หญิงสาวผู้เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 3,000 ไมล์ แบบไร้เทคโนโลยี

หญิงสาวผู้เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 3,000 ไมล์ แบบไร้เทคโนโลยี

เส้นทางสู่พอลินีเซียเป็นธรรมเนียมของผู้ชายเป็นใหญ่มายาวนาน Lehua Kamalu กำลังทำลายขนบนั้น และชุบชีวิตทักษะโบราณให้กลับมามีชีวิต

เลอฮัว คามาลู มีเวลาพูดคุยเพียงไม่กี่นาที เธอนั่งอยู่บนเรือแคนูสองลำที่เรียกว่า Hōkūle’a กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ไกลจากเกาะใหญ่ของฮาวายที่ซึ่งลูกเรือของเธอพึ่งจะออกเดินทาง เสียงลมพัดผ่านเข้ามาในสายโทรศัพท์พร้อมกับเสียงพูดของเธอ Kamalu ในฐานะกะลาสีเรือและนักเดินเรือผู้เชี่ยวชาญกำลังเข้าใกล้ช่วงเวลาสำคัญ ช่วงเริ่มต้นออกเดินทาง สิ่งที่เธอต้องการทั้งหมดคือสมาธิเพื่อกำหนดเส้นทางสำหรับการเดินทางไกลข้างหน้า

“เราจะประเมินว่าเราอยู่ห่างจากเกาะแค่ไหน” เธอเล่า “และเราจะตั้งค่าเส้นทางเพื่อมุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงใต้” จากนั้นไม่นานเธอต้องวางสายและยังไร้เสียงโทรกลับ Hōkūle’a และลูกเรือ 10 คนมุ่งหน้าไปยังตาฮิติ ด้วยระยะทาง 3,000 ไมล์กับเวลาอีก 20 วัน

Polynesian Voyaging Society (PVS) แล่นเรือในทะเลแสนกว้างใหญ่โดยไร้ความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีนำทางสมัยใหม่ เรือแคนูสำรองสองลำที่แล่นข้ามมหาสมุทรและรอบโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ออกแบบมาเพื่อจำลองเรือแบบดั้งเดิมที่เคยแล่นในมหาสมุทรแปซิฟิก ดวงอาทิตย์กับดวงดาวเป็นเข็มทิศ และคลื่นกับลมก็เป็นแผนที่ “ทุกอย่างต้องใช้ใจล้วนๆ” คามาลู ผู้อำนวยการเดินทางบอก “คุณต้องติดตามทิศทางลม ความเร็วเรือ แล้วปรับใบเรือ”

เส้นทางโบราณของการเดินเรือ

(บันทึกเส้นทางโดย Christine Fellenz กองบรรณาธิการของ NG บนภาพจาก Michael Shintani, PVS, Nakupuna Foundation)

คามาลูเป็นกัปตันและนักเดินเรือหญิงคนแรกของ Hōkūle’a ซึ่งนับเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่เป็นผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์แห่งปิตาที่มักถ่ายทอดจากรุ่นปู่สู่ลูกชาย เธอค้นพบความหมายในเรื่องราวของเปเล่ เทพธิดาแห่งไฟของฮาวาย ผู้ซึ่งตามตำนานเล่าขานว่า เธอถูกเนรเทศจากตาฮิติและข้ามมหาสมุทรไปสู่ฮาวาย เป็นการเปิดบรรพบุรุษ ‘เส้นทางเดินทะเล’ ระหว่างสองเกาะ เส้นทางเดียวกันกับที่คามาลูกำลังแล่นเรือขณะที่พูดคุยกับพวกเรา “เธอคือผู้หญิงคนแรกตัวจริงที่เดินทางนี้”

นักสำรวจคนใหม่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกคนนี้ กลายมาเป็นสตรีมีตัวตนคนแรกที่เป็นกัปตันและนำทางการเดินเรือในมหาสมุทรอันไกลโพ้นโดยปราศจากความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีนำทางสมัยใหม่เมื่อเธอแล่นเรือที่ระยะทาง 2,800 ไมล์จากฮาวายถึงแคลิฟอร์เนียในปี 2018 นั่นทำให้เธอพบเส้นทางของตัวเองผ่านการเดินทางครั้งแรก บางทีอาจจะดูเหมือนบังเอิญ เธอพูดว่า “แต่ผู้คนมักบอกฉันว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยบังเอิญที่นี่”

หนึ่งในเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

(นับตั้งแต่การเดินทางครั้งแรกในปี 1976 เรือ Hōkūle’a เดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหลายครั้ง รวมถึงการเดินทางในปี 2017 จากตาฮิติไปยังฮาวาย ภาพจาก PVS)

บรรดานักวิชาการเห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างขวางว่า นักเดินเรือตั้งรกรากในมหาสมุทรแปซิฟิกเมื่อหลายพันปีก่อนด้วยทักษะการเดินเรือที่มีพื้นฐานมาจากความสนใจอย่างใกล้ชิดต่อโลกธรรมชาติและการสืบสายจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในช่วงหลายศตวรรษภายใต้การปกครองอาณานิคมของยุโรป มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘การพลัดหลงโดยบังเอิญ’ ซึ่งบ่งบอกว่า ชาวเกาะพื้นเมืองได้เข้ามาถึงที่นั่นโดยไม่ได้ตั้งใจ คามาลูไม่สนใจเรื่องเล่าปากเปล่าพวกนี้ “ชุมชนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและลำดับวงศ์ตระกูล” เวลาผ่านไป ด้วยการไหลบ่าของเทคโนโลยีแบบตะวันตก ทักษะดั้งเดิมในการเดินเรือค้นหาเส้นทางแบบบรรพบุรุษค่อยเลือนหายไปจากหลายส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งฮาวาย

ในปี 1973 กลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นด้วย Ben Finney นักมานุษยวิทยา, Herb Kawainui Kāne ศิลปินและนักประวัติศาสตร์ และ Charles “Tommy” Holmes กะลาสี พยายามที่จะรื้อฟื้นภูมิปัญญาเหล่านี้ พวกเขาก่อตั้ง Polynesian Voyaging Society โดยมีเป้าหมายเพื่อทวงคืนองค์ความรู้ที่ยังเหลืออยู่แม้เพียงเล็กน้อย และทดสอบสมมติฐานที่ตรงกันข้ามกับการนำทางอย่างมีทิศทาง

ระหว่างการค้นหาผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ชีวิตในไมโครนีเซีย ผู้ก่อตั้ง PVS ได้พบกับ มาอู เปียลุก นักเดินเรือมืออาชีพบนเกาะที่ห่างไกลของ Satawal หนึ่งในนักเดินเรือดั้งเดิมคนสุดท้ายที่ยังรอดตาย เปียลุกได้เรียนรู้ทักษะจากปู่ของเขา รับช่วงพิธีกรรมการเริ่มต้นอันศักดิ์สิทธิ์ของ pwo ตามประเพณีไมโครเนียเซีย เขาเต็มใจที่จะแบ่งปันความรู้ให้กับชุมชนชาวฮาวายและชาวโพลินีเซียในวงกว้าง

(ลูกเรือถือ Hoe Uli หรือไม้พายบังคับเลี้ยว ระหว่างการเดินทางจากบาหลีไปยังมอริเชียส ระหว่างทริปเดินทางรอบโลกของเรือ Hōkūle’a’ ในปี 2014-2017 ภาพจาก PVS)

ทีมงาน PVS ร่วมกันกับทีมถ่ายทำของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เปิดตัวการเดินทางครั้งแรกในปี 1976 ในเรือ Hōkūle’a ที่สร้างขึ้นใหม่ ​(แคนูลำเดียวกันกับที่คามาลูเป็นกัปตันในตอนนี้) ล่องจากฮาวายไปยังตาฮิติด้วยองค์ความรู้ดั้งเดิมของเปียลุกและลูกศิษย์ของเขา การเดินทางสำเร็จภายใน 34 วัน และได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้คนราว 17,000 คน นับเป็นการเดินทางของเรือแบบดั้งเดิมครั้งแรกในรอบ 200 ปีหรืออาจจะนานกว่านั้น

การเดินทางครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จของ Hōkūle’a ทำให้เกิดการฟื้นฟูการเดินทางแบบโพลินีเซียดั้งเดิม และขบวนการการบุกเบิกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยังคงดำเนินอยู่ เกือบห้าทศวรรษต่อมา ทีม PVS ฝึกฝนนักเดินเรือและนักเดินทางรุ่นเยาว์หลายพันคน งานของพวกเขา ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความรู้ของบรรพบุรุษ การวิจัยจดหมายเหตุ รวมทั้งการเรียนรู้และนวัตกรรม เหล่านี้เข้าถึงสมาชิกของชุมชนเกาะทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้ซึ่งกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งที่ใกล้เคียงกับภูมิปัญญาการเดินเรือแบบโบราณให้ได้มากที่สุด

(ภาพวาดโดย Ludwig Choris ในปี 1822 แสดงให้เห็นแบบเรือพายดั้งเดิมที่ชาวเกาะ Ratak ใข้งาน (ภาพซ้าย) เกาะที่อยู่ในหมู่เกาะมาร์แชลล์ และของชาวฮาวาย (ภาพขวา) ซึ่งในขณะนั้นชาวยุโรปและชาวอเมริการู้จักกันในนาม หมู่เกาะแซนด์วิช / M. Seemuller, DEA Picture Library / Bridgeman Images)

“การอพยพของชาวโพลินีเซียเป็นหนึ่งในเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์มนุษย์” Christina Thompson ผู้เขียนหนังสือ Sea People : The Puzzle of Polynesia กล่าว “เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงประวัติศาสตร์อันทรงพลังระดับโลกนับเป็นเรื่องสำคัญ”

จุดเริ่มต้นของ Hōkūle’a เกิดขึ้นท่ามกลางขบวนการปลดปล่อยอาณานิคมและการบุกเบิกครั้งใหญ่ในมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงทศวรรษ 1970 และส่งผลต่อการฟื้นฟูภูมิปัญญาด้านอื่นๆ ทั้งกับภาษาและประวัติศาสตร์ของฮาวาย นักเขียนกล่าวต่อว่า “นี่เป็นเรื่องราวแห่งพลัง เรื่องราวความสำเร็จอันเหลือเชื่อ นี่คือหมุดหมายของการเดินทาง”

ความเคารพต่อท้องทะเล

(ภาพวาดประกอบจากวารสารนักสำรวจชาวบริติช James Cook ในปี 1773 พรรณนาถึงชาวเกาะตาฮิติที่ใช้เรือเดินทะเลทุกประเภท ตั้งแต่เรือแคนูสำหรับเดินทาง ไปจนถึงเรือสำหรับท่องเที่ยวระยะสั้น และแพ ภาพจาก Bridgeman Images)

“ตอนนี้ฉันเห็นจุดหมายแล้ว” คามาลูพูดท่ามกลางสายลม “กำลังค่อยปรากฏขึ้นที่เส้นขอบฟ้า” เวลาของเรากับปลายสายเหลือน้อยลงทุกที อีกไม่นาน Hōkūle’a ก็จะไปถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายบรรพบุรุษ อันเป็นเส้นทางเดินเรือโบราณระหว่างฮาวายและตาฮิติที่ขีดเส้นด้วยกระแสลมและกระแสน้ำ ขึ้นและลง การเดินทางจะเป็นที่น่าพอใจ หากคุณสามารถจดจำตำแหน่งแห่งที่ได้ดี นักเดินทางกล่าว

ชุมชนเกาะแต่ละแห่งมีประวัติศาสตร์เฉพาะตัว คามาลูอธิบาย กระบวนการฟื้นฟูเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ “การฟื้นคืนของวัฒนธรรม การรำลึกถึงภาษา ความต้องการมองย้อนกลับไป และระลึกถึงวิถีเก่า” แต่ก็ยังมีวิถีใหม่อยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2008 เมื่อเปียลุกอนุญาตให้ Nainoa Thompson ประธานของ PVS ทลายขอบเขตเดิมของวิถีปิตา และมอบพลังแห่ง pwo ให้กับผู้หญิง พร้อมกับนามที่ว่า “ผู้นำทาง”

(เรือ Hōkūle’a อาศัยเพียงแรงลมเป็นพลังงานให้กับใบเรือ ภาพจาก PVS)

ผู้หญิงจำนวนมากได้รับการฝึกอบรม และในขณะที่ยังไม่มีใครได้รับ pwo แต่คามาลูเป็นผู้เริ่มต้นความรับผิดชอบนี้ “คามาลูจะเปลี่ยนทุกอย่างในการเดินทาง” ประธานของ PVS กล่าว “เธอมีโลกทั้งใบ โลกอันน่ามหัศจรรย์ เพื่อแสดงให้เห็นเส้นทางของเธอ”

PVS ยังมีอีกเป้าหมายหนึ่ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความเคารพต่อท้องทะเลและโลกธรรมชาติในมุมกว้างกว่าเดิม ในโอกาสครบรอบ 50 ปีในปี 2026 องค์กรหวังว่าจะเข้าถึงผู้คน 10 ล้านคนผ่านกิจกรรม ชั้นเรียนออนไลน์ และการเล่าเรื่องราวการเดินเรือรอบมหาสมุทรแปซิฟิกบนระยะทาง 41,000 ไมล์ ซึ่งมีกำหนดจะเริ่มในปี 2023

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม เรือ Hōkūle’a เดินทางมาถึงตาฮิติอย่างปลอดภัย คามาลูสิ้นสุดการเดินทางสายประวัติศาสตร์ของเธอแล้ว ถึงแม้จะได้นอนหลับในเวลาจำกัดตลอดสามสัปดาห์ โดยไม่มีเครื่องมือช่วยเหลือใดๆ “ตัวคุณเป็นเพียงคนเดียวที่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน คุณรวมทุกอย่างเอาไว้ในหัว และเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นให้คนอื่นฟัง” เธอกล่าว “คุณต้องคอยติดตามความคืบหน้าตลอดเส้นทางแห่งบรรพบุรุษเส้นนั้น”

การรู้จักที่มาของตัวเองเป็นก้าวแรกที่ทำให้มองออกถึงสถานที่ที่ต้องการมุ่งหน้าไป สำหรับคามาลูแล้ว คำตอบถูกจารึกไว้ในดวงดาว

เรื่อง Jordan Samala


อ่านเพิ่มเติม Energy Observer เรือไฮโดรเจน ไม่ง้อน้ำมัน แล่นรอบโลก 7 ปี มาไทยแล้ว

Recommend