บรรดาผู้ปกครองลึกลับแห่งอารยธรรมนูเบีย ในประเทศซูดานยุคปัจจุบัน ได้สร้าง พีระมิดซูดาน สุสานและวิหารที่เทียบเคียงได้กับอารยธรรมอียิปต์ไว้หลายร้อยแห่ง
ด้วยอำนาจที่ได้จากการทำเกษตรกรรม หลายอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ในยุคโบราณของซูดานได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น อารยธรรมเหล่านี้เองที่สร้างวิหารและสุสานอันแข็งแกร่งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่เหล่าทวยเทพ ราชา ราชินี และชนชั้นสูงของตน ความรุ่งเรืองของการก่อสร้างนี้ทำให้มี พีระมิดซูดาน ของพวกเขาหลงเหลืออยู่กว่า 255 แห่ง หรือมากกว่าสองเท่าของสถาปัตยกรรมประเภทเดียวกันในอียิปต์
กระนั้น กลับมีนักเดินทางจากตะวันตกเพียงหยิบมือที่เคยได้เห็นอนุสรณ์สถานหินทรายขนาดใหญ่โตมโหฬารเหล่านี้ นั่นเป็นเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของซูดานต้องถูกรบกวนโดยสงครามกลางเมืองสองครั้ง (เมื่อปี 1956-1972 และ 1983-2005) และการต่อสู้เพื่ออิสรภาพอันนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐซูดานใต้ในปี 2011
ในขณะนี้ การเดินทางไปซูดานยังเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำ เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อปี 2021 อย่างไรก็ตาม เมื่อความตึงเครียดลดน้อยลง ประเทศแห่งนี้จะเปิดโอกาสที่มีเพียงน้อยครั้งให้คุณได้ตั้งแรมข้างเหล่าพีระมิดโบราณโดยลำพัง และเรียนรู้เกี่ยวกับรัชกาลลึกลับของเหล่าฟาโรห์ที่แทบไม่มีผู้รู้จักเหล่านี้ การขับรถท่องเที่ยวโดยมีผู้นำทางไปตามหุบเขาไนล์จะนำคุณจากวิหารอันวิจิตรที่ Soleb ไปสู่เมโรเว (Meroë) ที่ซึ่งมีกลุ่มพีระมิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตั้งอยู่และได้รับการรับรองจากยูเนสโก
พีระมิดซูดาน ฟาโรห์ผิวดำและเมืองที่เคยรุ่งโรจน์
กาลครั้งหนึ่ง อาณาเขตของอารยธรรมนูเบียแผ่ขยายขึ้นมาจากทางใต้ จากอัสวานในอียิปต์ ถึงคาร์ทูมในซูดานยุคปัจจุบัน ดินแดนแห่งนี้ทำให้ราชอาณาจักรคุช (Kush) หนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาผงาดขึ้น เหล่าราชันย์ซึ่งมีชื่อเล่นว่าฟาโรห์ผิวดำของอาณาจักรแห่งนี้ได้พิชิตอียิปต์เมื่อ 747 ปีก่อนคริสตกาล และปกครองอาณาเขตกว้างขวางของพวกเขานานเกือบหนึ่งศตวรรษ
เรื่องราวที่ว่ามานี้เกิดขึ้นบนชายฝั่งของแม่น้ำไนล์ สายน้ำในตำนานซึ่งยาวที่สุดในโลกนี้ไหลจากทะเลสาบวิคตอเรียในทิศใต้สู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในทิศเหนือ และถูกยกย่องว่าเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต เพราะน้ำซึ่งไหลหลากมาในแต่ละปีนั้นพัดพาดินอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะกับการเกษตรกรรมมาด้วย
Soleb วิหารที่สภาพดีที่สุดในซูดาน อยู่ห่างจากคาร์ทูมไปเก้าชั่วโมงโดยการขับรถ วิหารที่อยู่ด้านใต้สุดของซูดานแห่งนี้ถูกสร้างโดยฟาโรห์อะเมนโฮเทปที่สาม (Amenhotep III) ฟาโรห์แห่งอียิปต์ผู้บัญชาให้สร้างวิหารที่ลักซอร์ (Luxor) ครั้งหนึ่ง มันเคยถูกคุ้มครองด้วยราชสีห์ Prudhoe สองตัว ในปัจจุบัน สัตว์ร้ายที่ถูกแกะสลักอย่างบรรจงจากหินแกรนิตแตงและถูกจารึกโดยตุตันคามุน เมื่อครั้งกษัตริย์วัยเยาว์พระองค์นี้มาเยี่ยมเยือน ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อังกฤษ
ล่องเรือท้องแบนลำเล็กๆ จากหมู่บ้าน Wawa ไปสู่ชายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ แล้วในไม่นานคุณก็จะได้เห็นเสาหินทรายของห้องโถงหลักของวิหาร Soleb ที่ฐานของเสา มีภาพของชาวอัสซีเรียซึ่งถูกเหล่าฟาโรห์ผิวดำจับเป็นเชลยศึกและถูกโซ่มัดมือไพล่หลังถูกสลักไว้
ห่างไปทางตอนใต้ของ Soleb ไม่กี่กิโลเมตร หลังบรรดากระโจมซึ่งคนท้องถิ่นใช้ขายชาข้างแม่น้ำไนล์ คือที่ตั้งของ Kerma เมืองหลวงโบราณที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 5,500 ปีก่อนแห่งนี้เติบโตขึ้นรอบวิหารอิฐดิบขนาดยักษ์นาม Western Defuffa ในช่วงรุ่งเรืองถึงขีดสุด เมืองแห่งนี้มีประชากรราว 10,000 คน แต่ในปัจจุบัน มีเพียงนกนางแอ่นทำรังเท่านั้นที่อาศัยอยู่ท่ามกลางเศษซากอิฐโคลนเผาของมัน ส่วนในบริเวณใกล้เคียงนั้นคือที่ตั้งของหนึ่งในสุสานที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกา
พิระมิดซูดาน สุสานอันน่าสะพรึงกลัวและภาพวาดอันวิจิตร
ขับรถลงไปทางทิศใต้เพียงหนึ่งชั่วโมงเศษแล้วคุณจะไปถึง Old Dongola เมืองที่กำลังถูกทรายกลืนกินอย่างช้าๆ แห่งนี้เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักร Makuria ในนูเบียยุคกลาง เมืองนี้ก่อตั้งขึ้นพร้อมป้อมปราการแห่งหนึ่งในปีคริสตศักราช 600 และถูกขยายต่อเติมด้วยราชวัง บ้านเรือน และโบสถ์ เมืองแห่งนี้เป็นจุดพักสำคัญบนเส้นทาง Darb al-Arba’in (ถนนสี่สิบวัน) ที่ซึ่งขบวนอูฐนับหลายพันเคยใช้ขนส่งงาช้างและทาสระหว่างดาร์ฟูร์ในซูดานและอียิปต์
โบสถ์เสาหินแกรนิตโบราณ (Church of the Old Granite Columns) คือโบสถ์ซึ่งยังคงรักษาสภาพไว้ได้ดีที่สุด เสาสีซีดจางของมันรายล้อมท้องพระโรงที่ถูกแปลงสภาพเป็นมัสยิดในปี 1317 และถูกใช้งานจนถึงปี 1969 ในปัจจุบัน โบสถ์แห่งนี้ และสุสานอิสลามซึ่งมีโดมลักษณะเด่นครอบหลุมศพจากศตวรรษที่ 17 ที่ตั้งอยู่ติดกันเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมได้
จากที่นี่ แม่น้ำไนล์ที่ไหลไปทางตะวันออกจะนำคุณมาถึง El-Kurru สุสานสำหรับสมาชิกราชวงศ์ของอาณาจักรคุช พีระมิดของนูเบียนั้นแตกต่างจากของอียิปต์ เนื่องจากโถงบรรจุพระศพนั้นตั้งอยู่ด้านล่างของตัวพีระมิดแทนที่จะเป็นด้านใน
อุโมงค์อิฐดิบคลุมทางเข้าห้องบรรจุพระศพต่างๆ ซึ่งห้องที่ใหญ่ที่สุดคือห้องของ Tanutamun ผู้เสด็จสวรรคตเมื่อราว 653 ปี ก่อนคริสตกาล ขั้นบันไดที่ไม่เท่ากันดำดิ่งลงสู่ความมืดจนกระทั่งแสงจากไฟฉายเผยถึงห้องรูปทรงโดมสองห้อง ซึ่งแต่ห้องนำทางไปสู่อีกห้อง กำแพงยิปซัมสีขาวของพวกมันถูกปกคุลมไปด้วยภาพขีดเขียนประณีตสีส้มแดงและเหลือง
บนกำแพงด้านหลังมีภาพวาดของฉากที่น่าตราตรึง ซึ่งแสดงการเปรียบเทียบน้ำหนักของหัวใจของกษัตริย์องค์นี้กับขนนกโดยมาอัต (Maat) เทพีแห่งความสัตย์จริง ชาวคุชเชื่อว่าการชั่งน้ำหนักดังกล่าวนี้คือการชั่งปริมาณความดีและความชั่วที่พระองค์เคยทำเพื่อตัดสินว่าพระวิญญาณจะสามารถไปสู่สวรรค์ได้หรือไม่
สุสานจำนวนมากตั้งอยู่ที่เมือง Nuri ซึ่งอยู่ถัดไปทางทิศเหนือของแม่น้ำ พีระมิดขนาดเล็กและชันของเมืองนี้เหลืออยู่เพียง 20 แห่ง จาก 70 แห่ง หรืออาจมากกว่านั้น หลุมศพที่มีชื่อเสียงที่สุดคือหลุมฝังพระศพของ Taharqa ฟาโรห์ผิวดำผู้พิชิตอียิปต์ และกษัตริย์ Nastasen ซึ่งเหล่านักโบราณคดีต้องดำลงสำรวจเนื่องจากระดับน้ำใต้บาดาลที่สูงขึ้น
Nuri ถูกใช้เป็นสถานที่ฝังพระศพขนาดใหญ่ของสมาชิกราชวงศ์สำหรับเมือง Napata ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของราชอาณาจักรคุชและอยู่ติดกัน ทั้งสุสานและซากของชุมชนเมืองทอดอยู่บน Jebel Barkal เขาชัน ความสูง 104 เมตรบนชายฝั่งของแม่น้ำไนล์ จากยอดของมัน คุณสามารถเห็นซากปรักหักพังของ Nuri ซึ่งมีทั้งเสาแตกหักที่เรียงตัวกัน และแพะหินขนาดยักษ์ใหญ่สองตัวที่ดวงตาและหูถูกกัดกร่อนโดยกาลเวลา
ทางด้านตะวันตกของ Jebel Barkal กรอบประตูทำจากหินที่กำลังผุพังกรอบหนึ่งนำไปสู่วิหารของมุต (Mut) เทพีผู้เป็นมเหสีของเทพอามุน บนผนัง ไฟสปอตไลต์ฉายแสงภาพวาดวิจิตรสีขาวขุ่น ส้มแดง และน้ำเงินเข้มที่เล่าเรื่องราวการราชาภิเษกของ Taharqa
กลุ่มพีระมิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
.ท้ายที่สุด แม่น้ำไนล์แทรกตัวผ่านเมโรเว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคุชจนถึงวันที่มันล่มสลายเมื่อปีค.ศ. 400 และเป็นที่ตั้งของเหล่าพีระมิดที่สภาพดีที่สุดในซูดาน พีระมิดมากกว่า 200 แห่งกระจายตัวอยู่ทั่วผืนทราย ฐานแกรนิตและหินทรายของพวกมันถูกสลักไปด้วยลวดลายรูปช้าง ยีราฟ และกวาง ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าที่แห่งนี้เคยเป็นทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์มาก่อน
“นี่คือกลุ่มพีระมิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก” Mahmoud Suliman นักโบราณคดีและผู้บริหารพื้นที่เมโรเว รายงาน “ในการปฏิวัติเมื่อปี 2019 ทั้งบนถนน โฆษณา และภาพวาด ล้วนแต่มีภาพของพวกมันอยู่ มันดึงผู้คนเข้าด้วยกัน เพราะพีระมิดเหล่านี้มันผูกพันกับความเป็นอัตลักษณ์ของเราอย่างแน่นแฟ้น”
สิ่งปลูกสร้างที่ถูกกล่าวถึงในบันทึกของเฮโรโดทุสเหล่านี้มีบางสิ่งบางอย่างที่ยืนหยัดต่อสู้อย่างหนักแน่นต่อผืนทรายที่พยายามกลืนกินพวกมัน แท้จริงแล้ว มันคือการต่อต้านที่ทำให้พวกมันถือกำเนิดมาตั้งแต่แรก ในศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล Arakamani (หรือเอร์กามีนีส – Ergamenes) ผู้เป็นกษัตริย์ชาวคุช เหนื่อยหน่ายกับเหล่าหัวหน้านักบวชผู้กระหายอำนาจในราชอาณาจักรของตน เมื่อนักบวชเหล่านั้นมีคำสั่งให้เขาฆ่าตัวตาย กษัตริย์พระองค์นี้กลับโต้ตอบด้วยการสังหารพวกเขาแทน
การกบฏในครั้งนี้เปิดศักราชใหม่สำหรับวัฒนธรรม โดย อามุน-รา (Amun-Ra) เทพผู้ทรงอำนาจสูงสุดของอียิปต์ถูกลดชั้นความสำคัญและถูกแทนที่โดยเทพสิงห์โตอาเพเดมัก (Abedemak) อักษรเมรโรเว (ซึ่งยังไม่ได้มีการแปล) ถูกสร้างขึ้น และราชินีนักรบที่เรียกกันว่า kandakes เป็นผู้นำกองทัพ ภายในสุสาน ภาพสลักของเหล่าราชันย์ยืนสง่ากว่าเหล่าเทพ คุณจะไม่เห็นสิ่งนี้ในอียิปต์ ที่ซึ่งกษัตริย์ควบคุมทุกสิ่ง เว้นเสียแต่ความตาย
นี่เป็นข้อความที่ทรงพลังและเป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจของความภาคภูมิใจของชาติครั้งใหม่ เช่นเดียวกับที่กรีซโบราณส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมยุโรปสมัยใหม่มากมาย อารยธรรมนูเบียก็มีอิทธิพลสำคัญต่อซูดานเช่นกัน มันคือรากฐานที่ก่อร่างความนึกคิดด้านตัวตนและอัตลักษณ์ของประเทศนี้ การเข้าใจประวัติศาสตร์นี้จะช่วยชี้นำทางเดินสู่อนาคตของซูดาน
“กษัตริย์เหล่านี้คือราชาและราชินีที่ทรงเป็นที่รักมากค่ะ” Aya Allam นักศิลปะการต่อสู่ผู้อาศัยอยู่ในคาร์ทูม กล่าว “พวกพระองค์คือสิ่งย้ำเตือนว่าเราเคยเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ และจะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง”