โตเกียว : เดินเท้าท่องมหานคร
ยามเช้าตรู่อันหนาวเหน็บวันหนึ่งในเดือนมิถุนายน ผมยืนอยู่ในความมืดใกล้ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำซูมิดะในกรุงโตเกียว มองดูนักท่องเที่ยวใส่เสื้อชูชีพไนลอนสีสด เป็นเสื้อแขนกุดแบบที่เราใส่เวลาเล่นฟุตบอลนัดกระชับมิตร ราวกับว่านักท่องเที่ยว 70 คนจากแอฟริกาใต้ จีน มาเลเซีย สเปน และรัสเซีย ที่ยืนตัวสั่นงันงกเดินทางมาที่นี่เพื่อวิ่งไล่ลูกบอลไปตามย่านริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาหนึ่งหรือสองชั่วโมงก่อนฟ้าสาง และเรากำลังเตรียมตัวเที่ยวสึกิจิชิโจะ ตลาดปลาใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น สึกิจิเป็นเหมือนเขาวงกตของโกดังเก็บของ ตู้แช่แข็ง ท่าเทียบเรือ ลานประมูล และแผงขายปลา ซึ่งหล่อเลี้ยงนครหลวงแห่งนี้มาเกือบศตวรรษ ตอนผมไปเยือนเมื่อปีที่แล้ว ตลาดเก่าแก่แห่งนี้กำลังใกล้หมดอายุขัย แผงขายปลาที่ดูสับสนวุ่นวายและพื้นหินกรวดยังดึงดูดนักท่องเที่ยวผู้แสวงหาบรรยากาศแบบเดิมๆ ทว่าในมหานคร โตเกียว อันล้ำสมัย ตลาดเช่นนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอดีตที่ไร้การจัดระเบียบและไม่ถูกหลักสุขาภิบาล พอถึงฤดูใบไม้ร่วง ตลาดสึกิจิจะปิดตัวลง และพ่อค้าแม่ขายต้องย้ายออกจากใจกลางเมืองไปยังตลาดแห่งใหม่ที่ดูจืดชืดทางตะวันออกเฉียงใต้แทน
เราเข้าแถวเพื่อเดินเข้าไปด้านใน ตาชั่งปลาส่องประกายในแอ่งน้ำใต้เท้าเรา และอากาศก็อบอวลไปด้วยกลิ่นน้ำมันและไอทะเลช่วงน้ำลงเต็มที่ รถยกและรถเข็นน้ำแข็งส่งเสียงเคร้งๆ วิ่งกันขวักไขว่เหมือนผึ้งแตกรัง ผมมารู้ตอนนั้นเองว่า เสื้อชูชีพทอตาข่ายของเรามีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกชน และยังช่วยกันไม่ให้เราเข้าไปยุ่มย่ามหรือกีดขวางการทำมาค้าขายของคนที่นั่นด้วย
ในแต่ละวัน ปลา พืชทะเล และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังราว 1,500 ตันจากทั่วโลกจะหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ พอตกค่ำ สินค้าปริมาณมหาศาล คิดเป็นมูลค่าราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะถูกนำไปคัดแยก ชำแหละ และขนส่งไปยังผู้ค้าปลีก ตอนที่ผมไปถึงเวลา 4.30 น. ตลาดก็เปิดทำการมาหลายชั่วโมงแล้ว
ผู้ชายหลายร้อยคนเร่งรีบผ่านไป บ้างหัวเราะและตะโกนพูดคุย ปากคาบบุหรี่ไว้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสวมถุงมือสีขาวชี้ทางให้เราเดินผ่านกองลังโฟมเป็นตั้ง บางลังใหญ่พอๆ กับโลงศพ และด้านในมีคราบเลือด เบื้องหน้าเราซึ่งเป็นโกดังขนาดมหึมา ใบเลื่อยส่งเสียงกรีดแหลมขณะตัดเนื้อปลาแช่แข็ง
พอถึงเวลา 10.00 น. กิจกรรมต่างๆก็ซาลง และผมเริ่มเดินเที่ยวตลาดตามลำพัง พูดคุยกับคนขายปลาที่โอดครวญถึงการปิดตัวของตลาดเก่า หลายชั่วโมงให้หลัง สิ่งที่ยังส่งเสียงอยู่มีเพียงรถขนปลาหลายคัน
ใกล้ถึงเที่ยงคืน ผมเดินเตร่เข้าไปในศาลเจ้าชินโตเล็กๆแห่งหนึ่ง สึกิจิเป็นสถานที่ที่ดูมืดหม่น อันตราย น่าตื่นเต้น เป็นจุดหาดูได้ยาก ซึ่งฉากหน้าอันหรูหราทันสมัยของโตเกียวต้องหลีกทางให้เสน่ห์ดิบเถื่อนได้เผยตัวออกมา และผมรู้สึกเหนื่อยจนหมดแรง
แมวตัวหนึ่งถูตัวกับเท้าผม หินข้างหน้าผมเขียนไว้ว่า ซูชิ–ซูกะ หรือ “อนุสาวรีย์ซูชิ” ในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ตลาดจะเริ่มมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ถ้าคุณเห็นด้วยกับเอดเวิร์ด เกลเซอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด ซึ่งบอกว่า เมืองต่างๆ คือสิ่งประดิษฐ์ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ โตเกียวอาจเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดก็ว่าได้ เพราะที่นี่คือมหานครอันชวนตื่นตะลึง มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 37 ล้านคน และเป็นเมืองอันมั่งคั่งที่สุด ปลอดภัยที่สุด และรุ่มรวยความสร้างสรรค์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แม้คุณอาจไม่สนใจว่า มหานครต่างๆจะหล่อหลอมพฤติกรรมของมนุษย์อย่างไร แต่โตเกียวเป็นสถานที่ที่คุณจะมองข้ามไม่ได้ เพราะเมืองนี้เปลี่ยนชีวิตคุณไปแล้ว โตเกียวคือผู้สร้างอิทธิพลทางสังคมอย่างแท้จริง และเป็นจุดที่เชื่อมต่อโลกเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่น
ความสร้างสรรค์ของมหานครแห่งนี้ส่วนหนึ่งอาจย้อนกลับไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ที่นี่เคยถูกทำลายย่อยยับมาแล้วถึงสองครั้งสองคราในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ครั้งแรกโดยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคคันโตเมื่อปี 1923 และอีกหนึ่งชั่วคนให้หลังด้วยฝีมือการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หายนะแต่ละครั้งบีบให้ชาวญี่ปุ่นกลบฝังประวัติศาสตร์ของตัวเอง แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ ทั้งย่านชุมชน ระบบขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน และแม้กระทั่งพลวัตทางสังคม ตลาดสึกิจิเองสร้างขึ้นหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคันโตแทนตลาดเดิมที่ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางเมืองมา 300 ปี
ในช่วงทศวรรษ 1950 โตเกียวฟื้นคืนชีวิตและเติบโตกลายเป็นเมืองแออัดอย่างไม่น่าเชื่อ เกลเซอร์ระบุว่า นี่คือเคล็ดลับความสำเร็จของโตเกียว นั่นคือความร้อนรนในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อันเป็นผลมาจากคลื่นประชากรที่ทะลักเข้ามาในวัยและพื้นเพต่างกัน แล้วทลายอุปสรรคต่างๆเพื่อค้าขายและแลกเปลี่ยนความคิดกัน ถ้าเราจะอุทิศเนื้อที่นิตยสารทั้งฉบับให้กับเรื่องเมืองต่างๆ เราไม่อาจมองข้ามโตเกียวไปได้ และเจน เจคอบส์ นักเขียนผู้ทรงอิทธิพลด้านการวางผังเมือง บอกว่า ทางที่ดีที่สุดในการทำความรู้จักกับเมืองเมืองหนึ่งเพื่อสัมผัสพลังอันหลากหลายของเมืองนั้นๆ ก็คือ การเดินเท้าท่องเมือง
ด้วยเหตุนี้ ช่างภาพ เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์ กับผมจึงทำเช่นนั้น เราเดินเท้าท่องโตเกียวอยู่นานหลายสัปดาห์ ค่อยๆเดินผ่านย่านชุมชนต่างๆ เขตอุตสาหกรรม โรงเรียน สถานีรถไฟ ตลาด สุสาน วัดวาอาราม และศาลเจ้า เราทั้งคู่เคยใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นมาก่อน และรู้ดีว่า โตเกียวอาจซุกซ่อนอยู่ใต้คำคุณศัพท์ขั้นสุดที่ใช้ในการพรรณนาถึงเมืองนี้ เราคุยกับแทบทุกคนที่พบ บันทึกชีวิตประจำวันและพิธีกรรมบางส่วนของพวกเขา เราคงไม่อาจถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดได้ แต่เราพยายามมองให้ลึกลงไปได้ โดยเชื่อมโยงตัวเมืองเข้ากับผู้คนซึ่งมอบพลังให้แก่เมืองผ่านการใช้ชีวิตของตน
เรื่อง นีล ชี
ภาพถ่าย เดวิด กุทเทนเฟลเดอร์
อ่านสารคดีฉบับเต็มได้จาก นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายน 2562
อ่านเพิ่มเติม
ปิดตำนาน ตลาดซึกิจิ