การหวนคืนของตาลีบัน จะสร้างภัยต่ออนาคตของ ชาวอัฟกานิสถาน อย่างไร

การหวนคืนของตาลีบัน จะสร้างภัยต่ออนาคตของ ชาวอัฟกานิสถาน อย่างไร

อิสรภาพที่ ชาวอัฟกานิสถาน ได้มาตั้งแต่ปี 2001 กำลังอยู่ในอันตราย เมื่อกลุ่มหัวรุนแรงยึดประเทศได้สำเร็จเนื่องจากการถอนตัวของสหรัฐฯ

ท่ามกลางหมอกควันสีน้ำเงินของควันจากเตาฮุคคา (บารากุ) ในคาเฟ่แห่งหนึ่งในไอโนมีนา ย่านหรูหราขนาดใหญ่ในเมืองกันดาฮาร์ อัฟกานิสถาน เหล่าชายหนุ่มนั่งทอดตัวอยู่บนเก้าอี้นุ่ม จิบกาแฟใต้โทรทัศน์จอแบนที่ฉายภาพมิวสิควีดีโอร้อนแรง ลำตัวเปลือยเปล่าของหญิงสาวถูกเซ็นเซอร์โดยสถานีโทรทัศน์ แม้ ชาวอัฟกานิสถาน จะเป็นคนสังคมอิสลามอนุรักษ์นิยม แต่พวกเขาเหล่านี้คือคนรุ่นใหม่หัวทันสมัยที่อาศัยอยู่ในเมือง เป็นคนรุ่นที่เติบโตหลังการล่มสลายของรัฐบาลตาลีบัน และมีความทรงจำถึงผู้ปกครองคลั่งศาสนาจอมกดขี่ที่เกิดในเมืองแห่งนี้เเต่เพียงเลือนลาง

ในความหรูหราและบรรยากาศชานเมืองปกติในย่านชุมชนแห่งนี้ เป็นเรื่องง่ายที่เหล่าชนชั้นกลางและสูง ซึ่งหลายคนได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล จะลืมสงครามที่ปะทุอยู่โดยรอบ “คนที่นี่ไม่กังวลครับ” สุไลมาน อาร์ยัน ครูสอนภาษาอังกฤษวัย 28 ปีที่ทำงานและพักอาศัยในย่านนี้ กล่าว แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีต เพราะในตอนนี้ ความสงบได้แตกสลายลงแล้ว

Hindu Kush, อัฟกานิสถาน
อัฟกานิสถานซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาและไม่มีทางออกทะเลมีชายแดนติดกับหกประเทศและมีเทือกเขา Hindu Kush (ด้านซ้ายบนของภาพนี้) ที่สูงตระหง่านเป็นส่วนสำคัญ ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของประเทศแห่งนี้ดึงดูดนักค้าขายและผู้รุกรานมานับพันปี พร้อมกันนั้น ภูมิประเทศอันทุรกันดารยังขัดขวางกองทัพทั้งในและนอกประเทศและเป็นที่พักพิงของกองโจร

ในช่วงเวลาเพียงไม่นาน กลุ่มตาลีบันเข้ายึดพื้นที่ในชนบท และด้วยความรวดเร็วจนน่าใจหาย กลุ่มติดอาวุธซึ่งกำลังฮึกเหิมเนื่องจากมีการทำสัญญากับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีรัฐบาลอัฟกานิสถานร่วมอยู่ด้วยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 กลุ่มติดอาวุธนี้ได้ยึดหัวเมืองสำคัญในอัฟกานิสถานได้เกือบทั้งหมด ในจำนวนนั้นรวมถึงกันดาฮาร์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ จนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ยี่สิบปีหลังสหรัฐฯ รุกรานอัฟกานิสถานเพื่อขับไล่พวกเขาและกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ออกจากอำนาจเพื่อตอบโต้เหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 กลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงเหล่านี้ต้องระเห็จไปซ่อนตัวในปากีสถานและเริ่มรวบรวมและรื้อฟื้นกำลังใหม่

เมื่อสหรัฐฯ มุ่งความสนใจและทุ่มสรรพกำลังไปกับสงครามอิรัก [เมื่อปี 2003 ถึง 2011] และเมื่อชาติตะวันตกบดขยี้พวกเขาไม่สำเร็จถึงแม้จะกลับมาทุ่มทรัพยากรการรบในประเทศนี้อีกครั้งเมื่อราวสิบปีที่แล้ว พวกเขาได้ยาตราเพื่อเข้ากรุงคาบูลได้สำเร็จ มีรายงานว่าประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี หนีออกจากประเทศ พร้อมกับเสียงปืนและความโกลาหลที่ดังอยู่บนท้องถนน

ชาวอัฟกานิสถาน, คาบูล, ตลาด
ตลาดโคเตซังกีในคาบูลด้านตะวันตกอื้ออึงไปด้วยเสียงของกิจกรรมทั้งหลายในช่วงเดือนเราะมะฎอน หรือเดือนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม เกือบทั้งหมดของประชากร 39 ล้านคนของอัฟกานิสถานเป็นชาวมุสลิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซุนนี่ ส่วนชิอะห์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยถูกมุ่งเป้าโจมตีโดยกลุ่มตาลีบันและรัฐอิสลามหรือ Islamic State

ส่วนที่สถานทูตสหรัฐฯ กระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมต่างเร่งมืออพยพบุคลากรของตนเอง พร้อมชาวอัฟกันส่วนหนึ่งที่ทำงานให้รัฐบาล ธงชาติอเมริกันถูกลดจากเสา ภาพที่เห็นละม้ายคล้ายเหตุการณ์การบุกยึดไซ่ง่อน นี่เป็นการปิดฉากสงครามสมัยใหม่ที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งมีทหารเข้าร่วมนับแสนนาย ใช้เงินนับล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมชีวิตของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกหลายแสนคน

เป็นเวลากว่า 50 ปีที่อัฟกานิสถานตกอยู่ในวังวนของการรัฐประหารและความขัดแย้ง ในปี 1973 นายพลผู้หนึ่งยึดอำนาจจากกษัตริย์และเถลิงตนเองเป็นประธานาธิบดี ห้าปีต่อมา ฝ่ายคอมมิวนิสต์สังหารเขาและยึดอำนาจ ในปีต่อมา สหภาพโซเวียตรุกรานประเทศแห่งนี้เพื่อสนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่เป็นที่นิยมและจุดประกายการสนับสนุนกองโจรซึ่งยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษโดยใช้ปากีสถานเป็นทางผ่าน

ชาวอัฟกานิสถาน, คาบูล
ย่าน Dasht-e Barchi ในคาบูลตะวันตกที่เคยเป็นที่พักพิงของชนกลุ่มน้อยฮาซาราที่เพิ่งมาถึงเมืองแห่งนี้ ถูกโจมตีโดยกลุ่มก่อการร้ายซุนนี่ ซึ่งรวมถึงกลุ่มรัฐอิสลาม ในปีที่ผ่านๆ มา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวชีอะห์ โรงพยาบาลสำหรับคลอดบุตรแห่งหนึ่ง และโรงเรียนในย่านนี้ถูกโจมตี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน

สหรัฐฯ ส่งเงินทุนหลายพันล้านเหรียญให้กลุ่มนักรบศักดิ์สิทธิ์หรือมุญาฮิดีนซึ่งกำลังรบกับโซเวียต เหล่านักรบจากชาติอิสลาม ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุซะมะห์ บิน ลาดิน นักรบญิฮาดชาวซาอุดิอาระเบีย ผู้กลายเป็นหัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์ในเวลาต่อมา บังคับให้โซเวียตต้องถอนกำลังในท้ายที่สุด แต่ข้อตกลงแบ่งสรรอำนาจล้มเหลวลง ทำให้กลุ่มนักรบฯ แตกเป็นฝักฝ่ายและสู้รบกันเอง และเป็นตาลีบันนี้เองที่เป็นฝ่ายชนะและยึดอำนาจได้สำเร็จเมื่อปี 1996

ไม่นานหลังจากนั้น รัฐบาลกลุ่มนี้ได้ตกเป็นข่าวใหญ่จากการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะห์ชนิดตาต่อตาอย่างรุนแรง และกดขี่ผู้หญิง ชาวอัฟกานิสถาน และชนกลุ่มน้อยอย่างทารุณ ทำลายสมบัติทางวัฒนธรรม และให้ที่พักพิงกับอัลกออิดะห์ หลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ รุกรานอัฟกานิสถานเพื่อกำจัดผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่นอกจากภารกิจดังกล่าว สหรัฐฯ ยังมีภารกิจอื่นซึ่งไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจน คือการสร้างประชาธิปไตยและโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะเหล่าผู้นำประเทศแห่งนี้และชาติอื่นๆ ในกลุ่มองค์การนาโต้ (NATO) หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยเยียวยาอัฟกานิสถานและป้องกันมิให้มันกลายเป็นแหล่งรวมของกลุ่มก่อการร้ายได้อีก

คาเฟ่, ผับ, ชาวอัฟกานิสถาน, คาบูล
ในอสังหาริมทรัพย์ย่านชานเมืองบริเวณรอบนอกของกันดะฮาร์ คาเฟ่ดีไลต์ให้ความบันเทิงแก่นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐ และเด็กหนุ่มด้วยมิวสิควีดีโอปลุกใจเสือป่าและการถ่ายทอดกีฬา ซึ่งหลายครั้งเปิดเกินเที่ยงคืน ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้มาใช้บริการเช่นกันแต่มีเพียงไม่กี่คนที่แวะเวียนมาตั้งแต่มันเปิดบริการเมื่อสองปีก่อน ภายใต้รัฐบาลตาลีบัน ดนตรีและโทรทัศน์เป็นสิ่งต้องห้าม และผู้หญิงห้ามออกนอกบ้านโดยไม่มีญาติผู้ชายติดตาม

ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา การศึกษา การมีส่วนร่วมทางการเมือง และสถานะของสตรีนั้นดีขึ้น แต่การหลั่งใหลของเงินจากต่างประเทศกลับทำให้รอยแยกระหว่างสังคมเมืองและชนบทย่ำแย่ลง การรับเหมาการช่วยเหลือและการทหารช่วยเร่งภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในเมือง แต่ชาวอัฟกันส่วนมากยังคงต้องประทังชีวิตด้วยการเกษตรเพื่อยังชีพ แม้สหรัฐฯ จะลงทุนเงินสำหรับการฟื้นฟูประเทศแห่งนี้ด้วยเงินมากกว่า 144 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4,800 ล้านบาท (ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าการใช้ฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก แม้จะคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อแล้วก็ตาม) มาตั้งแต่ปี 2001 ก็ตาม ซึ่งการแตกแยกดังกล่าวยังส่งผลถึงความรู้สึกแปลกแยกระหว่างชาวชนบทและชาวเมือง

“มันคือความขัดแย้งระหว่างค่านิยมและการมองโลกสองแบบครับ ฝั่งหนึ่งคือชาวเมืองใหญ่ซึ่งมีการศึกษา และมีแนวคิดเสรีนิยมและสายกลางมากกว่า แต่ไม่เข้าใจชาวชนบท กับอีกฝั่งคือชาวชนบทอนุรักษ์นิยม ซึ่งรู้สึกว่าตนเองถูกเพิกเฉยจากระบบรัฐรวมศูนย์ซึ่งจัดการโดยชนชั้นนำ” ทามีม อาซาอี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้ก่อตั้งสถาบันศึกษาสงครามและสันติภาพ (Institute of War and Peace Studies) ในกรุงคาบูล กล่าว

ตำรวจ, ทหารอัฟกานิสถาน, อัฟกานิสถาน
อับดุล ฆาฟูร์ ตำรวจวัย 22 ปี ยืนยาม ณ เขตปันจ์วาอิ เมื่อเดือนมีนาคม 2021 เขตนี้คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญบนถนนซึ่งทอดไปสู่เมืองหลวงประจำจังหวัดกันดะฮาร์ เมืองเกิดของตาลีบัน และเป็นเมืองที่กลุ่มติดอาวุธดังกล่าวยึดได้เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม เขาใฝ่ฝันอยากเรียนแพทย์ แต่มาเป็นตำรวจ อาชีพเสี่ยงภัยเงินเดือนเพียง 165 เหรียญสหรัฐฯ (5,500 บาท) ต่อเดือน เขาบอกว่าไม่ได้รับเงินเดือนมาครึ่งปีแล้ว และต้องเลื่อนงานแต่งงานของตนออกไป

ฮามิด การ์ไซ ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง รับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำนี้เป็นอย่างดี เขาจึงสร้างโครงการพัฒนาชนบทอย่างทะเยอทะยาน รัฐบาลกลางภายใต้การนำของอัชราฟ ฆานี ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระจายเงินกว่าเกือบสามพันล้านเหรียญซึ่งได้จากการบริจาคของนานาชาติไปสู่สภาท้องถิ่นซึ่งบริหารจัดการด้วยตนเองเพื่อเป็นทุนให้กับความต้องการและการกู้ยืมในท้องถิ่น

ผู้บริจาคจ่ายเงินหลายพันล้านไปกับการสร้างถนนซึ่งเชื่อมตลาดและหมู่บ้าน เพื่อดึงประชาชนมาเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล ตามคำกล่าวที่ว่าตาลีบันเริ่มปกครองเมื่อถนนหมดสาย “การเข้าถึงถนน การศึกษาสมัยใหม่ การบริการสุขภาพ ไฟฟ้า สิ่งพวกนี้ทั้งหมดจะช่วยให้ประเทศมั่นคงครับ” ริเชิร์ด บูว์เชอร์ หัวหน้าทูตสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และกลางระหว่างปี 2006 ถึง 2009 กล่าว

ตาลีบัน, อัฟกานิสถาน, ชาวอัฟกานิสถาน
ฮาฟิซาทอดสายตามองออกนอกหน้าต่างในบ้านหลังเล็ก ใกล้กับไฟซาบาด ซึ่งเธอใช้เป็นที่หลบภัยหลังจากตาลีบันยึดหมู่บ้านของเธอเมื่อปี 2019 เมื่อลูกหนึ่งในสี่คนของเธอเข้าร่วมกับตาลีบัน เธอขอร้องอ้อนวอนให้ผู้บังคับบัญชาของเขาปล่อยตัวเขากลับบ้าน “เจ้าให้ลูกชายสองคนกับรัฐบาล และอีกคนกับกลุ่มติดอาวุธ [ต่อต้านตาลีบัน]” เธอกล่าวว่าเขาบอกเธอเช่นนี้ “ลูกคนนี้จะเป็นของพวกเรา”
กระนั้น เขากล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งดีในทางทฤษฎี แต่มีข้อผิดพลาดในทางปฏิบัติ “เราควรใช้ความพยายามไปกับการฝึกฝนผู้เชี่ยวชาญชาวอัฟกันมากกว่าเหล่าคนที่บริหารโครงการต่างๆ คนที่ไว้ใจเรื่องเงินและปฏิบัตินโยบายของรัฐบาลได้… เราใช้เงินจำนวนมากไปกับตัวเองและผู้รับสัญญา แต่ไม่มากนักสำหรับชาวอัฟกัน”

สัญญาจ้างสำหรับการฟื้นฟูประเทศและรักษาความปลอดภัยถูกควบคุมโดยกลุ่มขุนศึกและชนชั้นนำผู้อุปถัมภ์จากเครือข่ายตามกลุ่มชาติพันธ์ ชนเผ่า และครอบครัว จากข้อมูลของกลุ่มต่อต้านการทุจริตโดยไม่แสวงหาผลกำไร Integrity Watch Afghanistan การรับงานสัญญาจ้างครั้งสำคัญเกือบทั้งหมดมักอยู่กับผู้ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ “ตอนนี้เราควรมีหน่วยงานต่างๆ ครับ” เราะห์มาตุลเลาะห์ อามิรี นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากกันดาฮาร์ กล่าว “แต่ตอนนี้เรามีแต่บุคคลต่างๆ ที่คอยทำงาน”

ทหารอัฟกัน, ทหารอัฟกานิสถาน
หลังจากเวลาสี่สัปดาห์ในตำแหน่งแนวหน้าห่างไกลในจังหวัดบาดาคชาน ทหารอัฟกันที่ออกเวรเดินเท้าห้าชั่วโมงเพื่อไปถึงไฟซาบาด เมืองหลวงประจำจังหวัด ตาลีบันยึดพื้นที่บริเวณนี้เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม และสังหารและจับกุมทหารและกลุ่มติดอาวุธฝ่ายรัฐบาลไปเป็นจำนวนมาก

รายงานชิ้นหนึ่งของผู้ตรวจราชการด้านการบูรณะฟื้นฟูอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกา (U.S. inspector general for reconstruction in Afghanistan) จากเดือนตุลาคม 2020 พบว่า จากการตรวจสอบเงินทุนสำหรับการบูรณะกว่าหกหมื่นสามพันล้านเหรียญ เกือบหนึ่งในสามของเงินจำนวนนั้น หรือราวหนึ่งหมื่นเก้าพันล้านเหรียญ “สูญเสียไปกับการทิ้งขว้าง การฉ้อโกง และการใช้ในทางที่ผิด” โดยเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐและเหล่าสมุนใช้เงินเหล่านั้นไปกับการใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย ลงทุนส่วนตัว หรือลักลอบนำเก็บในธนาคารหรือคอนโดหรูหราในดูไบ เมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว ความไม่พอใจต่อเหล่าขุนศึกทุจริตคือสาเหตุหนึ่งของการผงาดขึ้นสู่อำนาจของตาลีบัน และ ในวันนี้ การใช้เงินในทางที่ผิดแบบเดียวกันกำลังเป็นเชื้อไฟให้กับการฟื้นคืนของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้

เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว “อาร์กันดาบเป็นเขตที่ปลอดภัยที่สุดในในภูมิภาค [บริเวณกันดาฮาร์] ครับ” ชาห์ มะฮัมมุด อะห์มาดี อดีตผู้ว่าการเขต กล่าวอย่างเศร้าสร้อย “สหรัฐฯ ทำสิ่งที่พวกเขาควรทำ มันเคยมีโครงการดีๆ อยู่ที่นี่เต็มไปหมด โชคร้ายที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนทรยศประเทศของเราและเลี้ยงดูแค่ตนเอง เมื่อผู้คนพึ่งพารัฐบาลไม่ได้ พวกเขาก็ต้องไปหาคนอื่น เช่นพวกตาลีบัน”

อัฟกานิสถาน, ตาลีบัน, ทหารอัฟกัน, ชาวอัฟกานิสถาน
Abdul Wahab อายุ 28 ปี อดีตนักรบตาลีบันที่หันมาเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธต่อต้านตาลีบัน ยืนยามที่ฐานทัพเล็กๆ ซึ่งสร้างจากโคลนในเทือกเขาการ์ไซ ในจังหวัดบาดาคชาน เขาและนักรบคนอื่นอีกสิบแปดคนเสียชีวิต และอีก 25 คนถูกจับเป็นเชลย เมื่อตาลีบันยึดพื้นที่บนเทือกเขาการ์ไซเมื่อวันที่ 2 ถึง 3 กรกฎาคม

ส่วน ฮาจิ อาดัม ผู้อาวุโสประจำเผ่าซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ฝั่งที่ตาลีบันยึดครอง กล่าวว่า “ตลอด 20 ปี ทั้งโลกแห่กันมา แล้วเงินก็ไหลมาเทมา แต่มันช่วยพวกเราตรงไหนครับ? ถ้าเราถือครองแหล่งน้ำ ถ้ามันมีไฟฟ้า เราคงมีผลิตภัณฑ์แทนที่จะเป็นสงคราม ถ้าถนนถูกปู มันคงไม่มีการทำลายล้างแบบนี้” กลับกัน “ไม่มีสิ่งสลักสำคัญที่ถูกสร้างในกันดาฮาร์” มาตั้งแต่ตาลีบันถูกขับไล่เมื่อปี 2001 เขากล่าวอย่างยืนยัน โรงพยาบาลใหญ่แห่งเดียวในภูมิภาคถูกสร้างขึ้นโดยจีนตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่ 1970 เขาสำทับ

ในช่วงเวลาที่ตาลีบันกำลังโหมบุกโจมตี โรงพยาบาลที่เขากล่าวถึงอัดแน่นไปด้วยผู้บาดเจ็บล้มตาย ตำรวจสองคนที่ถูกยิงระหว่างลาดตระเวนนอนสิ้นชีวิตอยู่บนเปลหาม ในหอผู้ป่วยหนัก ชายสามคนกำลังพักฟื้นจากการถูกกับดักระเบิด ในโถงทางเดิน เด็กชายอายุ 16 ปีนอนบาดเจ็บหนักจากกระสุนลูกหลงในเขตที่ถูกตาลีบันยึดครอง เขาเสียชีวิตในอีกสิบวันถัดมา

ชาวอุซเบก, ชนกลุ่มน้อย, อัฟกานิสถาน, ชาวอัฟกานิสถาน, ผู้หญิงอัฟกานิสถาน
เด็กหญิงชาวอุซเบก ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เดินออกจากโรงเรียนมัธยมปลายจอมพลดอสตัมในเมืองชิบิร์กัน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของ จังหวัดโจวซ์จัน ครอบครัวของนักเรียนกว่าสิบสองคนย้ายไปเมืองหลวงประจำจังหวัดหลังตาลีบันยึดเขตทางตอนใต้ และสั่งห้ามการศึกษาของเด็กผู้หญิงอีกครั้ง เมื่อปี 2018

วัฒนธรรมการทุจริตจากบนลงล่างซึ่งถูกเติมเชื้อไฟโดยเงินจากต่างประเทศนี้ส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายเป็นพิเศษกับตำรวจ “หากสถานีตำรวจต้องการเจ้าหน้าที่สิบห้าคน สถานีนั้นจะมีเพียงสามคนครับ ส่วนเงินที่เหลือถูกขโมยไปหมด” อะห์มะดี กล่าว นอกจากนี้ ตำรวจที่มีเครื่องมือและยุทโธปกรณ์ไม่เพียงพอเหล่านี้ยังเป็นที่เกลียดชังอย่างกว้างขวาง เนื่องจากพวกเขารีดไถเงินจากคนในพื้นที่เพื่อทดแทนเงินเดือนที่ไม่ได้รับและเครื่องยังชีพที่มีอย่างจำกัด

“พวกตาลีบันไม่ให้บริการประชาชน และไม่สร้างบ้านหรือคลินิก แต่พวกเขาก็ไม่ขโมยของครับ” อับดุลเลาะห์ จาน ชาวนาตกงานผู้หนีจากอาร์กันดาบกล่าวยืนยัน และสะท้อนความคิดเห็นทั่วไปของชาวอัฟกันในชนบท

ชาวฮาซารา, ชีอะห์, ชาวอัฟกานิสถาน,
ชาวฮาซาราซึ่งนับถือชีอะห์นับพันคนรวมตัวกันที่จังหวัดเดย์คุนดี เพื่อเฉลิมฉลองวันเนารุซ หรือวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ เทศกาลดังกล่าวถูกเฉลิมฉลองในอัฟกานิสถาน อิหร่าน และเอเชียกลาง แต่ชาวซุนนีหัวรุนแรงมองว่าวันหยุดที่มีมาตั้งแต่เปอร์เซียยุคโบราณนี้ขัดต่ออิสลาม รัฐบาลตาลีบันจึงสั่งห้าม และผู้ก่อการร้ายเคยวางระเบิดงานเทศกาลนี้

มะห์มุด การ์ไซ พี่ชายของอดีตประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ กลับมายังอัฟกานิสถานในช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจก่อสร้างในยุคหลังปี 2001 เขากลายเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังไอโนมีนา หนึ่งในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเอกชนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศแห่งนี้ แต่สำหรับหลายคน ความสำเร็จของเขามีข้อกล่าวหาถึงการเล่นสกปรกเป็นเงาตามตัว และยังถูกไต่สวนในข้อขู่กรรโชกทรัพย์และเลี่ยงภาษีโดยขณะลูกขุนในสหรัฐฯ

มะห์มุดกล่าวว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ เป็นเพียงการทำลายชื่อเสียงโดยศัตรูของตระกูลการ์ไซ กระนั้น เขายอมรับว่าความใกล้ชิดกับอำนาจมีส่วนช่วยเขา “ความมั่งคั่งมาถึงและถูกกินโดนคนส่วนน้อยครับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือตัวผมเอง” เขากล่าวอย่างไม่สำนึก “โชคร้ายที่ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ไม่ได้ส่วนแบ่งที่ควรจะได้ เราให้ความสนใจกับการพัฒนาเมืองมากเกินไป และลืมชนบท และชาวชนบท พวกเขามีปืน”

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2020 มีการระเบิดของระเบิดจำนวนสามลูกที่นอกโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่าน Dasht-e Barchi ในคาบูลตะวันตก และคร่าผู้คนราว 90 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กสาววัยรุ่น แรงระเบิดทำลายหน้าต่างของบ้านเรือนในบริเวณใกล้กัน รวมถึงบ้านหลังนี้

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีฆานีแต่งตั้งมะห์มุดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเมืองและชนบท เขาให้คำสัตย์ว่าจะทำให้การมีบ้านเป็นเรื่องง่ายดายขึ้นสำหรับชาวเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่สูงและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ต่ำและความไม่มั่นคงในพื้นที่ชนบท เขากำลังเพิ่มบ้านราคาถูกในไอโนมีนา และริเริ่มโครงการที่ใหญ่กว่าในกรุงคาบูล “อุปสงค์มันไม่น่าเชื่อเลยครับ” เขากล่าวด้วยความตื่นเต้นของพนักงานขาย “ถ้าผมขายทุกอย่าง ผมจะรวยมาก” กระนั้น เขายอมรับว่า “ผมไม่แน่ใจถึงอนาคตของประเทศ” เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหาร เขาคาดการณ์ (อย่างถูกต้อง) ว่าตาลีบันจะ “ใช้กำลังยึดประเทศ” เขากล่าวว่าหากเกิดสงครามกลางเมือง เขาจะหนีไป “ผมไม่อยากถูกฆ่าครับ”

ไรฮานา อาซาด เป็นสตรีจากชนกลุ่มน้อยชาวฮาซาราจากจังหวัดเดย์คุนดีที่ทุรกันการซึ่งนับถืออิสลามลัทธิชีอะห์ ตั้งแต่ปี 2010 เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกรัฐสภาเพศหญิง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของสมาชิกสภาทั้งหมดในอัฟกานิสถาน จังหวัดแห่งนี้เป็นหนึ่งในที่ที่สงบและมีประชากรซึ่งมุ่งเป้าหมายไปยังการศึกษามากที่สุดในอัฟกานิสถาน และชาวฮาซารา ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ยังมีวัฒนธรรมที่ก้าวหน้ากว่า

นักการเมืองหญิง, ผู้หญิงอัฟกานิสถาน, ชาวอัฟกานิสถาน,
ไรฮานา อาซาด สมาชิกสภา นั่งรถบนถนนหนทางในเมืองคาบูลบนรถยนต์กันกระสุน เพื่อไปประชุมสภาเกี่ยวกับวันสตรีสากล สตรีฝีปากกล้าวัย 38 ปีผู้นี้รอดจากการลอบสังหารและระเบิดฆ่าตัวตาย เธอให้ลูกๆ ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ และเกรงว่าเธออาจต้องตามไปหากตาลีบันหวนคืนสู่อำนาจ

กระนั้น การส่งต่อทรัพยากรไปยังจังหวัดแห่งนี้กลับกลายเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะเธอปฏิเสธผูกมิตรกับผู้มีอำนาจอิทธิพล รัฐบาลและผู้บริจาคจากต่างชาติที่ “มุ่งสนใจไปยังพื้นที่ที่ไม่มั่นคง” เธอกล่าว “พวกเราเป็นจังหวัดที่เป็นตัวอย่างที่ดี และเราถูกลืมค่ะ” ซ้ำร้าย การที่ชาวฮาซาราซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยและนับถืออิสลามสัทธิชีอะห์ ทำให้ชนกลุ่มนี้ถูกโจมตีจากทั้งตาลีบันและรัฐอิสลามหรือไอซิส ซึ่งเป็นกลุ่มซุนนี่หัวรุนแรงอีกกลุ่มหนึ่ง

การศึกษาทำให้เธอเป็นสตรีผู้ทำลายกรอบขนบสังคมในประเทศแห่งนี้ ความห้าวหาญทำให้เธอตกเป็นเป้าสังหาร เธอรอดชีวิตจากระเบิดฆ่าตัวตายครั้งหนึ่งและการพยายามลอบสังหารอีกครั้ง และการขู่ฆ่าหลายครั้งทำให้เธอต้องส่งลูกๆ ไปอยู่ต่างประเทศและป้องกันตนเองด้วยหลากหลายวิธี “ฉันไม่กลัวอีกต่อไปแล้ว” เธอกล่าว “ฉันสู้ต่อเพื่อให้ชนรุ่นหลังไม่ต้องมีชีวิตเลวร้ายเท่าที่พวกเราเคยเจอค่ะ”

ผู้หญิงอัฟกานิสถาน, ชาวอัฟกานิสถาน
ครอบครัวไว้ทุกข์เหยื่อราว 90 คนที่เสียชีวิตในเหตุระเบิดโรงเรียนในคาบูล เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2020 การโจมตีย่านของชาวฮาซาราครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการโจมตีโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยของชนกลุ่มน้อยดังกล่าวอีกหลายครั้ง ผู้ก่อการร้ายชาวซุนนีประกาศความรับผิดชอบต่อการโจมตีเหล่านี้หลายครั้ง

แม้ตาลีบันจะโค่นล้มรัฐบาลอัฟกันและยึดประเทศด้วยกำลัง พวกเขาจะ “ปกครองอัฟกานิสถานยุคใหม่นี้ด้วยปลายประบอกปืนไม่ได้แล้วครับ” Asey อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวยืนยัน “ชนรุ่นนี้ที่แสวงหาเสรีภาพ เป็นชนเสรีนิยม และมีความอดทนอดกลั้นนี้จะเป็นหัวเรือในอัฟกานิสถานใหม่ในยุคหลังสหรัฐฯ ถอนกำลัง และพวกเขาและเธอจะไม่ทนยอมให้แม่และพี่สาวน้องสาวของตนเองถูกโบยตีต่อหน้า หรือเห็นผู้คนถูกแขวนคออยู่ตามท้องถนน”

แต่ ไรฮานา อาซาดนั้นไม่มั่นใจเท่า เธอผิดหวังอย่างรุนแรงที่รัฐบาลวอชิงตันทำข้อตกลงกับตาลีบันโดยไม่พูดถึงการปกป้องสตรีและชนกลุ่มน้อย เมื่อเรา (ตัวผู้เขียนต้นฉบับ) พบกันครั้งแรก เธอบอกผมว่าคนอัฟกันจะลุกขึ้นสู้กับตาลีบัน แต่เธอหมดสิ้นความหวังหลังสหรัฐฯ ประกาศถอนกำลังเต็มรูปแบบ ตอนนี้เธอเป็นอีกคนที่ครุ่นคิดถึงการออกจากประเทศแห่งนี้ แม้จะยังมีวาระอยู่อีกสองปีก็ตาม

แต่นักการทูตอย่างบูว์เชอร์และนักวิเคราะห์ฯ อย่างอามิรีมีมุมมองต่อการถอนกำลังของพวกเขาแตกต่างกับเธออย่างสิ้นเชิง

ตาลีบัน, ชาวอัฟกานิสถาน
คารี เมห์ราบุดดีน ผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธฝ่ายรัฐบาล นั่งอยู่หน้าลููกสองจากห้าคน ในบ้านของเขา ณ บริเวณนอกเมืองไฟซาบาด เขาได้แนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่งมาจากโรงเรียนสอนศาสนาแห่งหนึ่งในปากีสถาน และกลับมาเข้าร่วมกับตาลีบัน เขาและอับดุล คะยาส (คนขวามือ) ซึ่งเป็นผู้คุ้มกันและอดีตตาลีบันย้ายมาเข้าฝั่งรัฐบาลหลังความขัดแย้งกับเหล่าแกนนำของกลุ่ม ในปัจจุบัน เขาเกณฑ์นักรบคนอื่นให้ร่วมย้ายฝั่ง

บูว์เชอร์ เป็นหนึ่งในชาวอเมริกันมากมายที่เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศของตนควรจบสงครามที่ไร้ทิศทางที่ผลาญเงินของชาวสหรัฐฯ ไปสองล้านล้านเหรียญ และ ตามข้อมูลของโครงการราคาแห่งสงครามของมหาวิทยาลัยบราวน์ ( Costs of War Project at Brown University) ชีวิตพลเรือน ทหาร ตำรวจ และฝ่ายต่อต้านรัฐบาลชาวอัฟกัน ทหารและผู้รับสัญญาจ้างของทั้งสหรัฐและพันธมิตรนาโต้ และนักข่าวและผู้ทำงานช่วยเหลือกว่า 170,000 ชีวิต “เราอยู่ที่นั่นมากว่าสองทศวรรษ และเราไม่มีรัฐบาลอัฟกันที่ปกป้องตนเองและให้ความมั่นคงปลอดภัยได้” เขากล่าว

“โลกนี้ได้สูญเสียโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ไปใน 20 ปีที่ผ่านมา และไม่มีทางช่วยมัน [อัฟกานิสถาน] ในอีก 40 ปีได้ครับ” อามิรี นักวิเคราะห์ความมั่นคงชาวอัฟกัน กล่าว “ตาลีบันจะมาเยือน ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม”

คาบูล
มุมมองจากบนเครื่องบินแสดงภาพกลางเมืองคาบูล ณ ตอนบ่ายวันหนึ่งในฤดูหนาว การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจฟื้นฟูประเทศ ซึ่งถูกโหมด้วยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ทำให้ใจกลางเมืองซึ่งครั้งหนึ่งเคยทรุดโทรม (ซึ่งเห็นอยู่ไกลๆ ในภาพนี้) เติบโตมาเป็นกลุ่มอาคารพักอาศัยและพาณิชย์ซึ่งหลบอยู่หลังกำแพงสูง คอนโดหรูหรา และสถานที่จัดงานแต่งงาน

เรื่อง JASON MOTLAGH
ภาพ KIANA HAYERI

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม เมื่อเกิดในอัฟกานิสถาน เด็กหญิงบางคนเลือกใช้ชีวิตในร่างเด็กชาย

Recommend