เข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 2 ผมพบว่าการเริ่มต้นถือศีลอดเท่าที่ผ่านมา ผมตื่นมากินอาหารเช้า กลับไปนอนต่อ ก่อนจะลุกขึ้นไปทำงาน ทั้งๆ ที่ในบางคืนผมนอนมามากพอแล้ว นั่นเป็นนิสัยเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้อ้วน ก่อนหน้านี้ผมออกกำลังกายประมาณ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลองจับกล้ามเนื้อที่เริ่มนิ่มของตัวเอง เพราะขาดการออกกำลัง พลางสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะกลับมาออกกำลังในช่วงถือศีลอด ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากไปหรือไม่? บางทีช่วงกลางคืน หลังกินอาหารเย็นแล้ว อาจเป็นเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการออกกำลังก็ได้
จากเดิมที่ผมเป็นคนถ่ายทุกวัน และไม่เคยมีปัญหากับระบบขับถ่ายมาก่อน แต่ตอนนี้อาการท้องผูกเริ่มเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เมื่อร่างกายดื่มน้ำน้อยลง ในบางคืนผมนอนดึกและตื่นสายไม่ทันพระอาทิตย์ขึ้น เมื่อไม่ทันกินอาหารเช้าความหิวจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และส่งผลให้กินอาหารปริมาณมากขึ้นตอนเย็น ผมสงสัยว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป สุขภาพของผมจะเป็นอย่างไร?
“ถ้าปฏิบัติตามกฏกติกาที่วางเอาไว้ การถือศีลอดไม่ก่อให้เกิดโทษใดๆครับ” นายแพทย์อัสนี โยธาสมุทร แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป จากโรงพยาบาลวิภาราม ปากเกร็ด อธิบายถึงประโยชน์ของร่างกายที่จะได้รับจากการถือศีลอดประกอบด้วย 1.ควบคุมน้ำหนัก 2.ควบคุมระดับความดันโลหิต และ3.ควบคุมระดับไขมันในร่างกาย
เมื่อร่างกายอดอาหาร ระบบเผาผลาญจะดึงเอาพลังงานเก่าที่สะสมอยู่มาใช้ ซึ่งก็คือพลังงานที่กักเก็บไว้ในรูปของไขมัน และหากไม่เพียงพอต่อพลังงานในวันนั้นๆ ร่างกายก็จะดึงเอากลูโคสที่เก็บสะสมไว้ในตับมาใช้อีก นั่นจะทำให้ค่าไขมันโดยรวมทั้งคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ลดลง
“อีกหนึ่งสิ่งก็คือการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย สารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ในชั้นไขมัน เมื่อไขมันถูกละลายนำไปใช้ สารพิษก็จะถูกขับออกไปด้วย การอดอาหารจึงเป็นวิธีหนึ่งในการทำความสะอาดร่างกาย” คุณหมออัสนีกล่าว
(ระหว่างทาง)พบความหดหู่ที่พระเจ้าไม่อาจช่วย
ผมรู้สึกแย่ ไม่รู้ว่ามีชาวมุสลิมคนไหนนับถอยหลังรอให้หมดเดือนรอมฎอนอย่างผมกันไหม หรือเพราะเป็นการอดอาหารจริงจังครั้งแรกผมจึงเกิดความรู้สึกเช่นนี้ ที่ผมไม่ชอบที่สุดก็คือกระบวนการนี้กำลังบั่นทอนพลังการใช้ชีวิตของผม ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ยิ่งหกโมงเย็นใกล้เวลาละศีลอด สมาธิผมจะกระเจิดกระเจิง หลังเลิกงานผมเหนื่อยจนหลับบนรถเมล์ราวกับใช้แรงงานหนักมาทั้งวัน ทั้งที่ความเป็นจริงคือการนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ในออฟฟิศ
สัปดาห์ที่ 3 นี้ผมเครียดจากงานจนลืมไปเสียสนิทเลยว่าตั้งใจจะนั่งสมาธิทุกวัน นับตั้งแต่เริ่มต้นการอดอาหารนี่เป็นสัปดาห์ที่ยากที่สุด ไม่ใช่เพราะความหิวโหยแต่เป็นความรู้สึกภายใน ผมนึกย้อนไปถึงคำพูดของคุณอรุณ รับรู้ถึงความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ที่ไม่มีจะกินมันเป็นเช่นไร ผมคิดว่าในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้เป็นเขาคงจะภาวนาถึงอัลเลาะห์ให้ท่านช่วยเขาผ่านมันไปให้ได้ แต่ผมไม่มีอัลเลาะห์ในใจเช่นเขา สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้ผมมีเพียงอย่างเดียวคืองานชิ้นนี้ เมื่อผมเปิดโปรเจคแล้ว มันจะล่มกลางคันไม่ได้
เวลาประมาณห้าโมงครึ่ง ที่มัสยิดบ้านสมเด็จ ใกล้กับมหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บรรยากาศไม่คึกครื้นอย่างที่ผมคาด คงเป็นเพราะฝนที่ตกโครมลงมาก่อนหน้า ผู้คนในวันนี้จึงบางตาลง ผมบอกกับอิหม่ามว่าจะขอมาละศีลอดที่นี่ด้วย เพราะกำลังทำสารคดีอยู่ อิหม่ามยิ้มอย่างยินดีปรีดาพร้อมพาผมทัวร์รอบมัสยิด และเล่าถึงความหมายของศีลอดซ้ำอีกครั้ง ผมปล่อยให้ท่านเล่าต่อไป ที่มัสยิดไหนๆ ก็เป็นเช่นนี้ จากประสบการณ์ชาวมุสลิมที่ผมพบเจอล้วนอยากเล่า อยากอธิบายวัฒนธรรมความเชื่อของพวกเขาให้เราฟังเสมอ หากแสดงท่าทีสนใจ
ที่มุมหนึ่งผู้หญิงหลายคนช่วยกันจัดถาดอาหาร เตรียมเครื่องดื่ม ส่วนผู้ชายยืนเรียงเป็นแถวรับถาดอาหารไปวางเตรียมไว้ที่โต๊ะ ซึ่งจัดเรียงด้านนอกของมัสยิด ผมเดินสำรวจเข้าไปในกุโบร์ ต้นไม้ครึ้มให้บรรยากาศเงียบสงบ กลิ่นดินชื้นๆหลังฝนตกลอยขึ้นมาในอากาศ สุสานในเมืองที่มีพื้นที่จำกัดเช่นนี้ ทำให้มีหลุมฝังศพค่อนข้างแน่น แต่ละหลุมระยะห่างกันไม่มากนัก
เดินออกมาจากกุโบร์ ผมเพิ่งสังเกตเห็นว่าถาดอาหารถูกจัดข้างในห้องๆ หนึ่งเป็นพิเศษ ภายในมีโต๊ะตัวยาวตั้งเรียงประมาณ 6 ตัว “ห้องนี้ไว้สำหรับผู้หญิง” ใครคนหนึ่งบอก เมื่อใกล้เวลาละศีลอด ผู้คนก็เริ่มมากขึ้น แต่ละคนนั่งจับจองที่ของตน
หญิงสาวคนหนึ่งในวัยไล่เลี่ยกันกับผม สวมชุดฮิญาบสีดำคลุมทั้งตัว เธอกำลังนั่งคุยอยู่กับเพื่อนอีกคนระหว่างรอละศีลอด ผมเข้าไปทักทาย ได้ความว่าเธอมาจากปัตตานี ส่วนอีกคนมาจากนราธิวาส
“เหนื่อยค่ะ บางวันก็แอบงีบบ้าง ช่วงที่เด็กไปพักเที่ยง อย่างช่วงเช้าเราจะมาสอนแบบเต็ม 100% พอตอนบ่ายก็จะเริ่มไม่ไหวแล้ว ก็จะสอนสักสิบสิบห้านาที แล้วสั่งงานให้เด็กทำแทน” ซูไลดา สะดี ครูสอนภาษาอังกฤษแบ่งปันวิถีชีวิตช่วงถือศีลอดของเธอให้ฟัง เมื่อผมเล่าว่าช่วงที่ผ่านมา ผมรู้สึกหมดแรงไปกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน “เด็กบางคนก็จะไม่เข้าใจค่ะ หาว่าครูขี้เกียจ” สาวาดี นามุง ครูฝึกสอนวิชาคอมพิวเตอร์จากนราธิวาสกล่าวเสริม
การมีวินัยและดูแลร่างกายของตนเองคือสิ่งสำคัญในช่วงเดือนรอมฎอน คุณครูทั้งสองกล่าวว่าการปรับเวลากินเป็นเรื่องสำคัญ และส่งผลให้เวลาในชีวิตประจำวันอื่นๆของพวกเธอต้องปรับตามไปด้วย “อย่างเวลาเลิกงานช่วงนี้ก็ต้องรีบกลับบ้านค่ะ จะมาโอ้เอ้ลอยชาย เดี๋ยวจะไปหาอะไรกินไม่ทัน”
เมื่อผมถามพวกเธอว่ามีวิธีจัดการกับความเหนื่อยล้า และความหิวกระหายอย่างไรในแต่ละวัน เคล็ดลับกลับเป็นเรื่องง่ายดายที่สุด นั่นคือหัวใจสำคัญของการถือศีลอด “นึกถึงคนอื่นที่เขาไม่มีกินกว่าเราค่ะ อย่างชาวซีเรียที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสงคราม จิตใจของพวกเขาต้องแข็งแกร่งกว่าเรามากขนาดไหน หมดวันเรายังรู้ว่าเราจะได้กินข้าวเมื่อไหร่ ยังมีคนอีกมากที่ถึงเวลาออกบวชแล้ว แต่ไม่มีจะกิน มีคนลำบากกว่าเราเยอะค่ะ” ซูไลดาอธิบาย
และแล้วก็ได้เวลาละศีลอด ผมนั่งทานอาหารร่วมโต๊ะกับชาวมุสลิมหลากหลายเชื้อชาติทั้งคนไทย, บังกลาเทศ และปากีสถาน รู้สึกเขินอายกับการเป็นคนนอกศาสนาคนเดียวในสถานที่แห่งนี้ ความที่ผมเป็นคนแปลกหน้า เป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่ทุกสายตาจะจับจ้องมาแต่ระหว่างที่ผมรู้สึกถึงความเป็นคนอื่น กลับมีความอบอุ่นในฐานะแขกของพวกเขา ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่าการละศีลอดร่วมกันที่มัสยิดมันดีกว่าการละศีลอดคนเดียวยังไง บรรยากาศของการพบปะเพื่อนฝูง และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชน ช่วยให้มื้ออาหารมื้อนี้มีความหมายและน่าจดจำ