ชีวิตจะเปลี่ยนไหม หากได้ลองอด

ชีวิตจะเปลี่ยนไหม หากได้ลองอด

ภาพถ่ายจากอินสตาแกรม @little.michima : เพื่อนร่วมดินเนอร์วันนี้ จากไทยแลนด์ บังกลาเทศ และปากีสถาน

หลังเสร็จสิ้นการละหมาด ผมมีโอกาสได้คุยกับ นุรดีน เจะและ นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ ผู้ทำให้ผมประหลาดใจเนื่องจากเขาเป็นคนแรกที่บอกว่าการถือศีลอดนั้นไม่ได้ดีไปเสียหมด

“ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ผมเรียนมา และจากประสบการณ์ส่วนตัว ผมว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพครับ” นุรดีนอธิบายว่าจำต้องแยกคนสุขภาพดี กับคนมีโรคประจำตัวออกจากกัน สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือความดันการอดน้ำตาลต่อย่อมส่งผลดีต่อร่างกาย “สำหรับคนปกติเมื่อร่างกายขาดน้ำและอาหาร ระบบต่างๆ เช่นระบบประสาทสั่งการจะทำงานช้าลงครับ และในวันๆหนึ่ง เราจำเป็นต้องได้รับพลังงานมาใช้ทำกิจกรรมในแต่ละวัน พอร่างกายขาดพลังงานไปเลยทำให้อ่อนเพลีย” เขากล่าว

ถ้าเช่นนั้นนุรดีนทำอย่างไร ทั้งๆที่รู้ว่าการถือศีลอดไม่ดีต่อสุขภาพเขา? “ต้องดูแลสุขภาพตัวเองครับ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้สงบ คิดแต่สิ่งดีๆเช่นการได้บุญ การทำกุศลจากเดือนนี้ หรืออย่างน้อยก็คิดซะว่าเป็นการเบิร์นไขมันในตัวครับ” เขาหัวเราะ ในช่วงเดือนบวชหากวันไหนที่นุรดีนไม่มีเรียน เขาจะนอนอยู่ที่หอพักทั้งวันเพื่อเก็บพลังงานให้แก่ร่างกาย….ผมคิดว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อย

 

ในที่สุดแล้ว อาหารไม่ใช่แค่อาหารอีกต่อไป

โค้งสุดท้ายของการถือศีลอด ผมกลับมานิ่งสงบแบบสัปดาห์แรกอีกครั้ง รู้สึกว่าร่างกายสามารถปรับตัวได้แล้ว เมื่อเหนื่อยก็พัก แต่ยังคงมีบางครั้งที่ผมพ่ายแพ้ต่อความเกียจคร้านยามเช้า เลยจำต้องทนหิวไปตลอดวันเพราะไม่ได้กินอาหารมื้อแรก ผมตั้งตารอนับถอยหลัง ดีใจที่มันจะจบลงเสียที เพิ่งจะเข้าใจก็ตอนนี้ว่าอาหารสำคัญกับร่างกายมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่ให้พลังงาน แต่อาหารกับน้ำคือทุกอย่างที่ส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของระบบภายในร่างกายและอารมณ์ ในบางวันผมถึงขั้นหดหู่ อารมณ์แปรปรวน ซึ่งทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้นเมื่อมีอะไรตกถึงท้องอีกครั้ง มองย้อนกลับไป ไม่น่าเชื่อว่าผม (คนที่กินข้าวครบ 3 มื้อทุกวัน) จะสามารถอดอาหารมาถึงจุดนี้ได้ (ต้องขอสารภาพว่า)การตั้งเป้าหมายอาหารที่อยากกิน เป็นพลังในการต่อสู้กับความหิวโหยในบางวันของผม ซึ่งจริงๆแล้วสำหรับชาวมุสลิมการคิดทำนองนี้เป็นเรื่องไม่สมควรในเดือนรอมฎอน

ย่านรามคำแหง หญิงชาวมุสลิมเลือกซื้อหาอาหารเตรียมไว้สำหรับการละศีลอดในช่วงเย็น วิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ ชาวมุสลิมจำนวนมากไม่ได้ละศีลอดด้วยการกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว แม้รูปแบบจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ศรัทธายังคงเหมือนเดิม

“ปกติหนูละหมาดปีละ 2 ครั้งเองค่ะ ถ้าให้ชดใช้ทั้งเดือนคงไม่ได้ทำอะไรนอกจากละหมาด” ผมอดหัวเราะไม่ได้เมื่อคิดภาพตามว่าชีวิตของ ปนัดดา ชุ่มชื่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยศิลปากรจะเป็นอย่างไร หากเธอต้องละหมาดชดใช้จริงๆ

ปนัดดาเป็นมุสลิมที่ไม่เคร่ง เธอบอกกับผมแบบนั้น ยืนยันได้จากการที่เธอเป็นคนเดียวในละแวกบ้านที่สามารถใส่กางเกงขาสั้นออกจากบ้านได้ “ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยมาก็ไม่ได้ถือศีลอดอีกเลยค่ะ เพราะว่าต้องไปอยู่หอต่างจังหวัดด้วย งานเยอะด้วย พอถือแล้วร่างกายเราทำงาน คิดงานไม่ได้เต็มที่ เลยคิดว่าไม่ถือดีกว่า” เธอกล่าว

เมื่อถามถึงผลกระทบจากสังคมรอบๆ ในฐานะชาวมุสลิมแต่กลับไม่ได้ถือศีลอด เธอเล่าว่ามีบ้างที่ถูกมองว่าเป็นคนไม่มีศาสนา หรือถูกตำหนิว่าไม่ได้รับการอบรมจากทางบ้านให้ดีพอ “เราไม่ได้ถือศีลเหมือนคนอื่นเขา ดังนั้นพอเดือนบวชเราเลยจะพยายามไม่ทำบาปแทนค่ะ อย่างเหล้าเบียร์ก็จะงดไม่ดื่ม” เธอกล่าว

อะไรทำให้ปนัดดาแตกต่างจากชาวมุสลิมคนอื่น? เธอคิดว่าเป็นเพราะการเติบโตมาในครอบครัวที่ไม่เคร่งศาสนาคือคำตอบ “มันขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวมายังไง อย่างเพื่อนหนูบางคนที่อยู่หอ เขาก็สามารถตื่นมาทานอาหารเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นได้ ตัวหนูเลือกที่จะไม่ทำเอง เพราะอยากมีชีวิตเหมือนคนปกติค่ะ” ใครอยากจะถือบวชก็ถือไป ไม่อยากถือก็ไม่ต้องฝืน เธอสรุป

ไม่อาจทราบได้ว่าชีวิตแบบซูไลดาหรือปนัดดา ชีวิตแบบใดมีความสุขมากกว่ากัน แต่ผมเชื่อว่าในฐานะชาวมุสลิมแล้ว พวกเธอมีความสุขกันคนละแบบตามวิถีชีวิตที่แต่ละคนเลือก

ชาวมุสลิมละหมาดร่วมกันหลังละศีลอด ปกติแล้วในแต่ละวันชาวมุสลิมจะละหมาดต่อพระเจ้าวันละ 5 เวลา แต่ในเดือนรอมฎอน จะมีอยู่คืนหนึ่งซึ่งเป็นคืนพิเศษเรียกว่า “คืนลัยลาตุลก็อดร์” คืนที่พระผู้เป็นเจ้าประทานอัลกุรอ่านลงมายังโลกมนุษย์ ในคืนนี้เชื่อกันว่าหากทำความดีจะได้รับผลบุญทบทวีคูณ ตามมัสยิดต่างๆจึงมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาตลอดคืน

สิ้นสุดการถือศีลอดผมเข้ารับการตรวจสุขภาพอีกครั้ง นึกสงสัยที่หลายๆ คนกล่าวกันว่า เมื่อจบเดือนบวชแต่ละครั้งน้ำหนักพวกเขาลงไปราว 4 – 5 กิโลกรัมนั้น พวกเขาทำได้อย่างไร? เพราะประโยคแรกที่คุณหมอทักผมมาก็คือ “ลดน้ำหนักลงอีกสัก 2 กิโลกรัมนะคะ” สรุปแล้วน้ำหนักตัวผมลดไปเพียง 7 ขีดเท่านั้น และโดยรวมค่า BMI ยังคงถือว่าเกินมาตรฐาน

ยอมรับว่าตัวผมเองคาดหวังน้ำหนักที่ลดลงมากกว่านี้ สำหรับด้านสุขภาพอื่นๆไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก เว้นแต่ระดับไขมันในเลือด เดิมคอเลสเตอรอลของผมก่อนเริ่มต้นการอดอาหารอยู่ที่ 152 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังเสร็จสิ้นค่าคอเลสเตอรอลของผมลดลงมาเหลือ 138 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลงจาก 92 เหลือ 86 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ผมอ่านแฟ้มสรุปผลตรวจร่างกายทั้งสองเล่มเปรียบเทียบกัน จินตนาการถึงไขมันในตัวที่ถูกสลายไปตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาตามที่คุณหมออัสนีบอก และพร้อมแล้วที่จะรับไขมันรอบใหม่เข้ามา

 

หนึ่งสัปดาห์หลังสิ้นสุดกระบวนการ ความรู้สึกที่ได้ทานอาหารขณะยังคงมีแสงอาทิตย์อยู่นั้น เป็นความรื่นรมย์ที่ผมเองก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ความสุขกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อได้ตามใจปาก น้ำหนักที่ลดลงไป 7 ขีดคืนกลับมาอย่างรวดเร็วขณะกำลังเขียนบทส่งท้ายของสารคดีเรื่องนี้ ราวกับว่าแทบจะไม่เหลือหลักฐานใดยืนยันไว้เลยว่าผมได้ผ่านการถือศีลอดมาแล้ว

นึกย้อนถึงคำพูดจากคุณอรุณ “คนๆหนึ่งจะไม่เข้าใจว่าความอดอยากเป็นอย่างไร หากตัวเขาไม่เคยอดอยาก” ตัดประเด็นด้านศาสนาความเชื่อ และผลบุญทั้งหมดออกไป สำหรับผมนี่คือหัวใจสำคัญที่ได้รับตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มันคือเดือนพิเศษ เพราะนอกจากจะทำให้ผมรู้ซึ้งถึงคุณค่าของอาหารมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้นอีกด้วย

มองย้อนกลับไป ทุกวันเมื่อพระอาทิตย์ตกดินผมจะรู้สึกถึงชัยชนะเล็กๆ เสมอ “เราทำได้” ผมบอกกับตัวเอง มื้อค่ำของผมในทุกวันแตกต่างกันออกไป แต่บอกได้เลยว่าไม่มีมื้อไหนที่ไม่อร่อย แม้อาหารจะเย็นชืดเนื่องจากถูกซื้อทิ้งไว้ตั้งแต่บ่ายก็ตาม คุณจะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งใด ก็เมื่อสูญเสียมันไป คุณค่าของอาหารเองก็เช่นกัน

ขณะที่ชีวิตของผมกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร ในช่วงเวลาที่อาหารจำนวนมากกลายเป็นขยะเหลือทิ้งในหลายประเทศ ไม่ควรมีใครที่ยังคงต้องอดอยาก ความรู้สึกถึงคุณค่านี้ยังคงตราตรึงอยู่ในใจ แต่สุดท้ายแล้วมันจะค่อยๆ จางลงๆ ดังที่คุณอรุณบอก เมื่อเวลาผันผ่านไปจนครบปี เมื่อนั้นผมอาจจะเข้าคอร์สกับพระผู้เป็นเจ้าใหม่อีกครั้งก็เป็นได้ แต่กว่าจะถึงเวลานั้นระหว่างทางผมขอดื่มด่ำกับอาหารให้เต็มที่ก่อน ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม ตั้งแต่จบกระบวนการนี้อาหารทุกอย่างก็มีรสชาติอร่อยขึ้น!

เรื่อง ธนเสฏฐ์ ศิริวัฒนาดิเรก

ภาพถ่าย พิสิษฐ์ สีเมฆ และ พันวิทย์ ภู่กฤษณา

 

ขอขอบคุณ : ครอบครัววันหวัง, สมัชชา สนธินรากุล, อรุณ เด่นยิ่งโยชน์, นายแพทย์อัสนี โยธาสมุทร, ซูไลดา สะดี, สาวาดี นามุง, นุรดีน เจะและ, ปนัดดา ชุ่มชื่น, สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม, มัสยิดบ้านสมเด็จ, มัสยิดกมาลุลอิสลาม และมัสยิดยามีอุลอิสลาม

 

อ่านเพิ่มเติม : มหานครกัมปนาท : ภัยดังที่ฟังแต่ไม่ได้ยินวาด ต้นไม้ จากความทรงจำในสายตาคนต่างแดน

Recommend