เปิดโลกนักล่าคัมภีร์ ไบเบิล

เปิดโลกนักล่าคัมภีร์ ไบเบิล

เปิดโลกนักล่าคัมภีร์ ไบเบิล

ในโลกลับลวงพรางที่ศาสนามาบรรจบกับโบราณคดี 

นักวิทยาศาสตร์ นักสะสมและมิจฉาชีพต่างช่วงชิงค้นหาคัมภีร์ ไบเบิล อันเก่าแก่

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์

ภาพถ่าย เปาโล แวร์โซเน

ศาสนิกชนจากหลากหลายความเชื่อให้ความเคารพต่อศาสนวัตถุ  แต่สำหรับคนที่เชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้าหนึ่งเดียวตรัสผ่านตัวอักษรที่บันทึกโดยศาสดาและอัครสาวกในครั้งอดีตกาลแล้ว  คัมภีร์เก่าแก่ไม่เพียงเป็นรากฐานแห่งความศรัทธา แต่ยังเป็นสิ่งเชื่อมโยงที่จับต้องได้ระหว่างพวกเขากับผู้นำสารจากพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นนบีมูฮัมมัด โมเสส หรือ พระเยซูคริสต์

ความเคารพต่อพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจแยกจากศรัทธาของชาวโปรเตสแตนท์ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ (evangelist) ซึ่งกลายมาเป็นพลังขับดันสำคัญเบื้องหลังการค้นหาพระคัมภีร์ไบเบิลที่สูญหายไปนาน นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า  ความกระหายในการค้นหาโบราณวัตถุของกลุ่มเผยแพร่ข่าวประเสริฐยิ่งโหมกระพือความต้องการศิลปวัตถุที่ได้จากการโจรกรรม

ไบเบิล
เอมมา นิโคลส์ นักอนุรักษ์ ตรวจสอบพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งเก็บต้นฉบับเกี่ยวกับศาสนายูดาห์ไว้ราว 200,000 ฉบับที่ค้นพบในสุเหร่ายิวยุคกลางในกรุงไคโร

การเผชิญกับภยันตรายนานัปการ ตั้งแต่ทะเลทรายร้อนระอุ พายุทราย ไปจนถึงกองโจรติดอาวุธ เป็นสิ่งที่พบได้ในดินแดนซึ่งนักล่าพระคริสตธรรมคัมภีร์ยุคเริ่มแรกเคยผจญมาแล้วในศตวรรษที่สิบเก้าและต้นศตวรรษที่ยี่สิบ อียิปต์เป็นจุดหมายโปรดแห่งหนึ่งของคนเหล่านี้ เพราะภูมิอากาศแห้งแล้งเอื้อต่อการรักษาสภาพพระคัมภีร์  ผู้แผ้วถางทางพวกแรกๆเป็นทั้งนักวิชาการและนักผจญภัยกระดูกเหล็ก บันทึกการเดินทางและการค้นพบของพวกเขาชวนให้นึกถึงภาพแบบที่เห็นในหนังเรื่อง ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า

ลองดูอย่างคอนสแตนติน ฟอน ทิเชนดอร์ฟ นักวิชาการชาวเยอรมันซึ่งในปี 1844 ได้ออกเดินทางอันยาวไกลและเสี่ยงภัยข้ามทะเลทรายไซนายในอียิปต์ไปยังอารามนักบุญแคเทอรีน อารามคริสต์เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังมีนักบวชอยู่สืบมา ที่นั่นเขาค้นพบ “ขุมทรัพย์พระคัมภีร์อันล้ำค่าที่สุดที่มนุษย์เคยค้นพบ” นั่นคือโคเดกซ์ (codex) หรือหนังสือโบราณที่เขียนด้วยลายมือ แทนที่จะเป็นม้วนหนังสือ ซึ่งมีอายุย้อนไปถึงกลางศตวรรษที่สี่  ปัจจุบันหนังสือดังกล่าวรู้จักกันในชื่อ “โคเดกซ์ไซนายติคัส” (Codex Sinaiticus) หรือ “หนังสือไซนาย” หนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับเก่าแก่ที่สุดในโลกสองฉบับและเป็นพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ฉบับสมบูรณ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

ไบเบิล
ออเรน กัตเฟลด์ นักโบราณคดีชาวอิสราเอล ผู้มุ่งมั่นตามหาม้วนหนังสือเดดซีเพิ่มเติม มองเข้าไปในถ้ำที่เขาพบชิ้นส่วนแผ่นหนังโบราณ “ถ้ำว่างเปล่า แต่คราวหน้าอาจไม่เป็นอย่างนั้นแล้วครับ”

ในปี 1896 เบอร์นาร์ด เกรนเฟล และอาร์เทอร์ ฮันต์ นักโบราณคดีหน้าใหม่ กำลังค้นหาโบราณวัตถุในเมืองออกซีริงกัสของอียิปต์ที่สาบสูญไปนาน พวกเขาค้นพบบางสิ่งที่น่าทึ่ง นั่นคือบ่อขยะโบราณที่มีกระดาษปาปิรุสฝังทับถมกันหลายชั้น ในช่วงสิบปีหลังจากนั้น เกรนเฟลกับฮันต์ขุดค้นหลุม แล้วส่งเอกสารห้าแสนฉบับกลับสู่ออกซฟอร์ด

กระดาษปาปิรุสส่วนใหญ่เป็นเอกสารพื้นๆ แต่ราวร้อยละสิบเป็นวรรณกรรม รวมทั้งงานบางส่วนของผู้ประพันธ์ยุคคลาสสิก  การค้นพบอันน่าตื่นตะลึงที่สุดบางส่วน อย่างพระวรสารที่สาบสูญซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่นั้น ทำให้เห็นภาพช่วงขวบปีแรกๆ ของกำเนิดคริสต์ศาสนาชัดเจนขึ้น  และแม้จะผ่านไปอีกร้อยปีหลังการค้นพบเอกสารเหล่านี้ ก็ยังมีอีกหลายพันชิ้นที่ยังไม่มีการศึกษา

ไบเบิล
คุณพ่อชอง-มิเชล เดอ ตาร์รากง บาทหลวงคณะโดมินิกัน ศึกษาภาพถ่ายจดหมายเหตุที่โรงเรียนพระคริสตธรรมคัมภีร์และโบราณคดีแห่งฝรั่งเศส ในนครเยรูซาเลม บรรดานักวิชาการของโรงเรียนนี้เป็นผู้พาทีมการวิจัยม้วนหนังสือเดดซี ซึ่งเป็นหนังสือพระคริสตธรรมคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดในโลกที่เคยมีการค้นพบ

หากพูดในแง่ลับลวงพราง ม้วนหนังสือเดดซีจัดว่าเหนือกว่าเรื่องราวการค้นหาพระคัมภีร์ทั้งปวง เรื่องเล่าหนึ่งกล่าวไว้ว่า คนเลี้ยงแพะชาวเบดูอินขายแผ่นหนังเจ็ดแผ่นที่พบให้ผู้ค้าของเก่าในเบทลิเฮม  นักวิชาการจากเยรูซาเลมซื้อมาได้สามแผ่น  พ่อค้านาม คาลิล อิสแคนเดอร์ ชาฮีน หรือที่รู้จักกันในชื่อ คานโด ขายสี่แผ่นที่เหลือให้กับอัครสังฆราชชาวซีเรียในเยรูซาเลม ซึ่งมีรายงานว่าจ่ายเงินเทียบเท่ากับ 250 ดอลลาร์สหรัฐ  ต่อมาในปี 1949 สังฆราชก็ลักลอบนำม้วนหนังสือเหล่านั้นไปยังสหรัฐฯ  หวังจะขายต่อให้พิพิธภัณฑ์หรือมหาวิทยาลัย แต่พอไม่มีผู้ใดรับซื้อ เขาจึงลงโฆษณาใน วอลล์สตรีตเจอร์นัล นักโบราณคดีชาวอิสราเอลคนหนึ่ง สามารถจัดซื้อม้วนหนังสือเหล่านั้นให้กับรัฐบาลอิสราเอลในราคา 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน ม้วนหนังสือต้นฉบับทั้งเจ็ดเก็บรักษาอยู่ในอาคารฝั่งที่จัดไว้เป็นพิเศษของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอิสราเอลในนครเยรูซาเลม

เมื่อข่าวการค้นพบม้วนหนังสือแพร่สะพัดออกไป ทีมงานนำโดยนักโบราณคดีและนักบวชนิกายโดมินิกัน  โรลองด์ เดอ โว ก็มุ่งหน้าสู่หมู่ถ้ำคุมรานในปี 1949  พอถึงปี 1956 เด โว และชาวเบดูอินท้องถิ่น ก็พบ “ถ้ำม้วนหนังสือ” เพิ่มอีกสิบถ้ำ ซึ่งมีต้นฉบับอยู่จำนวนหนึ่ง หลายม้วนผุพังเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ หลายพันชิ้น นักวิชาการใช้เวลาหลายสิบปีหลังจากนั้นในการประกอบชิ้นส่วนเข้าด้วยกันและแปลแผ่นหนังที่ขาดรุ่งริ่ง

ประวัติศาสตร์การตามล่าหาพระคริสตธรรมคัมภีร์หรือคัมภีร์ไบเบิลอันเก่าแก่ หาใช่มีแต่เรื่องการขุดค้นหาสมบัติต้ดินเท่านั้น หากยังมีเรื่อง “ของจริงของปลอม” ด้วย  ขณะที่นักโบราณคดีเริ่มขุดค้นหมู่ถ้ำคุมราน ชาวเบดูอินคนอื่นๆ ก็ขุดหากันเองด้วย  แล้วขายสิ่งที่พบให้คานโด  ของชิ้นที่เขาซื้อในราคาสูงที่สุดเป็นม้วนหนังสือพระวิหาร (Temple Scroll) ความยาวเกือบแปดเมตร  ถือเป็นม้วนหนังสือเดดซียาวที่สุดในโลก  เมื่อปี 1967 ในช่วง “สงครามหกวัน” เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอิสราเอลได้ยึดม้วนหนังสือพระวิหารจากบ้านของคานโด โดยกล่าวว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นมีรายงานว่า  คานโดได้ขนย้ายชิ้นส่วนม้วนหนังที่เหลือไปไว้กับญาติพี่น้องในเลบานอนอย่างลับๆ ก่อนจะย้ายไปเก็บยังห้องนิรภัยของธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์

ในปี 2009 สตีฟ กรีน ผู้ก่อตั้งและประธานพิพิธภัณฑ์พระคริสตธรรมคัมภีร์แห่งใหม่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เริ่มกว้านซื้อพระคัมภีร์หายากและศิลปวัตถุ และรวบรวมมาได้ทั้งหมด 40,000 ชิ้น  ข้อผิดพลาดประการหนึ่งของกรีนคือการนำเข้าแผ่นจารึกดินเผาและโบราณวัตถุอื่นๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่าน่าจะถูกปล้นมาจากอิรัก เขาต้องเสียค่าปรับเป็นเงินสามล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังถูกริบของกลางด้วย

ไบเบิล
เมื่อโบราณวัตถุเกี่ยวกับพระคริสตธรรมคัมภีร์หลั่งไหลเข้าสู่ท้องตลาดในปี 2008 หลังเกิดวิกฤตทางการเงินทั่วโลก สตีฟ กรีน ผู้ก่อตั้งและประธานพิพิธภัณฑ์พระคริสตธรรมคัมภีร์ในวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ลงมือเริ่มกว้านซื้อ ไม่นานเขาต้องเผชิญด้านมืดของการค้าโบราณวัตถุ และจ่ายเงินเพื่อระงับข้อพิพาททางกฎหมายเป็นเงินสามล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการนำเข้าซึ่งวัตถุที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า น่าจะถูกปล้นมาจากอิรัก

เป็นเรื่องให้อภัยได้ หากคุณเริ่มตั้งคำถามชวนอึกอัก ณ จุดนี้ว่า   จะทำทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไรหรือ ทำไมจะต้องทุ่มเทกับพระคัมภีร์เก่าๆ และเศษกระดาษปาปิรุสของอียิปต์ที่เก่ากว่าด้วย คำตอบสั้นๆ คือ การได้พิสูจน์ว่าศรัทธาของพวกเขามาจากข้อเท็จจริงหรือเรื่องแต่งกันแน่

แต่หลักฐานเหล่านั้นดีแค่ไหน การสรุปว่าพระเจ้าในพระคริสตธรรมคัมภีร์มีอยู่จริงและพระองค์ตรัสกับเหล่าผู้เขียนพระคริสตธรรมคัมภีร์โบราณเช่นนั้น เรามีสิ่งที่พวกเขาเขียนในตอนนั้นละหรือ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่เคยมีการค้นพบข้อเขียนดั้งเดิมหรือที่นักวิชาการเรียกว่า “ลายมือต้นฉบับ” (autograph) เลย การที่ถ้อยคำเหล่านั้นเหลือรอดมาได้ ก็เพราะถูกคัดลอกด้วยมือนับครั้งไม่ถ้วน แม้แต่นักวิชาการหัวอนุรักษนิยมที่สุดยังยอมรับว่า ไม่มีต้นฉบับใดเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

ไบเบิล
สวนสนุกแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land Experience) ในออร์แลนโด ซึ่งโฆษณาว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์พระคริสตธรรมคัมภีร์ที่มีชีวิต” มีผู้แสดงในเหตุการณ์ย้อนยุคและถ้ำจำลองที่ค้นพบม้วนหนังสือเดดซี
พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ฉบับไวคลิฟฟ์ ซึ่งคัดลอกสำเนาด้วยมือเมื่อราวปี 1400 จัดแสดงอยู่ที่สวนสนุก ชาวคริสต์ในฟลอริดา ได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีพิเศษ จอห์น ไวคลิฟฟ์ นักเทววิทยาชาวอังกฤษ เป็นนักแปลมือหนึ่งซึ่งแปลพระคริสตธรรมคัมภีร์จากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษธรรมดาที่เข้าใจง่าย อันเป็นการกระทำแปลกใหม่ที่เหล่าสงฆ์ในศาสนจักรพากันประณาม

ปีเตอร์ เฮด นักวิชาการจากออกซฟอร์ด ผู้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาใหม่ฉบับกรีก กล่าวว่า “ต้นฉบับพระคัมภีร์บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงภายใต้การควบคุม ความแตกต่างหรือความแปรผันปรากฏให้เห็น และเราพอจะรู้ว่ามาจากยุคไหนและทำไปทำไม สิ่งที่เป็นปัญหาตอนนี้คือ เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับยุคแรกๆมากพอ”

 


อ่านเพิ่มเติม

สืบเสาะค้นหาพระเยซูในประวัติศาสตร์

Recommend