนต์ของรายการในเชิงสร้างสรรค์ทั้งทางตรงอย่างรายการแนะนำการแต่งบ้านสำหรับแม่บ้าน ไปจนถึงงานออกแบบฉากคอนเสิร์ตและซีรีส์

 

เมืองต้นแบบแห่งคุณภาพชีวิต

กรุงโซล

นอกจากการมองเมืองในแบบภาพรวมแล้ว แต่ละพื้นที่ยังมีบริบทด้านวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และเรื่องราวที่แตกต่างแยกย่อยกันออกไปอีก หัวใจสำคัญของเมืองที่รักคนคือ การคงรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาคของเมืองให้ยังคงสอดประสานไปกับเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อรักษาคุณค่าของความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ไปพร้อมกับการฟื้นฟูเมืองให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นในบริบทของตัวเอง

ภายใต้ร่มของการพัฒนาเมืองเพื่อผู้คน เครื่องมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม ด้วยคอนเซ็ปต์ของเมืองสมาร์ท ซึ่งเป็นความพยายามของภาครัฐที่จะใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเติมเต็มเมืองอุตสาหกรรมชั้นนำไปพร้อมกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี

เมื่อสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่มีความมั่นคง และสร้างเสถียรภาพด้านการใช้ชีวิตให้กับผู้คนได้แล้ว พิมพ์เขียวเหล่านี้กลายเป็นต้นแบบชั้นดีให้กับทั้งในเกาหลี และขยายผลไปสู่การสร้างสรรค์เมืองอื่นๆ ตามบริบทเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น ยกตัวอย่างเมือง Bucheon ในจังหวัด Gyeonggi เมืองแห่งหนังสือและนักคิดนักเขียน ที่กลายมาเป็นเมืองแห่งวรรณกรรมของ UNESCO พร้อมกับมีการเปิดรับศิลปินในพำนักในสายนักเขียนและกวี หรือ Gwangju เมืองในตอนใต้ของเกาหลีซึ่งเป็นเมืองหลักของอุตสาหกรรม LED นั่นทำให้งาน Gwangju Design Biennale ที่จัดขึ้นทุกสองปีมีไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การสร้างสรรค์ประติมากรรมและอินสตอลเลชั่นจากแสงไฟ พร้อมกับตอนนี้ที่ประกาศตัวเป็น AI-Centered City อย่างเป็นทางการ

จากความสำเร็จในเรื่องการสร้างสรรค์เมืองรักคนของกรุงโซล เป็นบทเรียน ความหวัง ต้นแบบ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก รวมทั้งกับเมืองไทยของเราด้วย การเติบโตไปสู่การเป็น ‘เมืองรักคน’ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม สู่เป้าหมายร่วมกันที่สาธารณูปโภคที่ดี แก้ไขปัญหาเมืองด้วยรูปลักษณ์และฟังก์ชั่นที่ดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคนในประเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน

 

เอกสารอ้างอิง

Seoul Urban Planning โดย Seoul Metropolitan Government

Seoul UNESCO City of Design โดย Seoul Metropolitan Government

 

เรื่องและภาพ ณัฐนิช ชัยดี


อ่านเพิ่มเติม K-POP บันเทิงเกาหลี ชนะโควิด-19 ได้อย่างไร

 

Recommend