ฟาโรห์แฮตเชปซุต จอมกษัตรีแห่งอียิปต์

ฟาโรห์แฮตเชปซุต จอมกษัตรีแห่งอียิปต์

ฟาโรห์แฮตเชปซุต จอมกษัตรีแห่งอียิปต์

อะไรคือแรงจูงใจให้แฮตเชปซุตปกครองอียิปต์โบราณเยี่ยงบุรุษ ขณะที่พระราชบุตรเลี้ยงต้องอยู่ใต้เงื้อมเงาพระราชอำนาจของพระนาง บัดนี้ มัมมี่และความจริงเกี่ยวกับขัตติยนารีพระองค์นี้ได้รับการเปิดเผยแล้ว

ฟาโรห์แฮตเชปซุต
หลังเป็นปริศนามายาวนาน ในที่สุดนักโบราณคดีก็สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดแล้วว่า มัมมี่ร่างนี้คือฟาโรห์แฮตเชปซุด หญิงเหล็กจอมกษัตริย์แห่งอียิปต์โบราณ

แฮตเชปซุต (Hatshepsut)  หรือ ฮัตเชปซุต คือฟาโรห์สตรีผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของอียิปต์โบราณ ทรงปกครองบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นระยะเวลายาวนานกว่าฟาโรห์หญิงองค์อื่นใดในประวัติศาสตร์ ทว่านักประวัติศาสตร์ให้แฮตเชปซุตรับบทพระราชมารดาเลี้ยงใจร้ายของฟาโรห์ทุตโมสที่สาม เนื่องจากเชื่อว่าเมื่อทุตโมสที่สามได้ครองราชบัลลังก์ก็ทรงล้างแค้นพระราชมารดาเลี้ยง โดยมีพระบัญชาให้ทุบทำลายอนุสาวรีย์ของพระนาง และสกัดพระนามของแฮตเชปซุตในฐานะฟาโรห์ออกจากอนุสรณ์สถานต่างๆ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าทุตโมสที่สามอาจปลงพระชนม์แฮตเชปซุตอีกด้วย

เชื่อกันว่าพระอัยกา (ตา) ของแฮตเชปซุตคือฟาโรห์อาห์โมสผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ที่สิบแปด ส่วนพระบิดาคือฟาโรห์ทุตโมสนั้นเป็นนายทหารที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเชื้อพระวงศ์ แฮตเชปซุตเป็นพระธิดาองค์โตของฟาโรห์ทุตโมสกับราชินีอาห์โมส พระมเหสีเอก ฟาโรห์ทุตโมสยังมีพระโอรสกับราชินีอีกองค์หนึ่ง นั่นคือทุตโมสที่สอง ซึ่งต่อมาได้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระบิดา ทุตโมสที่สองทรงอภิเษกสมรสกับแฮตเชปซุต ผู้เป็นพระเชษฐภคินีต่างพระมารดา และมีพระธิดาด้วยกันเพียงองค์เดียว ขณะที่พระชายาองค์รองพระนามว่าไอซิส มีพระโอรสคือทุตโมสที่สาม ซึ่งต่อมาได้สืบราชสมบัติต่อจากทุตโมสที่สอง

ฟาโรห์แฮตเชปซุต
วิหารประกอบพิธีศพของแฮตเชปซุตตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าผาหินกลางทะเลทรายที่เดียร์เอลบาห์รี ราวกับสะท้อนถึงพระราชอำนาจอันเกรียงไกร ภาพสลักภายในระเบียงเสาบันทึกความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในรัชสมัยอันยาวนาน 21 ปีของพระนางไว้

ทุตโมสที่สามขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ยังเยาว์พระชันษา แฮตเชปซุตจึงทรงทำหน้าที่เป็นราชินีผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์ ในตอนแรกแฮตเชปซุตทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระราชบุตรเลี้ยง แต่ผ่านไปไม่กี่ปี แฮตเชปซุตก็ทรงแสดงบทบาทเป็น “ฟาโรห์” ผู้ครองพระราชอำนาจสูงสุด ขณะที่พระราชบุตรเลี้ยงซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจเจริญพระชันษาแล้ว กลับถูกลิดรอนพระราชอำนาจให้เป็นที่สองรองจากพระองค์ แฮตเชปซุตทรงปกครองบ้านเมืองต่อมารวมระยะเวลาทั้งสิ้น 21 ปี

ฟาโรห์แฮตเชปซุต
แฮตเชปซุตทรงกุมอำนาจไว้อย่างเบ็ดเสร็จมั่นคง พร้อมกับทรงลดบทบาทของทุตโมสที่สาม ผู้เป็นพระราชบุตรเลี้ยง (บนซ้าย) ภาพสลักบนผนังโบสถ์แดงที่คาร์นัก (บนขวา) ให้เบาะแสเกี่ยวกับการเตรียมการของพระนาง เช่น ในภาพหนึ่งที่แสดงการเลี้ยงฉลอง (ภาพล่าง) แฮตเชปซุตทรงยืนอยู่หน้าทุตโมสที่สาม โดยทั้งสองพระองค์อยู่ในฉลองพระองค์เยี่ยงฟาโรห์

ฟาโรห์แฮตเชปซุต

นักประวัติศาสตร์ไม่รู้ว่าแรงจูงใจในการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นฟาโรห์คืออะไร อาจเป็นเพราะแฮตเชปซุตทรงมีสายเลือดขัตติยะอย่างแท้จริง เพราะทรงเป็นพระนัดดาของฟาโรห์อาห์โมส ขณะที่พระสวามีคือพระโอรสของฟาโรห์ผู้เคยเป็นสามัญชน  ชาวอียิปต์เชื่อว่า ฟาโรห์คือสมมุติเทพ ดังนั้นจึงมีเพียงแฮตเชปซุตเท่านั้นที่ทรงมีความสัมพันธ์ทางสายพระโลหิตกับเหล่าเทวราชา

 

Recommend