นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรียาซินดา อาร์เดิร์น ปราศัยต่อรัฐสภานิวซีแลนด์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ในเดือนมีนาคม เธอตัดสินใจประกาศปิดเมืองทั่วประเทศ “ฉันรับรู้ถึงความร้ายแรงของปัญหาในขณะนี้ได้อย่างชัดเจน” เธอกล่าว “ชาวกีวีทั้งหลายขอจงกลับบ้าน โปรดจงรักษาสุขภาพและความเอื้ออารี”
ผู้หญิงในโบลิเวีย นิวซีแลนด์ และอัฟกานิสถานประสบความสำเร็จอย่างมากในการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองของ นักการเมืองหญิง แต่หลายคนยังเผชิญกับการต่อต้านทางวัฒนธรรม และกระทั่งความรุนแรง ขณะที่อิทธิพลของพวกเธอเพิ่มมากขึ้น
ตลอดประวัติศาสตร์ และทั่วโลก ผู้หญิงที่แสวงหาอำนาจทางการเมือง นักการเมืองหญิง มักเผชิญกับการต่อต้าน ตั้งแต่การใส่ร้ายป้ายสีไปจนถึงการลอบสังหาร ผู้หญิงก้าวหน้าไปมากก็จริง แต่ยังเผชิญกับอุปสรรคเดิมๆ ในกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศทั่วโลก รวมทั้งโบลิเวียและรัฐที่รุมเร้าไปด้วยความขัดแย้งอย่างอัฟกานิสถานและอิรัก
การมีกฎหมายกำหนดสัดส่วนตามเพศ ในปัจจุบันเป็นเครื่องประกันว่า ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในเวทีการเมืองอย่างเป็นทางการ แต่การกำหนดสัดส่วนตามเพศดังกล่าวก็ยังมีข้อจำกัด ระบบเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและเป็นการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งการให้สิทธิพิเศษ แก่ผู้หญิงเหนือผู้ชายด้วยเหตุผลด้านเพศสภาพเพียงอย่างเดียวถือเป็นการบั่นทอนหลักการวัดคุณค่าของคน ที่ความสามารถ
ทว่าแม้แต่ในระบบการเมืองที่ดูเหมือนมีความเป็นกลางทางเพศและมุ่งประเมินคนที่ความสามารถ ก็มีความ ไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างที่สืบทอดมายาวนานเช่นกัน ระบบที่ไม่กำหนดสัดส่วนเพศอย่างในสหรัฐอเมริกาก็อาจโอนเอียงเข้าข้างกลุ่มคนที่มีอำนาจครอบงำ ซึ่งรวมถึงผู้ชาย คนผิวขาว และคนที่มีทรัพยากรทางการเงินมาก การก้าวข้ามอุปสรรคเพื่อเข้าสู่เวทีการเมืองนับเป็นความท้าทายประการหนึ่ง แต่ประเด็นที่ว่าเมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วผู้หญิงจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ก็เป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง
การให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองหรือในรัฐสภาอาจช่วยตอบโจทย์เรื่องความ เท่าเทียมระหว่างเพศได้ แต่ก็อาจเป็นเพียงการตอบโจทย์แบบขอไปที หากนักการเมืองหญิงได้เข้าไปปรากฏตัว แต่เสียงของพวกเธอไม่ถูกรับฟัง แล้วยังมีคำถามที่ว่า ผู้หญิงกลุ่มไหนที่มีโอกาสเข้าสู่พื้นที่แห่งอำนาจ และผู้หญิงเหล่านี้เป็นตัวแทนของคนกลุ่มอื่นมากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นคำถามที่หลายประเทศกำลังพยายามหาคำตอบ
แม้จะต้องเผชิญกับการข่มขู่ ความรุนแรง และอุปสรรคอื่น ๆ แต่ผู้หญิงทั่วโลกต่างยืนหยัดในความพยายามที่จะไขว่คว้าและเสริมความแข็งแกร่งให้อำนาจทางการเมืองของพวกเธอ
รัฐบาลบางประเทศมีความก้าวหน้ามากในด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงโดยไม่ต้องอาศัยระบบ กำหนดสัดส่วนเพศ
นิวซีแลนด์ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิผู้หญิงลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 1893 ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 20 ของโลกในด้านการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในรัฐสภา เทียบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 81 ตามข้อมูลของ สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union) ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกของรัฐสภาที่มีสำนักงานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์
ทว่าในบางประเทศ การมีผู้หญิงสวมบทบาทผู้มีอำนาจตัดสินใจอาจไม่ได้นำไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้หญิงในประเทศนั้นๆ สำหรับผู้หญิงเหล่านั้น การอยู่ในอำนาจไม่ได้หมายความว่า พวกเธอจะมีอำนาจเสมอไป
อิรักเคยอยู่แถวหน้าของภูมิภาคตะวันออกกลางในด้านสิทธิสตรี กฎหมายสถานภาพส่วนบุคคลปี 1959 ของประเทศมีบทบัญญัติที่จำกัดการมีภรรยาหลายคนและการแต่งงานกับเด็ก ทำให้การบังคับแต่งงานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทั้งยังปรับปรุงสิทธิของผู้หญิงในการหย่า การเลี้ยงดูบุตร และการรับมรดก
รัฐธรรมนูญปี 1970 ที่ร่างโดยพรรคบาทของซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งมีแนวทางแยกศาสนาออกจากรัฐ ประกันสิทธิเสมอภาคของพลเมืองทุกคน อัตราการรู้หนังสือ การศึกษา และการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของผู้หญิงได้รับการส่งเสริมผ่านนโยบายที่เปิดกว้าง เช่น การมีสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และสิทธิการลาคลอดโดยได้รับค่าจ้างเป็นระยะเวลาหกเดือน
ความก้าวหน้าดังกล่าวกลับถดถอยลง เมื่อเกิดการคว่ำบาตรจากนานาชาติและสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน หลายสิบปี ฮุสเซนเป็นผู้นำเผด็จการที่โหดร้ายและกระหายเลือด แต่การที่เขาถูกโค่นอำนาจเมื่อปี 2003 ได้เปิดทางขึ้นสู่อำนาจสำหรับผู้นำศาสนาและสมาชิกสภาฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งพยายามลดทอนสิทธิของผู้หญิง บรรดาพรรคการเมืองเคร่งศาสนาล้วน “ไม่เชื่อว่าผู้หญิงควรมีส่วนร่วมในตำแหน่งระดับสูง” ฮานา เอดวาร์ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมานานกว่า 50 ปี กล่าว
ผู้หญิงอัฟกานิสถานก็ไม่ต่างจากผู้หญิงอิรัก พวกเธอเผชิญกับสงครามยาวนานหลายสิบปี การแทรกแซงทางทหาร จากต่างชาติ ความรุ่งเรือง ตกต่ำ และรุ่งเรืองอีกครั้งของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงอย่างตอลิบาน ไปจนถึงความไร้เสถียรภาพและความไม่ปลอดภัยทางการเมือง แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ สมาชิกสภานิติบัญญัติหญิงของอัฟกานิสถานบางส่วน รวมตัวกันก่อตั้งเครือข่ายผู้หญิงเมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษมาแล้ว ที่นั่งร้อยละ 27 หรือ 68 ที่นั่งจากทั้งหมด 249 ที่นั่งในสภาล่างหรือสภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงถูกกันไว้สำหรับผู้หญิง
ขณะนี้ผู้หญิงอัฟกานิสถานกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ ทว่าเป็นที่คุ้นเคย นั่นคือการหวนคืนของกลุ่มตอลิบานซึ่งมาพร้อมกับทรรศนะกดขี่ผู้หญิง ย้อนหลังไปเมื่อปี 2001 รัฐบาลตอลิบานถูกโค่นโดยกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ 9/11 เพื่อเป็นการลงโทษฐานให้ที่พักพิงแก่อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์
ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มตอลิบานเพื่อมุ่งยุติสงครามที่ยาวนานถึง 18 ปี ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า กลุ่มตอลิบานยังคงมีอิทธิพลมากน้อยแค่ไหนในประเทศที่บอบช้ำจากสงคราม และจะใช้อำนาจนั้นอย่างไร หลังกองกำลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกไป
เรื่อง ราเนีย อาบูเซด
ภาพถ่าย แอนเดรีย บรูซ
นี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งจากสารคดี ก้าวที่กล้านำ ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายน 2563
สามารถอ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ในเล่ม สามารถสั่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือหรือทางเว็บไซต์ https://www.naiin.com/product/detail/505767