เปิดตำนาน “เชลล์ชวนชิม” ต้นตำรับการรีวิวร้านอาหารของไทย

เปิดตำนาน “เชลล์ชวนชิม” ต้นตำรับการรีวิวร้านอาหารของไทย

ภาพถ่าย หม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ กับตราสัญลักษณ์ เชลล์ชวนชิม ขอบคุณภาพถ่ายจาก Facebook: ครอบจักรวาล


เรื่องราวของ “ เชลล์ชวนชิม ” สัญลักษณ์ร้านอาหารอร่อยอายุกว่า 50 ปี โดยนักชิมระดับตำนาน ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมคอลัมน์แนะนำอาหารและนักชิมมากมาย

อาหาร เป็นสิ่งที่ให้ความรื่นรมย์กับมนุษย์มาหลายยุคหลายสมัย

ในโลกที่อินเตอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตมนุษย์ การเสาะหาร้านอาหารดีๆ ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยาก และทำได้รวดเร็ว เพียงแค่เปิดเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลด้านอาหาร หรือเว็บไซต์สืบค้นข้อมูลว่า ร้านอาหารอร่อย ตามด้วยชื่อสถานที่ ก็สามารถข้อมูลร้านอาหารที่เราพึงพอใจได้แล้ว

ในทุกวันนี้มีผู้คนไม่น้อยที่ “กดไลก์” เว็บเพจที่เกี่ยวกับการแนะนำอาหาร หรือรับชมวิดีโอในเว็บไซต์ youtube ที่มีเนื้อหาแนว “ชวนชิม” ซึ่งนำเสนอภาพถ่ายอาหารที่แสนยั่วยวน ให้เราบันทึกไว้เป็นข้อมูลเพื่อออกเดินทางไป “ตามรอย” ร้านอาหารเหล่านั้นในวันหยุดสุดสัปดาห์

พฤติกรรมเช่นนี้มีอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่ยุคอดีต เพียงแค่ไม่ใช่รูปแบบการเสาะหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต แต่เป็นคอลัมน์ชิมอาหารตามหน้านิตยสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่เป็นผู้เดินทางไปเสาะหาร้านอร่อยตามสถานที่ต่างๆ เพื่อมาเขียนบทความนำเสนอให้กับผู้อ่าน ซึ่งมีหลากหลายคอลัมน์ในยามที่สื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในยุครุ่งเรือง

อย่างไรก็ตาม คอลัมน์ต้นตำหรับ ที่เป็นผู้ “ริเริ่ม” วัฒนธรรมการ “รีวิว” ร้านอาหารในเมืองไทย คงจะหนีไม่พ้น “เชลล์ชวนชิม” ที่มาพร้อมกับสัญลักษณ์ชามลายครามลายผักกาด ที่ติดอยู่ตามร้านอาหาร ทั้งร้านห้องแถว หรือภัตตาคารหรูหรา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับประกันรสชาติอาหารให้กับผู้ที่มารับประทาน

โดย เชลล์ชวนชิมนี้ มีเบื้องหลังเป็นนักชิมอาหารระดับตำนานของเมืองไทย

หม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

เชลล์ชวนชิม
ตราสัญลักษณ์ “เชลล์ชวนชิม” รูปถ้วยลายครามลายผักกาด มีลายเซ็นของ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นเครื่องหมายรับประกันความอร่อยตามร้านอาหารต่าง ๆ ขอบคุณภาพถ่ายจากนิตยสารแพรว https://praew.com/?p=271333

หลานชายผู้ว่าการห้องเครื่อง – บุตรชายผู้ช่วยทำเครื่องเสวยแห่งวังสระปทุม

หม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ มีชื่อเล่นว่า “หมึก” เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2470 ณ วังเพชรบูรณ์ กรุงเทพมหานคร (ปัจจุบันคือพื้นที่ตั้งของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล) ไปเติบโตที่วังสระปทุม ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่วังศุโขทัย

โดยวังสระปทุม เป็นสถานที่ปลูกฝังให้ ม.ร.ว. ถนัดศรีเป็นสุดยอดนักชิม เนื่องจากคุณย่า คือหม่อมละมุน สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา เป็นผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระปทุม ส่วนคุณแม่คือ หม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย ม.ร.ว. เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ทำเครื่องเสวยถวายสมเด็จพระพันปีหลวง ม.ร.ว. ถนัดศรีจึงได้เรียนรู้ทักษะการรับรู้รสอาหาร และการจำแนกว่าอาหารที่ดี ควรค่าแก่การแนะนำผู้อื่นนั้นเป็นอย่างไร

หลังกลับจากการศึกษาต่อที่อังกฤษ ม.ร.ว. ถนัดศรี ยังไม่เริ่มต้นงานด้านอาหารโดยทันที แต่ไปจับงานด้านบันเทิงแขนงอื่น ทั้งการเป็นนักร้องให้กับวงสุนทราภรณ์ แสดงละครโทรทัศน์ และเป็นนักร้องระดับแผ่นเสียงทองคำ

จุดเริ่มต้น มิชลินไกด์เมืองไทย

ในช่วงปี พ.ศ. 2504 เป็นยุคที่รัฐบาลกำลังเร่งก่อสร้างถนนสร้างใหม่หลายสาย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งในตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายและโฆษณาของบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย คิดหาวิธีการประชาสัมพันธ์ให้เชลล์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงได้มาปรึกษากับ ม.ร.ว. ถนัดศรี

ม.ร.ว. ถนัดศรีมองว่า คนไทยโดยทั่วไปนิยมการกินอาหาร สามารถกินอาหารจุบจิบได้ทั้งวัน จึงเป็นที่มาของไอเดียในการเขียนคอลัมน์แนะนำอาหาร คล้ายกับหนังสือ มิชลินไกด์ ซึ่งโด่งดังอยู่แล้วในยุโรป โดยคิดใช้ชื่อ ชวนชิม และนำชื่อ เชลล์ ไปใส่ไว้ข้างหน้า กลายมาเป็นชื่อคอลัมน์ “เชลล์ชวนชิม” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2504 โดยมี ลูกชิ้นห้าหม้อ หรือเกาเหลาลูกชิ้นมันสมองหมู ย่านแพร่งภูธร เป็นร้านแนะนำร้านแรกของคอลัมน์ และยังเปิดกิจการมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นคอลัมน์ “เชลล์ชวนชิม” และ ม.ร.ว. ถนัดศรี ได้กลายมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านการมอบสัญลักษณ์ความอร่อยให้กับร้านอาหารทั่วประเทศไทย ตั้งแต่คนธรรมดา ไปจนถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เมื่อถึงคราวต้องคิดถึงร้านอาหารที่ดี ล้วนมองหาร้านอาหารที่มีสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมด้วยกันทั้งสิ้น โดยร้านที่สามารถลงคอลัมน์หรือได้ตราสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมไปติดที่ร้าน ต้องมีคุณสมบัติว่า อาหารต้องอร่อยได้มาตรฐาน มีบริการที่ดี ราคาถูกหรือแพงไม่สำคัญ ขอเพียงแค่มีรสชาติอร่อย และต้องปลอดภัยในการบริโภค

เชลล์ชวนชิม
ภาพถ่ายคอลัมน์ ถนัดศรีชวนชิม ผลงานบทความด้านแนะนำร้านอาหารของ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ซึ่งเป็นคอลัมน์ซึ่งเผยแพร่ต่อมาเมื่อคอลัมน์ เชลล์ชวนชิม ในมติชนสุดสัปดาห์ยุติบทบาทไป ขอบคุณภาพถ่ายจาก Facebook: น้อยเบเกอรี่1980

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารห้องแถวคูหาเดียว หรือภัตตาคารหรูหรา ก็มีสามารถป้ายเชลล์ชวนชิมติดเอาไว้เป็นหลักประกันความอร่อยให้ลูกค้าได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งมีร้านอาหารไม่น้อย เคยเป็นร้านอาหารที่ไม่มีใครรู้จัก แต่เมื่อได้รับป้ายเชลล์ชวนชิมแล้วก็มีกิจการที่รุ่งเรืองจนเจ้าของร้านกลายเป็นเศรษฐีจากการค้าขายอาหาร โดยการได้ลงคอลัมน์แนะนำจาก ม.ร.ว. ถนัดศรี เพราะในยุคสมัยแรกเริ่ม คอลัมน์การแนะนำอาหารมีเพียง “เชลล์ชวนชิม” คอลัมน์เท่านั้น ก่อนที่จะเกิดนักชิมและคอลัมน์อาหารมากมายในเวลาต่อมา

นอกจากบทบาทในการเขียนคอลัมน์ ม.ร.ว. ถนัดศรีได้มีต่อยอดเรื่องการแนะนำอาหารจากหน้ากระดาษมาสู่จอโทรทัศน์ โดยเขาเป็นพิธีกรรายการ พ่อบ้านเข้าครัว ช่วงทศวรรษ 2520 – 2530, ครอบจักรวาล ซึ่งเป็นรายการที่มีเนื้อหาพากินพาเที่ยว ซึ่งยังออกอากาศมาจนถึงปัจุบัน และ พ่อลูกเข้าครัว ร่วมกับหมึกแดง หรือ หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ ผู้เป็นบุตรชาย

เชลล์ชวนชิม
รูปแบบป้าย เชลล์ชวนชิม ที่ติดอยู่ตามร้านอาหาร เป็นสัญลักษณ์แห่งร้านอาหารอร่อยโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ที่สังคมไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ขอบคุณภาพถ่ายจาก Facebook: แม่ตุ๊ ข้าวขาหมู ก๋วยจั๊บน้ำข้น เชลล์ชวนชิม

คอลัมน์เชลล์ชวนชิม ได้ตีพิมพ์ที่ มติชนสุดสัปดาห์ เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2555 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อคอลัมน์มาเป็น ถนัดศรีชวนชิม โดยตลอดช่วงเวลา 50 ปี มีร้านอาหารกว่า 1,500 ร้านที่ได้ลงคอลัมน์ เห็นได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะมีนักชิมอาหารในเมืองไทยที่มีโอกาสได้ชิมอาหารมากมายเท่า ม.ร.ว. ถนัดศรี

แม้ว่า ม.ร.ว. ถนัดศรี จะจากไปด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 แต่วัฒนธรรมการรีวิวอาหารในสังคมไทยที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มก็ยังคงอยู่และเติบโตเรื่อยมาในโลกอินเตอร์เน็ต ดังนั้น ถึงแม้จะสิ้นตำนานนักชิมของเมืองไทยผู้นี้ไป แต่ผลงานความเห็นในการแนะนำร้านอาหารที่ดี ผู้อ่านที่ประทับใจในการแนะนำร้านอาหาร และร้านอาหารที่ได้รับสัญลักษณ์ป้ายเชลล์ชวนชิมที่ยังมีลายเซ็นของท่านประดับไว้ ก็จะยังคงอยู่เป็นประจักษ์พยานแห่งความอร่อยคู่สังคมไทยต่อไป

แหล่งอ้างอิง

ยังจำได้ไหม จำได้หรือเปล่า…หวนคืนวันวาน สัญลักษณ์ความอร่อยก่อนดาวมิชลิน

ปรมาจารย์นักกินเชลล์ชวนชิม

ปิดตำนานเชลล์ชวนชิม “หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี” ถึงแก่กรรม

เปิดประวัติ “หม่อมถนัดศรี” คุณชายนักชิม ศิลปินแห่งชาติ เจ้าตำรับเชลล์ชวนชิม

ย้อนรอย ‘เชลล์ชวนชิม’ อิทธิพลความอร่อยของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ตำนาน 50 ปีเชลล์ชวนชิม


อ่านเพิ่มเติม นี่คือร้านอาหารที่ดีที่สุดของเปอร์โตริโก เชฟโฮเซ อันเดรสการันตี

Recommend