การ์กอยล์ หรือ ปนาลี สัตว์มหัศจรรย์ที่อยู่บนหลังคามหาวิหารในยุโรป

การ์กอยล์ หรือ ปนาลี สัตว์มหัศจรรย์ที่อยู่บนหลังคามหาวิหารในยุโรป

การ์กอยล์ ถูกเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากกระแสเรื่อง ครูกายแก้ว ในสังคมไทย ว่ามีความคล้ายคลึงกับสัตว์ที่เป็นรูปปั้นอยู่บนสถาปัตยกรรมในโลกตะวันตก

หลายคนคงมีคำถามว่า การ์กอยล์ คืออะไรกันแน่ เป็นปีศาจ อสุรกาย สัตว์ประหลาดในตำนาน หรือ เพียงแค่รูปปั้นประดับวิหารอาคารต่างๆ สำหรับ การ์กอยล์ มีอีกชื่อเรียกว่า ปนาลี ที่หมายถึงสถาปัตยกรรมหมายหินที่แกะเป็นรูปอัปลักษณ์ (grotesque) ซึ่งยื่นออกไปจากสิ่งก่อสร้างที่มีรางและช่องให้น้ำจากหลังคาไหลห่างจากตัวสิ่งก่อสร้าง โดยสรุปแล้ว การ์กอยล์ เป็นสัตว์ในเทพนิยายของยุโรป

ตำนาน การ์กอยล์

การ์กอยล์ คือปิศาจระดับล่าง หน้าตาอัปลักษณ์ น่าเกลียดน่ากลัว คล้ายกับค้างคาวยักษ์ ตัวเหมือนลิง มีเขี้ยว มีหาง มีเขา และมีปีกเหมือนมังกร ในเทววิทยาของชาวคริสต์จัดเป็นปิศาจสาวกของ ลูซิเฟอร์ หรือ ซาตาน ผู้นำทัพเหล่าการ์กอยล์นับล้านบุกสวรรค์ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไป

ทั้งนี้ การ์กอยล์ มีลำดับชั้นไม่สูงถึงขั้น Demon หรือระดับเทพเจ้า ส่วนชื่อมีรากศัพท์มาจากคำว่า Gargouille ในภาษาฝรั่งเศส แปลว่า คอ ซึ่งถูกแปลงมาเป็น Gullet ในภาษาอังกฤษแปลว่า รางน้ำหรือท่อน้ำ และ Gurgulio ในภาษาลาตินเขียนเป็นแปลว่า กลืน

ด้านความสามารถตำนานเล่าว่า การ์กอยล์ บินได้ และพ่นไฟออกจากปากได้ ซึ่งรูปลักษณ์ของการ์กอยล์เชื่อว่าจินตนาการขึ้นโดย ชาวเคลต์ หรือ เซลต์ เมื่อศตวรรษที่ 5 เพราะการที่เคลต์เป็นชนชาติล่าหัวมนุษย์ พวกเขาได้นำศีรษะของเหยื่อมาบูชา เนื่องจากเชื่อว่าจะก่อให้เกิดพลังพิเศษเมื่อมองไปยังดวงตาบนศีรษะที่ล่ามาได้ และศีรษะเหล่านี้ถูกนำมาเขียนและปั้นเป็นอสุรกายการ์กอยล์

แต่หากย้อนไปถึงยุคกลางของยุโรป การ์กอยล์ ไม่อาจระบุเพศได้ เพราะมนุษย์ยุคดังกล่าวนำเอาส่วนน่ากลัวของหญิงและชายหรือของสัตว์มาผสมกันในภาพเดียวเพื่อให้เกิดความน่ากลัว ตามปกติจะปั้นเป็นภาพสัตว์ประหลาด ปากอ้าและมีลิ้นห้อยออกมา คือสัญลักษณ์แทนความตะกละของปิศาจ

ตำนานของชาวฝรั่งเศสเล่าว่า ระหว่างปี ค.ศ. 631-641 ครั้งที่ เซนต์ โรมานัส ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคริสตจักรให้เป็นอาร์คบิชอปแห่งเมืองโรน เข้ามาช่วยเหลือชาวเมืองถูกปิศาจการ์กอยล์ออกมาอาละอาด เซนส์โรมานัสต่อรองกับชาวเมืองว่าหากปราบปิศาจตัวนี้ให้ ชาวเมืองที่นับถือศาสนานอกรีตมาเข้ารีตเป็นชาวคริสต์

ต่อมา เซนต์ โรมานัส สามารถปราบการ์กอยล์ลงได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ของไม้กางเขนวิเศษ ปิศาจการ์กอยล์ถูกจับตัวไปเผา แต่ส่วนศีรษะและคอของมันไม่ยอมไหม้ไฟ เนื่องจากสามารถพ่นไฟได้ ทำให้ศีรษะและคอทนทานกับความร้อน ชาวเมืองจึงนำส่วนนี้ไปประดับไว้บนกำแพงโบสถ์ที่สร้างขึ้นใหม่ ตั้งแต่นั้นเหล่าการ์กอยล์ก็กลายมาเป็นปิศาจผู้พิทักษ์โบสถ์และชุมชนให้พ้นจากวิญญาณชั่วร้ายอื่นๆ

การ์กอยล์ ในสถาปัตยกรรม

หลังจากตำนาน เซนต์ โรมานัส ปราบ การ์กอยล์ ชาวยุโรปจึงมีความเชื่อว่า อสุรกายการ์กอยล์จะคืนชีพในตอนกลางคืน เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์มนุษย์ยามหลับ โดยพวกมันจะกลับมาคืนร่างเดิม และบินไปทั่วเมืองเพื่อระวังภัย ทว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น พวกมันก็จะกลับมาพิทักษ์แหล่งที่อาศัยในยามกลางวัน ตามโบสถ์หรืออาคารบ้านเรือน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่า ความน่าเกลียดน่ากลัวของพวกมันทำให้วิญญาณชั่วร้ายตกใจ ไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่

ดังนั้น รูปปั้นหินของ การ์กอยล์ จึงอยู่ทั้งบนหลังคา, กำแพงอาคาร, ศาสนสถาน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดในยุคโกธิค เรียกว่า ปิศาจการ์กอยล์ คือสิ่งที่อยู่คู่กับสถาปัตยกรรมในยุคนั้น ซึ่งที่ยุโรปผู้คนจะคุ้นเคยกับ การ์กอยล์ บนโบสถ์แห่ง มหาวิหารนอเทรอดาม ในกรุงปารีส

นอกจากนี้ ชาวกรีกโบราณยังเชื่อว่า การ์กอยล์ สามารถทำให้น้ำที่มีมลทินบริสุทธิ์ขึ้นได้ ผู้คนในยุคนั้นจึงปั้นการ์กอยล์คายน้ำไว้ตามชายคาอาคาร ซึ่งให้น้ำฝนบนหลังคาอาคารคอนกรีตระบายผ่านปากของมัน การ์กอยล์ของชาวกรีกมักสลักด้วยหินอ่อน พบได้ที่ วิหารของเทพซุส

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกหน้าตาของการ์กอยไม่ได้ดูคล้ายกับค้างคาวเหมือนกับในปัจจุบัน แต่คล้ายจระเข้หรือสิงโต จากการบันทึกพบว่า การ์กอยที่เก่าแก่ที่สุดของโลกที่ถูกค้นพบมีอายุราว 13,000 ปี ในประเทศตุรกี มีหน้าตาเหมือนกับจระเข้ที่ถูกสลักเอาไว้บนแผ่นหิน แต่ของชาวอียิปต์โบราณจะมีลักษณะเป็นสิงโตพ่นน้ำ สิ่งเดียวที่เหมือนกันคือ การ์กอย ทุกตัวต่างทำหน้าที่พ่นระบายน้ำเหมือนกันมาอย่างนานหลายพันปี ก่อนที่ภายหลังรูปปั้นของ การ์กอยล์ จะมีหน้าตาพัฒนามีให้ใกล้เคียงกับ มนุษย์ แนวเดียวกับ อมนุษย์ ต่างๆ

การ์กอยล์ แปลงสภาพจากสัตว์ร้ายมาเป็นปีศาจที่รับใช้มนุษย์ คือสัญลักษณ์ในการปัดเป่าและปกป้องอาคารจากสิ่งชั่วร้าย โดยการตกแต่งดังกล่าวไม่ใช่แค่นำมาติดไว้เพื่อความสวยงาม แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นรางน้ำฝนไม่ให้ฝนที่ตกลงมาสร้างความเสียหายแก่อาคาร รูปปั้นการ์กอยล์จึงมักถูกวางตำแหน่งให้อยู่ตรงรางนํ้าฝนหรือระเบียง และมีรูออกทางปาก เพื่อระบายนํ้า เมื่อมองดูไกลๆ จึงคล้ายกับว่าเจ้าการ์กอยกำลังคายน้ำลงไปยังพื้นด้านล่างให้ห่างจากตัวอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอาคารเสียหายจากการถูกน้ำฝนกัดเซาะ

วรรณกรรมและภาพยนตร์เกี่ยวกับ การ์กอยล์

การ์กอยล์ ที่โด่งดังในวรรณกรรมที่สุดน่าจะมาจากภาพยนตร์เรื่อง คนค่อมแห่งนอเทรอดาม วรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความงดงาม และอัปลักษณ์ในจิตใจมนุษย์ ซึ่งในเวอร์ชั่นการ์ตูนของดิสนีย์ ควอซีโมโด ตัวละครหลักในเรื่องที่มีหน้าตาอัปลักษณ์แต่จิตใจดีก็มี การ์กอยล์ ที่อยู่ข้างบนวิหาร ซึ่งหน้าตาหน้าเกลียดเหมือนกันเป็นเพื่อน

สำหรับภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่พูดถึง การ์กอยล์ เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1932 เรื่อง Mask of Gargoyles ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการ์กอยศิลาสองตน ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ทำการปล้นเมือง แต่แล้วเรื่องราวทั้งหมดก็จบลงด้วยโศกนาฎกรรม เมื่อพวกมันได้ย้อนกลับมาสังหารผู้สร้างตนเองในภายหลัง

อนึ่ง ในช่วงหลัง การ์กอยล์ เป็นคาแร็กเตอร์ที่ปรากฏอยู่ในหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง อาทิ Gargoyles ปี 1972 กับ ปี 1994 , Reign of the Gargoyles, The Exorcist , I, Frankenstein และ หนังชุด Jeepers Creepers ที่เชื่อว่านำตัว การ์กอยล์ ไปพัฒนาเป็นสัตว์ประหลาดในเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าคาแร็กเตอร์การ์กอยล์ส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งอธรรม ถูกนำเสนอในภาพ ภูตผี ปีศาจ ที่มีความอันตราย น่าลัว ตามรูปลักษณ์ของมัน

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ขอบคุณภาพจาก sollrox on pixabay

ที่มา

https://th.wikipedia.org/wiki/ปนาลี

https://amorerana.com/articles/detail/Gargoyle

https://www.newtv.co.th/news/123162

อ่านเพิ่มเติม การบูรณะ นอตเทรอดาม อาสนวิหารอันเป็นที่รัก หลังเพลิงผลาญ

Recommend