Water Festival 2025 : พายเรือ – ชมกรุง คลองผดุงกรุงเกษม

Water Festival 2025 : พายเรือ – ชมกรุง คลองผดุงกรุงเกษม

“เที่ยวสงกรานต์ ทริปพายเรือ ชมเมืองรอบคลองผดุงกรุงเกษม”

เส้นทางยาว 5.5 กิโลเมตร จากท่าตลาดเทวราชถึงหัวลำโพงกับ Kayak Half Day Trip กิจกรรมไฮไลต์ของ ‘เทศกาลวิถีน้ำ วิถีไทย’  Water Festival 2025 ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ได้คุณปิติ เสรเมธากุล จากอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมและพานักพายเมือเก่า-ใหม่ กว่า 30 คน ออกเดินทางด้วยเรือที่ประดิษฐ์ขึ้นจากขยะเหลือใช้

กิจกรรมเริ่มต้นที่ท่าตลาดเทวราช ผู้เข้าร่วมต้องนำขยะรีไซเคิลมาแลกกับการลงทะเบียน ก่อนจะได้ตกแต่งไม้พายส่วนตัวที่ทำจากพลาสติกเหลือใช้ให้กลับไปเป็นของที่ระลึก จากนั้นก็มีการสอนเทคนิคการพายเรือ วิธีสื่อสารกลางน้ำ เช่น การชูไม้ผายเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือส่งสัญญาณให้ขบวนเรือชิดซ้าย-ขวา ก่อนที่ขบวนเรือจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากท่าเทวราชมุ่งหน้าสู่คลองผดุงกรุงเกษม คลองเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 

เส้นทางช่วงต้นของคลองนี้คือส่วนหนึ่งของย่านราชการที่สำคัญในประวัติศาสตร์ เพราะหากนับจากฝั่งเหนือของคลองผดุงกรุงเกษม ไล่ลงมาจนถึงแยกมัฆวาน จะพบว่ามีหน่วยงานของรัฐและวัดสำคัญตั้งอยู่เรียงราย เช่น อาคารสูงสีครีมขององค์การสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กระทรงศึกษาธิการ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ที่แม้มองไม่เห็นจากผิวน้ำโดยตรง แต่ก็อยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ช่วงตึก เป็นวัดหลวงที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งสะท้อนการผูกพันระหว่างสถาบันศาสนาและพื้นที่การปกครองของเมือง

พอพวกเราพายมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ คุณปิติก็ชี้ให้เราดูลักษณะของสภาปัตกรรมที่ทำให้สะพานนี้โดดเด่นกว่าสะพานใด ๆ ในกรุงเทพฯ นั่นก็คือ เสาหินอ่อนสี่มุมสะพานที่รองรับโคมไฟสำริด และผนังเชิงลาดของสะพานที่ประดับด้วยหินอ่อนที่มาจากอิตาลี แต่สิ่งที่สะดุดตาเรามากที่สุดกลับเป็นตราสัญลักษณ์รูปช้างเอราวัณที่กลางสะพาน สัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดที่สุด เมื่อเดินทางด้วยเรือมายังจุดนี้เท่านั้น

 

หลังลอดใต้ สะพานมัฆวานรังสรรค์ มาแล้ว ขบวนเรือก็เข้าสู่ช่วงกลางของเส้นทาง คลองยังคงทอดตัวยาวตรงและเงียบสงบ ขณะที่ฝั่งคลองเริ่มเปลี่ยนจากย่านราชการมาเป็นชุมชนเมืองหลวงเก่า อาคารพาณิชย์เรียงรายแนบขอบน้ำ 

ถัดจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ไม่นาน เราจะพายลอดใต้สะพานเทวกรรมรังรักษ์ สะพานเก่าแก่ที่เชื่อมถนนนครสวรรค์กับย่านนางเลิ้ง เมื่อมองไปด้านขวาจะเห็นโซนของ ตลาดนางเลิ้ง และบ้านไม้โบราณริมคลองที่ยังอิงอยู่กับวิถีเดิม บางบ้านปลูกต้นไม้ไว้ริมรั้ว บางบ้านมีเรือนแถวไม้ยื่นมารับแดด นี่คือภาพของกรุงเทพฯ ที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ

พายต่ออีกเล็กน้อยก็ถึง สะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “สะพานขาว” ด้วยสีสะพานที่โดดเด่นและสถาปัตยกรรมเรียบง่ายที่ชวนให้นึกถึงภาพกรุงเทพฯ ในยุคเปลี่ยนผ่าน สะพานนี้เชื่อมถนนหลานหลวงกับถนนลูกหลวง เป็นจุดสำคัญของย่านการค้า ซึ่งเริ่มเห็นภาพของร้านขายผ้าและร้านส่งของขนาดใหญ่ตลอดสองฝั่งคลอง

จากจุดนี้เป็นต้นไป เส้นทางจะพาเราเข้าสู่โซนที่คึกคักที่สุดของทริป ตลาดมหานาค และ ตลาดโบ๊เบ๊ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของการค้าส่งในกรุงเทพฯ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ตลอดสองฝั่งคลองเต็มไปด้วยเรือขนสินค้าเล็ก ๆ อาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม และโกดังเก็บของที่สร้างแนบกับน้ำอย่างแนบเนียน ไม่ใช่แค่เห็นภาพของการค้าเท่านั้น แต่ยังเห็นร่องรอยของระบบขนส่งที่อาศัยน้ำเป็นเส้นทางหลักในอดีต

ก่อนถึงจุดหมาย เราจะพายผ่าน ตึกแดง-ตึกขาว อาคารพัสดุยศเส และอาคารตึกบัญชาการ ที่ทำหน้าที่สำคัญในการเป็นสำนักงานของการรถไฟมาเกือบ 100 ปี และยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้อย่างสวยงาม

ปลายทางของทริปนี้คือ ท่าหัวลำโพง แม้จากคลองจะไม่สามารถมองเห็นตัวสถานีรถไฟหัวลำโพงได้โดยตรง แต่เมื่อเรือเทียบท่าแล้วเดินขึ้นฝั่งไม่ไกล ก็จะพบกับสถานีรถไฟเก่าแก่ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2459 ด้วยรูปทรงนีโอคลาสสิกและหลังคาโค้งเหล็กอันเป็นเอกลักษณ์ สถานีหัวลำโพงยังคงเป็นสัญลักษณ์ของการเดินทางของคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้


อ่านเพิ่มเติม : สงกรานต์มิใช่แค่ Water festival

แต่คือนัยการเคลื่อนผ่านของดวงอาทิตย์

Recommend