‘LOW LAY’ Walking Street Phetch Fest 2023 ถนนคนเดินแบบโลว์คาร์บอน ชวนผู้คนมาชม ช้อป ชิมในงานที่จัดการขยะไปสู่ปลายทางที่เหมาะสม

‘LOW LAY’ Walking Street Phetch Fest 2023 ถนนคนเดินแบบโลว์คาร์บอน ชวนผู้คนมาชม ช้อป ชิมในงานที่จัดการขยะไปสู่ปลายทางที่เหมาะสม

การจัดเทศกาลท่องเที่ยวแต่ละครั้ง คุณว่ามันก่อให้เกิดขยะแค่ไหน

เราคงสงสัยไม่ต่างกันว่าทุกครั้งที่หย่อนขยะลงถังว่าปลายทางมันจะไปลงเอยที่ใด แล้วถ้าภายในงานมีจุดคัดแยกขยะให้เราได้คิดก่อนทิ้ง ทำไมเราจะไม่ทำล่ะ จริงไหม

งานถนนคนเดิน Walking Street Phetch Fest 2023 ซึ่งมาในธีม LOW LAY เดินเที่ยวแบบ Low Carbon ณ จังหวัดติดทะเลอย่างเพชรบุรี ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นงานหนึ่งซึ่งไม่เพียงเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินจากร้านงานคราฟต์ สินค้าชุมชน เวิร์คช็อป และดนตรียามค่ำคืนที่ทิวทะเลเวิลด์ ปั๊มเชลล์ บ่อแขม เท่านั้น แต่งานนี้ยังมีการวางแผนการจัดการขยะที่เกิดขึ้นภายในงานอย่างมีความรับผิดชอบ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี เจ้าภาพจัดงานผู้ลงมือสร้างแคมเปญท่องเที่ยวยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งเทศบาลเมืองเพชรบุรี เทศบาลเมืองชะอำ มหาวิทยาลัยศิลปากร และร้านค้าในชุมชน มาช่วยกันทำงานนี้ให้โลว์คาร์บอนไม่ใช่แต่ชื่องาน

คุณเอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี

“เราเริ่มตั้งแต่แนวคิดและการออกแบบที่ใช้โครงสร้างแบบนำไปใช้ซ้ำได้ ไม่ต้องผลิตใหม่ ใช้วัสดุจากธรรมชาติ ลดการใช้ภาชนะที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชวนให้คนนำภาชนะของตัวเองเพื่อรับส่วนลดจากร้านค้าในงาน ส่วนขยะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็มีการจัดการอย่างเป็นระบบรองรับอยู่ มีการให้ความรู้ผ่านนิทรรศการและภาพยนตร์สารคดี รวมถึงกิจกรรมให้คนมีส่วนร่วม อย่างเวิร์คช็อปจัดสวนขวด ที่นำมาจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับเรื่องการใช้วัสดุให้คุ้มค่าไปด้วยในตัว” คุณเอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเพชรบุรี กล่าว

ขยะในงาน ทิ้งแล้วไปไหน

นอกจากแลนด์มาร์คอันโดดเด่นของงาน ที่ได้ประติมากรรมไม้ไผ่ ฝีมือคุณกรกฎ อารมย์ดี ศิลปินและนักออกแบบชาวเพชรบุรี ที่ใช้ไม้ไผ่มาสร้างงานด้วยการต่อยอดวิธีแบบดั้งเดิม มาเป็นจุดเช็คอินแล้ว 

ประติมากรรมไม้ไผ่ โดยคุณกรกฎ อารมย์ดี ศิลปินและนักออกแบบชาวเพชรบุรี

สิ่งสำคัญภายในงานคือ สถานีคัดแยกขยะ 3 จุด ตรงทางเข้างาน และจุดที่ใกล้กับร้านค้า โดยแยกเป็นขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป และขยะอาหาร ซึ่งมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาเป็นอาสาสมัครประจำจุดแนะนำการแยกขยะอย่างถูกวิธี

 

เพราะการวางแผนแยกขยะตั้งแต่ต้นทางเป็นเรื่องสำคัญ LOW LAY – Walking Street Phetcha Fest 2023 เหล่าอาสาสมัครจะคัดแยกขยะตามประเภทดังกล่าวไว้ เมื่อจบงานแล้ว ก็มีหน่วยงานพันธมิตรแบ่งกันรับขยะไปจัดการต่อ ขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไป ได้เทศบาลเมืองเพชรบุรีมารับไป ส่วนขยะเปียกหรือขยะอาหาร เทศบาลเมืองชะอำ ซึ่งมีเครื่องย่อยขยะอาหารเข้ามารับช่วงต่อ

กรองน้ำออกจากขยะอาหารเหลือทิ้ง เพื่อแยกการกำจัดน้ำอย่างเหมาะสม

“ขยะอาหารที่ทางผู้จัดงานคัดแยกมาให้เราแล้ว จะเดินทางต่อไปยังเครื่องย่อยขยะอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพ หากว่าเป็นขยะอันตราย เราก็จะรับมาคัดแยกและจัดการให้ถูกหลักสุขาภิบาล” คุณเรณู  เอี่ยมโซ๊ะ ผู้อำนวยการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองชะอำ เล่า

คุณเรณู เอี่ยมโซ๊ะ ผู้อำนวยการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองชะอำ

เครื่องย่อยขยะอาหารให้เป็นปุ๋ย นวัตกรรมของคนไทยนี้ ตั้งอยู่ที่ตลาดเทศบาลเมืองชะอำ  สามารถรับขยะเปียกได้ 200 กิโลกรัมใน 24 ชั่วโมง ผลิตปุ๋ยได้ 200 ลิตร ด้วยการทำงานระบบปิด ไม่มีกลิ่นรบกวน

ปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพ หรือเรียกง่ายๆ ว่าน้ำหมัก จะนำไปใช้ต่อกับต้นไม้ในเขตเทศบาล ส่งต่อไปยังโรงเรียนในสังกัดของเทศบาล มีเหลือก็จะประกาศให้ประชาชนมาขอไปใช้บำรุงต้นไม้ได้ฟรีๆ

ส่วนขยะทั่วไปและขยะรีไซเคิล คุณถนอมศักดิ์ มากชุมโค  ผู้อำนวยการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองเพชรบุรี เล่าให้ฟังว่า

“เมื่อได้รับการติดต่อเข้ามา ทางเทศบาลก็ยินดีนำกระบวนการที่ทางกองทำอยู่แล้วมารับช่วงต่อขยะที่เกิดขึ้นในงาน ที่ผ่านมา ถ้าเป็นเทศกาลของทางเทศบาลก็มีการจัดการขยะอยู่แล้ว แต่งานของเอกชนยังไม่ค่อยมี นี่ก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าถ้าทุกการจัดงานทุกงาน มีการแยกขยะเปียก ขยะอินทรีย์ และขยะรีไซเคิล ก็จะลดขยะให้เป็นศูนย์ในงานได้”

คุณถนอมศักดิ์ มากชุมโค ผู้อำนวยการ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองเพชรบุรี

กระบวนการจัดการขยะที่ทางเทศบาลเมืองเพชรทำอยู่แล้ว คือการคัดแยกขยะทั่วไป ซึ่งจะส่งต่อไปยังบริษัทด้านพลังงานเพื่อทำขยะเชื้อเพลิง (RDF – Refuse Derived Fuel) ส่วนขยะรีไซเคิลนั้นจะคัดมาขายหรือส่งต่อ รายได้จากการขายขยะรีไซเคิลจะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงและให้ทุนการศึกษาแก่เด็กๆ 

เมื่อได้พันธมิตรที่มีกระบวนการชัดเจนอยู่แล้ว ขยะที่มาจากในงานจึงมีที่ไปต่อ

ซึบซับความตระหนักรู้ไประหว่างความเพลิดเพลิน

นอกจากสถานีแยกขยะที่เห็นได้เด่นชัดเป็นการกระตุ้นเตือนเรื่องแยกขยะแล้ว ในงานยังมีนิทรรศการเล็กๆ ที่เล่าเรื่อง Sustainable Development Goals เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ประการ ของ UN ซึ่งททท. เดินตามแนวทาง  Sustainable Tourism มาโดยตลอด มีเส้นทางท่องเที่ยวเพชรบุรีแบบโลว์คาร์บอนที่แนะนำ 3 เส้นทาง รวมถึงการจัดการขยะอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นขยะที่มีสัดส่วนสูงสุดของขยะมูลฝอยทั้งหมด

นิทรรศการ กู้โลก ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน

Infographic ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ถูกทิ้ง สกัดข้อมูลจากงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ อุไรวรรณ ไอยสุวรรณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับขยะอาหาร ขยะอินทรีย์ในพื้นที่ท่องเที่ยว ชะอำและหัวหิน ร่วมกับคณะวิจัย เมื่อททท.จัดโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ งานวิจัยนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงแค่สำหรับงานนี้ แต่เป็นข้อมูลที่พร้อมนำไปใช้ต่อในหลายๆ ด้าน

รองศาสตราจารย์ อุไรวรรณ ไอยสุวรรณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่ผ่านมาขยะอาหารในหลายแห่งก็มีการจัดการอยู่แล้ว แต่เป็นรูปแบบง่ายๆ เช่น มีการรับขยะอาหารเหลือทิ้งจากร้านอาหาร หรือตลาดสดไปเป็นอาหารเลี้ยงหมู แต่ด้วยงานวิจัยที่แยกประเภทขยะอาหารออกอย่างละเอียด แบ่งออกเป็นผักผลไม้, เนื้อสัตว์ เปลือกไข่, ขนมปัง, หัวปลา ก้างปลา เศษอาหารทะเล, และเศษอาหารเหลือกิน ทุกประเภทจะผ่านการแปรรูปต่างกัน สามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ต่างชนิดกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าทั้งการเกษตร และลดการผลิตใหม่ ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินท์เช่นกัน

เวิร์คช็อปการจัดสวนขวด ด้วยวัสดุเหลือทิ้งจากโครงการ “เหลือขอ”

ด้านหน้าจุดลงทะเบียนเข้างาน ยังมีการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาร่วมเวิร์คช็อปจัดสวนขวดโดยใช้ของเหลือใช้จากโครงการ “เหลือขอ” ของเทศบาลเมืองเพชรบุรี ที่รับขยะต่างๆ จากประชาชนมาคัดแยกและจัดการต่อ สวนขวดฝีมือตัวเองในขวดเหลือใช้กลายเป็นของที่ระลึกที่น่าประทับใจ

หนังกลางแปลงจอเล็ก

เมื่อย่างเข้าสู่พลบค่ำ ก็มีหนังกลางแปลงจอย่อมๆ ฉายภาพยนต์เกี่ยวกับอนุรักษ์ลดโลกร้อน อาทิ Plastic Island, My octopus teacher, Dark water และ Biking Borders ให้นั่งชมบนที่นั่งที่จัดไว้อย่างสบายๆ

ตามด้วยการแสดงการแสดงดนตรี จาก SU Band (มหาวิทยาลัยศิลปากร) มินิคอนเสิร์ตของคุณไอซ์ ศรัณยู และคุณตรี ชัยณรงค์ ที่ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นมา เป็นส่วนผสมของงานเทศกาลที่อยากให้ซึมซับความตระหนักรู้ไปพร้อมๆ กับความเพลิดเพลิน

ต้นแบบของการจัดการขยะในเทศกาลท่องเที่ยว

แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีการเก็บตัวเลขของขยะที่เกิดขึ้นเฉพาะในงานเทศกาลอย่างจริงจัง แต่คุณถนอมศักดิ์สามารถเปรียบเทียบตัวเลขให้ฟังได้ ตัวอย่างเช่น น้ำหนักเฉลี่ยของขยะที่เก็บได้ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีอยู่ที่ 28 ตันต่อวัน หากในเทศบาลเมืองเพชรบุรีมีการจัดเทศกาล เช่น เทศกาลพระนครคีรี ซึ่งเป็นงานประจำปี 10 คืน คืนแรกเก็บขยะได้ 35 ตัน ก็รู้ได้ทันทีว่าขยะที่เพิ่มมาจากเทศกาลวันนั้นมีถึง 7 ตัน จึงประเมินได้ไม่ยากว่า เมื่อมีเทศกาลขึ้น ขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามมาเท่าใด

รถจากทางเทศบาลที่มารับขยะในวันถัดมาหลังจากจบงานแล้ว

หน่วยงานราชการยึดถือการจัดการขยะอย่างเป็นระบบเป็นภารกิจที่ต้องทำในทุกงานเทศกาลของเทศบาล สำหรับงานที่จัดโดยเอกชนต้องใช้ทั้งความมุ่งหมายและตั้งใจจริง ที่สำคัญต้องมีการลงทุนเรื่องเจ้าหน้าที่ที่ช่วยจัดการแยกขยะ และการเตรียมการต่างๆ แต่หากหน่วยงานเอกชนติดต่อเทศบาลมา การรับขยะมาจัดการต่อเป็นเรื่องที่ทางเทศบาลยินดีอย่างยิ่ง “ไม่ว่าจะเป็นขยะอะไร ขอให้ส่งมาถึงมือเราเถอะ ขยะทุกประเภทมีคู่ของตัวเองอยู่ จับคู่ให้ถูกการจัดการก็ไม่ใช่เรื่องยาก”

คุณอรพรรณ อรุณรังสิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ร่วมอิสสระ จำกัด

ในทำนองเดียวกัน การจับคู่ระหว่างงานนี้และสถานที่จัดงาน ถือว่าจับมือกันได้สอดคล้องกันอย่างลงตัวที่ ‘ทิวทะเล’ คอมมูนิตี้มอลล์แห่งนี้ คุณอรพรรณ อรุณรังสิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ร่วมอิสสระ จำกัด บอกว่าทางทิวทะเลรวมถึงโครงการอื่นๆ ของบริษัท มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้ว เช่น พลาสติกก็ส่งขาย ขยะเปียกและขยะอันตรายทางเทศบาลก็รับไปจัดการต่อ

“สถานที่ของเราเอื้ออำนวยอยู่แล้ว เราดีใจที่เป็นต้นแบบให้กับอีเวนท์อื่นๆ ด้วย”

การสื่อสารใจความสำคัญเรื่องของการท่องเที่ยวยั่งยืนด้วยคีย์เวิร์ดอย่าง Low Carbon ถ้าทำอย่างต่อเนื่องสามารถส่งสารไปยังอีเวนท์ เทศกาล หรือถนนคนเดินอื่นๆ ให้ปรับตัวไปด้วยกันในอนาคต

คุณเอิบลาภ เสริมว่า “ในทุกการจัดอีเวนท์ เราให้ความสำคัญว่า หากสามารถลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง และมีการจัดการขยะที่ปลายทาง การจัดอีเวนท์เป็นการดึงคนเข้าพื้นที่ เราจึงต้องจัดการอย่างมีคุณภาพ เรามีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ โดยใช้สูตรคำนวณจากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่แค่อีเวนท์ เราก็คำนวณคาร์บอนให้ธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย  ซึ่งการดำเนินธุรกิจ เราไม่สามารถลดให้เป็นศูนย์ได้ แต่หาวิธีทำในแบบ Low Carbon หรือทำให้เป็นแบบ Carbon Neutrality ได้ ทางททท.ก็หาวิธีกระตุ้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวทำด้วยความสมัครใจ เรียนรู้ และเริ่มต้นด้วยตัวเอง นั่นจะช่วยสร้างความเคลื่อนไหวให้ขยับขึ้นมาเป็นระดังองค์กร จังหวัด และประเทศ”

และงานนี้ก็ทำให้เห็นได้ว่า การวางแผนการจัดการขยะในงานจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย และมีรายละเอียดให้คำนึงถึงหลายจุด แต่ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นจริง

Recommend