ภูเขาไฟใต้ทะเล ลูกต่อไปจะปะทุขึ้นนอกชายฝั่งอิตาลีเมื่อใด นักวิทยาศาสตร์กำลังดำน้ำเพื่อค้นหาเบาะแส
ภูเขาไฟใต้ทะเล – ตอนนั้นเรือของเรากำลังแล่นลัดเลาะชายฝั่งอิตาลีลงไปทางใต้ ผมทำหน้าที่บังคับเรือ วิกตอเรีย 4 อยู่และสามารถเดินเรือตามเส้นทางได้ง่ายๆ โดยดูจากเครื่องมือซับซ้อนบนสะพานเดินเรือ แต่ผมจะอดใจได้อย่างไรที่จะไม่หันไปพึ่งพาจุดนำทางสมัยบรรพบุรุษที่เรียกกันว่า ประภาคารแห่งเมดิเตอร์เรเนียน แสงสว่างเรืองดวงน้อยที่เส้นขอบฟ้าไกลโพ้นนั้นไม่ใช่ผลงานของมนุษย์ แต่เป็นลาวาลุกเป็นไฟที่ปะทุออกมาจากเกาะภูเขาไฟสตรอมโบลี ในกลุ่มเกาะอีโอเลียนทางตอนเหนือของซิซิลี แม้แสงวับแวมนี้แทบจะมองไม่เห็นจากไกลๆ แต่มันคงอยู่มานานนับพันปีแล้ว และเรากำลังมุ่งตรงไปที่นั่น
กลุ่มเกาะอีโอเลียนที่ทอดเรียงเป็นสาย ประกอบด้วยเกาะหลักๆเจ็ดเกาะ ตั้งอยู่ใจกลางระบบภูเขาไฟมีพลังสูงที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งกิจกรรมภูเขาไฟส่วนใหญ่เกิดลึกลงไปใต้พื้นสมุทร ผมเดินทางมาที่นี่กับฟรันเชสโก อิตาเลียโน นักวิทยาภูเขาไฟแถวหน้าคนหนึ่งของอิตาลี และโรแบร์โต รินัลดี ผู้สร้างภาพยนตร์ชื่อดังชาวอิตาลี ส่วนหนึ่งเพื่อบันทึกภาพการพวยพุ่งของปล่องพุน้ำร้อนใต้สมุทรที่ก่อตัวข้างภูเขาไฟ และพ่นฟองแก๊สร้อนอุดมด้วยแร่ธาตุออกมาเป็นสาย กิจกรรมภูเขาไฟในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อผู้คนนับล้านคนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งตอนใต้ของอิตาลี อิตาเลียโนกับเพื่อนร่วมงานต้องการหาหนทางที่จะช่วยให้คาดคะเนการปะทุได้ดีกว่าเดิม
ในฐานะนักชีววิทยา ผมอยากเห็นว่ามีสัตว์ทะเลชนิดใดบ้างที่ปรับตัวและอยู่รอดได้ในสถานที่ไม่เอื้อต่อชีวิตขนาดนั้น เราใช้เวลาเตรียมการสำรวจเชิงวิจัยนี้นานถึงสองปี และหวังว่าจะไขความลับบางประการระหว่างการเดินทางของเรา ความงามของโลกเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความลี้ลับของโลกน่าพิศวงยิ่งกว่า
เราทอดสมอกันก่อนที่เกาะปานาเรอา เกาะเล็กสุดในกลุ่มเกาะอีโอเลียน แล้วดำดิ่งลงไปในน่านน้ำตื้นเป็นกรด ตำนานเล่าว่า ชาวโรมันโบราณมาจอดเรือกันที่นี่เพื่อขัดล้างเปลือกเพรียงออกจากตัวเรือ เกาะปานาเรอานี้ถือว่าสงบแล้ว แต่ก็ยังคุกรุ่นจากกิจกรรมภูเขาไฟ กระแสน้ำวนธรรมชาติโชยกลิ่นคล้ายกำมะถัน มวลฟองอากาศประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สไข่เน่าพวยพุ่งสู่ผิวน้ำ ทุกทิศทางที่มองไป ผมเห็นผลกระทบจากสภาพกรดของน้ำต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ภูมิทัศน์ใต้ทะเลที่นี่ร้างไร้ปะการังและสิ่งมีชีวิตมีเปลือกแข็ง หนอนทะเลเลินเล่อตัวหนึ่งยึดเกาะอยู่ใกล้ฟองแก๊ส มากเกินไป หลอดหินปูนของมันกำลังละลาย ในบริเวณอื่นๆ ทุ่งหญ้าทะเลสกุล โพซิโดเนีย มีรอยใบไหม้ซีดขาวปรากฏให้เห็น
สิ่งที่ดูจะเจริญเติบโตได้ดีมีเพียงแบคทีเรียไม่ใช้อากาศ ซึ่งไม่ต้องการออกซิเจนเพื่ออยู่รอด พวกมันก่อรูปเป็นผืนสักหลาดแผ่นหนาปกคลุมตามผนังหิน เราเองก็รู้สึกแสบหน้าเพราะถูกกรดกัด และเมื่อกลับขึ้นมาที่ผิวน้ำหลังจากอยู่ในสภาพแวดล้อมแสบฉุนอยู่สองสามชั่วโมง ริมฝีปากกับแก้มของเราก็แห้งแตก หัวก๊อกและวาล์วโครเมียมของชุดดำน้ำมีคราบสนิมเกาะจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน
นอกชายฝั่งเกาะปานาเรอา นักวิทยาศาสตร์ตั้งสถานีสังเกตการณ์ไว้ติดตามฟังเสียงฟองอากาศ เพื่อหาสัญญาณบ่งถึงกิจกรรมภูเขาไฟที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ที่ผ่านมา อิตาเลียโนเชื่อมโยงเสียงฟองอากาศที่ถี่ขึ้นกับการปะทุขนาดใหญ่บนเกาะสตรอมโบลี แต่เพื่อพิสูจน์ยืนยันการค้นพบนี้ เขาต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม และต้องการความช่วยเหลือจากเราในการสำรวจสถานที่พิเศษแห่งหนึ่งซึ่งเขาค้นพบเมื่อสิบปีก่อน ระหว่างการสำรวจเพื่อทำแผนที่พื้นทะเล โซนาร์ระบุว่าอยู่ห่างออกไป 20 กิโลเมตร มีหุบเขาแคบๆ ตั้งอยู่ในแนวแกนเชื่อมระหว่างเกาะปานาเรอากับเกาะสตรอมโบลีพอดิบพอดีอย่างน่าประหลาด พื้นที่ดังกล่าวทอดยาว 90 เมตรและกว้าง 15 เมตร มีกลุ่มปล่องรูปร่างเรียวสูงประกอบด้วยเหล็กออกไซด์ตกผลึกที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่เมื่อหลายพันปีก่อน มองเห็นกระจายอยู่สุดลูกหูลูกตา อิตาเลียโนตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า หุบเขาภูเขาไฟ 200 ลูก
เราดำลงไป 75 เมตร ภูมิทัศน์เป็นสีแดง ส้ม และเหลืองดูเหมือนดาวอังคาร แต่ที่ไม่เหมือนดาวเคราะห์แดงก็คือสถานที่ต้องห้ามแห่งนี้มีชีวิต ราวกับกำลังกระสับกระส่ายจากกิจกรรมภูเขาไฟมากเกินไป แก๊สกับน้ำร้อนทะลักออกมาจากปากปล่องแคบ ขณะปล่องหนึ่งกำลังถูกสร้างขึ้น อีกปล่องดูเหมือนกำลังจะตาย และปล่องที่สามทรุดพังไปแล้ว สภาวการณ์ล่อแหลมปรากฏชัดอยู่ที่นี่ แต่ชีวิตใต้น้ำก็เป็นเช่นนี้ เปราะบางทว่าดื้อดึงในเวลาเดียวกัน
ผมจับตาดูหนอนตัวแบนเล็กๆตัวหนึ่งเร้นกายคืบคลานไปตามใบสาหร่ายที่ขึ้นปกคลุมลาดเนินสีแดงของปล่องซึ่งมีป่าย่อส่วนขึ้นอยู่ เจ้าหนอนตัวแบนที่เล็กกว่าเล็บมือผมดูกล้าหาญยิ่งนัก มันเสี่ยงไต่ขึ้นไปจนถึงปากปล่องพุน้ำร้อน ยากจะเข้าใจได้ว่ามันสนใจอะไรถึงขนาดต้องไปเดินบนเหล็กออกไซด์ในน้ำที่เป็นกรดเข้มข้นด้วยคาร์บอนไดออกไซด์
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิตแบบเดียวกัน แพนโทพอดทะเล หรือแมงมุมทะเลตัวหนึ่งปรากฏตัวขึ้น ขายาวๆของมันบรรจบกันที่ลำตัวเล็กจิ๋วมากจนแทบเหมือนไม่มีอยู่
เพื่อเก็บตัวอย่างให้อิตาเลียโน เราสอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปในช่องเล็กๆที่ยอดปล่องต่างๆ แล้วเก็บน้ำร้อนกับแก๊สมาอย่างละหลอด เรามีเวลาพอเก็บได้แค่ 20 ตัวอย่างก่อนจะต้องกลับขึ้นสู่ผิวน้ำ เราอยู่ที่ก้นทะเลมาหนึ่งชั่วโมง และต้องใช้เวลาอีกสามชั่วโมงระหว่างทางกลับขึ้นไปเพื่อให้เวลาร่างกายและตัวอย่างของเราได้ปรับลดความดันเสียก่อน
เมื่อกลับขึ้นมาอยู่บนเรือ วิกตอเรีย 4 ในที่สุด เราก็มุ่งหน้าไปยังเกาะสตรอมโบลี ซึ่งมองเห็นยอดมีควันลอยออกมาอยู่ไกลๆ แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นบ่อยๆทำให้ยอดของมันคายดิน หิน และทรายออกมาท่วมทำลายทุกสิ่งที่ขวางทาง ด้านหนึ่งของเกาะสตรอมโบลีเป็นสีเขียวด้วยต้นมะกอกและมะเดื่อ อีกด้านเป็นทางไหม้ดำ ซึ่งลาวาจะไหลผ่านและเศษหินบ่าไถลลงสู่ทะเล พื้นทะเลถูกออกแบบใหม่ตลอดเวลาหลังเกิดภัยพิบัติติดต่อกัน และผมสงสัยใคร่รู้ว่า ระบบนิเวศเบื้องล่างฟื้นตัวจากเหตุแผ่นดินถล่มรุนแรงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2002 แล้วหรือยัง
ระหว่างดำลงไป ทุ่งสาหร่าย ซิสโตเซรา เป็นพุ่มสีเหลืองเต็มไปด้วยสัตว์ทะเลซุกซ่อนอยู่ จู่ๆก็หายวับกลายเป็นทรายสีดำกับหินขรุขระ ชวนให้เผลอคิดว่าเราอยู่บนดาวเคราะห์ไร้ชีวิต หากปลาตกเบ็ดตัวหนึ่งไม่ได้มาปรากฏตัวอยู่ท่ามกลางฝุ่นซิลิกาสีดำที่ตีนกบของเราตีให้ฟุ้งขึ้นมา เมื่อตรวจสอบโดยละเอียด เราเห็นสิ่งมีชีวิตบุกเบิกชุดหนึ่งเริ่มทำหน้าที่ยึดคืนพื้นที่ของพวกมันแล้ว ใกล้กันนั้นมีทุ่งกัลปังหาสีขาว เหตุแผ่นดินถล่มลงทะเลเมื่อไม่นานมานี้ทำให้มันถูกทรายสีดำกลบฝังไปครึ่งหนึ่ง แต่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วฉลามเนิร์สฮาวนด์วัยเยาว์ตัวยาวราว 20 เซนติเมตรก็ว่ายผ่านเข้ามา เจ้าฉลามเด็กน้อยผู้มีชะตากรรมไม่แน่ชัดตัวนี้เป็นสัญลักษณ์อันสมบูรณ์แบบของระบบนิเวศที่ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
แผ่นดินถล่มที่เกิดต่อเนื่องยังปล่อยให้ยอดหินภูเขาไฟอันงดงามเหลือรอดอยู่ด้วยอย่างน่าอัศจรรย์ มันเป็นแท่งหินตั้งตรงเรียวสูง 40 เมตร รินัลดีพบมันเมื่อ 30 ปีก่อน และเมื่อเราหาตำแหน่งของมันเจอในแนวพื้นทะเลที่ถูกจัดโฉมใหม่เราพบว่ามันเป็นที่อาศัยของสรรพชีวิตใต้น้ำอันเฟื่องฟู เพียงเพราะมันรอดจากการถูกทำลายเท่านั้นเอง
เราขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความรู้สึกแปลกประหลาด การเดินทางของเราเริ่มต้นในโลกอันคุ้นเคย มีท้องฟ้า พื้นผิวทะเล ท้องทะเล และพื้นทะเล เราไม่ได้ดำลงไปที่ก้นทะเล แต่ดำลงไป ใต้ ก้นทะเล และที่นั่นมีชีวิต
เรื่องและภาพถ่าย โลรอง บาเลสตา
แปล อัครมุนี วรรณประไพ
ติดตามสารคดี ปริศนาภูเขาไฟใต้ทะเล ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/579020