มหานครกัมปนาท : ภัยดังที่ฟังแต่ไม่ได้ยิน

มหานครกัมปนาท : ภัยดังที่ฟังแต่ไม่ได้ยิน

เราทุกคนรู้กันดีว่า เสียงดัง นั้นเป็นอันตรายต่อหู แต่ในความเป็นจริงการใช้ชีวิตท่ามกลางเสียงดังที่เข้าขั้นเป็นมลพิษส่งผลกระทบมากกว่านั้น เสียงและการสั่นสะเทือนมีผลต่อระบบการไหลเวียนของเลือดและการทำงานของต่อมไร้ท่อต่างๆ ทั้งยังก่อให้เกิดความหงุดหงิด ความเครียด และวิตกกังวล ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลต่อการนอนหลับ, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจและปัญหาทางสุขภาพจิตตามมา

เมื่อร่างกายรับเสียงดังเข้ามา ระบบประสาทจะถูกกระตุ้น หัวใจเราจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติ เมื่อร่างกายรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับสถานการณ์อันตราย ลองจินตนาการถึงโลกในยุคดึกดำบรรพ์ บรรพบรุษของเราคงไม่สามารถเอาชีวิตรอดหากได้ยินเสียงของฝูงสัตว์กำลังพุ่งตรงเข้ามา แต่พวกเขายังคงนิ่งเฉยไม่สนใจ

มหาวิทยาลัยเท็กซัส ดัลลัส เคยทำการวิจัยถึงผลกระทบของเสียงดังที่มีผลต่อสมอง พวกเขาตรวจการทำงานของระบบประสาททางการได้ยินของหนูสองกลุ่ม ด้วยการนำพวกมันไปอยู่ในที่ที่มีเสียงดังระดับ 115 เดซิเบล (ส่งผลกระทบต่อการได้ยินในระดับปานกลาง) และ 124 เดซิเบล (ส่งผลกระทบต่อการได้ยินในระดับรุนแรง) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง หลังการทดลองพวกเขาตรวจระบบประสาทของหูหนูอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน พบว่าสำหรับหนูกลุ่มที่เผชิญกับระดับเสียงที่มีความดังรุนแรง จากหนูจำนวนทั้งหมดมีหนูน้อยกว่า 1 ใน 3 ที่ระบบประสาทยังคงเป็นปกติ นอกนั้นการตอบสนองล้วนเชื่องช้าลง ส่วนในหนูอีกกลุ่มการตอบสนองทางระบบประสาทไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เว้นแต่กับคลื่นเสียงความถี่สูงที่ช้าลงกว่าปกติ

นั่นคือการทดลองกับหนูเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอยู่กับพวกมันไปชั่วชีวิต

เสียงดัง
การสวมใส่หูฟังระหว่างการเดินทางไม่สามารถป้องกันเสียงภายนอกได้ทั้งหมด ตรงกันข้ามหากเสียงภายนอกมีความดัง ผู้ใช้ก็ยิ่งจำเป็นต้องเพิ่มระดับเสียงของหูฟังให้ดังมากขึ้นตาม

ตัวผมเองเป็นคนหนึ่งที่เผชิญปัญหาจากเสียงรบกวน เริ่มจากเสียงของบ้านข้างๆ ที่กำลังต่อเติมไม่หยุด แม้จะเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ตามมาด้วยเสียงปั๊มน้ำเจ้าปัญหาของเพื่อนบ้านอีกหลัง และล่าสุดผมเพิ่งค้นพบว่าตัวเองหงุดหงิดจากเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปทำงานด้วยเช่นกัน เฉลี่ยระยะเวลาการเดินทางจากบ้านไปยังบริษัท ผมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยทั่วไปผู้โดยสารที่นั่งรถเมล์จำต้องเผชิญกับเสียงการจราจรรอบนอกอยู่แล้ว แต่ต่อให้ขึ้นรถเมล์ปรับอากาศ หากต้องเจอกับคันที่เสียงเครื่องยนต์เก่าคร่ำคร่าดังสนั่น หรือมีเสียงปิดเปิดของประตูปึงปัง ก็นับว่าหนีมลพิษทางเสียงไม่พ้นอยู่ดี

ในแต่ละวันผมจะต้องเผชิญกับเสียงรบกวนโสตประสาทเหล่านี้เป็นเวลาราวสองชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วันคิดเป็น 52 x 10 ตกปีละ 520 ชั่วโมง หรือ 21.7 วันเต็ม ที่ผมต้องเผชิญกับมลพิษทางเสียงตลอดเวลาในฐานะผู้โดยสาร แล้วบรรดามนุษย์กรุงเทพคนอื่นๆที่ต้องเดินทางไปทำงานด้วยระบบขนส่งที่ทุลักทุเลและดังลั่นกว่าผมอย่างเรือด่วนล่ะ

ผมได้พูดคุยกับกระเป๋าเรือคลองแสนแสบและผู้โดยสารขาประจำของเรือ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการเดินทางด้วยเรือนั้นหนวกหู แต่จำต้องทนต่อไปเนื่องจากไม่มีทางเลือก เพราะเรือคลองแสนแสบเป็นการเดินทางที่รวดเร็วที่สุด ถ้าอยากหนีรถติด

แม้ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะยอมทนกับเสียงรบกวน แต่ผมกลับสงสัยว่าพาหนะใดในระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานครที่ดังรบกวนเข้าขั้นจัดเป็นมลพิษทางเสียงบ้าง เสียงรบกวนที่ว่านี้หมายรวมตั้งแต่เสียงของเครื่องยนต์ เสียงของผู้โดยสาร ไปจนถึงเสียงของบรรยากาศรอบๆทั้งหมด “The Perspective” จึงทดลองขึ้นรถลงเรือตามระบบขนส่งยอดนิยมของชาวเมือง เพื่อหาคำตอบ

บรรดาพนักงานที่ทำงานบนเรือโดยสารซึ่งมีค่าเฉลี่ยเสียงเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ ล้วนมีความเสี่ยงที่ระบบประสาททางการได้ยินของพวกเขาจะเสื่อมถอยลง

กดฟังตัวอย่างเสียงของหลากหลายยานพาหนะของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหาครได้ที่นี่

  1. เสียงบันทึกของรถเมล์สาย 1 จากหัวลำโพงไปยังบางรัก

2. เสียงบันทึกของรถเมล์ปรับอากาศสาย 113 จากรามคำแหงไปยังประตูน้ำ

3. เสียงบันทึกของรถสองแถว วัดดอกไม้ – ถนนจันทน์

4. เสียงบันทึกของเรือคลองแสนแสบ จากท่าเรือประตูน้ำไปยังท่าเรือรามคำแหง 53

5. เสียงบันทึกของเรือด่วนเจ้าพระยา จากท่าช้างไปยังท่าสะพานพุทธ

6. เสียงบันทึกของรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีสะพานตากสินไปยังสถานีสยาม

7. เสียงบันทึกของรถไฟฟ้าเอมอาร์ที จากสถานีสุขุมวิทไปยังสถานีหัวลำโพง

 

 

Recommend