เมื่อ Cloud Forest ป่าหมอกอันโด่งดังของเมืองต้องปิดตัว มอนเตเบร์เด จะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร
ป่าดงดิบแห่ง มอนเตเบร์เด ประเทศคอสตาริกา จุดหมายปลายทางในฝันที่นักเที่ยวสายธรรมชาตินับพันคนหวังจะได้มายลความอุดมสมบูรณ์กับตา แต่ในปีนี้การระบาดของโคโรน่าไวรัสทำให้มันต้องปิดตัวลง
ต้นเดือนมีนาคม จุดชมพระอาทิตย์ตกดินในมอนเตเบร์เดยังแน่นขนัดไปด้วยนักท่องเที่ยว ชุมชนที่มีประชากรอยู่เพียง 6,000 คนแห่งนี้คือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอันขึ้นชื่อและจากข้อมูลส่วนใหญ่ 2020 คือปีที่สมควรจะเป็นปีแห่งความรุ่งโรจน์
แต่ในตอนนี้ ม้านั่งอันใหม่กลับถูกห่อไว้ด้วยเทปตำรวจ แหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดซึ่งรวมไปถึงเขตอนุรักษ์ชีววิทยา Cloud Forest ต้องปิดรับนักท่องเที่ยว ร้านอาหารหยุดขาย เช่นเดียวกับกิจการที่พักอาศัยไล่ตั้งแต่โฮสเทลไปจนถึงโฮมสเตย์และ Airbnb ต่างก็ว่างเปล่าไร้ผู้คน ความเงียบเข้าปกคลุมมอนเตเบร์เดมีเพียงเสียงนกร้องแทรกขึ้นมา เป็นบรรยากาศที่ทั้งสงบและก็น่าหวั่นใจ เพราะนี่คือเสียงแห่งการหยุดพักอย่างไม่มีกำหนด
แม้จะไม่มีเคสผู้ป่วยยืนยัน แต่ผลกระทบจากการระบาดก็เข้าจู่โจมมอนเตเบร์เดอย่างฉับพลันและรุนแรง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของคอสตาริกา จากข้อมูลของ Luis Jara โฆษกประจำคณะกรรมการการท่องเที่ยวคอสตาริกา ในปี 2019 จีดีพีของประเทศประมาณร้อยละ 8 – 9 มาจากการท่องเที่ยว และสำหรับมอนเตเบร์เดมันคือแรงขับเคลื่อนเดียวที่มี
ในปี 2019 ภูมิภาคนี้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 250,000 คน ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรป นักดูนก นักผจญภัยสายอนุรักษ์ (คนท้องถิ่นอ้างว่ากิจกรรมโหนสลิงหรือ Zipline เกิดขึ้นที่นี่) และนักศึกษาต่างชาติต่างก็หลั่งไหลมาเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากภูมิภาคที่ครั้งหนึ่ง New York Times เคยตั้งฉายาให้ว่า “เส้นทางแสวงบุญแห่งธรรมชาติ”
แผนที่ป่าหมอกแห่งมอนเตเบร์เด https://goo.gl/maps/QiwRHvndoYedPnSb9
ป่าดงดิบบนยอดเขาแห่งนี้คือสถานที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งระบบนิเวศแบบนี้เองก็เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง ภายในม่านหมอกคือบ้านของนกกว่า 400 สายพันธุ์ ตีคร่าว ๆ เป็นครึ่งหนึ่งของสายพันธุ์นกทั้งหมดในคอสตาริกา ทั้งยังเป็นป่าที่รวบรวมสายพันธุ์กล้วยไม้เอาไว้มากที่สุด เช่นเดียวกับสายพันธุ์ต้นไม้ที่ก็หลากหลายไม่แพ้กัน คนรักธรรมชาติทั้งหลายต่างก็มาที่นี่เพื่อดูพืชพันธุ์และสัตว์ป่าที่หาไม่ได้จากมุมอื่นของโลก
การจากไปของนักท่องเที่ยวอย่างกะทันหันทำให้ประชากรส่วนใหญ่ขาดรายได้ที่มั่นคง “มันต่างกับช่วงโลว์ซีซันอย่างสิ้นเชิง” David Rodrigues ไกด์เดินป่าและนักชีววิทยาที่พึ่งกลับมาจากทัวร์ส่องนก กล่าวในวันที่ 18 มีนาคม วันที่คอสตาริกาประกาศปิดชายแดนของตน งานทั้งหมดในอนาคตของเขาถูกยกเลิก และเสริมว่า “ถ้าเป็นโลว์ซีซัน คุณรู้ว่าไฮซีซันกำลังมา แต่นี่คือการหยุดอย่างสมบูรณ์ที่มองไม่เห็นปลายทาง”
นวันที่ 5 พฤษภาคม คอสตาริกาที่มีประชากรอยู่ห้าล้านคนมียอดผู้ป่วยยืนยันอยู่ที่ 739 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 6 ราย ส่วนผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษาก็มีแนวโน้มที่ลดลง หลายคนยกความดีให้กับการจัดการอันรวดเร็วของรัฐบาล หลังประธานาธิบดี Carlos Alvarado Quesada ออกมาประกาศสถาณการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 16 มีนาคม พร้อมปิดโรงเรียน ชายหาด อุทยานแห่งชาติ และชายแดน ในขณะที่ตอนนั้น ยอดของผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ตัวเลข 2 หลัก
แม้หลังจากนี้ มาตรการต่าง ๆ จะยกเลิกไป แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็คงลากยาวไปอีกสักใหญ่ “การท่องเที่ยวจะค่อย ๆ กลับมาทีละนิด ทีละนิด” Heidy Perez Brave ผู้อำนวยการกรมการท่องเที่ยวแห่งมอนเตเบร์เดกล่าว “เรามีโครงสร้างพื้นฐานไว้รองรับการท่องเที่ยวมากเกินไป ทุกแห่งคงจะไม่เต็มไปอีกสักพัก”
มันเป็นความจริงที่ยากจะยอมรับ เพราะในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเจริญขึ้นมากอย่างที่หวังกันไว้ หลังการดิ่งเหวในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่เมื่อปี 2008 และในปี 2019 ภาคอุตสาหกรรมนี้ก็โตขึ้นถึงร้อยละ 4 ดังนั้นประมาณการของปี 2020 จึงถูกตั้งให้สูงขึ้นไปกว่านั้น “การท่องเที่ยวคือส่วนที่มีผลต่อเศรษฐกิจมากที่สุดจนกระทั่งหนึ่งเดือนก่อน เส้นทางการฟื้นฟูในครั้งนี้อาจจะยาวไกลกว่าสิ่งพวกเราเคยเจอเมื่อปี 2008 เสียอีก” Gerardo Corrales ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Lead แห่งคอสตาริกากล่าว
วิกฤติครั้งนี้เป็นเสมือนดาบสองคมสำหรับคนท้องถิ่น รวมถึง Laura Mora แม่ครัวประจำร้านอาหารยอดนิยมอย่าง La Cuchara de la Abuela “ฉันกลัวว่านักท่องเที่ยวจะไม่กลับมา แต่ก็กลัวว่าพวกเขาจะกลับมาพร้อมกับไวรัส” เธอกล่าว การระบาดในมอนเตเบร์เดคือหายนะสำหรับศูนย์พยาบาลพื้นฐานของชุมชนซึ่งมีไว้สำหรับชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่เงินมากพอจะไปหาหมอเอกชน ภายในศูนย์มีเพียงคลินิกรัฐขนาดเล็กและไม่มีห้องดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU)
เพื่อบรรเทาแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ในวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลกลางได้เปิดตัว โครงการ Bono Proteger เพื่อจ่ายเงินชดเชยจำนวน 220 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (เป็นเวลาสามเดือน) ให้แก่ผู้ที่สูญเสียรายได้ เพราะผลกระทบจากการระบาดใหญ่ เงินชดเชยต่อเดือนนี้เทียบเท่ากับจำนวนเงินหนึ่งในสามไปจนถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเฉลี่ยในมอนเตเบร์เด ในหนึ่งสัปดาห์ มีประชาชนยื่นคำร้องถึง 400,000 คนทั่วประเทศ แต่ “ในเมืองอย่างมอนเตเบร์เดที่การท่องเที่ยวคือเศรษฐกิจ ความช่วยเหลือสามเดือนอาจไม่เพียงพอ มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น [ของสิ่งที่ผู้คนต้องการ]” David Landergren Castro ที่ปรึกษาทางการเงินและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจขนาดกลางและเล็กของประเทศ กล่าว
“ในท้ายที่สุด ความช่วยเหลือจะหมดลงและเราจะต้องดิ้นรนกันต่อ” Shanon Smith เจ้าของร้าน Taco Taco ที่ปกติมักจะอัดแน่นไปด้วยลูกค้าในช่วงนี้ของปีคาดการณ์ “เมื่อไหร่ที่เราเริ่มขยับได้อีกครั้ง เราจะต้องโฟกัสในเรื่องการซื้อและแบ่งปันทรัพยาการภายในท้องถิ่นให้ดี”
รักษาความเป็นท้องถิ่น
ซึ่งความพยายามบางอย่างก็เริ่มดำเนินการไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นหลั่งไหลเข้าไปในกลุ่มสนทนาของแอปพลิเคชัน WhatsApp เช่นเดียวกับการเกษตรขนาดเล็กซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นวิถีชีวิตของผู้คนก็ยังกลายมาเป็นเครื่องมือในการเอาชีวิตรอด ก่อนหน้าการปิดพื้นที่ เมล็ดพันธุ์ในร้านอุปกรณ์การเกษตร Las Chutas ยกเว้นถั่วและผักชีนั้นขายดีจนหมดเกลี้ยง เพราะทุกคนต่างก็รีบทำสวนของตน
ที่ Belmar Hotel กิจการโรงแรมที่ดำเนินการโดยครอบครัวมานานกว่า 35 ปี โรงแรมที่ขึ้นชื่อว่าหรูหราที่สุดในหุบเขาก็ยังเปิดให้บริการแค่สวนออร์แกนิกเท่านั้น พนักงานกว่า 75 ชีวิตถูกเลิกจ้าง พวกเขาได้แต่หวังว่าจะมีรายได้เข้ามาบ้างจากการขยายสวนและขายผลผลิตให้ชุมชน
“เรามีทุนสำรองอยู่สองสามเดือนสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็นอย่างการดูแลรักษาและความปลอดภัย ซึ่งนับว่าเราโชคดี แต่เราก็ไม่เคยอยู่ในจุดที่รายรับเท่าศูนย์มาก่อน” Pedro Balmar ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรม กล่าว
เช่นเดียวกับโรงแรม Belmar กิจการฟาร์มเองก็กำลังมองหาช่องทางในการขายผลิตผลของตน ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนได้เปิดตัวช่องทางออนไลน์ Econexiones ที่มาช่วยจัดระเบียบและโปรโมตสินค้าจากมอนเตเบเดร์หรือที่ผลิตในมอนเตเบร์เด ความพยายามนี้คือการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้คนว่าเงินที่พวกเขาใช้จ่ายนั้นจะหมุนเวียนอยู่ในชุมชน และจะไม่มีฟาร์มไหนขายใบโหระพาและผักกาดเหมือน ๆ กัน “พวกเรากำลังช่วยให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นที่เคยจัดหาวัตถุดิบให้แก่ร้านอาหารและโรงแรมได้เชื่อมต่อกับชุมชน” Selena Avendaño ผู้ประสานประจำโครงการและหัวหน้าฝ่ายโครงการริเริ่มชุมชนแห่งสถาบันมอนเตเบร์เด องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ผลักดันเรื่องความยั่งยืนกล่าว “เราพยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่สมควรจะขยับอย่างอาหาร”
เริ่มใหม่อีกครั้ง
หลายคนบอกว่าวิกฤติตอนนี้ทำให้ปัญหาเรื่องการพึ่งพาการท่องเที่ยวที่มากเกินไปเด่นชัดขึ้น “สามสิบปีที่แล้วมอนเตเบร์เดส่วนใหญ่เป็นฟาร์มโคนมซึ่งริเริ่มโดยพวกพวกเควกเกอร์” José Luis Vargas ชาวเมืองมอนเตเบร์เดแท้ ๆ และผู้ร่วมก่อตั้ง Life Monteverde สหกรณ์กาแฟแบบยั่งยืนอธิบาย “ในตอนนั้น พวกเรากลุ่มหนึ่งได้ร่วมกันทำโครงการที่เรียกว่า Monteverde 2020 เพื่อเปลี่ยนรูปแบบของเศรษฐกิจด้วยการหันไปเน้นเรื่องการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” แนวคิดคือให้การท่องเที่ยวเข้ามาเป็นตัวเลือกที่นอกเหนือจากฟาร์มโคนม ปัจจุบัน การล่มสลายของอุตสาหกรรมบีบบังคับให้พวกเขาต้องคิดหาหนทางอีกครั้ง
การเริ่มต้นจากศูนย์อาจเป็นท่อนซ้ำในเพลงที่หลายคนคุ้นเคย Oscar Chacón และ Angela Acuña ย้ายจากเวเนซุเอลามามอนเตเบร์เดเพื่อหนีจากความวุ่นทางเศรษฐกิจและการเมืองของที่นั่น 20 ปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่นับครั้งไม่ถ้วน Chacón มาถึงคอสตาริกาด้วยเงิน 70 เหรียญในกระเป๋าสตางค์ และในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เขาและ Acuña พึ่งจะเปิดร้านกาแฟและเบเกอรี่ที่ชื่อว่า Zucarro Café
ตอนที่ทุกอย่างปิดลง สามีภรรยาคู่นี้ปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วยการลดการผลิตของร้านลงร้อยละ 80 และกระจายขนมปังของพวกเขาไปตามร้านขายของชำ “ประสบการณ์ในเวเนซุเอลาสอนให้ฉันรับมือกับวิกฤติในครั้งนี้ ฉันพร้อมใส่นวมและสู้กับมัน” Acuña กล่าว “แต่ยังไงพวกเราก็ทำได้แค่สู้กันไปวันต่อวัน”
ในตอนนี้ พวกเขาก็ยังคงเปิดร้านอนยู่ “แม้ของเราจะน้อยแต่มันก็สดใหม่ เราไม่ใช่แค่ร้านคาเฟ่สำหรับนักท่องเที่ยว” Chacón พูดขณะถูมือกับเจลล้างมือ “ถ้าเราสามารถจัดหาให้ชุมชน ชุมชนก็จะจัดหาให้เรา”
เรื่อง: Reena Shah
ภาพ: Mauricio Valverde Arce
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนท่ามกลางกระแสพายุโควิด-19