“ ก่อนหมดสิ้น .. สับขาลาย ”

“ ก่อนหมดสิ้น .. สับขาลาย ”

        หากไม่เปิดเปลือยจะไม่รู้ว่ามีความงามใดซ่อนอยู่   ..

หากไม่สังเกต อาจหลงเข้าใจว่าบุรุษนุ่งเตี่ยว ยืนกลางลำธารใสเย็น ..

ผมเดินทางมาที่ “อมก๋อย” อำเภอริมสุดด้านใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ ด้วย “ความเชื่อ”  จากพื้นราบ สู่เส้นทางคดโค้ง หลายสิบยอดดอย หลายสิบหย่อมชุมชน ของชาวกะเหรี่ยง 2 กลุ่มใหญ่ ที่ตั้งถิ่นฐานมายาวนาน หวังทำความเข้าใจ ใน “คติความเชื่อ” ใน “ราก” ทางความคิด ใน “ศิลปะเฉพาะ” ที่กำลังจะสาบสูญในอีกไม่กี่สิบปี ..

ในอดีตทุกชุมชนในกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บุรุษ” เมื่อย่างเข้าสู่วัยฉกรรจ์ ทุกคนล้วนอยากเป็นส่วนหนึ่ง ในการสืบทอดลวดลายโบราณที่มีแบบแผนคล้ายคลึงจากรุ่นสู่รุ่น หากต้องอดทนต่อความเจ็บปวด ที่อาจต้องแลกด้วยชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในทุกสิบคนจะมีคนเสียชีวิตสองถึงสามคนเสมอ แต่คนส่วนใหญ่ถือว่าคุ้มค่า เป็นความภาคภูมิใจที่จะปรากฏอยู่บนเรือนร่าง และคงอยู่ตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต สิ่งนี้คือความงามรูปแบบเฉพาะ ถือเป็นตัวแทนของศิลปะบนเรือนร่างของชายชาวกะเหรี่ยง เราเรียกสิ่งนี้ว่า “หมึกขาลาย” หรือ “การสับขาลาย” คือ การสักจากใต้หัวเข่าขึ้นมาจนถึงบริเวณเอวเหนือสะดือ ขาทั้งสองข้างมีกรอบสี่เหลี่ยมหรือกรอบวงกลมเว้นช่องว่างให้เห็นเนื้อหนังบางส่วน ภายในเป็นภาพสัตว์ต่างๆ หมึกดำทึบที่ใช้ มีส่วนผสมจากดีของสัตว์หลายชนิดผสมร่วมกับว่าน ปัจจุบันความภาคภูมิใจเหล่านี้กลายเป็นเพียงสิ่งตกค้างจากวันเวลา ชาวกะเหรี่ยงอายุน้อยกว่า50ปี ในพื้นที่อำเภออมก๋อย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่กว่า 80% คือชาวกะเหรี่ยงโป และกะเหรี่ยงสะกอ แทบไม่ปรากฏคนที่สับขาลายอีก ..

จึงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นแรงบันดาลใจ ให้สร้างสรรค์ การบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของศิลปะบนเรือนร่าง ในชื่อผลงานภาพถ่ายสารคดี  “ ก่อนหมดสิ้น .. สับขาลาย ”

 

Recommend