ดำดิ่งสำรวจสุสานใต้ พีระมิด ซูดาน

ดำดิ่งสำรวจสุสานใต้ พีระมิด ซูดาน

แม้พีระมิดในอียิปต์จะโด่งดังมากกว่า แต่พีระมิดในซูดานซุกซ่อนสุสานหลวงไว้ ซึ่งนักโบราณคดีสามารถสํารวจได้ตราบเท่าที่พวกเขาไม่รังเกียจการดําน้ำ

ฉันรู้สึกว่าตัวเองหายใจไม่ออก  แต่ละก้าวที่ลงไปตามช่องทางเดินหินดานนำฉันเข้าใกล้สิ่งที่ฉันนึกภาพมานาน  นั่นคือ สระนํ้าสีนํ้าตาลอมเหลืองซึ่งซ่อนอุโมงค์ที่ถูกนํ้าท่วมเอาไว้  และวินาทีที่ฉันเข้าไปสู่ความมืดมิดนั้น  ซากปรักของพีระมิดโอ่อ่า ก็ตระหง่านเงื้อมอยู่เบื้องบน

ที่นี่  ณ สุสานโบราณแห่งนูรีในทะเลทรายทางตอนเหนือของซูดาน  เหล่ากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ชาวคูชทอดพระวรกายมานานหลายพันปีในกลุ่มคูหาฝังพระศพใต้ดินเบื้องล่างพีระมิดสูงใหญ่  ปัจจุบัน  คูหาถูกนํ้าใต้ดินที่ไหลซึมมาจากแม่นํ้าไนล์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เอ่อท่วม  นักโบราณคดี  เพียร์ซ  พอล  ครีสแมน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนบางส่วนจากสมาคมเนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิก  เป็นผู้นำทีมซึ่งอาจเป็นทีมแรกที่พยายามสำรวจทางโบราณคดีใต้นํ้าข้างใต้พีระมิด  ตอนแรกฉันใจเย็น  แม้ว่าจะ ตื่นเต้นกับการร่วมเดินทางไปถ่ายภาพความพยายามที่ทะเยอทะยานและเสี่ยงอันตรายนี้เมื่อปี 2020  แต่พอฉันเดินลงไปใต้ดินลึกขึ้นเรื่อยๆ  หัวใจก็เต้นเร็ว  และหายใจแทบไม่ออก

ดวงอาทิตย์ขึ้นฉายแสงอาบทิวทัศน์ของสุสานหลวงนูรี ที่มีพีระมิด 20 แห่งที่เชื่อมเข้าด้วยกันราวกับอัญมณีบนสร้อยคอ

ฉันเคยสัมผัสความรู้สึกกระวนกระวายหายใจไม่ทั่วท้องแบบนี้มาก่อน  เมื่อเก้าปีที่แล้วจากการหมอบอยู่ในท่อระบายนํ้าในประเทศลิเบีย  ขณะที่ปืนกลระดมยิงใส่พื้นดินด้านบน  และเจ็ดปีก่อน  ระหว่างการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายอัลชาบับใน ศูนย์การค้าที่กรุงไนโรบี  ล่าสุดเมื่อสี่ปีก่อน  บนหาดไร้ขื่อแปในโซมาเลีย  แต่ที่นี่ ไม่มีศัตรูภายนอก  แต่บางสิ่งในความคิด ของฉันเองกำลังตะโกนใส่ฉันว่า  อย่าลงไป

ครีสแมนและไดฟ์มาสเตอร์  จัสติน  ชไนเดอร์  รับรู้ได้ถึงความกังวลของฉัน  “ขอเวลาแป๊บหนึ่งค่ะ”  ฉันบอก  พลางถือกล้องถ่ายภาพไว้แน่น  ฉันคาบเรกูเลเตอร์  ไขว้ขาแล้วทิ้งตัวลงไป  หายใจ  แค่หายใจ

พอโผล่ขึ้นสู่ผิวนํ้า  ฉันพยักหน้าให้เพื่อนร่วมทีม  ฉันพร้อมแล้ว  เราดำลงไป  ห่อตัวผ่านทางลาดแคบๆ ลงไปสู่ความมืดมิดไร้ทิศทาง

นักโบราณคดี เพียร์ซ พอล ครีสแมน เตรียมตัวลงไปในหลุมศพที่จมน้ำในสุสานเมืองนูรี ประเทศซูดาน
คริสแมนใช้เทคนิคโบราณคดีใต้น้ำรูปแบบใหม่เพื่อรักษาส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สุสานนูรี ซึ่งครั้งหนึ่งสูญหายเนื่องจากน้ำของแม่น้ำไนล์ไหลเข้าท่วมสุสาน

ทุกวัฒนธรรมในโลกมีประเพณีเกี่ยวกับความตาย  สุสานอายุ 2,300 ปีแห่งนี้เป็นที่ฝังพระศพของกษัตริย์นัสตาเซน  ผู้ ปกครองอาณาจักรคูชราวสองทศวรรษ  ก่อนหน้านั้น  กษัตริย์ชาวคูชหลายพระองค์  หรือที่รู้จักกันในนามฟาโรห์ผิวดำ   เรืองอำนาจมากจนปกครองนูเบียและอียิปต์ทั้งหมด  นัสตาเซนเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ได้รับการฝังไว้ที่นูรี  ก่อนภัยคุกคามจากศัตรูจะบีบให้ชาวคูชย้ายเมืองหลวงไปทางใต้  ชาวคูชละทิ้งวิหารอันงดงาม  พีระมิดและพระศพฟาโรห์ของพวกเขาไว้ข้างหลัง

คนงานเคลียร์เศษหินเศษปูนจากพีระมิดอายุ 2,300 ปีที่สุสานของนัสตาเซน ผู้ปกครองอาณาจักรคุชเป็นเวลาราว 2 ทศวรรษ และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายที่ถูกฝังในนูรี

การขุดค้นที่นูรีกับทรัพย์สมบัติที่ซ่อนอยู่ใต้นํ้า เป็นความท้าทายที่เอาชนะได้ยากเป็นพิเศษ  เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน  นักไอยคุปต์วิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  จอร์จ  ไรส์เนอร์  ไปเยือนนูรีเพื่อสำรวจสิ่งต่างๆ  รวมถึงคูหาฝังพระศพของกษัตริย์ทาฮาร์คา  ผู้ปกครองอียิปต์ทั้งหมดในศตวรรษที่เจ็ดก่อนคริสตกาล  และกระทั่งได้รับการกล่าวถึงในพระคริสตธรรมคัมภีร์  ภาคพันธสัญญาเดิม  ที่ทรงกรีธาทัพเพื่อปกป้องเยรูซาเลม

กระนั้น  มีหลุมศพอื่นๆ อีกมากในนูรีที่ยังไม่ได้สำรวจ นับตั้งแต่นั้นระดับนํ้าก็สูงขึ้น  โดยได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ความต้องการพื้นที่เกษตรกรรม  และเขื่อนสมัยใหม่ที่กำลังเปลี่ยนโฉมแม่นํ้าไนล์

นับตั้งแต่งานของครีสแมนเริ่มขึ้น  ซูดานก็เผชิญกับการรัฐประหาร  การระบาดใหญ่ทั่วโลก  นํ้าท่วมระดับทำลายสถิติและการปฏิวัติในปี 2019  เมื่อผู้ประท้วงโค่นอำนาจระบอบเผด็จการที่ดำเนินมา 30 ปีของโอมาร์  อัล  บาเชียร์  ซึ่งรัฐบาลของเขาพยายามลบประวัติศาสตร์ยุคก่อนอิสลามของซูดาน กลุ่มผู้ประท้วงกู่ร้องเรียกพระนามเหล่ากษัตริย์นูเบียว่า  “ปู่ของฉันคือทาฮาร์คา  ย่าของฉันคือกันดากา (ราชินี)!”  ปัจจุบัน บาเชียร์ถูกศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งข้อหา  ผู้ประท้วงบนท้องถนนประณามทหารที่ยึดอำนาจและบ่อนทำลายการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศ

นักโบราณคดี เกรทเชน เอ็มมา โซเอลเลอร์ ขุดค้นพื้นที่ฝังศพของหญิงคนหนึ่งในนูรี สุสานโบราณที่แผ่อาณาเขตไปมากกว่าราว 0.7 ตารางกิโลเมตรที่ทะเลทรายริมแม่น้ำไนล์ฝั่งตะวันออก ทางตอนเหนือของซูดาน

ฉันว่ายผ่านร่องนํ้ามืดๆ เข้าสู่คูหาฝังพระศพ  กลุ่มตะกอนเป็นอุปสรรคต่อการมองเห็น  และแม้ว่าพื้นที่จะเล็ก  แต่ก็ง่ายที่จะหลงทางและว่ายวนเป็นวงกลมอย่างน่าตกใจ  เราโผล่เข้าไปในคูหาที่สอง  ซึ่งเพดานที่ถล่มลงมาทำให้เกิดโพรงกักเก็บอากาศ ไว้  เราเริ่มงานโดยอาศัยแสงจากไฟฉาย

ทักษะการขุดดินแบบเดิมไม่มีประโยชน์ที่นี่  ดังนั้น ทีมของครีสแมนจึงพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อเผยความลับของอาณาจักรที่ถูกมองข้ามนี้  ปัจจุบันโบราณคดีใต้นํ้าเป็นสาขาเฉพาะทาง แต่ในช่วงแรกๆ  ทักษะและเครื่องมือต่างๆ ดัดแปลงมาจาก การกู้เรืออับปาง  และแทบจะไม่เคยใช้ในพื้นที่คับแคบเช่นนี้

เห็นได้ชัดว่าไม่มีที่ว่างสำหรับถังดำนํ้าสกูบาขนาดใหญ่เช่นกัน  เราหายใจผ่านสายยางสีเหลืองสดที่เชื่อมเรากับอากาศ ข้างบน  ความเสี่ยงที่จะเกิดการถล่มไม่สามารถขจัดออกไปได้อย่างสิ้นเชิง  แต่ทางเข้าถูกคํ้าด้วยท่อนเหล็กยาว 15 เมตรหลายท่อน  สมาชิกในทีมพากันค้นหาสิ่งที่น่าสนใจ  เช่น  ใบไม้ทอง รูปสลัก  เครื่องปั้นดินเผา  และจดบันทึกสิ่งที่ค้นพบด้วย กระดานและปากกากันนํ้า  เชือกเส้นบางๆ โยงจากคูหาที่สามและคูหาสุดท้ายไปยังโลกข้างบน  เป็นเครื่องนำทางเราผ่านความมืด

ครีสแมนจะลงไปในคูหาสุดท้าย  ซึ่งบรรจุสิ่งที่อาจเป็นโลงศิลาที่ยังไม่เคยเปิดของนัสตาเซน ไม่กี่นาทีต่อมา  เขาก็กลับมาพร้อมถังที่ใส่ของไว้เต็ม  ถังนี้จะนำออกไปข้างนอกให้สมาชิกในทีมตรวจสอบและคัดแยกประเภทสิ่งของ

ครีสแมนและ จัสติน ชไนเดอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำดำดิ่งลงไปสำรวจห้องฝังศพในนูรี ซึ่งในขณะนี้จมลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยุคใหม่ กิจกรรมทางการเกษตร และการสร้างเขื่อน
ในบรรดาข้าวของที่ค้นพบในสุสานที่นํ้าท่วม มีชับตีหรือรูปสลักที่ใช้ในพิธีศพซึ่งมุ่งหมายให้รับใช้กษัตริย์ในปรโลกรวมอยู่ด้วย

ราวหนึ่งชั่วโมงของการทำงานนี้  ครีสแมนขึ้นสู่ผิวนํ้าในคูหาที่สอง  สูดหายใจ  และตะโกน ว่า  “ชับตี!”  เขาค่อยๆ ชูรูปสลักที่ใช้ในพิธีศพให้เราดู  เมื่อเพ่งมองรูปสลักในฝ่ามือของเขา  ฉันก็รู้ว่าลมหายใจของตัวเองช้าลงจนเป็นปกติและความคิดก็แจ่มชัด  รูปสลักนั้นหักตรงกลาง  แต่ยังคงความสง่างามและความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ย้อนหลังไปหลายพันปีก่อน  เชื่อกันว่ารูปสลักเหล่านี้ฟื้นคืนชีพเพื่อรับใช้เจ้านายของตนในชีวิตหลังความตาย

ฉันสนใจชับตีที่เปียกนํ้าและเปล่งประกาย  ชัตเตอร์กล้องกะพริบแวบวับ  ทำให้สิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนคงอยู่ต่อไปอย่างถาวร

นัสตาเซนทรงพำนักอยู่ ณ ที่นี้ท่ามกลางความมืดมิดมานานสองพันปี  ร่วมกับผู้พิทักษ์ขนาดจิ๋วหลายร้อยตัว  ไม่ช้าฉันก็กลับสู่โลกบนพื้นดินที่ท้องฟ้าสีฟ้าสดใสอย่างไม่น่าเชื่อ  แต่ยังก่อน  ก่อนอื่นฉันกดชัตเตอร์เฟรมแล้วเฟรมเล่า  แช่แข็งสถานที่นี้ไว้ในกาลเวลา  และตั้งใจเตือนตัวเองให้จดจำสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถในการเก็บภาพของฉันเหล่านั้นเอาไว้

หมวกกันน็อกที่สวมโดยครีสแมนและชไนเดอร์ถูกวางตากไว้ท่ามกลางแดดร้อนหลังจากการดำน้ำในพื้นที่สุสานหลวง

เรื่องและภาพ นิโคล โซเบกกี

ติดตามสารคดี ดำดิ่งสำรวจสุสานใต้พีระมิด  ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/549797


อ่านเพิ่มเติม หลุมศพราชินีใต้เงาของมหาพีระมิดกีซา ที่ไร้การแตะต้องกว่า 4,000 ปี

Recommend