แอนตาร์กติกา โลกที่อาจไม่มีวันหวนคืน

แอนตาร์กติกา โลกที่อาจไม่มีวันหวนคืน

แมวน้ำกินปูคลานขึ้นมาบนแผ่นน้ำแข็งที่ลอยอยู่เพื่องีบหลับ ตกลูก หรือซ่อนตัวจากวาฬเพชฌฆาตหรือแมวน้ำเสือดาว (สังเกตได้จากแผลเป็นเด่นชัดบนลำตัว) การมีน้ำแข็งทะเลน้อยลงในน่านน้ำรอบคาบสมุทรแอนตาร์กติก ทำให้ภูเขาน้ำแข็งอย่างก้อนนี้ซึ่งหลุดออกจากธารน้ำแข็งบนแผ่นดิน กลายเป็นที่พักพิงสำคัญของส่ำสัตว์

แอนตาร์กติกา โลกที่อาจไม่มีวันหวนคืน

คาบสมุทรแอนตาร์กติกมีความยาวกว่าประเทศอิตาลี และมีปลายม้วนขึ้นเหนือไปทางเขตอบอุ่น ภูมิอากาศของที่นั่นสำหรับทวีป แอนตาร์กติกา ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง อุณหภูมิฤดูร้อนมักจะสูงกว่าจุดเยือกแข็ง พืชที่ขึ้นเป็นหย่อมๆกระจายอยู่ตามกองหินแกรนิตและหินบะซอลต์ที่โผล่ขึ้นมา  คาบสมุทรนี้ยังเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น แมวน้ำเฟอร์ แมวน้ำช้าง เพนกวินอาเดลี เพนกวินเจนทู และเพนกวินคางแถบ นกเพเทรลและนกชีทบิลล์โผบินอยู่บนฟ้า ชีวิตเหล่านี้ล่วนแต่ต้องพึ่งพาอาศัยท้องทะเล

บนคาบสมุทรขรุขระ ความเงียบสงบของแอนตาร์กติกาถูกขัดจังหวะด้วยเสียงร้องเซ็งแซ่และการเคลื่อนไหวเป็นหย่อมๆ สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วยแง่มุมพิลึกพิลั่น ธารน้ำแข็งสีฟ้าขาวไหลไปทางมหาสมุทรและทลายลงเป็นภูเขาน้ำแข็งรูปร่างต่างๆเท่าที่จะคิดจินตนาการได้ ภูเขาน้ำแข็งขนาดเท่าเมืองย่อมๆพุ่งทะยานสู่หมู่เมฆ แม้กระทั่งไกลออกไปหลายสิบกิโลเมตร คุณจะยังได้ยินเสียงแตกและระเบิดดังครืนครั่นเหมือนเสียงปืนใหญ่

ที่นั่นดูเหมือนป่าดงพงไพร และเป็นเช่นนั้นจริง แต่ใช่ว่าจะไร้ผู้แผ้วพาน ผู้คนทำให้สรรพชีวิตในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปหลายสิบปีก่อนหน้าที่จะมีใครได้เห็นแอนตาร์กติกาเสียอีก ไม่นานหลังจากกัปตันเจมส์ คุก ฝ่าน่านน้ำของแอนตาร์กติกมาได้ในทศวรรษ 1770 พวกพรานได้เริ่มลงมือสังหารแมวน้ำเฟอร์นับล้านๆตัว ส่วนใหญ่เพื่อนำหนังมาทำหมวกและเสื้อคลุม พวกเขายังฆ่าแมวน้ำช้างเพื่อเอาไขมาทำสีทาบ้านและสบู่ คนกลุ่มแรกๆที่ย่างเท้ามาเหยียบทวีปนี้น่าจะเป็นนักล่าแมวน้ำจากคอนเนตทิคัต ซึ่งขึ้นฝั่งทางตะวันตกของคาบสมุทรเมื่อปี 1821

แอนตาร์กติกา
เพนกวินอาเดลีไถลตัวไปบนน้ำแข็ง ด้านหลังพวกมันบนเกาะพอเลต เพนกวินอีกหลายพันตัวยืนเรียงรายบนเนินขรุขระและเต็มไปด้วยมูลนก

หลังจากนั้น นักล่าวาฬเริ่มแทงฉมวกใส่วาฬแกลบครีบดำ วาฬสีน้ำเงิน วาฬฟิน และวาฬหลังค่อม พวกเขาดึงเอาแผ่นซี่กรองอาหารออกจากปากเพื่อนำไปทำแส้ ก้านร่ม เสื้อรัดทรงสตรี และสปริงรถม้า รวมทั้งใช้ไขวาฬทำความร้อนจุดตะเกียง และทำเนยเทียม ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เซาท์จอร์เจียกลายเป็นแหล่งจาริกของนักล่าวาฬ อ่าวลีทเป็นสถานีล่าวาฬแห่งสุดท้ายที่ปิดตัวลงเมื่อปี 1966

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทิ้งร่องรอยชัดแจ้งไว้นับแต่นั้น อากาศฤดูหนาวบนคาบสมุทรฝั่งตะวันตกอบอุ่นขึ้นกว่าห้าองศาเซลเซียสนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา สายลมพัดพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่การไหลเวียนของมหาสมุทร โดยดันน้ำลึกที่อุ่นกว่าขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำให้น้ำแข็งทะเลซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อผิวน้ำจับตัวแข็งเป็นก้อน ละลายหายไป ปัจจุบัน น้ำแข็งทะเลก่อตัวช้าลงแต่ละลายเร็วขึ้น ฤดูไร้น้ำแข็งทางคาบสมุทรฝั่งตะวันตกกินเวลานานกว่าเมื่อปี 1979 ถึง 90 วัน

แอนตาร์กติกา
แมวน้ำเสือดาวงับเพนกวินอาเดลีวัยเยาว์ ก่อนจะลากลงไปให้จมน้ำตายใกล้แอนตาร์กติกซาวด์ ตรงปลายสุดทางตอนเหนือของคาบสมุทร ตามปกติแล้ว แมวน้ำเสือดาวจะล่าเหยื่อเพียงลำพังตามแพน้ำแข็งนอกชายฝั่ง แต่เมื่อน้ำจับตัวเป็นน้ำแข็งช้าลงและละลายเร็วขึ้น ทุกวันนี้พวกมันจึงมักจับกลุ่มอยู่ใกล้ชายฝั่งซึ่งมีคอโลนีของเพนกวินอยู่

การสูญเสียน้ำแข็งทำให้น้ำอุ่นสัมผัสอากาศเย็น น้ำจึงระเหยมากขึ้น และกลับคืนสู่ทวีปที่แห้งที่สุดของโลกในรูปหิมะหรือกระทั่งฝน  ผลการสำรวจครั้งหนึ่งของอังกฤษระบุว่า ธารน้ำแข็งอย่างน้อย 596 แห่งจากจำนวน 674 แห่ง บนคาบสมุทรแอนตาร์กติกฝั่งตะวันตกกำลังถดถอย  ในพื้นที่อื่นๆของแอนตาร์กติกา หิ้งน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่ามากกำลังละลายและถล่มลง ส่อเค้าว่าจะทำให้ระดับทะเลทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

น้ำแข็งเป็นสิ่งจำเป็นต่อหลายชีวิต นอกเหนือจากเพนกวินอาเดลี เพราะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับที่หญ้าเป็นศูนย์กลางของทุ่งหญ้าสะวันนา เมื่อน้ำแข็งหายไป ความสัมพันธ์ต่างๆจะแปรเปลี่ยนไปอย่างคาดเดาไม่ได้ เช้าวันหนึ่งใกล้แอนตาร์กติกซาวด์ พอล นิกเคลน กับคีท แลดซินสกี ช่างภาพ และผม สวมชุดดรายสูท และดำน้ำแบบสนอร์เกิลอยู่ใกล้ฝั่ง เราเฝ้ามองเพนกวินอาเดลีแสนซนตัวหนึ่งสำรวจดูคลื่นที่เกิดจากแพน้ำแข็งซึ่งทลายลง มันดูลังเลว่าจะดำน้ำลงไปดีหรือไม่ นั่นเป็นเพราะแมวน้ำเสือดาวกำลังว่ายวนเวียนอยู่แถวนั้น และบางครั้งก็โผล่ขึ้นมาหายใจบนน้ำแข็ง

แอนตาร์กติกา
แมวน้ำเฟอร์นั่งพักใกล้กองกระดูกวาฬที่ถูกหิมะปกคลุม แมวน้ำเฟอร์ฟื้นตัวได้ไวหลังมีการห้ามล่าพวกมันในแอนตาร์กติกา ผิดกับวาฬหลายชนิดที่ยังไม่ฟื้นตัว ปัจจุบัน จำนวนประชากรแมวน้ำเฟอร์ในหมู่เกาะเซาท์เชตแลนด์กำลังลดลงอีกครั้ง อันเป็นผลกระทบทางอ้อมจากการที่น้ำแข็งทะเลละลาย ทำให้แมวน้ำเสือดาวขึ้นฝั่งมากินลูกแมวน้ำเฟอร์

แมวน้ำเสือดาวอาจหนักได้เท่ารถคันเล็กๆครึ่งคัน ขากรรไกรที่เต็มไปด้วยฟันของมันอ้าได้กว้างกว่าหมีกริซลี เวลาปิดปากจะดูเหมือนมันกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่ นั่นคือหน้าตาของนักล่าเวลามันป้วนเปี้ยนรอบตัวเรา ทั้งกะลิ้มกะเหลี่ยร้อนรน และเป็นใหญ่ในอาณาเขตของมัน

ทันใดนั้น แมวน้ำเสือดาวอีกสองตัวก็ปรากฏตัวขึ้น พวกมันว่ายน้ำเอื่อยๆ หมุนวนไปรอบๆตัวอีกฝ่าย ไม่นานก็ตามมาอีกสองตัว สายตาของพวกมันจับจ้องไปยังเพนกวินตัวอื่นๆ เพนกวินค่อยๆลงน้ำทีละตัว และแมวน้ำก็เริ่มไล่กวดพวกมัน เพนกวินบางตัวหมุนตัวกลับเพื่อวิ่งหนีขึ้นไปบนน้ำแข็งและหาที่หลบภัย แต่บางตัวก็ถึงคราวเคราะห์ ในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ไม่เกินสนามหลังบ้านสองสนามต่อกัน แมวน้ำเสือดาวห้าตัวได้ลิ้มรสเพนกวิน ฟัดร่างโชกเลือดของเหยื่อไปมาและฉีกทึ้งออกเป็นชิ้นๆ

ภาพตรงหน้าสะกดสายตาและ “ไม่ปกติอย่างยิ่ง” เทรซีย์ โรเจอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านแมวน้ำเสือดาวจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ บอกผมในภายหลัง แมวน้ำเสือดาวเหมือนหมีกริซลีตรงที่เป็นสัตว์รักสันโดษ และมักออกล่าตามน่านน้ำกว้างใหญ่ไกลจากฝั่ง พวกมันต้องอาศัยแพน้ำแข็งเพื่อพักระหว่างล่า การสูญเสียน้ำแข็งทะเลเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้พวกมันต้องเกาะกลุ่มกันอยู่ใกล้แผ่นดินมากขึ้น และทำให้พฤติกรรม สถานที่ และแม้แต่เหยื่อที่พวกมันล่า เปลี่ยนแปลงไปด้วย

แมวน้ำเสือดาวมักไม่อยู่ใกล้แหล่งผสมพันธุ์ของแมวน้ำเฟอร์ “นักล่าแมวน้ำในทศวรรษ 1800 เก็บปูมและบันทึกไว้ละเอียดยิบครับ” ดั๊ก เคราส์ นักชีววิทยาสัตว์ป่าที่สำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา บอก “ไม่มีใครบันทึกไว้ว่าเคยเห็นแมวน้ำเสือดาวป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น” ตอนนี้แมวน้ำเสือดาว 60 ถึง 80 ตัวจะคืบคลานขึ้นฝั่งทุกปีตรงแหลมเชอร์เรฟฟ์ในหมู่เกาะเซาท์เชตแลนด์ พวกมันฆ่าลูกแมวน้ำเกิดใหม่มากกว่าครึ่งหนึ่งตรงแหล่งผสมพันธุ์ขนาดใหญ่ที่สุดของแมวน้ำเฟอร์ในภูมิภาคนี้

หลังการล่าแมวน้ำเชิงพาณิชย์ในแอนตาร์กติกาปิดฉากลงในทศวรรษ 1950 ประชากรแมวน้ำเฟอร์ก็เริ่มฟื้นตัวขึ้น นักวิทยาศาสตร์คิดว่า พวกมันจะสามารถปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศที่กำลังอบอุ่นขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรที่แหลมเชอร์เรฟฟ์กลับลดลงร้อยละ 10 ต่อปี “สิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้น่าตะลึงมาก ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนครับ” เคราส์บอก

เรื่อง เครก เวลช์

ภาพถ่าย พอล นิกเคลน, คริสตินา มิตเทอร์ไมเยอร์ และคีท แลดซินสกี

แอนตาร์กติกา
นกสกัวอาบน้ำในแอ่งน้ำทะเลขัง นกชนิดนี้กินไข่และลูกเพนกวิน ปลา และคริลล์ เป็นอาหาร พวกมันยังเป็นสัตว์กินซากด้วย เปรียบได้กับแร้งแห่งแอนตาร์กติกา โดยทำหน้าที่เก็บกวาดในสถานที่ที่ซากสัตว์ไม่เน่าเปื่อยเพราะความหนาวเย็น

 

อ่านเพิ่มเติม

ทำความรู้จักกับ ทวีปแอนตาร์กติกา

Recommend