วงสนทนาของหลากหลายบุคคลในแวดวงศิลปะร่วมสมัย ต่อการสร้างความยั่งยืนของศิลปะร่วมสมัยในไทย ที่ Bangkok Art Biennale Symposium ครั้งล่าสุด
การเกิดขึ้นของศิลปะร่วมสมัย
ศิลปะร่วมสมัย คือศิลปะในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 หรือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความหลากหลายของแนวคิด ตัวชิ้นงานและวิธีการสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อขอบเขตของงานศิลปะแบบดั้งเดิม
ความหลากหลายเหล่านี้ ทำให้การสร้างนิยามและจัดแบ่งศิลปะร่วมสมัยออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ทำได้ไม่ง่ายนัก ที่คุ้นหูจากการแบ่งโดยผู้เชี่ยวชาญศิลปะบางสำนัก มีตั้งแต่ Abstract Art ไปจนถึง Media Art และ Mixed Media เป็นต้น
แม้ยากจะนิยาม แต่ความพ้องกันอย่างเด่นชัดของศิลปะร่วมสมัย คือความเป็น ‘ปัจจุบัน’ ในการสร้างสรรค์ที่สอดประสานไปกับบริบททางสังคม วัฒนธรรมและเทคโนโลยี อธิบายให้เห็นภาพคือการนำแนวคิดของศิลปะในอดีต มาประยุกต์และเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย เข้ากับเหตุการณ์และโลกในปัจจุบันมากขึ้น
แนวคิดของศิลปะร่วมสมัย ผลักดันให้เกิดการตั้งคำถามต่อจารีตและกรอบคิดที่มีต่อมายาคติด้านความงามของงานศิลปะ รวมถึงวิพากษ์ประเด็นต่าง ๆ ในสังคมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำของชนชั้น ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงหายนะของสิ่งแวดล้อมโลก
การเลือกใช้วัสดุในการสร้างชิ้นงานศิลปะร่วมสมัยแต่ละชิ้น เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ขับเน้นแนวคิดในการขับเคลื่อนการขบคิดตั้งคำถามให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือชิ้นงานของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ในงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Art Biennale 2020 ที่ผ่านมา
ที่นำเสนอการเอาชีวิตรอดจากหายนะของโลก เมื่อทรัพยากรธรรมชาติถูกถลุงใช้เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดนวัตกรรมมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ทำลายล้างโลกไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ศิลปินใช้ขยะพลาสติกหลากชนิดมาสร้างชิ้นงานศิลปะที่เปรียบเสมือนสัตว์ทะเลในติดกับดักขนาดใหญ่ ไร้หนทางไปต่อ
ระบบนิเวศของศิลปะไทยร่วมสมัยในปัจจุบัน
ในเสวนา Bangkok Art Biennale Symposium ครั้งที่ 3 หลังสิ้นสุดเทศกาลศิลปะร่วมสมัย Bangkok Art Biennale 2020 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก บุคคลในแวดวงศิลปะร่วมสมัยต่างมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น ต่อการสร้างความยั่งยืนและหนทางไปต่อของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย
วงสนทนาโดย เชน สุวิกะปกรณ์กุล, ไชยยง รัตนอังกูร และ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ บอกเล่าถึงการสำรวจบุคคลในนิเวศของศิลปะร่วมสมัยประเทศไทยล่าสุด พบว่าประมาณร้อยละ 50 คือผู้สร้างงาน ศิลปิน นักออกแบบ ถัดลงมาคือคนในวงการศึกษา อาจารย์และนักเรียนศิลปะ ถัดลงมาคือคนที่อยู่ใน Art Market จำพวก Art Dealer ไปจนถึง Art Gallery และถัดลงมาอีกคือผู้บริหารระบบ ดูแลการขับเคลื่อนของวงจรศิลปะ และเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางศิลปะและเกิดการขับเคลื่อนนิเวศมากขึ้น ภาคส่วนต่าง ๆ อาจต้องร่วมมือกันปรับให้สัดส่วนนี้มีความสมดุลและเกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้น
“ไม่มีอะไรอยู่ได้ด้วยตัวเอง ศิลปะเองก็ต้องพึ่งพาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่นกัน ถ้าสังคมมีพื้นที่ มีเสรีภาพ มีความเป็นไปได้ ศิลปะก็เติบโตได้ การจะทำงานศิลปะสักชิ้น คนทำพู่กัน คนทำผ้าใบ แม้แต่คนทำความสะอาดล้วนสำคัญ” ภาณุกล่าว
ไชยยงอธิบายเสริมว่า “ในประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่มีช่วงไหนที่ศิลปะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ขึ้นอยู่กับช่วงหนึ่งช่วงใด อะไรเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคม เช่น ช่วงที่ศาสนจักรขับเคลื่อนสังคม ศิลปะก็อยู่กับศาสนจักร และทำหน้าที่ในการสร้างและสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ปัจจุบันศิลปะกำลังอยู่ในฐานะอะไร เราจะสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่น (Resilience) มากยิ่งขึ้น เพราะเราทำลายโลกมหาศาล และศิลปะจะมีบทบาทใดในเรื่องนี้”
ภาณุเล่าว่า “อย่างโปรเจกต์ล่าสุดในประเทศเกาหลีใต้ สวนสนุกที่ออกแบบโดย ไฮเม ฮายอน (Jaime Hayon) ไปทำงานกับบริษัทอสังหาริมทรัยพ์ นำคอนเซปต์ของงานศิลปะเซรามิก มาออกแบบเป็นสวนสนุก ผมมองว่างานลักษณะนี้จะมีอิทธิพลต่อการสร้างนิเวศศิลปะที่กว้างขวางขึ้นในเกาหลีใต้ ศิลปะเป็นเรื่องสนุกและเชื่อมโยงไปยังสถาปัตยกรรมและพื้นที่ต่าง ๆ ของสังคม”
“ศิลปะเป็นอะไรก็ได้ เพราะมันอยู่ในทุกที่ อยู่ในโทรศัพท์ เสื้อผ้า อาหารการกิน ศิลปะไม่ใช่สิ่งสูงส่งเสมอไป มันอยู่ในชีวิตประจำวันและใกล้ตัวจนบางทีคุณอาจมองไม่เห็น สำหรับผมไม่มีการแบ่งแยกด้วยระหว่างศิลปะ งานออกแบบหรือสถาปัตยกรรม การทำงานมันไหลลื่นและผสานกันไปมาอยู่แล้ว”
หนทางผลักดันศิลปะร่วมสมัยให้ยั่งยืน
ในแง่วิถีการพัฒนาอย่างยั่งยืนของวงการศิลปะไทย เชนและไชยยงเสนอว่า “รัฐบาลไทยควรสร้างนโยบายส่งเสริมศิลปะ โดยกำหนดสัดส่วนว่า การลงทุนในพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ ต้องมีสร้างร้านหนังสือหรือสนับสนุนการสร้างงานศิลปะ แต่ละเมืองก็จะมีสัดส่วนแตกต่างกันไป บางเมืองเน้นห้องสมุด บางเมืองเน้นพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป็นการผลักดันให้การลงทุนของเอกชนมีส่วนในการสนับสนุนพื้นที่สร้างสรรค์
“อย่างช่วงปี 2006 สิงคโปร์ออกนโยบาย Singapore Renaissance City ก็มีการสร้างมาตรการอย่างรัดกุมว่าทุก อสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างใหม่ ต้องมีพื้นที่สำหรับชุมชนรูปแบบใดก็ได้ ที่เปิดเป็นสาธารณะให้ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ โดยมีการมอบสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อจูงใจด้วยว่า หากเอกชนรายไหนทำสามารถสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เหล่านี้ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ขายได้อีก นี่คือตัวอย่างกลยุทธ์ในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศศิลปะโดยภาครัฐ”
ไชยยงเล่าถึงการทำ Community Development ที่นำศิลปะเข้าไปประยุกต์เพื่อเชื่อมโยงลดความขัดแย้ง ให้การพัฒนาพื้นที่มีความราบรื่น “ผมมีพื้นที่กลางเมืองลำพูน ซึ่งที่ผ่านมามีความ แล้งแห้งในเชิงการดึงดูดผู้คน คนไปเชียงใหม่มากมาย ระยะทางไม่กี่กิโลเมตร ทำไมไม่มาลำพูน ผมจึงมองหาความสดชื่นในเมืองและพบว่า
“จริง ๆ มีคนแอบมาเจอศิลปินในลำพูน คนน้อยมากที่จะรู้ว่าลำพูนมีศิลปินที่ได้รางวัลระดับชาติอยู่นับสิบคน ผมเลยทำพื้นที่ศิลปะในคาเฟ่ที่กลมกลืนผสมผสาน และทุกคนสามารถเข้ามาดูงานศิลปะทรงคุณค่าของศิลปินในลำพูนเหล่านั้นได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อย่างวันติดตั้งผลงานครั้งแรก คนขนผลงานราคาแสงระยับคือชาวสวนลำไยที่ไม่เคยเห็นงานแบบนี้มาก่อน ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นเขาพาลูกหลานมาชมงานศิลปะเลยนะ เขาอาจไม่ใช่คนซื้อศิลปะในอนาคต แต่ผมคิดว่างานลักษณะนี้เปลี่ยนทัศนคติของคนที่มีต่องานศิลปะ”
ทุกส่วนล้วนมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศศิลปะ
“วงการไหนก็ตามที่ไม่มีการแข่งขันก็จะไม่พัฒนา ถึงแม้ว่าเราจะมีนักสะสมคุณภาพดีที่น่ารักอยู่ในเมืองไทยหลายท่าน แต่ก็จำนวนไม่เยอะ เราเลยคิดเสมอว่าจะต้องมีการนำงานศิลปะร่วมสมัยของไทยเข้าสู่สายตาของนานาชาติ” วงสนทนาของ เพชร โอสถานุเคราะห์, เสริมคุณ คุณาวงศ์, เอกอนงค์ พรรณเชษฐ์ และ ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ เริ่มต้นด้วยประเด็นที่น่าติดตาม
เอกอนงค์เล่าถึงบทบาทของแกลลอรีในการสร้างระบบนิเวศทางศิลปะว่า “ในฐานะแกลลอรี บทบาทในนิเวศศิลปะ คือการนำชิ้นงานศิลปะของศิลปินไทยไปสู่ Biennales, Museum Shows และ Art Fairs อย่างไรก็ตาม งานในลักษณะ Biennales เป็นงานที่ได้รับเกียรติ แต่ไม่ได้สร้างรายได้ให้ศิลปินมากนัก
“เราจึงมีงานอีกส่วนที่มุ่งเน้น คือการสร้างความสัมพันธ์กับมิวเซียมต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงการมีส่วนในการแนะนำศิลปินไทย ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในต่างประเทศ”
ในขณะเดียวกัน วงสนทนาของ ดร.วิภาช ภูริชานนท์ และ ดร. ให้แสง ชวนะลิขิกร มีมุมมองต่อการผลักดันศิลปะร่วมสมัยให้ยั่งยืนว่า
“ในเชิงสถาบันการศึกษา ถ้าเรารอนโยบายภาครัฐเพื่อมาสนับสนุนแต่ละพื้นที่การศึกษา ณ ตอนนี้คงเป็นไปได้ยาก มหาวิทยาลัยปัจจุบันภายใต้กระทรวงอุดมศึกษาและนวัตกรรม ซึ่งเน้นชัดอยู่แล้วว่าเน้นเรื่องนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ศิลปะและวัฒนธรรม การเกิดนิเวศศิลปะในแต่ละมหาวิทยาลัย จึงเป็นนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยเลย อยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยว่าจะมีนโยบายอย่างไร”
ให้แสงเล่าต่อว่า “ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยศิลปากรที่มีพื้นที่แสดงงานร่วมสมัยระดับชาติ ระดับโลกให้นักศึกษาได้มาเรียนรู้ ไปจนถึงพื้นที่แสดงผลงานของนักศึกษาและอาจารย์ หรือมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ไม่แม้ไม่ใช่มหาวิทยาลัยรัฐ แต่ก็มีแกลลอรีที่เปิดมาอย่างยาวนาน
“อย่าง CU ART4C ก็เกิดขึ้นจากการผลักดันภายในมหาวิทยาลัย ด้วยความร่วมมือของสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ที่และ CU Innovation Hub ในการสร้างพื้นที่คาเฟ่และแกลลอรีเพื่อสนับสนุนงานศิลปะที่มีคุณภาพ โดยเปิดให้นิสิตมาจัดแสดง รวมถึงคนในชุมชนย่านสามย่านก็สามารถมาใช้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์ได้เช่นกัน”
วิภาชอธิบายเพิ่มเติมว่า “ภาครัฐต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย ขอบเขตมันไปถึงไหนแล้ว ชิ้นงานศิลปะไม่ควรถูกจำกัดขอบเขตแค่สิ่งที่เราเห็นได้ด้วยตา แต่ควรครอบคลุมถึงแนวความคิดไปจนถึงทฤษฎีที่ล้วนเป็นผลผลิตทางศิลปะได้ทั้งหมด ภาครัฐต้องผลักดันนโยบายในการขยายกลุ่มก้อนของคนทำงานศิลปะให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ยึดติดอยู่กับแค่กรอบเดิม ๆ
“ผมมองว่า ศิลปะเป็นสิ่งที่เติบโตได้ในพื้นที่ ๆ มีการควบคุมน้อยที่สุด อย่างน้อยมหาวิทยาลัยควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยของนิสิตนักศึกษา เราควรชี้แนะคนรุ่นใหม่ได้ว่าในงานสร้างสรรค์ มันมีแก่นอะไรบ้างที่จะออกไปแล้วสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมดีและพัฒนาขึ้น”
เชื่อมจิ๊กซอว์ของระบบนิเวศศิลปะให้ยั่งยืน
มุมมองของไชยยง “ในการผลักดันเรื่องศิลปะ เรามองว่าควรพี่ใหญ่สักคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมารวบรวม Stakeholders ในวงการศิลปะร่วมสมัย อย่างการเกิด Bangkok Art Biennale หรือ BAB ก็เป็นอีกหนึ่งในพี่ใหญ่ เราสร้าง BAB เป็นแพลตฟอร์ม เป็นหัวใจที่สร้างการหมุนเวียนให้เกิดระบบนิเวศของศิลปะ
ในขณะที่เชนมองว่า “BAB เป็นกรากฏการณ์ที่ดีมากในการสร้าง International Network ของศิลปินและองค์กร ถ้าในภูมิภาคอย่างเอเชียและยุโรปไปจนถึงอเมริกาสนใจนิเวศศิลปะในประเทศไทย เราสามารถเอา BAB ไปเป็นตัวชูโรงได้ ว่าเรามี Commitment ที่จะนำศิลปินต่างชาติมา จัดการลงทุน จัดกิจกรรมต่าง ๆ
“สถิติที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะท่องเที่ยวคือธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทย ความเชื่อมโยงรหว่างการท่องเที่ยวกับงานศิลปะจะมาบรรจบกันได้อย่างไร ในประเทศไทยมีโรงแรมมากมาย แต่โรงแรมเหล่านั้นจะให้งานศิลปะอะไร สถิติเป็นสิ่งที่เราต้องการเพื่อพิสูจน์ว่าสองสิ่งนี้มันมีผลต่อกันและกันอย่างไร อย่างที่สองคือเทคโนโลยี ที่เราต้องจับตามองที่มันจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Pure Digital Art”
ภาณุเสริม “ผมมองว่า Digital Art เป็นเรื่องแพลตฟอร์ม อย่างหนังสือ ผมอยู่ตั้งแต่ยุคกระดาษเฟื่องฟู หนังสือพิมพ์ นิตยสารเป็นพื้นที่ ๆ มีอิทธิพลในสังคม จนถึงทุกวันนี้ที่เป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยกลายเป็นดิจิตอลไปหมด ผมว่าสุดท้ายสักวันหนึ่งงานศิลปะก็อาจจะไปถึงจุดนั้นเหมือนกัน
“อย่างที่เห็นว่ามีคนเอางาน Banksy ไปเผาเพื่อเก็บข้อมูลเป็นดิจิตอล มันเป็นแค่การเปลี่ยนผ่านวัสดุ สิ่งที่ยังอยู่และถูกนำเสนอคือความคิด เรื่องราวต่าง ๆ ในงานศิลปะ มันจะอยู่บนกระดาษ ออนไลน์หรือกระดานชนวน คนก็ยังมาดู มาอ่านศิลปะอยู่ดี”
ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการ BAB กล่าวทิ้งท้ายว่า “เพื่อพันธะกิจใจด้านการสร้างพื้นที่และการให้องค์ความรู้ ทาง BAB จะเปิด Bangkok Art Biennale Academy ซึ่งเป็นคอร์สที่ออกแบบมาเติมเต็มสิ่งที่ยังขาดอยู่ในระบบนิเวศทางศิลปะ
“ในอนาคต เราจะมี Curator ชั้นนำ Director ชั้นนำด้านศิลปะร่วมสมัยของโลกมาบรรยาย ให้องค์ความรู้โดยตรง มีการฝึกให้ออกไปดูพื้นที่ เรียนรู้การจัดนิทรรศการ สอนการบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงการขอสปอนเซอร์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยคาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างก่อน Bangkok Art Biennale 2022”
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: มิ่งขวัญ รัตนคช
ภาพโดย: Bangkok Art Biennale
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ศิลปะจากธรรมชาติ : สร้างสรรค์แมลงจากมวลบุปผา