ผู้ค้าเงินในท้องถิ่นที่ชายแดนฝั่งบราซิลให้ดูธนบัตรจำนวนห้าล้านโบลิวาร์ซึ่งมีมูลค่าในตลาดมืดเท่ากับสองเหรียญสหรัฐ ณ ปลายเดือนมีนาคม 2018 ค่าเงิน เวเนซุเอลา แปรผันรายวันเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด วิกฤติเศรษฐกิจ เวเนซุเอลา
ปลากับเผือกเป็นอาหารพวกเดียวที่มิลาโกรส ริเบโร วัย 35 ปี กับครอบครัวของเธอพอจะหาได้ในชุมชนเล็กๆ ในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอรีโนโก ถิ่นอาศัยของชาววอเรา ชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของเวเนซุเอลา พวกเขาเดินทางไกล 800 กิโลเมตรไปยังบราซิลเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2018
“เรามานี่เพื่อหาอาหาร” ริเบโรกล่าวข้างเต็นท์ของเธอในศูนย์สงเคราะห์จาโนกวัยดา ที่เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เพื่อรองรับชาววอเราในปากาไรมา เมืองชายแดนของบราซิล
ในแต่ละวัน มีชาวเวเนซุเอลาที่ตกทุกข์ได้ยากหลายร้อยคนเดินทางมาถึงพรมแดน แบกข้าวของไว้บนหลังและถือเอกสารในมือ คนที่มุ่งหน้ามาหาที่ลี้ภัยต่างขายสมบัติทุกอย่างที่มีเพื่อจ่ายเป็นค่าเดินทาง พวกเขาหวังจะหาอาหาร ยา ความปลอดภัย และงานในบราซิล ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ไม่สามารถหาได้อีกในประเทศบ้านเกิดของตนเอง เพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ดิ่งเหวอย่างไม่มีวี่แววว่าจะถึงก้น ภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้สิ้นหวัง อัตราความรุนแรงสูงลิ่ว การขาดแคลนอาหารและยาอันเรื้อรัง ผู้อพยพเหล่านี้คือผลพวงของการล่มสลายอันน่าตื่นตระหนกในเวเนซุเอลาที่เคยมั่งคั่งจากการค้าน้ำมันดิบระหว่างปี 2004 ถึง 2014 จนกลายเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา แต่แล้วทุกอย่างก็พังทลายลง ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ดิ่งวูบ การขาดดุลพุ่งสูงขึ้น และการฉ้อราษฎร์บังหลวงที่ไม่จบสิ้น
นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา มีชาวเวเนซุเอลามากกว่า 58,000 คนหนีมาลงหลักปักฐานในบราซิล ถือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศนี้ หลายคนไม่มีเงินเหลือ และการเดินทางต้องชะงักกลางคันที่ปากาไรมาซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ยังเป็นเมืองที่เงียบสงบ มีประชากรเพียง 12,375 คน แต่ปัจจุบันมีคนนับร้อยหรืออาจมากกว่านั้นอาศัยอยู่ตามท้องถนน นอนในเต็นท์ และลานจอดรถ พวกเขาจับกลุ่มกันบนทางเท้า และปรุงอาหารเท่าที่หาได้ความตึงเครียดระหว่างคนท้องถิ่นและชาวเวเนซุเอลาที่เข้ามาอยู่ในบราซิลถึงจุดแตกหักในเดือนสิงหาคม 2018 เมื่อมีการจุดไฟเผาค่ายผู้อพยพหลายแห่ง หลังมีข้อกล่าวหาเรื่องการทำร้ายร่างกายเจ้าของร้านค้าคนหนึ่ง
เมืองปากาไรมามีชาวเวเนซุเอลาไร้ที่อยู่อาศัยอย่างเป็นทางการ 434 คน แต่ตัวเลขนี้ดูต่ำกว่าความเป็นจริง ปาเดร เฮซุส เอสเตบัน บาทหลวงชาวสเปน จัดหาอาหารเช้ารายวัน ซึ่งประกอบด้วยกาแฟ ขนมปัง และผลไม้ เพื่อเลี้ยงคนกว่า 1,500 คน “ไม่เคยมีมื้อไหนที่มีอาหารเหลือเลย” ท่านบอก
หลังจากตกงานสามครั้งภายในปีเดียว เฮซุส โกเมซ วัย 28 ปี ก็ทิ้งเวเนซุเอลามากับแฟนสาวของเขา เออูนีซ เอนริเกซ วัย 27 ปี ทั้งสองนอนในเต็นท์ที่เคยหิ้วไปชายหาด “มันเคยใช้สำหรับท่องเที่ยว ตอนนี้มันเป็นบ้านของเราครับ” โกเมซกล่าว เขาเป็นอดีตยามรักษาความปลอดภัย ส่วนเอนริเกซซึ่งเป็นพยาบาลที่ลาออกจากงานเพราะเงินเดือนน้อยนิด ปัจจุบันขายกาแฟในปากาไรมา ค่าจ้างรายวันของเธอเพียงพอสำหรับอาหารหนึ่งมื้อ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน แต่หนุ่มสาวคู่นี้ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในห้องนอนเล็กๆ ในบ้านพ่อแม่ของโกเมซ ก็ไม่เสียใจที่ข้ามพรมแดนมาบราซิล
ผู้อพยพจำนวนมากเดินทางต่ออีก 215 กิโลเมตรไปยังโบอาวีชตา เมืองเอกของรัฐโรไรมา เมืองที่มีประชากร 332,000 คนแห่งนี้มีชีวิตชีวากว่า และเศรษฐกิจก็มั่นคงกว่า ชาวเวเนซุเอลาออกหางานทำไปทั่วเมือง ฝูงชนยืนอยู่ตามแยกไฟแดง ล้างกระจกหน้ารถแลกกับเศษเหรียญ หรือไม่ก็ขายสินค้าท้องถิ่น อย่างเช่นธงบราซิลในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างแรงงานตกลงเหลือไม่ถึง 10 เหรียญสหรัฐต่อวัน
ศูนย์สงเคราะห์สองแห่ง แห่งหนึ่งในปากาไรมา อีกแห่งในโบอาวีชตา ถูกกำหนดให้ใช้รองรับชาววอเราโดยเฉพาะ พวกเขาปรุงอาหารบนไฟก่อจากฟืน ถักทอและขายสินค้าหัตถกรรม และพยายามรักษากิจวัตรบางส่วนของตนไว้ ในศูนย์มีทั้งบริการด้านสุขภาพและอาหาร แต่สภาพความเป็นอยู่ยังไม่ปลอดภัย ในศูนย์สงเคราะห์แห่งหนึ่ง น้ำเสียส่งกลิ่นรุนแรงมาก พอถึงฤดูฝน ลานสนามแห่งหนึ่งก็มีน้ำท่วมขัง
รัฐบาลบราซิลทำงานร่วมกับองค์การสหประชาชาติและกลุ่มองค์กรเอกชน เปิดศูนย์ผู้ลี้ภัยแล้วเก้าแห่งในโบอาวีชตา แต่ยังมีผู้อพยพอีกมากที่รอมาสมทบกับผู้อพยพ 4,200 คนในเมืองนี้ แผนที่วางไว้คือจะจัดส่งพวกเขาไปยังรัฐอื่นๆ ในบราซิล แล้วรับผู้อพยพระลอกใหม่เข้ามาแทนที่ แต่ขั้นตอนดำเนินงานเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้ผู้อพยพจำนวนหนึ่งจะดิ้นรนเช่าพื้นที่เล็กๆ ย่านชานเมืองอยู่กันได้แล้ว แต่ชีวิตก็ยากลำบากมากจนหลายคนเริ่มคิดจะหวนคืนสู่บ้านเกิด
เรื่อง เปาลา ราโมน
ภาพถ่าย เฟรเดริโก ริออส
อ่านเพิ่มเติม
โฉมหน้าของ ผู้อพยพในอเมริกา เมื่อปี 1917