(ซ้าย) Mamunur ทารกอายุ 25 วัน หนึ่งในเด็กทารกเฉลี่ย 60 คนที่เกิดในค่ายคอกซ์บาซาทุกวัน ส่วนภาพด้านขวาคือ เด็กไร้สัญชาติ อีกคนที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อวัยเพียง 18 วัน
ภาพถ่ายโดย Turjoy Chowdhury
ณ ค่ายผู้ลี้ภัยคอกซ์บาซาของบังกลาเทศ ในทุกๆ วันมีเด็กชาวโรฮิงญาผู้ไร้สัญชาติราว 60 คนลืมตาดูโลก
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 ขณะที่ Turjoy Chowdhury ช่างภาพชาวบังกลาเทศกำลังเดินอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เขาได้ยินเสียงเด็กทารกร้องลั่น ที่ภายในกระท่อมหลังเล็กๆ นั้นเอง ช่างภาพพบกับทารกเพศหญิงชาวโรฮิงญาอายุเพียง 1 วัน ถูกห่มอยู่ในผืนผ้าสีแดง เมื่อเขาเข้าไปใกล้ขึ้น ผู้เป็นแม่ก็คลายผ้าห่มที่ได้รับแจกจากองค์กรช่วยเหลือออก และอนุญาตให้ Chowdhury ถ่ายภาพเธอ
ตัวเขาตั้งใจถ่ายภาพของหนูน้อยจากมุมสูง แบบเดียวกับเทคนิคถ่ายภาพที่นิยมกันในอินสตาแกรม สำหรับเขานี่คือเด็กน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกเท่านั้น ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย “ในตอนนั้นผมมองเข้าไปในดวงตาใสบริสุทธิ์ พลางคิดไปว่า ‘เกิดบ้าอะไรขึ้นกับโลกใบนี้?'” เขากล่าว “เด็กคนนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรทางการเมืองเลยด้วยซ้ำ”
เด็กๆ ชาวโรฮิงญาที่เกิดในค่ายคอกซ์บาซาของบังกลาเทศ เริ่มต้นชีวิตของพวกเขาโดยปราศจากกฎหมายคุ้มครอง พิจารณาจากสถานะ พวกเขาไม่ใช่ชาวบังกลาเทศ และไม่ใช่ชาวเมียนมา ทั้งยังไม่มีประเทศใดอยากรับผิดชอบ Chowdhury ลองนับจำนวนเด็กเกิดใหม่ในค่าย เขาพบว่าในแต่ละวันมีเด็กไร้รัฐเหล่านี้ลืมตาขึ้นมาดูโลกมากกว่า 60 คน
เป็นเวลาหลายสิบปีแล้วที่ชาวโรฮิงญาถูกจองล้างจองผลาญ และถูกปฏิเสธจากการเป็นพลเมือง สำหรับชาวเมียนมานี่คือคนนอกที่เข้ามาอาศัยแผ่นดินอยู่ แม้ชาวโรฮิงญาจะระบุว่าพวกเขาอาศัยอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 ก็ตาม ในปี 1982 รัฐบาลเมียนมาผ่านกฎหมายให้สิทธิแก่กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจำนวน 135 กลุ่ม ทว่าไม่มีชาวโรฮิงญาอยู่ในนั้น สถานะพลเมืองแต่กำเนิดของพวกเขาถูกปฏิเสธ ชาวโรฮิงญาถูกบังคับให้ขึ้นทะเบียน และถือบัตรพลเมืองชั่วคราวแทน ซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่มีห่างไกลจากพลเมืองจริงหลายเท่า
เดือนสิงหาคม ปี 2017 กองกำลังทหารเมียนมาบุกเข้าปราบปรามไล่ประหัตประหาร และเผาทำลายหมู่บ้านของชาวโรฮิงญาหลายแห่งในรัฐยะไข่ ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญามากกว่า 736,000 คนหนีเอาชีวิตรอดไปยังบังกลาเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาอาศัยอยู่ในค่ายที่จัดตั้งขึ้นบริเวณชายแดน และยังคงไม่ได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่มีสถานะใดๆ ช่องโหว่นี้กีดกันชาวโรฮิงญาออกจากการศึกษา รวมไปถึงบริการสาธารณะอื่นๆ
นับตั้งแต่ Chowdhury ตัดสินใจเผยแพร่ภาพถ่ายแรกของเด็กไร้สัญชาติ ในโปรเจค “Born Refugee” ด้วยการขออนุญาตถ่ายภาพเด็กทารกเกิดใหม่ในค่ายที่แสนจะแออัด “ผู้คนก็เริ่มตระหนักว่าปัญหานี้สำคัญแค่ไหน” เขากล่าว ทุกวันนี้ในโปรเจคมีภาพถ่ายของเด็กทารกราว 20 คน บางคนยังไม่ได้ถูกตั้งชื่อเสียด้วยซ้ำ และบางคนก็เพิ่งมีชื่อในตอนที่ถูกถ่ายภาพ
รายงานจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในค่ายคอกซ์บาซามีผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กจำนวนมากกว่าครึ่งล้านคน และในจำนวนนี้มีประมาณ 30,000 คน ที่มีอายุต่ำกว่าหนึ่งขวบ “ผลพวงจากการเป็นคนไร้สัญชาติจะทำให้อนาคตของเด็กๆ ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน” Karen Reidy โฆษกจากยูนิเซฟกล่าว พวกเขาจะถูกตัดออกจากการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจนตลาดแรงงาน “และที่สำคัญคือ เด็กๆ เหล่านี้จะเผชิญกับการเลือกปฏิบัติไปตลอดชีวิต”
ปัจจุบันมีผู้คนที่ไร้ซึ่งสัญชาติราว 12 ล้านคน ทว่าข้อมูลนี้ไม่ได้เที่ยงตรง เพราะยังมีพื้นที่ตกสำรวจอีกมาก เช่น ประเทศจีน รายงานจาก Amal de Chickera ผู้อำนวยการร่วมจากสถาบัน Statelessness and Inclusion “สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเกลียดกลัวชาวต่างชาติ” (xenophobia) ซึ่งจะยิ่งกระตุ้นให้ปัญหาลุกลาม โดยเฉพาะกับสถานการณ์ของค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ที่นับวันมีแต่จะยิ่งเลวร้ายลง
“ที่ผ่านมามีการโจมตีอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญามาโดยตลอด และในที่สุดเรื่องราวก็มาถึงจุดที่ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนไร้สัญชาติ” de Chickera กล่าว “สถานะไร้สัญชาติจำกัดทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย ถ้าคุณต้องตกอยู่ในสถานะนั้น แม้แต่การกลับประเทศก็ไม่ปลอดภัย แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนต้องมีบ้านให้กลับ”
สำหรับ Chowdhury ทารกไร้สัญชาติแต่ละคนกำลังแสดงให้เห็นว่าผลพวงของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมุ่งแบ่งแยกเชื้อชาติมีหน้าตาเป็นอย่างไร “สิ่งหนึ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวผมตลอดเวลาคือเพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน” เขากล่าว “โลกที่ไม่มีการแบ่งประเทศ – นี่คือสิ่งที่โปรเจคภาพนี้กำลังพยายามบอก”
เรื่อง Nina Strochlic
ภาพถ่าย Turjoy Chowdhury
อ่านเพิ่มเติม
ของเล่นทำมือสมบัติเดียวที่เด็กผู้ลี้ภัยในยูกันดามี