ฟังประสบการณ์ท่องเที่ยวกับจุดหมายปลายทางใหม่ ใน 5 เมือง ฮวาเหลียน ไถตง เกาสง ไถหนาน และเจียอี้ โดย การท่องเที่ยวไต้หวัน ที่คัดสรรโดย National Geographic Thailand และ บ้านและสวน Explorers Club
[BRANDED CONTENT FOR TAIWAN TOURISM]
การท่องเที่ยวไต้หวัน ร่วมกับ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย และบ้านและสวน Explorers Club จัดงานเสวนาพร้อมนิทรรศการภาพถ่ายแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ “Walk and Bike to the Unseen of Taiwan – ปั่นได้ฟีล ท่องวิวใหม่ที่ไต้หวัน” เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 67 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ประเทศไทย (Thailand Creative and Design Center – TCDC)
งานพูดคุยเสวนาในครั้งนี้ตั้งใจพาทุกคนไปสัมผัสกับมุมใหม่ของไต้หวันที่ใครหลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้จัก กับ 4 นักเดินทาง 4 สไตล์ ได้แก่ ปลา – อาศิรา พนาราม รองบรรณาธิการบริหาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย, เฟี้ยต – นวภัทร ดัสดุลย์ บรรณาธิการ บ้านและสวน Explorers Club, เฟิสท์ – วิริทธิพล วิธานเดชสิทธิ์ เจ้าของเพจ Path to Odyssey, และ มาเรีย – วัชรี ศุภลักษณ์ เจ้าของเพจ สะพายกล้องท่องเที่ยว กับ มาเรีย ณ ไกลบ้าน ร่วมออกทริปเดินทางสุดพิเศษ ที่ครบทั้งเมือง ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม ใน 4 เส้นทาง 5 เมืองรอบเกาะไต้หวัน ได้แก่ ฮวาเหลียน ไถตง ไถหนาน เกาสง และเจียอี้
ซินดี้ เฉิน ผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพฯ กล่าวในช่วงต้นของงาน ถึงความต้องการที่จะให้คนไทยไปเที่ยวไต้หวันมากขึ้น และไม่ใช่การไปเที่ยวเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการไปเที่ยวซ้ำอีกหลาย ๆ รอบ เพราะแม้ไต้หวันจะเป็นประเทศที่เล็กกว่าไทยถึง 14 เท่า แต่ในเกาะเล็ก ๆ แห่งนี้ก็อัดแน่นไปด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าไม่แพ้ที่ใดในโลก
นอกจากเมืองยอดนิยมที่คนไปเที่ยวกันอย่างไทเปหรือ อาลีซาน (เมืองเจียอี้) แล้ว ก็ยังมีอัญมณีซ่อนเร้นอีกมากมายที่รอให้นักท่องเที่ยวจากต่างแดนเข้ามาค้นหาเปิดประสบการณ์ คุณซินดี้มีความตั้งใจที่จะแนะนำโฉมหน้าใหม่ ๆ ของไต้หวันที่ยังไม่เป็นที่รู้จักให้กับคนไทย จึงได้จับมือกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย และบ้านและสวน Explorers Club สรรสร้างแคมเปญท่องเที่ยวในครั้งนี้ขึ้นมา
เที่ยวไต้หวัน ความสะดวกครบครัน มั่นใจไม่มีหวั่น
ความสะดวกประการแรกที่จะทำให้สายเที่ยวต้องยิ้มกว้างคือประเทศไต้หวันได้ขยายมาตรการฟรีวีซ่าให้กับคนไทย สามารถเที่ยวไต้หวันได้นานถึง 14 วันโดยไม่ต้องทำวีซ่า จนถึง 31 กรกฎาคม 2567 (ปัจจุบันได้มีการขยายเวลาถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2568) อีกทั้งเที่ยวบินตรงจากไทยไปไต้หวันก็มีเยอะมาก ถึงไต้หวันได้ภายในเวลาประมาณ 3.30 ชั่วโมง โดยไม่แวะพัก
หากใครตัดสินใจปักหมุดไปเที่ยวไต้หวันในช่วงนี้ รับรองว่าเที่ยวได้คุ้มจุใจแน่นอน โดยเฉพาะคนรักการปั่นจักรยาน เพราะประเทศไต้หวันได้รับสมญานามว่าเป็นอาณาจักรแห่งจักรยาน ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเป็นประเทศผู้ผลิตจักรยานที่โด่งดังเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีเส้นทางจักรยานที่ออกแบบมาอย่างดี จึงมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย ปั่นสนุกได้ทุกเพศทุกวัยอย่างแน่นอน โดยนักปั่นคนไหนอยากเอาจักรยานตัวเองขึ้นเครื่องบินไปปั่นที่ไต้หวันก็ทำได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าใครไม่มีจักรยานเป็นของตัวเอง ไต้หวันก็มี YOUBIKE บริการเช่ารถจักรยานสาธารณะให้บริการตามจุดต่าง ๆ ในเมืองใหญ่ทั่วเกาะไต้หวัน ใช้งานสะดวกง่ายดาย เพียงรูดบัตรชำระเงินเมื่อใช้บริการ และเช็คจุดคืนรถใกล้ ๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชัน
นอกจากนี้ ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ หรือสถานีรถไฟ ก็จะมีร้านเช่าจักรยานโดยเฉพาะ ซึ่งมีจักรยานหลายรูปแบบให้บริการ เอาใจสายปั่นหลากสไตล์ ทั้งจักรยานจ่ายตลาดสำหรับสายชิล จักรยานเสือหมอบสำหรับสายเอ็กซ์ตรีม ถ้าใครอยากปั่นเป็นคู่ ก็มีจักรยานแบบสองที่นั่งให้บริการ การเดินทางด้วยการปั่นจักรยานแบบนี้ ได้ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ และการท่องเที่ยววิถีคาร์บอนต่ำ ตรงตามการท่องเที่ยววิถี Lohas (Lifestyle of Healthy and Sustainability)
หากใครต้องการเดินทางด้วยวิธีอื่น ไต้หวันก็มีขนส่งสาธารณะครบครันพร้อมให้บริการ ทั้งรถบัส รถราง รถไฟใต้ดิน แต่ถ้าใครต้องการท่องเที่ยวตามเส้นทางในใจของตัวเอง ไต้หวันก็มีบริการเช่ารถยนต์ไว้สำหรับเป็นทางเลือกด้วยเช่นกัน
4 เส้นทาง 5 เมือง มุมลับแต่ไม่ลับฉบับอันซีน เที่ยวสไตล์ไหนก็ฟินจนต้องตกหลุมรัก
โจทย์สำคัญในทริปครั้งนี้ที่นักเดินทางทั้ง 4 ได้รับมอบหมายมาก็คือ การค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนในไต้หวันที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ทำให้ได้มาเป็นเส้นทางคัดสรรทั้ง 4 ที่ครอบคลุม 5 เมือง ได้แก่ ฮวาเหลียน ไถตง ไถหนาน เกาสง และเจียอี้ เมืองทั้ง 5 ตั้งอยู่ทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออกของไต้หวัน ทำให้แต่ละสถานที่มีมนตร์สเน่ห์เฉพาะของตัวเองด้วยลักษณะทางภูมิประเทศที่แตกต่างกัน เส้นทางทั้ง 4 นี้ การันตีว่าคุณจะได้พบกับธรรมชาติที่สวยงาม การออกแบบเมืองที่ลงตัว และแหล่งท่องเที่ยวที่น่าประทับใจ
แม้ใครจะเคยไปเที่ยวไต้หวันแล้ว ถ้าได้ลองไปอีกครั้งและเที่ยวตามรอยนักเดินทางของพวกเรา รับรองว่าจะได้มาเปิดประสบการณ์ท่องไต้หวันในมิติใหม่ที่ไม่จำเจอย่างแน่นอน
Route 1 : Hualien & Taitung
ฮวาเหลียน ปั่นจักรยาน-เดินชิล กินลมชมวิวมหาสมุทรแปซิฟิกเลียบหาดชีซิงถัน
ทริปครั้งนี้ตั้งต้นกันที่เมืองฮวาเหลียน อยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้นแน่นอนว่าเราจะต้องไปเยือนหาดชีซิงถัน (Qixingtan Beach) หาดหินและกรวดเล็ก ๆ ที่มีความยาวถึง 21 กิโลเมตร จะมาเดินชิลก็ได้ หรือถ้าอยากปั่นจักรยาน ที่นี่ก็มีเส้นทางจักรยานที่อยู่ถัดจากหาดชีซิงถันออกไปไม่ไกล แม้ว่าที่นี่จะลงเล่นน้ำเหมือนที่หาดบ้านเราไม่ได้เพราะระดับความลึกของน้ำมีมาก จึงมีความอันตราย แต่ทิวทัศน์แผ่นฟ้าปลอดโปร่งกระจ่างใส ผืนน้ำไล่ระดับสีน้ำเงินเข้มลึกล้ำ ภูเขาสูงตระหง่านตระการตา และสายลมพัดฉิวเย็นสบายของหาดแห่งนี้ก็สามารถเติมพลังชีวิตให้กับคนที่เดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจได้ดีทีเดียว
“ภูมิศาสตร์ของที่นั่นมันจะไม่เหมือนบ้านเรา บ้านเราจะไม่ค่อยมีภูเขาสูงที่ติดทะเล มันจะอยู่ลึกเข้าไปหน่อย แต่ว่าของเขาเนี่ยมันจะมีภูเขาสูงเป็นกำแพงด้านหลัง แล้วก็ข้างหน้าเป็นทะเลเลย เพราะฉะนั้นภาพที่เราเห็น พอมันไม่คุ้นตา มันจะรู้สึกอลังการมาก แล้วด้วยความที่ทะเลที่นี่เป็นมหาสมุทร ชายหาดเขาจะค่อนข้างสั้น พอมันหักลงไปทะเลปุ๊บ น้ำก็จะสีเข้มเลยทันที ซึ่งพอมันผสมกับน้ำสีเข้มแล้วก็ความสูงของภูเขาข้างหลัง ผมรู้สึกว่ามันน่าตะลึงมาก เวลาเราปั่นเลียบชายหาดเส้นนี้ มันเป็นทิวทัศน์ที่สวยมาก ทำเอาผมแทบไม่ได้มองทางเลย”
คุณเฟิสท์ผู้ไปถึงหาดซีซิงถันเป็นคนแรกตั้งแต่เช้ากล่าวถึงความประทับใจจากการปั่นจักรยานชมทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาสูงและมหาสมุทรแปซิฟิก ได้ฟังแบบนี้แล้วบอกเลยว่าใครที่ชอบชมธรรมชาติหรือเป็นสายถ่ายภาพไม่ควรพลาด
นอกจากนี้เส้นทางจักรยานของหาดชีซิงถันก็ยังเชื่อมต่อไปที่ทะเลสาบหลี่หยู (Liyu Lake) ที่อยู่ทางใต้ของเมืองฮวาเหลียนด้วย เมื่อปั่นจักรยานมาจากหาดชีซิงถันแล้ว ก็สามารถปั่นต่อเนื่องบนเส้นทางรอบทะเลสาบแห่งนี้ได้อีกถึง 5 กิโลเมตร หลี่หยูเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคฝั่งตะวันออกของไต้หวัน มีภูเขาสลับซับซ้อนโอบท้องน้ำสีเขียวปนฟ้าสะอาดใสอยู่ด้านหนึ่ง ให้ความรู้สึกสงบและผ่อนคลาย
นอกจากการปั่นจักรยานแล้วที่นี่ก็มีกิจกรรมให้เลือกทำหลากหลาย เช่น แคมป์ปิ้ง นั่งเรือชมทะเลสาบ ร้านอาหารหรือคาเฟ่ก็มี เหมาะสำหรับทริปครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง
มาเที่ยวไต้หวันแบบคนไทยสายชิม จะพลาดตลาดกลางคืนตงต้าเหมิน (Dongdamen Night Market) ไปไม่ได้ ตลาดแห่งนี้ตั้งอยู่กลางเมืองฮวาเหลียน มีอาหารมากมายหลากหลายให้เลือกลิ้มลอง ทั้งอาหารจีนตามตำรับจีนแผ่นดินใหญ่ อาหารไต้หวันที่พัฒนาปรับสูตรจากจีน และอาหารชนเผ่าต่าง ๆ คุณปลาแนะนำว่าถ้ามาตลาดตงต้าเหมินก็ต้องได้ลองกินอาหารซิกเนเจอร์ของที่นี่ นั่นก็คือข้าวโพดทาซอสสมุนไพรย่าง แถมให้อีกเมนูด้วยคือเต้าหู้เหม็น
“คนไทยเวลาเราไปประเทศที่เขามีระบบโครงสร้างพื้นฐานดี ๆ เราจะประทับใจกับเรื่องง่าย ๆ เช่นการออกแบบพื้นที่สาธารณะ ที่นี่ไม่ใช่แค่ตลาดขายอาหารนะ เขายังเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่มาแสดงดนตรี แสดงศิลปะด้วย เวทีแบบนี้จะกระจายอยู่รอบ ๆ เลย แล้วก็ตัวตลาดก็จะออกแบบให้เชื่อมโยงกับสวนสาธารณะที่อยู่ตรงท่าเรือ เดินไปเห็นเขาต่อเรือกันด้วย”
คุณปลาเอ่ยชมการออกแบบพื้นที่ของตลาดกลางคืนตงต้นเหมิน และยังกล่าวชมไปถึงระบบการจัดการขยะของไต้หวันด้วย คุณปลาเล่าว่าไม่เห็นขยะเลยแม้แต่ชิ้นเดียวที่นี่
ผจญภัยสะพายเป้ปีนภูเขา เยือนถิ่นเผ่านักรบชนพื้นเมืองไต้หวันที่เมืองไถตง
หลังจากที่เดินทางออกจากเมืองฮวาเหลียนแล้ว นักเดินทางของเราก็มุ่งลงใต้มาที่เมืองไถตง ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะเช่นกัน
คุณเฟิสท์กล่าวว่าเมืองไถตงมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ถ้าแวะมาคงจะน่าสนุก หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าต้องเป็นการเล่นกระดานโต้คลื่น ในฐานะที่เมืองไถตงได้ชื่อว่าเป็น Surf Town
แต่ทริปนี้เป็นทริปพิเศษ ที่ต้องเสาะหาความอันซีนไม่เหมือนใคร หลังจากที่ได้ไปกินลมชมวิวทะเลและทะเลสาบมาแล้ว นักเดินทางของเราจึงเลือกไปพิชิตภูเขาตูหลัน (Dulan Mountain) กันต่อ ภูเขาแห่งนี้มีเส้นทางเดินป่า ไป-กลับ รวมทั้งหมด 8 กิโลเมตร ผนวกกับระดับความชันที่ท้าทาย ทำให้การขึ้นเขาในครั้งนี้ใช้เวลาพอสมควร แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่า เพราะตูหลันมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาก สังเกตได้จากการมีกล้องดักสัตว์ติดตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ เส้นทางที่นี่มีการสร้างบันไดให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ไม่ทำลายทัศนียภาพอันสวยงามร่มรื่น ทำให้รู้สึกสดชื่นเพลิดเพลินเพราะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างแท้จริง
เดิมที ไต้หวันเป็นแหล่งที่อยู่ของชนเผ่าชนพื้นเมืองมาก่อน ภูเขาแห่งนี้เองก็เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่านักรบผู่โยวหม่า (Puyuma Tribe) เมื่อขึ้นไปจะเจอหินศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ที่ชนเผ่านี้สักการะบูชา บนหินมีอักษรภาษาจีนสลักอยู่ อ่านว่า ผู่โยวหม่า เป็นภาษาชนพื้นเมืองหมายถึง “ความเป็นหนึ่งเดียว” นักเดินทางของเราเล่าว่าระหว่างทางก็เจอคนไต้หวันท้องถิ่นเดินขึ้นลงเขาอย่างคล่องแคล่วอยู่เป็นระยะด้วย
เรื่องความปลอดภัยในการพิชิตภูเขาแห่งนี้รับรองว่าหายห่วง เพราะระหว่างทางมีข้อมูลกำกับค่อนข้างครบ มีป้ายบอกตลอดว่าเดินมากี่กิโลแล้ว เวลาเดินจะไม่รู้สึกว่าหลงป่าหรือหวาดหลัว ตรงไหนที่ไม่มีบันไดก็จะมีเชือกให้จับ มีหลายจุดบนเขาที่สามารถโทรขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย
Route 2 Kaohsiung
เกาสง เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมกับการออกแบบพื้นที่เพื่อมวลชน
เดินทางออกจากไถหนานมาทางใต้เราก็จะเจอกับเมืองเกาสง เมืองใหญ่อันดับ 3 รองจากไทเปและไถจง เป็นเมืองที่เจริญอีกเมืองหนึ่งเพราะเป็นถึงศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของไต้หวัน ด้วยเหตุนี้เองนักเดินทางของเราจึงอยากมาสำรวจดูว่าเมืองแห่งนี้มีการออกแบบพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นที่สวนพื้นที่ชุ่มน้ำจงตู (Zhongdu Wetland Park) เดิมเคยเป็นโรงงานไม้อัดเก่าทิ้งร้าง จนกระทั่งเทศบาลเมืองเกาสงพลิกฟื้นพื้นที่นี้ให้กลายมาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าชายเลนขนาดใหญ่ใจกลางเมือง คุณปลาเล่าว่าเมื่อเดินเข้ามาที่นี่ก็จะรู้สึกเย็นขึ้นในทันที ด้วยความชุ่มชื้นของแหล่งน้ำ ความร่มรื่นของต้นไม้ ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่ก็ยังมีนกเข้ามาอาศัยอยู่มากมาย ส่งเสียงร้องแว่ว ๆ เป็นระยะให้ความรู้สึกสงบผ่อนคลาย เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ขึ้นไปอีกจนถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศใจกลางเมืองได้เลย เที่ยวดูเมืองจนเพลียแล้วก็สามารถเข้ามาเดินเล่นหรือปั่นจักรยานเพลิน ๆ พักผ่อนหย่อนใจที่นี่ได้
สวนพื้นที่ชุ่มน้ำจงตูแห่งนี้จึงนับว่าเป็นตัวอย่างของการปรับปรุงพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประโยชน์ต่อมวลชน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติไปในตัวด้วย
จุดหมายถัดไปเราก็ไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะแห่งชาติเกาสง (National Kaohsiung Center for the Arts) ศูนย์ศิลปะการแสดงที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ตัวอาคารออกแบบโดย Francine Houben สถาปนิกชาวดัทช์ มีลักษณะรูปทรงโค้งเว้าเหมือนเกลียวคลื่นในคอนเซ็ปต์ความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับความเป็นศิลปะการแสดงอย่างดีเยี่ยม ด้านในมีโรงละครและหอแสดงดนตรีขนาดต่าง ๆ มีโรงละครกลางแจ้งทางด้านใต้ด้วย
สิ่งที่ประทับใจนักเดินทางของเราก็คือแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการแสดง แต่ประชาชนไต้หวันจำนวนมากก็ยังเข้ามาใช้พื้นที่แห่งนี้ในการทำกิจกรรมยามว่างกันได้ตามอัธยาศัย
“เหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะแห่งหนึ่งที่คนมาใช้ มันไม่ใช่พื้นที่ที่มีอยู่เฉย ๆ แต่ว่าคนมาสันทนาการในนั้นเลย มีเปียโนฟรีให้เล่น มีพื้นที่สำหรับการเล่นดนตรี ปั่นจักรยาน ผู้คนที่อยู่ในนั้นเหมือนไปเที่ยวห้างเลยครับ”
คุณเฟิสท์เล่า ยกให้ศูนย์ศิลปะแห่งชาติเกาสงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ออกแบบมาให้คนเข้ามาใช้สอยได้จริง
Route 3 Tainan
ไถหนาน สูดกลิ่นอายเมืองหลวงแรกแห่งไต้หวัน กับการออกแบบสถาปัตยกรรมและธรรมชาติที่ลงตัว
หลังจากเที่ยวเมืองฝั่งตะวันออกมาสองเมืองแล้ว เราก็ขยับมาเที่ยวฝั่งตะวันตกกันบ้าง เริ่มต้นที่เมืองไถหนาน อดีตเมืองหลวงและนครที่เก่าแก่ที่สุดของไต้หวัน คุณเฟี้ยตเล่าว่าที่เลือกเมืองนี้ก็เพราะอยากมาสำรวจดูว่า การออกแบบพื้นที่สาธารณะ สถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนที่นี่เป็นอย่างไร มีจุดที่น่าสนใจตรงไหนบ้าง เริ่มต้นที่ไถหนาน สปริง (Tainan Spring) ห้างสรรพสินค้าเก่ารกร้างที่ได้รับการแปลงโฉมมาเป็นลานน้ำพุกลางแจ้งกลางเมืองไถหนาน
“เราอยากรู้ว่าถ้าพื้นที่สาธารณะของเมืองเขาออกแบบมาแล้ว มีคนใช้งานไหม ในเวลากลางวัน ช่วงเช้า เราก็ไปตั้งแต่เก้าโมงเลย ดูว่าจะมีใครมาไหม ปรากฏว่ามีครับ มีเด็กมาวิ่งเล่น มีคนมานั่งอ่านหนังสือ”
คุณเฟี้ยตเล่า อีกทั้งยกให้ไถหนาน สปริงเป็นตัวอย่างของการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ดีและใช้งานได้จริง ทั้งนี้ คุณมาเรียเองก็ออกปากชมการออกแบบเมืองของไถหนานที่ให้ความสำคัญกับการคงธรรมชาติไว้ในเมือง
“เมืองไหนก็ตามที่เขาเก็บต้นไม้ไว้เยอะขนาดนี้มันน่าอยู่จังเลย ไถหนานให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมมาก ๆ เรารู้สึกว่ามันเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับเรา ตอนเดินเล่นก็รู้สึกว่าร่มรื่นมาก”
ยื่งไปกว่านั้น คุณมาเรียยังเล่าอีกด้วยว่าใกล้ ๆ เมืองก็มีพื้นที่ป่าโกงกาง อุโมงค์ต้นไม้ซื่อเฉ่า (Sicao Green Tunnel) สามารถมานั่งเรือลอดอุโมงค์ต้นโกงกางดื่มด่ำความร่มรื่นของธรรมชาติได้แบบเต็มอิ่ม
หากใครต้องการเปลี่ยนบรรยากาศพักจากธรรมชาติบ้าง คุณมาเรียก็แนะนำว่าต้องลองไปที่พิพิธภัณฑ์ฉีเหม่ย (Chi Mei Museum) ให้ได้ คุณมาเรียที่ไม่ใช่สายเดินชมพิพิธภัณฑ์ถึงกับยกให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่ประทับใจที่สุดในทริปครั้งนี้เลยทีเดียว
“พอมาที่นี่อดใจไม่ไหว เพราะว่ามันมีความแตกต่างจากไต้หวันที่เรารู้จักมากเลย เป็นไต้หวันที่น่าสนใจ แล้วเป็นอีกมุมมองหนึ่งที่อยากให้ทุกคนไป ตอนที่เขียนรีวิว ยังเขียนรีวิวเลยว่าเป็นสถานที่ที่ต้องห้ามพลาดถ้ามาไถหนาน”
คุณมาเรียกล่าว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สไตล์ยุโรป ข้างในจัดแสดงผลงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะศิลปะแบบคลาสสิกและอิมเพรสชันนิซึม นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดแสดงศาสตราวุธ ชุดเกราะโบราณ ซากกระดูกไดโนเสาร์ และสัตว์สต๊าฟต่าง ๆ ใครที่ชื่นชอบศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดีไม่ควรพลาดจริง ๆ
เมื่อมาถึงไถหนานที่ได้ชื่อว่าเป็นย่านอุตสาหกรรมเกลือ ก็ต้องแวะไปที่ภูเขาเกลือชีกู่ (Qigu Salt Mountains) ภูเขาสีขาวสะอาดตาที่เกิดจากการทับถมกันของก้อนเกลือจนมีขนาดมโหฬารถึงหนึ่งหมื่นตารางเมตรด้วยกัน สามารถเดินขึ้นไปถ่ายรูปเล่นและชมวิวนาเกลือจากมุมสูงได้ ข้าง ๆ มีพิพิธภัณฑ์เกลือทรงพีระมิดให้เข้าไปศึกษาเรื่องราวอุตสาหกรรมเกลือของไต้หวัน รอบ ๆ พิพิธภัณฑ์มีทางให้ปั่นจักรยานด้วย
คุณมาเรียบอกด้วยว่า หากไปที่นั่นในช่วงเวลาสนธยาเมื่อตะวันลาลับขอบฟ้า จะเห็นทิวทัศน์พระอาทิตย์สะท้อนนาเกลือสวยงามมาก
อีกสถานที่หนึ่งในไถหนานที่คุณมาเรียมั่นใจว่าคนไทยจะต้องชอบเช่นกัน โดยเฉพาะสายถ่ายภาพ ก็คือถนนคนเดินเสินหนง (Shennong Street) อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟมากนัก มีร้านค้าขายอาหารและของที่ระลึกมากมาย สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบกึ่งตะวันตก โดยเฉพาะตอนกลางคืนที่โคมไฟหลากสีส่องแสงสว่างไสว
Route 4 Chiayi
เจียอี้ มีดีมากกว่าอาลีซาน ชวนสำรวจความอันซีนที่ไม่ธรรมดาของเมืองสุดท้ายในทริปนี้ไปด้วยกัน
และแล้วก็มาถึงเมืองสุดท้ายของเราในทริปครั้งนี้ เมืองที่ตั้งอยู่เหนือเมืองไถหนานอีกที เมืองเจียอี้นั่นเอง หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักเจียอี้จากอุทยานแห่งชาติอาลีซาน (Alishan National Forest Recreation Area) หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของไต้หวัน ซึ่งทริปของเราจะไม่ได้ไปอาลีซานกัน แต่จะไปแสวงหาความ Unseen ที่น่าสนใจแทน ซึ่งก็คือพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ สาขาภาคใต้ (Southern Branch of the National Palace Museum) อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่คุณมาเรียแนะนำว่าต้องไปให้ได้เช่นกัน
“อันนี้เป็นอะไรที่เกินคาด ถ้าจะให้เลือกสองที่คือที่นี่กับฉีเหม่ย อุโมงค์ทางเดินมีช่องมีรูเยอะมาก ถ้าสายถ่ายรูปคิดว่าน่าจะใช้เวลาเดินชั่วโมงนึงด้วยซ้ำ เพราะว่ามีจุดให้แวะถ่ายภาพตามทางเดิน”
คุณมาเรียกล่าว เล่าให้พวกเราฟังอีกด้วยว่าที่นี่มีการจัดนิทรรศการเวียน ซึ่งในระหว่างที่คณะเดินทางของเราไปเยี่ยมชมนั้นเป็นนิทรรศการหนุมานนานาชาติ มีหุ่นฟิกเกอร์หนุมานจากชาติต่าง ๆ มาจัดแสดง ทั้งเอเชียใต้ อินโดนีเซีย รวมถึงของไทยเราด้วย หากลองไปหลังจากนี้ก็น่าลุ้นเหมือนกันว่าครั้งหน้าจะมีนิทรรศการอะไร
อีกไฮไลต์หนึ่งของที่นี่ก็คือทิวทัศน์ดอกกัลปพฤกษ์บานบริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ ทริปนี้จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายนซึ่งตรงกับช่วงที่ต้นกัลปพฤกษ์ที่ไต้หวันผลิดอกบานรับฤดูใบไม้ผลิพอดี นักเดินทางของเราโชคดีไม่ได้คิดว่าจะบังเอิญมาตรงกับช่วงที่ดอกไม้บานสะพรั่งจึงพลอยได้ภาพถ่ายสวย ๆ มาอวดพวกเรากันไม่น้อย ใครที่อยากจะมาตามรอยชมดอกกัลปพฤกษ์บาน ณ ไต้หวันบ้าง ก็ต้องดูฤดูกาลให้ดี
แม้แต่เรื่องธรรมดา ๆ ในเมืองเจียอี้ ก็สามารถสร้างความประทับใจที่ไม่ธรรมดาให้กับนักเดินทางของเราได้เช่นกัน คุณเฟี้ยตเล่าว่าขณะที่ปั่นจักรยานสำรวจเมืองนั้น ก็พบว่าการวางผังเมืองของเจียอี้เป็นระเบียบระเบียบมาก ผังเมืองเป็นแบบบล็อกขนาดสมมาตร ถนนทุกสายเชื่อมถึงกันหมด สิ่งที่โดดเด่นมากคือการวางระบบไฟจราจรที่เป็นระเบียบบนถนนสายหลัก ไม่ว่าไฟจะแดง-เขียว ก็แดง-เขียวเหมือนกันตลอดทั้งสาย ทำให้ไม่ค่อยเจอปัญหารถติดเลย
แผ่นดินไหว แต่ไต้หวันไม่หวั่นไหว
ในช่วงท้ายของงานเสวนา นักเดินทางทั้ง 4 ของพวกเราได้เฉลยว่าในระหว่างที่กำลังออกทริปนั้นได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นด้วย นั่นก็คือแผ่นดินไหวขนาด 7.4 คณะเดินทางของเราก็มีตื่นตระหนกกันบ้าง โดยเฉพาะคุณปลาและคุณเฟิสท์ เพราะจุดกำเนิดแผ่นดินไหวคือเมืองฮวาเหลียน ที่ที่ทั้งคู่กำลังออกทริปกันอยู่พอดี
“ตอนแรกไม่รู้ คิดว่ายางจักรยานระเบิด เพราะจักรยานมันส่ายไปส่ายมา ทางข้างหน้ามีโรงแรม เห็นสระน้ำบนดาดฟ้ากระฉอก ตอนนั้นเราถึงรู้ว่าแผ่นดินไหว”
คุณเฟิสท์เล่าว่าเกิดแผ่นดินไหวตอนที่กำลังปั่นจักรยานชมหาดชีซิงถันอยู่ บอกว่าสถานการณ์ตอนนั้นวุ่นวายมาก โดยเฉพาะเมื่อสัญญาณเตือนสึนามิดังสร้างความสับสนให้กับคนในพื้นที่ มีทั้งคนที่วิ่งออกมาจากตึกเพราะแผ่นดินไหวและคนที่วิ่งกรูขึ้นไปบนตึกเพราะกลัวสึนามิ
แต่กระนั้นทุกคนก็เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าท่ามกลางความตื่นตระหนก ทางการไต้หวันควบคุมสถานการณ์ได้ดี และมีมาตรการเตือนภัย ช่วยเหลือผู้คนอย่างเป็นระบบ ทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่สภาวะปกติได้ในเวลาไม่นาน
“ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เขาอยู่ในวงแหวนแห่งไฟอยู่แล้ว ยังไงก็เลี่ยงไม่ได้ มันเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ดีคือการเตรียมการรับมือของทางรัฐบาลว่าจะช่วยคนที่ติดอยู่ตรงนี้ยังไงได้บ้าง ตอนแรกเราค่อนข้างตกใจที่เขาบอกว่ารถไฟระงับการใช้งานเพราะมีเส้นทางที่เสียหาย แต่เราก็พบว่าเขาฟื้นฟูเร็วมาก แสดงว่าเขามีมาตรการสำรองเตรียมไว้อยู่แล้วเสมอ”
คุณเฟิสท์เล่า ชื่นชมทางการไต้หวันที่แม้แผ่นดินไหวจะสร้างความเสียหายให้กับระบบขนส่งสาธารณะแต่ก็ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างหยุดชะงักอยู่นาน แสดงถึงความห่วงใยในสวัสดิภาพของชาวไต้หวันและนักท่องเที่ยวผู้ประสบภัย
“น่ากลัวค่ะ น่ากลัวมาก เราอาจจะไม่ได้คิดว่ามันแรงจนกระทั่งเห็นว่ารถตู้ของเราเสียหายเพราะเศษปูนข้างนอกตกใส่ แต่ว่าท่ามกลางความตื่นตระหนกใด ๆ ของเรา เขาจัดการให้เราเร็วมาก รถตู้ที่เสียหาย เขาสามารถหาคนขับและรถตู้คันใหม่มาให้เราภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง”
คุณปลากล่าว เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีมาตราการในการรับมือกับภัยพิบัติที่เข้มแข็งจริง ๆ สามารถไปเที่ยวได้อย่างผ่อนคลายสบายใจแน่นอน หากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นก็รู้สึกอุ่นใจได้ เพราะไต้หวันให้ความสำคัญต่อการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ มาก
จุดประสงค์ของงานเสวนาและเคมเปญในครั้งนี้ไม่ใช่การสร้างคอนเทนต์เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ของนักเดินทางทั้ง 4 แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชิญชวนให้คนไทยทุก ๆ คนลองไปท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ที่ไต้หวันด้วยตนเอง ลองไปในที่ใหม่ ๆ ที่ที่ไม่เคยรู้จัก ที่ที่ยังไม่ได้รับการบอกเล่า ไม่แน่ว่าคุณอาจจะได้บุกเบิกประสบการณ์ใหม่ที่พิเศษไม่แพ้คณะเดินทางของเราก็ได้ ตามที่คุณปลาได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
“สิ่งที่ไม่คาดฝัน ก็อาจจะส่งอะไรดี ๆ มาให้เราก็ได้นะคะ”
เรื่อง สโรชิณีย์ นิสสัยสุข
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
ภาพ ธนายุต วิลาทัน
*********************
อ่านประสบการณ์การท่องเที่ยวไต้หวัน ภายใต้แคมเปญ “Walk and Bike to the Unseen of Taiwan – ปั่นได้ฟีล ท่องวิวใหม่ที่ไต้หวัน” ทั้ง 4 เส้นทาง 5 เมือง ฉบับเต็ม ได้ที่นี่
Route 1 : Hualien & Taitung ท่องธรรมชาติกับกิจกรรมหลากหลายในเมืองชายฝั่งตะวันออก
Route 3 : Tainan City เมืองหลวงเก่า 400 ปี มีดีที่สถาปัตยกรรมและธรรมชาติ