โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ

โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ

โฮลี: เทศกาลแห่งสีสันแดนภารตะ

ภาพละอองฝุ่นหลากสีสันกระจายทั่วผืนฟ้า มีวัดฮินดูเป็นฉากหลัง มีผู้คนตัวเปื้อนสีเรือนพันเป็นฉากหน้า ดูช่างสวยงามปนน่าอัศจรรย์ต่อผู้พบเห็น บรรยากาศที่ผู้คนออกมาเล่นสาดผงสีใส่กันอย่างสนุกสนานนี้เกิดขึ้นทุกปีในเทศกาลโฮลี (Holi หรือ “โหลี”) หรือเทศกาลแห่งสีสันที่ฉลองกันทั่วประเทศอินเดียและยังมีการเฉลิมฉลองในที่อื่น เช่น ประเทศที่มีชุมชนชาวอินเดียขนาดใหญ่อย่าง สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา แม้แต่ประเทศเล็กๆ อย่างมอริเชียสด้วย

ตามปฏิทินวิกรมสัมวัตซึ่งเป็นปฏิทินทางจันทรคติและสุริยคติของศาสนาฮินดู วันโฮลีจะตกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคมของแต่ละปีตามปฏิทินสากล  ตามการคำนวณปฏิทินแบบศาสนาฮินดูนั้น วันโฮลีจะเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวงสุดท้ายของฤดูหนาว  เทศกาลโฮลีจึงเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฤดูหนาวที่หนาวเหน็บกำลังจะสิ้นสุดลง และวสันตฤดู ซึ่งเป็นฤดูกาลแห่งการเพาะปลูกกำลังเริ่มต้นขึ้น  บางตำราก็ว่าเป็น ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสอดคล้องกับการละเล่นสาดสีใส่กัน อันเป็นสัญลักษณ์ของดอกไม้นานาพันธุ์ที่เริ่มผลิบานสร้างความสดใส

โฮลี
ผงสีวางขายในเมืองชัยปุระ รัฐราชสถาน ก่อนถึงเทศกาลโฮลี ในอดีตนิยมใช้ผงสีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ เปลือกและรากไม้ ปัจจุบัน ผงสีส่วนใหญ่เป็นสารสังเคราะห์ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังและดวงตา

แม้ไม่มีใครล่วงรู้ชัดว่าการเล่นโฮลีเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงเทศกาลโฮลีตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ ในคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งเป็นตำรารวบรวมความรู้ของชาวฮินดูโบราณเกี่ยวกับการกำเนิดเทพเจ้า ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และดำเนินเรื่องด้วยเทพสามองค์ คือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ศาสนาฮินดูมีแก่นสำคัญประการหนึ่งที่มักปรากฏในตำนานต่างๆ นั่นคือ “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” เช่นในมหากาพย์รามายณะก็มีพระรามเป็นตัวแทนของความดีกับยักษ์ทศกัณฐ์เป็นตัวแทนแห่งความชั่ว และบทสรุปก็มักจะลงเอยตรงที่คนชั่วถูกคนดีสังหาร หรือถูกเทพเจ้า (ซึ่งก็เป็นตัวแทนของความดีอีกเช่นกัน) ลงโทษ  ความเชื่อนี้สะท้อนออกมาในงานเทศกาลต่างๆ เช่นโฮลีด้วย

ในคืนวันก่อนวันที่เล่นสาดสีกันนั้น ชาวอินเดียจะจัดพิธีกรรมชื่อว่า “โฮลิกาดาฮัน” (Holika Dahan หรือ “โหลิกาทหนะ”) แปลตรงๆ ได้ว่าพิธีเผานางโฮลิกา (หรือนางโหลิกา) ซึ่งเอกตา ราย ชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ผู้เคร่งครัดเล่าให้ฉันฟังว่า “เทศกาลโฮลีเป็นเทศกาลที่ระลึกถึงการที่ความดีชนะความชั่ว ในวันก่อนวันสาดสี ชาวอินเดียจะเตรียมสุมกองไฟในบริเวณใกล้ๆ วัดฮินดูเพื่อจำลองการเผานางโฮลิกา ซึ่งเป็นปีศาจร้ายในตำนานที่ถูกเพลิงเผาตายเพราะคิดร้ายกับผู้อื่น  ชาวฮินดูบางกลุ่มจะสวดภาวนารอบกองไฟ  บางคนอาจจะทำทีว่าปัดฝุ่นผงจากตัวลงเข้ากองไฟเพื่อให้ไฟเผา เปรียบได้กับการเอาสิ่งไม่ดีและพลังงานลบต่างๆ ออกจากร่างกายของเราค่ะ”

โฮลี
ใน “ลัฏฐมารโฮลี” หรือเทศกาลแห่งไม้และสีสัน หนุ่มๆ จากนันทคามพากันมาหาสาวๆ ที่บรสนา ก่อนถูกสาดสีใส่และตีด้วยไม้ หรือ “ลัฏฐ” หากหนุ่มคนใดถูกสาวจับได้ จะต้องสวมใส่เสื้อผ้าผู้หญิงและเต้นรำในที่สาธารณะ

เมื่อคืนแห่งพิธีเผานางโฮลิกาผ่านพ้นไป วันรุ่งขึ้นเป็นวันเล่นสาดสีเรียกว่า “วันธุลันดี” (Dhulandi หรือ “ธุลันฐี”) ตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม ชาวอินเดียจะตื่นแต่เช้ามาสวดมนต์ในวัดฮินดูและถวายผงสีชนิดต่างๆ แก่เทพฮินดูที่ตนนับถือ ส่วนใหญ่เป็นพระวิษณุหรือพระกฤษณะกับพระนางราธา ซึ่งล้วนเป็นเทพที่เกี่ยวข้องกับตำนานโฮลี  จากนั้นจึงกลับบ้านมาขอพรจากบุพการี  หนุมันต์ ภารทวาช ครูสอนโยคะผู้ศึกษาศาสตร์ของโยคะและปรัชญาฮินดู  บอกว่า  “ชาวอินเดียอาจฉลองเทศกาลโฮลีแตกต่างกันไป  สำหรับผมจะตื่นเช้าไปวัดเพื่อสวดมนต์และบูชาเทพเจ้า จากนั้นจะกลับมาขอพรพ่อแม่ โดยใช้ผงสีแตะที่หัวแม่เท้าของท่านและขอพร แล้วค่อยเปลี่ยนเสื้อเป็นชุดใหม่สีขาว ออกไปเล่นสาดสีกับครอบครัวและเพื่อนฝูงครับ”

 

Recommend