ที่มาภาพ Facebook: The Little Free Pantry https://www.facebook.com/littlefreepantry/photos/a.1046213478786893/4567812126626993/?type=3&theater
ตู้ปันสุข โครงการแบ่งปันอาหารช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 กับหลักปฏิบัติที่ทำให้การช่วยเหลือเช่นนี้ยั่งยืนและมีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ
การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้สังคมไทยต้องประสบปัญหาทางด้านสาธารณสุข ไวรัสดังกล่าวทำให้มีผู้คนต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนับพันคนและมีผู้เสียชีวิต และในอีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นั่นคือการออกมาตรการการปิดเมือง (Lockdown) หยุดกิจกรรม รวมไปถึงกิจการ ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนทั้งประเทศ ทำให้มีคนจำนวนมากต้องกลายเป็นคนที่ขาดรายได้ หรือตกงาน ส่งผลต่อการใช้ชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้น
ในสังคมไทย มีการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทั้งจากรัฐบาล บริษัทเอกชน หรือแม้กระทั่งบุคคลหรือกลุ่มคนธรรมดาที่คิดหาวิธีการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาในรูปแบบที่ต่างกันออกไป
นับตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รูปแบบการช่วยเหลือซึ่งกำลังเกิดขึ้นและได้รับความนิยมคือโครงการ “ตู้ปันสุข” อันเป็นโครงการที่มีรูปแบบของ ‘ตู้กับข้าวของชุมชน’ ที่มุ่งช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยการให้คนที่มีกำลังช่วยเหลือร่วมแบ่งปันของต่างๆ นำมาใส่เอาไว้ให้กับคนที่ต้องการมาเปิดตู้กับข้าวนี้เพื่อหยิบไปใช้ได้ฟรี ซึ่งโครงการนี้มุ่งหวังช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนให้ผ่านวิกฤตจาก โควิด-19 ไปด้วยกัน
ไอเดียตู้ปันสุขมีต้นแบบมาจากโครงการ Little Free Pantry ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีหลักการสำคัญว่า Take what you need, give what you can – หยิบเท่าที่จำเป็น ให้เท่าที่ทำได้ ซึ่งโครงการตู้กับข้าวแบบนี้จะทำให้ทั้งผู้รับและผู้ให้ไม่จำเป็นต้องพบกันโดยตรง เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกติดค้างบุญคุณต่อผู้ให้หรือความอับอายต่อผู้รับ ถือเป็นโครงการที่เกิดจากคนในชุมชนเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนด้วยกันเอง
โดยโครงการตู้ปันสุขของไทยได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จนขณะนี้มีประมาณ 600 ตู้ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งของที่อยู่ภายในตู้ส่วนใหญ่มักเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารอาหารแห้ง หรือของใช้อย่างสบู่ เป็นต้น
การ ‘แบ่งปัน’ ทั้งจากผู้ให้และผู้รับ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการใช้งานตู้ปันสุขจากผู้คนบางส่วนที่แห่หยิบเอาของภายในตู้ไปคราวละมากๆ ด้วยจำนวนคนไม่กี่คน จนทำให้ของหมดอย่างรวดเร็ว (ที่อาจมีการให้เหตุผลว่าเป็นการรับไปแบ่งปันคนอื่นๆ ต่ออีกทอดหนึ่ง) หรือแม้กระทั่งฝั่งผู้ให้ในตู้ปันสุขเองที่ ‘เฝ้าดู’ ผู้ที่มารับของจากตู้ปันสุขว่าเป็นใครหรือมีพฤติกรรมการรับของในตู้อย่างไร เป็นต้น
เมื่อเราย้อนกลับไปถึงหลักการของตู้ปันสุข คือการแบ่งปันโดยทั่วกันของคนในชุมชนผ่านตู้กับข้าวของชุมชน ดังนั้น การใช้ตู้ปันสุขจึงมีลักษณะมุ่งหวังให้คนที่จำเป็นในชุมชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง ตู้ปันสุขจึงดำรงอยู่ได้ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาว่าทั้งสองฝ่ายต้องเป็นผู้ที่แบ่งปัน ทั้งผู้ที่เป็นคนนำของมาใส่ในตู้ หรือผู้ที่รับของจากในตู้ต้องรับไปเท่าที่จำเป็น ซึ่งเขาก็จะมีโอกาสในการแบ่งปันให้กับผู้ที่จำเป็นคนอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน ตามหลักการที่ว่า หยิบเท่าที่จำเป็น ให้เท่าที่ทำได้
ในส่วนของผู้ให้เองก็จำเป็นต้องคิดถึงหลักการของตู้ปันสุข ที่เป็นตู้แบ่งปันส่วนกลางที่มุ่งเน้นการแบ่งปันโดยไม่จำเป็นต้องทราบว่าใครเป็นผู้รับของที่ตนให้ไปบ้าง ก็จะทำให้ไม่มีความรู้สึกของการเป็นบุญคุณ ซึ่งถือเป็นการให้ที่สบายใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
นอกจากนี้ ในเพจ Facebook ตู้ปันสุข ซึ่งเป็นเพจที่ให้ข้อมูลของตู้ปันสุขตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้พูดถึงหลักการของตู้ปันสุข อาทิ
– ตู้ปันสุข มิใช่การแจกมหาทาน ซื้อมาเยอะๆเพื่อมาแจก แต่เป็นการแบ่งปันของเล็กๆน้อยๆ ที่มีในบ้าน พอที่จะให้คนอื่นๆได้
– ตู้ปันสุขเป็นของชุมชน ผู้ติดตั้งไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีหน้าที่มาใส่ของให้หรือมาดูแลตู้ให้ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วถือว่ายกให้เป็นของชุมชนหากมีคนขโมยตู้ไป เราจะไม่โกรธ ไม่รู้สึกต่อว่าผู้ที่ขโมยไป มันเป็นของชุมชนถ้าชุมชนไม่ช่วยกันรักษาก็จะไม่มีตู้ใช้
– เมื่อเอาของใส่ตู้แล้ว มันไม่ใช่ของเราอีกต่อไป จะมีคนเปิดหยิบไปหรือไม่ จะมีคนเติมหรือไม่เป็นกระบวนการของชุมชนนั้นๆ หยิบแค่”พอดี”และเผื่อแผ่ “ให้ “ ผู้อื่นต่อ ถือว่าเป็นผู้ให้ต่ออีกด้วย และก็เชื่อได้ว่าเขาจะได้ “รับ “ของจากคนอื่นๆ ในชุมชนต่อไป
ซึ่งถ้าเรามองจากหลักการทั้งหมด ตัวแปรสำคัญของตู้ปันสุขไม่ได้เพียงผู้ที่ริเริ่มนำตู้ปันสุขมาติดตั้ง นำของมาใส่ และกระบวนการการให้ของและการรับของจากทั้งสองฝ่ายเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงจิตสำนึกสาธารณะของคนในชุมชนที่จะทำให้เกิดการแบ่งปัน จนเกิดความเชื่อมั่นของคนทั้งชุมชนที่จะรักษาให้ตู้ปันสุขทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้แนวคิดตู้ปันสุขอยู่ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนได้นาน จนกว่าที่ทั้งสังคมจะก้าวผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ด้วยดีต่อไป