จดหมายถึงคนรุ่นใหม่ ในยุคสมัยแห่ง โควิด-19

จดหมายถึงคนรุ่นใหม่ ในยุคสมัยแห่ง โควิด-19

พวกเรากำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ใต้เงื้อมเงาของ โควิด-19 ความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจและสังคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีบางคนชอบเรียกพวกเราว่า “เจเนอเรชันพัง ๆ” แต่เราขอบอกว่า อย่าได้ประเมินความสามารถในการก้าวข้ามอุปสรรคของพวกเราต่ำเกินไป

ใครจะไปรู้ล่ะว่า คำสั่งให้อยู่บ้านเนื่องจากการระบาดของ โควิด-19 จะทำให้เกิดการพลัดถิ่นขนานใหญ่ถึงเพียงนี้

นั่นเป็นสิ่งที่หลายคนในรุ่นเรารู้สึกกับช่วงต้นปี 2020 คนอย่างพวกเราที่เพิ่งจะได้เริ่มลิ้มรสอิสรภาพและวัยผู้ใหญ่ก่อนที่การระบาดใหญ่ทั่วโลกจะทำให้ทุกอย่างพังครืน

บางทีพวกเราที่ตอนนี้อายุ 18 ถึง 25 ปี อาจต้องการชื่อเรียก แทนที่จะต้องเป็นคนรุ่นครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั่นคือรู้สึกเด็กเกินกว่าจะเป็นมิลเลนเนียล แต่แก่เกินกว่าจะเป็นเจนซี แต่ความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เราอยู่ตรงจุดพลิกผันสำคัญของชีวิตส่วนตัว ณ ช่วงเวลาที่โลกดูเหมือนกำลังจะระเบิดออกในหลาย ๆ ด้าน

เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ถูกนำมาใช้ ผมติดตามว่าเพื่อนคนไหนต้องระหกระเหิน เมื่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ไร้ผู้คน ผมรู้ว่าใครต้องออกจากอพาร์ตเมนต์แรกของตัวเองเพื่อกลับไปยังห้องนอนวัยเด็ก ใครถูกล็อกดาวน์อยู่หลังเขาหรือชายหาด และคนไหนที่พื้นเพทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เหลือทางเลือกให้ นอกจากจะต้องอยู่ในเมืองที่ถูกโรคระบาดเล่นงานอย่างหนัก

ในจดหมายที่เขียนถึงกันนั้น ผมกับเพื่อน ๆ แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดทำนองนั้น ความอ่อนไหวที่ไม่ได้แสดงออกทางข้อความสั้นหรือกลุ่มซูม (ซึ่งเราก็ยังใช้อยู่แหละ) บางสิ่งที่อยู่ในการเขียนจดหมายด้วยลายมือแบบเดิมๆ เหมือนจะดึงอารมณ์ต่าง ๆ และความเปราะบางทั้งหลายออกมาในแบบที่พวกเราหลายคนไม่เคยประสบมาก่อน

โควิด-19, พยายาม
คาเซีย วาร์โก เรียนจบจากวิทยาลัยพยาบาล ในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 รุนแรงถึงขีดสุด

นํ้าเสียงของจดหมายพวกนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเราเอง ตั้งแต่ความวิตกกังวลไปจนถึงการพินิจใคร่ครวญ ความตื่นกลัวถึงความสงบนิ่ง หงุดหงิดถึงสะเทือนใจ เพื่อนหลายคนเล่าถึงความภาคภูมิใจที่สุดอย่างการที่น้องชายสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ก่อนกำหนดเพื่อเข้าร่วมกับทีมแนวหน้ารับมือการระบาด และความเบิกบานใจที่คาดไม่ถึงเช่นการค้นพบความหลงใหลในหนังสืออีกครั้ง

เมื่อคลื่นการระบาดสาดซัดสหรัฐอเมริกา ก็เป็นที่ชัดเจนว่า กระแสคลื่นพัดเอาคนรุ่นเราออกสู่ทะเลไปด้วย พวกเราหลายคนดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักอยู่แล้ว เพราะโดนกระหนํ่าจากหนี้ค่าเทอมปีละ 20,000, 40,000, 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แล้วไหนจะค่าเช่าที่แพงกระฉูดในเมืองใหญ่ ๆ ของสหรัฐฯ และโกรธขึ้งมาตลอดหลายปีกับการออกมาพูดต่อต้านการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบ ความรุนแรงจากอาวุธปืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพียงเพื่อจะพบว่าบรรดานักการเมืองที่ฉ้อฉลและเจ้าเล่ห์เพทุบายไม่เคยมุ่งมั่นจะแก้ปัญหาใด ๆ

ถึงที่สุดแล้ว พวกเราเป็นคนรุ่นที่เติบโตขึ้นหลังความน่าสะพรึงของเหตุการณ์ 9/11 กับการซ้อมหนีเหตุกราดยิงในโรงเรียนประถมของพวกเรา หากอนาคตของโลกดูน่าหดหู่สำหรับพวกเรามาก่อนหน้านี้แล้ว ถึงตอนนี้จะเหลืออะไรให้ยึดถือได้อีกเล่า

ดังนั้น ต่อให้บางคนชอบเรียกคนรุ่นเราว่าเจเนอเรชันพังๆ และบางครั้งมันอาจให้ความรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ ผมก็ยังคิดว่า มันออกจะติดลบไปหน่อย เราถูกโขกสับและสั่นคลอนมาแล้ว แต่เราจะไม่ถอดใจยอมแพ้ง่าย ๆ หรอก

“มันก็แค่ไม่ใช่อย่างที่เราคิดว่าชีวิตจะเป็นแบบนี้” แอล โอไบรอัน บัณฑิตหมาด ๆ จากมหาวิทยาลัยคอลเกต กล่าว เธอใช้โซเชียลมีเดียในการสำรวจความคิดเห็นของผู้คน (จำนวนมากเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเรา) เกี่ยวกับความรู้สึกและประสบการณ์ระหว่างการระบาดใหญ่

โควิด-19
เฟดเจานี ฟีลีป ผู้อพยพจากเฮติ และบัณฑิตรุ่นปี 2020 จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เป็นคนแรกในครอบครัวที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย

ตลอดหลายเดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน โอไบรอัน โพสต์คำถามการสำรวจบนอินสตาแกรมและสรุปผลที่ได้ในบล็อกของเธอ มีคนหลายร้อยเข้ามาตอบแบบสอบถาม โอไบรอันเขียนและเสริมว่า เธอรู้สึกประหลาดใจกับความเหมือนที่คนเหล่านี้มีร่วมกัน นั่นคือ “พวกเราสับสนปนเปกันไปหมดระหว่างความกลัวกับความหวัง พวกเราหลายคนหัวเราะวันเดียวกับที่ร้องไห้” นี่เป็นสิ่งที่โอไบรอัน
บรรยายถึงประเด็นสำคัญของคนรุ่นเราให้ผมฟัง

“เราเจอแต่เรื่องห่วยแตกที่ทำอะไรไม่ได้ แต่เราจะไม่หยุดเรียกร้อง” จากข้อสรุปเหล่านั้น ผมคิดว่าโอไบรอันพูดได้ชัดเจนว่าพวกเรารู้สึกอย่างไร ความเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งได้เริ่มขึ้นแล้ว และอย่างน้อยในแวดวงของผม การนิ่งเงียบเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป

ช่างเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ ของการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อช่วยจุดประกายสำนึกเพื่อสังคมขนานใหญ่เช่นนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวฝูงชนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นขนาดใหญ่และหลากหลายเข้าร่วมการประท้วงเหตุสังหารจอร์จ ฟลอยด์

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการระบาดใหญ่เผยให้เห็นถึงความเหลื่อมลํ้าเชิงโครงสร้างในประเทศของเรา เราเห็นเพื่อนและเพื่อนร่วมชั้นผิวดำที่สมาชิกในครอบครัวล้มป่วยจากไวรัสในสัดส่วนที่สูงผิดปกติ เราเห็นบัณฑิตผิวสีจบใหม่ขาดแคลนทรัพยากร และสายสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในตลาดแรงงานที่ไม่ค่อยเป็นมิตร เราจะไม่แสวงหาความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรเล่า

โควิด-19, กระดูกวาฬ
ผมเก็บชิ้นส่วนกระดูกสันหลังของวาฬชิ้นนี้ได้ระหว่างเดินเล่นบนหาดใกล้บ้าน

ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศในระดับโลกเตือนคนรุ่นเรามานานแล้ว บางทีชื่อ “รุ่นสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” (Generation Climate Change) น่าจะเหมาะกับเรา ความที่มันเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของเราทุกคน เทียบกันแล้วการที่คนรุ่นก่อน ๆ ล้มเหลวในการลงมือทำอย่างเร่งด่วนในเรื่องธารนํ้าแข็งที่กำลังละลาย อากาศเป็นพิษ ป่าฝนที่ถูกแผ้วถางทำลายและระดับทะเลสูงขึ้น บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ใช่คนที่จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่มีสภาพเช่นนั้น เราเคยคิดกันว่า การทำลายล้างอย่างรุนแรงจากการระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้ยากจะหยั่งถึง แต่อาจดูเล็กจ้อยไปเลยเมื่อเทียบกับหายนะทางสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะตามมา

นํ้าหนักของเรื่องสำคัญเหล่านี้เห็นได้แจ่มชัดในจดหมายฉบับหนึ่งที่เพื่อนรูมเมตในมหาวิทยาลัยของผมส่งมาเมื่อเดือนมิถุนายน “ผมเศร้ามาก รู้สึกสับสนคับข้องและหงุดหงิดกับตัวเองมากพอๆ กับการสมรู้ร่วมคิด/ไม่ลงมือทำของตัวเองในเรื่องอื่น ๆ” ชาร์ลี โคเบิร์น เขียน หลังจากใช้เวลาหลายเดือนเก็บตัวอยู่ในความเงียบ บางอย่างในตัวเขาก็เดือดดาลขึ้นมา

“ผมโกรธเกรี้ยวกับการตอบสนองของรัฐบาลกลาง” เขาเขียนและเสริมว่า “ผมรู้สึกถึงเสียงเพรียกให้ลงมือทำมากกว่าที่เคยเป็นบางทีอาจจะมากกว่าช่วงไหนๆ ของชีวิตที่ผ่านมา”

สำหรับพวกเราที่กำลังเริ่มต้นชีวิตผู้ใหญ่ การเริ่มต้นอันกระท่อนกระแท่นเพราะการระบาดใหญ่ หมายความว่า ทางเลือกของพวกเรายิ่งมีคุณค่า เราจำเป็นต้องมีเครื่องเตือนความจำเพื่อจะได้ไม่ลืมว่าเราเคยรู้สึกเช่นไร บางคนต้องทนทุกข์สาหัสกว่าคนอื่น ๆ แต่เราทุกคนถูกผลักเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการตั้งคำถาม ของการประเมินใหม่ ของการลองผิดลองถูก

ไม่แปลกที่บางครั้งพวกเราอดคิดไม่ได้ว่า เราคงเป็นเจเนอเรชันพังๆ อย่างที่เขาว่า แต่ผมอยากจะคิดว่าเรากำลังก่อร่างสร้างตัวเป็นคน “รุ่นพลังใหม่” เราจะไม่ล้มลงโดยไม่ต่อสู้ และสิ่งที่จะนิยามเราได้ดีกว่าการดิ้นรนอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ก็คือสิ่งที่เราจะทำเมื่อเดินออกจากปากทางอีกด้านหนึ่ง

เรื่อง จอร์แดน ซาลามา

สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2563

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม เมื่อโลกติดไวรัสโควิด-19: รายงานจากประเทศไทย

Recommend