ยกระดับการปีนเขาที่ยาก ให้ยากขึ้นแบบทวีคูณ

ยกระดับการปีนเขาที่ยาก ให้ยากขึ้นแบบทวีคูณ

“จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อนักปีนเขาเก่งกาจที่สุดในโลกสองคน

เพิ่มการผจญภัยระยะทาง 4,200 กิโลเมตร ด้วยการปั่นจักรยาน

แล่นเรือ ล่องแพ และพายเรือ เพียงเพื่อไปให้ถึงเทือกเขา

ที่ได้ชื่อว่าปีนยากที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา”

ไม่นานก่อนหน้านี้ เหล่านักปีนผามือฉมังของโลกปีนป่ายภูผาน่าตื่นตาโดยแทบไม่มีใครล่วงรู้ แต่สองนักปีนมือดีที่สุดของกีฬาชนิดนี้ ทำให้ทั้งหมดนั้นเปลี่ยนไป ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทอมมี คอลด์เวลล์ และอเล็กซ์ ฮอนโนลด์ ประสบความสำเร็จในการปีนแนวบุกเบิกอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวเอกในภาพยนตร์สารคดีที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและผลักดันการปีนเขาเข้าสู่กระแสหลัก ทั้งหมดนี้ส่งให้ทั้งสองกลายเป็นคนดังระดับโลก คอลด์เวลล์แจ้งเกิดในปี 2015 เมื่อเขากับคู่หูพิชิตเส้นทางที่ถือว่าปีนยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในตอนนั้น ซึ่งก็คือเส้นทางผาดอว์นวอลล์ (Dawn Wall) ในอุทยานแห่งชาติโยเซมิทีที่ใช้เวลาปีน 19 วัน สองปีต่อมา ฮอนโนลด์ทำให้คำว่า “ฟรีโซโล่” กลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วไป เมื่อเขาพิชิตยอดเขาหินตั้งเอลแคพิแทนอันโด่งดังของอุทยานเดียวกันโดยไม่ใช้เชือก ซึ่งได้รับการบันทึกไว้ในภาพยนตร์สารคดีรางวัลออสการ์

ก่อนจะปีนสู่ยอดหยักแหลมของเดวิลส์ทัมบ์ในอะแลสกา นักปีนเขา ทอมมี คอลด์เวลล์ และอเล็กซ์ ฮอนโนลด์ต้องทำภารกิจสุดขั้วอีกอย่างหนึ่งเพียงเพื่อไปถึงที่นั่น นั่นคือการเดินทางผจญภัยแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากรัฐโคโลราโดด้วยจักรยาน เรือ และการเดินเท้า

แม้ยังคงมุ่งมั่นและหลงใหลในการปีนเขา ทั้งสองต่างพูดถึงประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมบ่อยขึ้น เมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว พวกเขาจึงจับมือกันลองทำสิ่งใหม่ ตอนนั้น คอลด์เวลล์เริ่มสนใจ “การปีนเขาแนวอีโคพอยต์”(ecopointing) ศัพท์ที่นักปีนเขาชาวยุโรปจำนวนหนึ่งนิยมใช้ เพื่อบรรยายถึงการผจญภัยแบบใช้พลังงานจากร่างกายมนุษย์ที่จะไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เขานึกสงสัยว่า การปีนเขาแบบรักษ์สิ่งแวดล้อมขั้นสูงสุดเป็นอย่างไร

เทือกเขาในสายหมอกสะท้อนบนผิวทะเลสาบซีเนอรีในอะแลสกา ซึ่งฮอนโนลด์กับคอลด์เวลล์ตัดสินใจพายเรือยางข้าม โดยเป็นช่วงหนึ่งของเส้นทางไปยังจุดปีนเขา

ทั้งสองตั้งเป้าไปที่เดวิลส์ทัมบ์ (Devils Thumb) ภูเขาสูง 2,700 เมตรโดดเดี่ยวห่างไกลในอะแลสกา ที่คนจำนวนมากมองว่าไม่อาจปีนได้ เพื่อทำให้ภารกิจนี้ทรหดเข้มข้นมากขึ้นไปอีก สองสหายออกเดินทางด้วยจักรยานจากบ้านของคอลด์เวลล์ในรัฐโคโลราโด ไปตามเส้นทาง 4,200 กิโลเมตรที่จะตัดผ่านภูมิประเทศที่มีทิวทัศน์งดงามที่สุดหลายแห่งในอเมริกาเหนือ การเดินทางอันทรหดยาวนานถัดจากนั้น ต้องอาศัยทั้งเรือใบ เรือคายักทะเล เรือยาง และการเดินเท้าทางไกลฝ่าป่าดิบชื้นบริสุทธิ์ ยังไม่ต้องพูดถึงการปีนเขาที่ยากระดับเวิลด์คลาส

(วันที่ 1) ทอมมีกับเบ็กกา คอลด์เวลล์ ซึ่งแต่งงานกันมา 14 ปีแล้ว และเป็นเพื่อนสนิทกับอเล็กซ์ ฮอนโนลด์ (ซ้าย) ร่ำลากันก่อนคอลด์เวลล์กับฮอนโนลด์ออกเดินทางจากเอสเตสปาร์ก รัฐโคโลราโด

การเดินทางของพวกเขาได้รับการบันทึกไว้ใน The Devil’s Climb ภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ของเนชั่นแนล  จีโอกราฟฟิกที่รับชมได้ทาง Disney+ นักเขียน มาร์ก ซินนอตต์ ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ปีนเขามืออาชีพ พูดคุยกับคอลด์เวลล์ วัย 46 และฮอนโนลด์ วัย 39 ถึงสิ่งที่พวกเขาพานพบในเส้นทาง ความท้าทายที่ซ่อนอยู่ของการปีนเขา แนวอีโคพอยต์ พวกเขาหาจุดลงตัวอย่างไรระหว่างความเสี่ยงและความรับผิดชอบในฐานะพ่อของลูกยังเล็ก และธรรมเนียมปฏิบัติอันล่อแหลมของการถ่ายภาพขณะยืนบนยอดเขาขนาดพอ ๆ กับกล่องพิซซ่า บทสนทนานี้ได้รับการเรียบเรียงเพื่อความกระชับและชัดเจน

สองสัปดาห์แรกของการเดินทางนำพานักปีนเขาทั้งสองข้ามผ่านรัฐมอนแทนาและไวโอมิง (วันที่ 6) พวกเขากินข้าวและกลืนกินสายรุ้งด้วยกัน
ในการเดินทางพวกเขาปั่นไปตามทางลูกรังและเส้นทางต้อนวัวเคียงข้างฝูงม้าป่า และออกกำลังนิ้วด้วยการโหนแฮงก์บอร์ดสม่ำเสมอเพื่อเตรียมปีนเมานต์ฮูกเกอร์

มาร์ก ซินนอตต์: แนวคิดสำหรับทริปนี้มาจากไหนครับ

ทอมมี คอลด์เวลล์: ผมอยากปั่นจักรยานทางไกลมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ผมเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับป่าสงวนแห่งชาติตองแกสส์ที่ครอบคลุมพื้นที่ด้ามกระทะเกือบทั้งหมดของอะแลสกา และเป็นป่าฝนเขตอบอุ่นผืนใหญ่ที่สุดในโลก ผมพยายามคิดหาวิธีมาตลอดที่จะทำให้การคุ้มครองป่าผืนนี้เป็นประเด็นที่ผู้คนจะให้ความสนใจอย่างมาก เดิมที ผมอยากปั่นจักรยานไปอะแลสกาแบบโซโล่ แต่ก็มาคิดได้ว่า มันจะสนุกกว่าเยอะถ้าทำกับเพื่อน ผมเลยโทรหาอเล็กซ์ ตอนแรก เขาปฏิเสธ

อเล็กซ์ ฮอนโนลด์: พูดให้ชัดนะครับ ที่ผมปฏิเสธเพราะแนวคิดแรกเริ่มของทอมมี รวมถึงการพายเรือคายักเลาะเลียบชายฝั่งทั้งหมดของอะแลสกา มันจะเป็นทริปสองเดือนครึ่ง ซึ่งนานเกินไปที่ผมจะต้องทิ้งครอบครัว ผมเคยปั่นจักรยานผจญภัยที่สุดยอดมากมาแล้วสองสามครั้ง และก็รู้สึกมาตลอดว่าเป็นวิธีที่ยอดมากที่จะได้ดื่มด่ำกับภูมิทัศน์ ผมเลยค่อนข้างหวังว่า การผจญภัยครั้งนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวผม

ซินนอตต์: แล้วเป็นอย่างที่หวังไหมครับ

ฮอนโนลด์: ก็ไม่เชิงครับ มันเป็นการผจญภัยที่สุดยอดมาก พวกเราได้ปีนเส้นทางเจ๋งๆ หลายช่วง แต่บอกตามตรง ช่วงปั่นจักรยานข้ามแดนตะวันตกออกจะยืดเยื้อน่าเบื่อไปหน่อย แล้วสิ่งที่ผมเห็นก็ชวนศร้าใจ เราได้เห็นผลกระทบของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติ  ในแบบที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน เราปั่นจักรยานมาได้ 3,800 กิโลเมตร และโดยทั่วไป สถานที่ประเภทเดียวที่ไม่ถูกย่ำยีคืออุทยานแห่งชาติต่างๆ ทุกหนแห่งที่เหลือดูเหมือนมีการตัดไม้ หรือทำเหมือง หรือไม่ก็ถูกสกัดบางอย่างออกไป ชุมชมจำนวนมากที่เราปั่นผ่านก็ดูไม่เหมือนกำลังรุ่งเรือง เมืองจะใหญ่โตขึ้น เมื่อพวกเขาตัดต้นไม้ทั้งหมดออกไป แล้วต้นไม้ก็ถูกตัดจนหมด แต่พื้นที่นั้นกลับล่มสลาย

ในเทือกเขาเพอร์เซลล์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐบริติชโคลัมเบีย ฮอนโนลด์ไต่ขึ้นผาที่เรียกกันว่า เส้นทางช็อกโกแลตฟัดจ์บราวนี่ของทิวเขาบั๊กกาบู
ฮอนโนลด์กับคอลด์เวลล์ (ขวา) เริ่มปีนตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อให้แน่ใจว่าจะไปถึงยอดเขาในช่วงกลางวัน

คอลด์เวลล์: การได้เห็นผลกระทบที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลตั้งแต่แรกว่า ทำไมเราถึงทำทริปนี้ มีแต่จะตอกย้ำว่า เราได้ทำลาย(โลก)ไปแล้วมากแค่ไหน และแสดงให้เห็นชัดเจนด้วยว่า อุทยานแห่งชาติสำคัญเพียงใด เพราะมันเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวที่เราพูดได้ว่ายังบริสุทธิ์อยู่มาก

ฮอนโนลด์: ผมเข้าร่วมทริปนี้โดยไม่มีความรู้จริงจังเกี่ยวกับพื้นที่ตอนในของบริติชโคลัมเบีย ผมแค่คิดเอาเองว่า ยิ่งเราขึ้นเหนือไปไกลขึ้น ก็จะยิ่งมีป่าบริสุทธิ์และเป็นธรรมชาติมากขึ้น ปรากฏว่าผืนป่าถูกตัดราบเตียนไปหมดแล้ว ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา ในฐานะนักปีนผา เราใช้เวลาเยอะมากในธรรมชาติที่เป็นป่าเขา บนยอดเขา และสถานที่ซ่อนเร้นห่างไกลที่สุด ผมคิดว่าเพราะอย่างนี้ผมจึงเข้าใจผิดว่า ข้างนอกยังมีธรรมชาติที่ไม่ถูกแตะต้องเหลืออยู่อีกมาก ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากทริปนี้คือ สถานที่เดียวในโลกที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมหาศาลจากมนุษย์ คือสถานที่ที่เข้าถึงได้ยากเกินไป หรือไม่มีอะไรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่เลย

ซินนอตต์: ช่วยบอกหน่อยเถอะ คุณได้ประสบการณ์ดี ๆ มาด้วยเหมือนกัน

ฮอนโนลด์:  แน่นอน มีพระอาทิตย์ตกกับพระอาทิตย์ขึ้นสวย ๆ ให้ดื่มด่ำเยอะมาก และผมจำได้ว่ากำลังปั่นอยู่บนเส้นทางไอซ์ฟีลด์สปาร์กเวย์ในแอลเบอร์ตาท่ามกลางพายุ ตอนที่ตระหนักขึ้นมาว่า เรากำลังใช้ชีวิตกลางแจ้งในธรรมชาติอย่างแท้จริง นี่ล่ะจุดมุ่งหมายของการผจญภัย ใช่ไหม

 คอลด์เวลล์: ทางใต้ของไวโอมิง ภูมิประเทศมีชีวิตชีวาขึ้นมาเลยสำหรับผม ทั้งสายรุ้งกับพายุฝนฉ่ำเย็น ม้าป่าวิ่งมาต้อนรับเรา พอถนนสิ้นสุดลง เราแล่นเรือในช่วงสุดท้ายของเส้นทางไปสู่เดวิลส์ทัมบ์ วันไหนมีพายุ เราจะจอดเรือในอ่าวเล็ก ๆ แล้วออกไปพายเรือคายักในทะเล แถวนั้นมีนากใช้หินก้อนเล็กๆ ทุบเปลือกหอย วันหนึ่ง ผมพายไปขึ้นเกาะ แห่งหนึ่งที่มีแมวน้ำประมาณ 50 ตัว พวกมันพากันไถลลงมหาสมุทรเมื่อผมเข้าไปใกล้ และเราบังเอิญได้เห็นปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า การล้อมจับเหยื่อโดยใช้ฟองอากาศ ซึ่งพวกวาฬหลังค่อมที่ออกล่าเป็นฝูง ว่ายวนเป็นวงกลม แล้วพ่นฟองอากาศเป็นตาข่ายล้อมฝูงปลาไว้ข้างใน  จากนั้นวาฬทั้งหมดก็โผขึ้นเหนือน้ำพร้อมกัน แล้วคุณก็เห็นปากอ้ากว้างเป็นสิบปาก ระหว่างเดินป่าเข้าไปยังภูเขา ตอนนั้นปลาแซมอนกำลังอพยพกลับสู่ต้นน้ำเพื่อวางไข่ ทั้งแม่น้ำดูเหมือนมีปลามากกว่าน้ำ ซากปลานับพันตัวกระจายเกลื่อนไปทั่ว พวกหมีได้จับกินกันเปรมเลยครับ

ที่ธารน้ำแข็งวิตเชสคัลดรอนในอะแลสกา ฮอนโนลด์ใช้เวลาครู่หนึ่งล้างหน้าด้วยน้ำจากบ่อเล็กๆ ที่ก่อตัวขึ้นในธารน้ำแข็ง

ซินนอตต์: พวกคุณไปปีนเดวิส์ทัมบ์ ซึ่งเป็นภูเขาที่ขึ้นชื่อว่าปีนยากสุดติ่ง ตอนนี้คุณเป็นพ่อคนแล้วทั้งคู่ การมีลูกทำให้การประเมินความเสี่ยงของพวกคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม

ฮอนโนลด์: ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าคือการใช้เวลาของผม  ลูกๆ ผมกำลังเข้าสู่วัยสนุกที่จะอยู่ด้วย  ผมอยากใช้เวลาอยู่กับพวกแก ทำอะไรสนุกๆ ด้วยกัน ผมเลยนึกสงสัยว่า การที่ผมใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ก็คงเท่ากับผมรับความเสี่ยงน้อยลง แต่ก็เห็นได้ไม่ยากด้วยว่าอาจตรงข้ามกันเลย ในแง่ที่ผมชอบเล่นใหญ่เป็นพิเศษเป็นครั้งคราว เพราะใจมันดันรักการปีนผาแบบโซโล่ แล้วที่รู้ๆ การปั่นจักรยานระยะทาง 3,800 กิโลเมตรเลียบไปตามทางหลวงน่าจะอันตรายกว่าการปีนเขาส่วนใหญ่ที่ผมเคยทำมาแน่ ๆ

ซินนอตต์: อันตรายกว่าปีนเอลแคพิเทนแบบโซโล่ไหม

ฮอนโนลด์ (หัวเราะ): แหม่ น่าจะไม่นะครับ

คอลด์เวลล์: สมัยเป็นนักปีนหนุ่มน้อย พ่อจะบอกผมเสมอว่า ผมควรหลีกเลี่ยงการปีนเส้นทางที่เป็นน้ำแข็ง และการปีนแบบฟรีโซโล่… ผมไม่อยากเอาชีวิตไปทิ้งบนเทือกเขาหิมาลัย ผมพบเจอคนมากหน้าหลายตาที่เลือกไปปีนภูเขาสูงใหญ่ที่สุดในโลก แล้วสุดท้ายต้องลงเอยด้วยการหย่าร้าง หรือไม่ก็จบชีวิต ถึงอย่างนั้น ผมก็รับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง แค่ไม่กระหายความเสี่ยงเท่าอเล็กซ์ ผมเต็มใจเผชิญกับมันเป็นบางครั้ง แต่ผมจะพยายามควบคุมให้ยังอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้สำหรับตัวเอง แต่จะว่าไปแล้ว ผมน่าจะเข้มงวดกับตัวเองน้อยลงบ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองมากขึ้น

จุดเริ่มต้นของปลายทาง: ฮอนโนลด์กับคอลด์เวลล์ปีนขึ้นยอดเขาแคตส์เอียร์ส ซึ่งเป็นความพยายามครั้งแรกใน การปีนยอดเขาทั้งห้าของมวลเขาสูงเดวิลส์ทัมบ์

ซินนอตต์: ทำไมคุณถึงพยายามจัดทริปนี้โดยใช้พลังงานจากร่างกายมนุษย์เท่านั้น

คอลด์เวลล์: นักปีนเขาชาวยุโรปกำลังอินกับแนวคิด “การปีนเขาแนวอีโคพอยต์” ซึ่งโดยพื้นฐานคือการเดินทางไปยังหน้าผาหรือจุดปีนโดยไม่ใช้รถยนต์ ต่อมา เพื่อนชาวเบลเยียม เซบัสซีย็อง แบร์เต อยากกลับไปปีนผาดอว์นวอลล์ซ้ำ แต่เขาไม่เดินทางด้วยเครื่องบิน เขาตัดสินใจแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ทริปซึ่งควรจะใช้เวลาเดือนเดียวเลยกลายเป็นการเดินทางยาวนานถึงหกเดือน ผมเจอเขากับทีมในโยเซมิที ผมบอกได้เลยว่า ประสบการณ์นั้นทำให้พวกเขาผูกพันกันมาก เมื่อคุณตั้งกฎหรือข้อจำกัดพวกนี้ในการผจญภัยของคุณด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม มันทำให้ทริปใหญ่โตและสนุกขึ้นมาก

ขณะฮอนโนลด์กับคอลด์เวลล์ฉลองการพิชิตเดวิลส์ทัมบ์ ทุกแง่มุมของการเดินทางของพวกเขามีความหมายใหม่ “มันง่ายมากที่จะเห็นกับตาว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพียงใดในเทือกเขาสูงใหญ่” ฮอนโนลด์บอก

ซินนอตต์: การเดินทางของทีมถ่ายทำสารคดีของคุณไม่รักษ์ธรรมชาติเท่า คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

คอลด์เวลล์: ผมคิดมากเหมือนกันในเรื่องนี้  มันเป็นเรื่องหนึ่งที่คุณต้องเลือกระหว่างการทำสิ่งที่รักษ์ธรรมชาติแบบสุดตัว หรือการบอกเล่าเรื่องราวที่ทรงพลัง ผมรู้สึกว่าการได้บอกเล่าอะไรบางอย่าง(เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติตองแกสส์) น่าจะคุ้มกับการยอมการประนีประนอมกับความรักษ์ธรรมชาติของทริปนี้ลงบ้าง

ฮอนโนลด์ : เป็นเรื่องยากที่จะจัดทริปสำรวจแนวรักษ์ธรรมชาติในโลกที่ชุ่มโชกด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล เราพยายามเดินทางด้วยเรือใบในช่วงหนึ่งของเส้นทาง แต่ลมกับกระแสน้ำไม่เป็นใจ เราจึงต้องล่องเรือด้วยน้ำมันแทน ถ้าเรานั่งเครื่องบินเล็กไป เป็นไปได้ว่าน่าจะใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่า ทริปปีนเขาครั้งนี้เป็นแบบนี้ตลอดครับ ประมาณว่า นี่เป็นการผจญภัยที่สุดยอดมาก แต่หนทางนี้มันใช่แล้วจริง ๆ หรือ

 คอลด์เวลล์: ผมเข้าใจที่อเล็กซ์พูด การปีนเขาแนวอีโคพอยต์ไม่ใช่ทางออกด้านสิ่งแวดล้อมของโลก แต่พอคิดว่าการครุ่นคิดถึงทางออกด้านสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนทริปปีนเขาครั้งนี้ให้กลายเป็นการสำรวจที่ได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติและโลกรอบตัวนานถึงสองเดือน บอกตามตรงครับว่า นี่เป็นประสบการณ์ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตผม

เรื่อง มาร์ก ซินนอตต์

ภาพถ่าย เรนัน ออซเติร์ก

แปล อ้ครมุนี วรรณประไพ


อ่านเพิ่มเติม : ล่าแสงเหนือ ในแคนาดา ที่นี่…ไม่มีถนนไปถึง

Recommend